วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เคล็ดลับการทำงานเป็นทีม สำหรับพนักงานใหม่



          จากการสำรวจผู้ประกอบการมองหาอะไรจากเด็กจบใหม่ พบว่า การทำงานเป็นทีมได้ นั้น เป็น 1 ใน 3 คุณสมบัติสำคัญที่ผู้ประกอบการต่างก็มองหาในตัวพนักงาน เพราะพลังจากการร่วมแรงร่วมใจนั้นสามารถเพิ่มทั้งความรวดเร็ว ช่วยในการตัดสินใจและยกระดับความคิดสร้างสรรค์ในผลงานได้เป็นอย่างดี แต่การเป็นพนักงานหน้าใหม่ที่ต้องมาร่วมงานกับรุ่นพี่นั้น บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของทีมทันทีที่เริ่มงาน ใครที่กำลังสับสนและไม่รู้จะเริ่มตรงไหน 6 วิธี ขอแนะนำต่อไปนี้สามารถช่วยฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมให้คุณได้

1. รู้จุดแข็งของตัวเอง
ในแต่ละทีมงานย่อมประกอบไปด้วยหลายหน้าที่ แต่ละหน้าที่ต่างก็ต้องการความสามารถหรือทักษะที่แตกต่างกันออกไป หากคุณรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งด้านใด คุณจะสามารถเสนอตัวช่วยรับผิดชอบในส่วนนั้นได้ ความสามารถนี้อาจจะเป็นความรู้ทางด้านเทคนิค การติดต่อประสานงาน การค้นคว้าหาข้อมูลหรือด้านใดก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่องาน เมื่อได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดก็ย่อมสร้างผลงานออกมาได้ดีและทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นอีกด้วย
ข้อแนะนำ : หากยังไม่มั่นใจกับความสามารถของตัวเอง อาจจะลองเริ่มจากเสนอตัวช่วยในงานชิ้นเล็กให้สำเร็จก่อนเพื่อเพิ่มความมั่นใจ

2. รู้จักเพื่อนร่วมทีม
ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีนั้นสามารถส่งผลให้การทำงานราบรื่นขึ้นได้เสมอ อย่ารู้จักกันแค่เฉพาะเวลางาน หาโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมในเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากงานบ้าง ทำความรู้จักและสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีอย่างจริงใจ คอยสนับสนุนช่วยเหลือในยามที่พวกเขาต้องการ สิ่งนี้จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ข้อแนะนำ : นอกจากความสัมพันธ์กันแบบ “เพื่อนร่วมงาน” แล้ว เราควรเป็น “เพื่อน” กับทุกคนในทีมได้ด้วย

3. รู้จักและเข้าใจความแตกต่าง
สมาชิกแต่ละคนในทีมย่อมมาจากต่างประสบการณ์ ต่างครอบครัว ทั้งนิสัยและการทำงานย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ควรพยายามเรียนรู้สไตล์การทำงานของแต่ละคน จากนั้นทำความเข้าใจและยอมรับในรูปแบบที่พวกเขาเป็น แทนที่จะมัวแต่หงุดหงิดกับการทำงานที่ไม่ได้ดังใจตัวเอง เราควรหาวิธีสร้างความร่วมมือและผลงานให้ได้ดีที่สุดจากความแตกต่างนี้
ข้อแนะนำ : อย่าใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินผู้อื่น แต่ให้สังเกตและเรียนรู้พวกเขาด้วยใจเป็นกลาง

4. รู้เวลา
การทำงานเป็นทีมนั้น ความล่าช้าที่เกิดจากคนหนึ่งคนสามารถส่งผลถึงทั้งทีมได้ ดังนั้นความตรงต่อเวลาจึงสำคัญมาก หากได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งควรประเมินเบื้องต้นก่อนว่าจะทำได้สำเร็จตามเวลาที่ได้รับมอบหมายมาหรือไม่ และทำการเจรจาต่อรองจนได้ระยะเวลาที่ทั้งทีมรับได้และตัวเราเองก็มีเวลาเพียงพอที่จะทำงานให้ได้ดีด้วย
ข้อแนะนำ : หากรับงานมาแล้วพบในภายหลังว่าไม่สามารถทำตามเวลาที่กำหนดได้ ให้รีบแจ้งเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าทันทีเพื่อจะได้ช่วยกันหาทางออก อย่ารอจนถึงนาทีสุดท้าย หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราไม่มีความสามารถ การที่เรารับปากแล้วทำตามไม่ได้แต่ยังไม่รีบหาทางออกนั้นส่งผลเสียกว่ากันมาก

5. รู้จักฟังและมีการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม
รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเปิดใจ แต่ก็อย่าเป็นผู้ฟังอย่างเดียวจนเอาแต่นั่งเงียบในที่ประชุมเพราะจะทำให้เหมือนกับไม่ให้ความร่วมมือ หากมีไอเดียใดที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานก็ควรนำเสนอต่อทีมหรือที่ประชุม หรือหากมีความคิดเห็นที่แตกต่างก็สามารถโต้แย้งได้อย่างสุภาพและใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน
ข้อแนะนำ : หากไม่รู้จะเสนออะไรหรือมีความรู้ในเรื่องนั้นไม่มากพอ ควรทำการบ้านศึกษาหาข้อมูลก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง

6. รู้และพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติสำหรับชีวิตมนุษย์ ไม่ต่างกับชีวิตของการทำงาน ยิ่งเป็นการทำงานที่มีผู้คนเกี่ยวข้องแล้วนั้น ในบางครั้งเราอาจต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากเพื่อนร่วมงานที่ลาออกกระทันหัน หรือโปรเจคอาจถูกเปลี่ยนมือไปให้คนใหม่ อะไรต่างก็เกิดขึ้นได้เสมอ จงเตรียมใจให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงด้วยสติและปรับตัวตามให้ดีที่สุด
ข้อแนะนำ : ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้า อย่าเพิ่งใช้อารมณ์ ควรปลีกตัวออกไปสงบสติสักพักก่อนกลับมารับมือกับความเปลี่ยนแปลง

          แม้จะเป็นพนักงานหน้าใหม่ แต่เราก็สามารถเป็นสมาชิกยอดเยี่ยมของทีมได้ ขอเพียงความตั้งใจจริงและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง หากมีโอกาสได้รับมอบหมายงานหรือโปรเจคใดที่แม้จะดูยาก ขอให้มองเป็นความท้าทาย เป็นโอกาสให้ฝึกฝนและแสดงฝีมือ เพราะยิ่งทำมากเราก็จะยิ่งได้เรียนรู้มากและเก่งขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : th.jobsdb.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กิจกรรมภายในองค์กรที่พนักงานปรารถนา



          บุคลากรภายในองค์กรต้องการได้รับการดูแลจากองค์กร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเป็นแรงกาย แรงใจในการมุมานะทำงานให้แก่องค์กร และเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จ องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อบุคลากรของตนจะต้องไม่ละเลยการดูแลเอาใจใส่พนักงาน แม้เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถทำให้บุคลากรมีขวัญและกำลังใจที่ดี พร้อมที่จะอุทิศตนจงรักภักดีต่อองค์กรอย่างไม่เสื่อมคลาย ขอนำเสนอกิจกรรมภายในองค์กรที่จะทำให้พนักงานของคุณปราบปลื้ม และมีความสุขในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ดังต่อไปนี้

1. การอบรมพนักงาน
องค์กรควรสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการทำงานของบุคลากร ให้เขาได้รับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาขาอาชีพของตน โดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้บุคลากรได้ทำความรู้นั้นมาเพิ่มความเชี่ยวชาญและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง

2. การศึกษาดูงาน
เพื่อเปิดโลกทัศน์ของบุคลากรให้กว้างขวางขึ้น องค์กรควรจัดให้มีการศึกษาดูงานทั้งใน และต่างประเทศ หากไม่สามารถจัดให้กับพนักงานได้ทั้งแผนก อาจทำโดยการคัดเลือกผู้ที่มีผลงานโดดเด่น เป็นผู้ที่จะได้ไปศึกษาดูงาน เป็นการจูงใจให้พนักงานตั้งใจทำงาน ทำผลงานให้ออกมาดีที่สุด

3. การจัดทริปพักผ่อนประจำปี
เป็นกิจกรรมที่บุคลากรทั้งองค์กรได้ทำร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ภายในองค์กรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และบุคลากรได้พักผ่อน จากความเหน็ดเหนื่อยที่ทำงานกันมาตลอดทั้งปี

4. การจัดสวัสดิการให้แก่บุคลากร
องค์กรที่มีสวัสดิการดี แม้พนักงานจะไม่ได้เงินเดือนสูงมาก แต่พนักงานก็รักที่จะทำงานให้กับองค์กร เพราะได้รับการดูแลอย่างดีในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดกองทุนให้กับพนักงาน การดูแลครอบครัว บุตรหลานของพนักงาน การจ่ายโบนัสอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพประจำปี การส่งเสริมสุขภาพและการออกกำลังกาย รวมทั้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการจัดงานวันเกิดให้แก่พนักงาน เป็นต้น

5. การจัดกิจกรรมพนักงานดีเด่น
เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นความกระตือรือร้นในการทำงานของบุคลากรได้เป็นอย่างดี เมื่อพนักงานมีความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ได้เป็นคนโปรดของหัวหน้างาน เขาจะเพียรพยายามให้ได้รับการคัดเลือก และเมื่อเพื่อนร่วมงานเห็นคนอื่น ๆ มีพัฒนาการในการทำงาน เขาก็จะต้องพัฒนาตนเองด้วยเช่นกัน กิจกรรมนี้ไม่เพียงเป็นที่ต้องการของบุคลากร แต่ยังจะเป็นผลดีต่อองค์กรที่จะได้พนักงานที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

          หากองค์กรต้องการมัดใจพนักงานให้รักในงานที่ทำ และทำงานอย่างมีความสุข ดูแลพวกเขาด้วยการให้ความสำคัญ จัดกิจกรรมเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต ผลที่ตามมาคือพลังอันยิ่งใหญ่จากเหล่าพนักงานที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ปรารถนา


ที่มา : th.jobsdb.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

5 เรื่องที่ไม่ควรทำ ในการใช้อีเมล์ติดต่อลูกค้า



          เมื่อโลกเดินทางเข้าสู่ยุคการสื่อสารแบบดิจิตอล จึงทำให้“อีเมล์”ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในเชิงพาณิชย์ แม้ว่าจะมีแอพพลิเคชั่นต่างๆที่สามารถส่งข้อความได้โดยตรง,วิดีโอคอล ตลอดจนแพตฟอร์มที่เป็นเครื่องมือประกอบใช้ในกิจการ ซึ่ง “อีเมล์” คือหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น

ผู้ประกอบการหลายรายใช้อีเมล์ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า,พาร์ทเนอร์ และเพื่อนร่วมทีม ทว่าในบางครั้งอาจจะมีการใช้ อีเมล์ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น หากต้องการใช้อีเมล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณไม่ควรทำ 5 สิ่งเหล่านี้

1.ไม่ควรใช้อีเมล์สนทนาแบบเร่งด่วน
เครื่องมือบางชนิดถูกออกแบบมาเพื่อเหมาะสำหรับการสื่อสารบางอย่าง ซึ่งอีเมล์คือหนึ่งในเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้กับทุกคนในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม หากคุณมีงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าแบบเร่งด่วน ณ ขณะนั้น ขอแนะนำว่าไม่ควรส่งข้อความหรือการสนทนาแบบเร่งด่วนผ่านอีเมล์ แต่ควรหันไปใช้เครื่องมืออย่างอื่นที่สามารถส่งข้อความถึงได้โดยตรง เพราะอีเมล์เหมาะสำหรับการสนทนาแบบไม่ Real time หรือการสนทนาที่ต้องมีการอ้างอิงข้อมูล

2.ไม่ควรตั้งชื่ออีเมล์เรื่อยเปื่อย
การตั้งชื่ออีเมล์ คุณควรระบุชื่อจริงลงไปเลยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเองเวลาติดต่อกับลูกค้า ทางที่ดีบริษัทควรจัดทำอีเมล์ของพนักงานในแต่ละคนขึ้นมาเลย ด้วยการขึ้นต้นด้วยชื่อพนักงานและลงท้ายด้วย@ชื่อบริษัท เช่น name@companyname.com เป็นต้น ซึ่งจะทำให้องค์กรของคุณมีวิธีการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

3.ไม่ควรถามเยอะเกินไป
วัตถุประสงค์ของการใช้อีเมล์คือ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ ลดการเจอหน้าในห้องประชุม ด้วยการใช้อีเมล์เป็นบทสนทนาแทน อย่างไรก็ตามในการส่งอีเมล์ติดต่อลูกค้าในแต่ละครั้ง คุณควรคาดหวังจากคำร้องขอที่ส่งผ่านอีเมล์ โดยมีเนื้อหาที่ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ หรือมีความต้องการร้องขอมากเกินไป เพราะอะไรที่ขอมากเกินไปจากลูกค้า ส่วนใหญ่มักจะได้รับคำตอบด้วยการถูกปฏิเสธ

4.ไม่ควรปล่อยอีเมล์ให้มีจำนวนเยอะเกินไป
การปล่อยให้อีเมล์มีจำนวนมากจนเกินไปจะสร้างความสับสนให้กับตัวของคุณเอง เมื่อถึงเวลาต้องค้นหา ดังนั้น คุณควรจัดระเบียบอีเมล์ตามกลุ่มลูกค้าให้เรียบร้อย หรือไม่บางอีเมล์ที่มีการจัดเก็บไว้นานหรือเห็นว่าไม่ได้ใช้ต่อไปในอนาคตแล้ว ก็ควรลบทิ้งไป

5.ไม่ควรทิ้งระยะเวลาตอบลูกค้านาน
ทันทีที่คุณเห็นอีเมล์ใน Inbox ที่ลูกค้าส่งกลับมา คุณควรตอบกลับทันที ไม่ควรปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน เพราะบางทีคุณอาจจะลืม แล้วไม่ได้ตอบอีเมล์ในที่สุด ทำให้นำความเสียหามาสู่องค์กรและตัวคุณเองได้

          การติดต่อโดยใช้อีเมล์ทำการสื่อสารถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ อย่าละเลย หากคุณรู้ขอบเขต หน้าที่ ก็ย่อมส่งผลดีในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกค้า รักษาลูกค้าให้อยู่กับคุณได้นานอย่างแน่นอน


Cr.smartsme.tv
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

6 ทักษะการเป็นผู้นำที่จะทำให้คุณแก้ปัญหาอย่างมือโปร



          เส้นทางสู่ความสำเร็จ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอ ระหว่างทางต้องพบเจอกับอุปสรรค ความยากลำบากที่เข้ามา ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จต้องพบกับปัญหามากมาย ก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในที่สุด ผู้ประกอบการหลายรายมักจะพูดใช้เวลาแก้ปัญหานานเกินไป สร้างความเสียหายไประดับหนึ่งจนทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ในทางกลับกันบางบริษัทมีการเติบโต เพราะว่าผู้นำหรือผู้บริหารสามารถแก้ไขปัญหาภายใต้ความกดดันได้ ซึ่งความกดดันไม่ใช่ปัญหาเลย หากคุณมีเป้าหมายที่วางเอาไว้ และต้องการไปให้ถึง

          หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งสำคัญคือคุณต้องเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจัดการงานคนเดียวหรือมีทีมงานขนาดใหญ่ ซึ่งคุณอาจจะมองว่าการแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ยากลำบาก น่ากลัว เพราะว่าไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จะทำอย่างไรเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้น เรามาดูเทคนิคของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เป็นผู้นำทางธุรกิจที่สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆที่เข้ามาได้ และนี่คือทักษะที่สำคัญจะช่วยให้คุณแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.เป็นมืออาชีพอยู่ตลอดเวลา
ผู้นำที่ดีไม่เคยมีคำว่า “แพ้” อยู่ในสมอง แม้ปัญหาที่เข้ามาจะทำให้เสียขวัญบ้างก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อคุณสร้างทีมงานขึ้นมา ลูกน้องภายในทีมก็จะมองมาที่คุณฐานะหัวหน้า เพื่อเอาเป็นแบบอย่าง เช่นหากคุณมีลักษณะสุขุม ใจเย็น ลูกน้องภายในทีมคุณก็จะมีลักษณะดังกล่าวตามไปด้วย ที่สำคัญที่สุดคือความเป็นมืออาชีพอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณได้รับความเคารพ นับถือจากลูกค้า รวมไปถึงสมาชิกในทีมของคุณด้วย

2.มองภาพรวมอยู่เสมอ
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จพวกเขามักจะมักไปที่ภาพรวมอยู่เสมอ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้ประเด็นของปัญหาในแต่ละวันที่เกิดขึ้น และแก้ไขในส่วนที่เป็นไปได้ก่อน เพราะในเวลาอันจำกัดเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะแก้ไขได้ครบ 100% คุณอาจจะแก้ไขได้ 20 % ส่วนอีก 80% ที่เหลือต้องปล่อยผ่านไปก่อน

3.แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมาครั้งแรก คุณอย่ามัวเสียเวลาไปกับการชี้นิ้วถามสมาชิกในทีมว่าใครทำให้เกิดข้อผิดพลาด สร้างปัญหานี้ขึ้นมา ทางที่ดีคุณควรจะเวลาระดมสมองภายในทีมเพื่อหาแนวทางแก้ไข แทนที่จะดุด่า ว่ากล่าวจนทำให้สมาชิกในทีมเสียกำลังใจ ซึ่งการเข้าสู่โหมดของการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วจะทำให้สมาชิกในทีมรู้สึกพวกเขาได้รับการช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อีกทั้งยังเพิ่มความผูกพันภายในทีมอีกด้วย

4.เก็บข้อมูล
เทคโนโลยีทำให้คุณรู้ถึงข้อมูลในเกือบทุกแง่มุมภายในองค์กร รวมไปถึงช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น ทุกวันนี้การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพคือการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และข้อมูลเหล่านั้นมาใช้วางแผน แก้ปัญหาตามข้อมูล

5.คิดบวก
ผู้นำที่คิดลบจะนำมาสู่การบั่นทอนจิตใจ กลับกันผู้นำที่มองปัญหาเป็น “โอกาส” และโฟกัสไปว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ผ่านอุปสรรคเหล่านั้นได้ โดยผู้นำที่มีศักยภาพจะไม่เก็บปัญหาไว้เพียงลำพัง แต่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนภายในทีมได้มีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งในการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

6.ดูผลลัพธ์ที่ได้
ผู้นำที่ดีจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะตามมาจากการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณก้าวเดินไปข้างหน้า พร้อมกับข้อมูลที่คุณต้องการเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต เมื่อคุณรู้ถึงสาเหตุของปัญหาและแก้ไขมันได้ จะทำให้คุณสามารถจัดการ ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นได้ในอนาคต

          ความเป็นผู้นำ หมายถึงการจัดการการดำเนินงานวันต่อวันของธุรกิจคุณ เพื่อนำไปสู่การเติบโตขององค์กรและสร้างรายได้จากแหล่งใหม่ๆ และเมื่อคุณสามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ ย่อมเพิ่มขวัญกำลังใจให้สมาชิกภายในทีมของคุณให้มีความสุขกับการทำงานและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

Cr.smartsme.tv
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

10 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดขายตก



1.ไม่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าของตัวเอง
หลายคนฟันธงว่ารู้จักลูกค้าดีแต่ทีนี้ลองถามตัวเองอีกครั้งว่ารู้จักพฤติกรรมลูกค้าแค่ไหน คำว่า “พฤติกรรม” คือสิ่งที่เขาชอบทำประจำเช่น ชอบกินอะไร มีปัญหาสำคัญในชีวิตอะไรบ้าง ชอบเที่ยวที่ไหน ชอบทำอะไรเป็นพิเศษ ชอบใส่เสื้อแบบไหน มีสินค้าที่ชอบคืออะไร เป็นต้น
คนที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องของ “เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า” ของ “ตัวเอง” จะเป็นคน “คุมเกม” ว่ายอดขายเขาจะเป็นเท่าไหร่ กลับกันครับ คนที่ ไม่เข้าใจลูกค้า หรือเข้าใจน้อยมาก “ลูกค้า” จะเป็นคนคุมเกมเรื่องยอดขาย
2.ยึดติดกับความสำเร็จในแบบเดิมๆ
ช่วงเศรษฐกิจดียอดขายดี หลายธุรกิจก็หลงระเริงกับความสุขช่วงนั้น ทั้งที่ความจริงการคิดสิ่งใหม่ๆอย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่านวัตรกรรมคือหนทางอยู่รอดระยะยาวของธุรกิจ
การที่เรามีสิ่งใหม่ๆมาคอยรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะช่วยปกป้องยอดขายในยามที่เศรษฐกิจผันผวนได้อย่างดีแต่ปัญหาใหญ่คือธุรกิจส่วนมากไม่ค่อยจะคิดเรื่องนี้สักเท่าไหร่
3. ให้น้ำหนักกับเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ น้อยไป

ตัวอย่างของเรื่องนี้คือธุรกิจที่เคยบูมสุดๆอย่างกล้องฟิล์มและพิมพ์ดีด แต่สุดท้ายด้วยการไม่ตามเทคโนโลยีสินค้าเหล่านี้หายไปจากวงจรธุรกิจทันที การลงทุนของ SMEs และเหล่า Start up ก็เช่นกัน จะต้องมีธุรกิจที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นตามมาเสมอทางที่ดีคือควรจับกระแสเทคโนโลยีเอาไว้เพื่อเป็นทางออกที่ดีให้กับตัวเอง
โดยเทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้ยอดขายมีต่อเนื่องและไม่ตกยุคแน่นอนคือ Social Marketing หรือ Mobile Marketing ที่มีผลต่อการตลาดในตอนนี้และอนาคตอย่างมาก รวมถึงเทคโนโลยีการจ่ายเงินหรือ Payment Gateway ที่ควรศึกษาและอัพเดทให้เข้ากับกระแสลูกค้าได้มากที่สุดด้วย
4.ไม่ยอมปรับปรุงและพัฒนาสินค้า

ประเด็นนี้เราอยากให้สังเกตบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งหลายเนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักมีการปรับปรุงสินค้าและบริการอยู่ตลอดเวลา มีรุ่นใหม่ มีลูกเล่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายคนอาจเคยคิดเหมือนกันว่าจะปรับปรุงทำไมกันมากมายในเมื่อของเก่าก็ดีอยู่แล้ว
แน่นอนว่าธุรกิจที่ไปไม่รอดจำนวนมากก็เพราะมั่นใจว่า “ดีอยู่แล้ว” จึงหยุดพัฒนา สุดท้ายเมื่อมีสินค้าอื่นเข้ามาแทรกและดีกว่าที่มีอยู่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยอดขายตกหล่นอย่างใจหาย บางครั้งถึงกับทำให้ธุรกิจล่มสลายได้ทีเดียว
5.ไม่สามารถรักษาลูกค้าเก่าไว้ได้

มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่มุ่งหน้าหาแต่ลูกค้ารายใหม่จนไม่สนใจฐานลูกค้าเก่าของตัวเอง สิ่งสำคัญที่มากกว่าการหาลูกค้าใหม่คือการทำฐานข้อมูลลูกค้าเก่า ว่าเคยมีใครใช้สินค้าเราบ้าง ใช้แล้วดีอย่างไร ปริมาณการสั่งเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้คอยอัพเดทข่าวสารและตามติดการซื้อขายเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน
ซึ่งให้ผลทางการตลาดที่ดีกว่าลูกค้าใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นกันอีกมาก ธุรกิจที่มีลูกค้าเก่าที่ดีจึงเหมือนมีเหมืองทองของตัวเองในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีลูกค้าเก่าเหล่านี้จะช่วยประคับประคองธุรกิจเราได้อย่างดีอีกด้วย
6.ทำการตลาดแบบด้านเดียว

คำว่าการตลาดแบบด้านเดียวคือ “คิดไปเอง” สิ่งที่นักธุรกิจต้องท่องจำให้ขึ้นใจคือคนที่ซื้อสินค้าหรือบริการเขาไม่ได้มาซื้อเพราะมองเห็นแต่มาซื้อเพราะต้องการสิ่งที่ตอบสนองและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้กับเขาได้
เทคนิคที่สำคัญที่จะทำให้ยอดขายเราดีไม่มีวันตกคือแทนที่จะเป็นฝ่ายพูดฝ่ายเสนอขายลองเปลี่ยนมาเป็นผู้ฟังดูสิ่งที่ลูกค้าต้องการและนำสิ่งนั้นมาปรับใช้ให้สอดคล้องจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจได้ดีกว่าที่สำคัญสามารถซื้อใจลูกค้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
7.เชื่อที่ปรึกษามากกว่าจะเข้าใจธุรกิจของตัวเอง
ที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ดีมีอยู่เยอะแยะแน่นอนว่าทำธุรกิจก็ต้องพึ่งพาคนมีประสบการณ์แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่านั่นคือธุรกิจของเรา ระบบการตัดสินใจสุดท้ายตัวเราต้องเป็นคนกำหนดเอง การใช้ระบบที่ปรึกษาที่ดีจึงควรเป็นแค่คู่มือการตัดสินใจไม่ใช่กุญแจหลักในการทำธุรกิจ
ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของธุรกิจสิ่งที่ดีที่สุดคือการลงไปคลุกคลีกับธุรกิจตัวเองในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำยิ่งใกล้ชิดมากยิ่งมองเห็นภาพรวมมากการแก้ปัญหาก็จะง่ายทีนี้ตรงไหนไม่เข้าใจหรือต้องการตัวช่วยก็อาจพึ่งที่ปรึกษาได้แต่ไม่ใช่เอะอะก็ถามที่ปรึกษาโดยที่ยังไม่เคยมองธรรมชาติของธุรกิจตัวเองสักครั้งเดียว
8.ไม่มีการวางแผนงานที่ชัดเจน

ปัญหาใหญ่ คือถนัดจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว หลายครั้งที่เราทำตัวเหมือนแก้ผ้าเอาหน้ารอดวิธีการแบบนั้นแค่ทำให้ธุรกิจพออยู่รอดไปวันๆ แต่ทางที่ดีควรมีแผนราย3เดือน ราย6เดือน รายปี ว่าควรทำอะไร แบบไหน อย่างไร
ทั้งนี้การมีแผนระยะยาวจะทำให้เรารู้สาเหตุของปัญหาหลายครั้งที่ยอดขายตกแต่ผู้ประกอบการไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไรแก้ปัญหาก็ไม่ได้ดังนั้นการวางแผนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทางที่ดีลองมานั่งวางแผนกันอย่างจริงจังดูสักตั้ง รับประกันได้ว่าแม้ยอดขายจะไม่เติบโตทันใจแต่ก็ไม่มีวันยอดตกลงไปอย่างน่าใจหายแน่นอน
9.ไม่รู้จักการเรียนรู้ไม่รู้จักการสร้างเครือข่าย
การทะนงตนว่าเก่งว่าดีกว่าคนอื่น ปิดหู ปิดตาไม่มองดูคู่แข่งรายอื่นรวมถึงการไม่ยอมเจอกับสังคมใหม่ๆ อยู่แต่กับกลุ่มเก่าๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนดึงยอดขายให้ตกลงมาได้ทั้งสิ้น โลกธุรกิจทุกวันนี้เป็นยุคของ Know how ยิ่งรู้มากความสำเร็จก็ยิ่งมีมาก ทางที่ดีออกไปสู่โลกใบใหม่บ้างเปิดหูเปิดตาให้กว้าง ธุรกิจที่สำเร็จต้องอยู่คู่กับสังคมที่หลากหลาย ยิ่งรู้จักคนมากเท่าไหร่ผลตอบแทนทางธุรกิจยิ่งคุ้มค่ามากเท่านั้น
10.ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนยอมหักไม่ยอมงอ

เรียกได้ว่าเป็นความคิดยุคเก่าล้าสมัยที่ไม่น่าเชื่อว่าก็ยังมีบางธุรกิจที่คิดแบบนี้คือดื้อดึงดันไม่ใช้เหตุผล แม้จะรู้ว่าสินค้าหรือบริการเริ่มไม่ใช่กระแสที่ลูกค้าต้องการ

สุดท้ายยังดึงดันและกระเสือกกระสนที่จะเดินหน้าไม่ต่างจากสินค้าอย่างพิมพ์ดีดหรือว่ากล้องฟิล์มที่ล้มหายไปไม่เป็นท่าด้วยความที่ยอมหักแต่ไม่ยอมเปลี่ยน สุดท้ายก็กลายเป็นสินค้าที่มีแค่ในความทรงจำแปรเปลี่ยนเป็นกำไรไม่ได้อีกต่อไป

แต่สำหรับสินค้าที่กล้าจะเปลี่ยนแม้ช่วงแรกอาจไม่เป็นที่ยอมรับและต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นสุดท้ายก็ยังเป็นสินค้าที่อยู่ได้มีลูกค้ายังต้องการ ยอดขายก็ไม่ได้หดหายไปจากเดิมมากนัก
สาเหตุทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่มีความเป็นจริงที่ทำให้ธุรกิจหลายอย่างล้มลงไม่เป็นท่า หรือบางธุรกิจก็มียอดขายที่ลุ่มๆดอนๆก็เพราะสาเหตุสำคัญเหล่านี้การเรียนรู้เบื้องต้นจะได้นำไปสู่การป้องกันธุรกิจที่ลงทุนจะได้มีแต่คำว่าเดินหน้ายอดขายที่ดีก็จะตามมาไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องยอดต่ำยอดตกกันอีกต่อไป

Cr.ThaiFranchiseCenter
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

7 วิธีรับมือแก้ปัญหาเมื่อทีมงาน เกิดสะดุด!



          ทุกองค์กรย่อมมุ่งหวังประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากร ว่ากันว่าองค์กรใดก็ตามมีบุคลากรที่มีคุณภาพนั้นเหมือนโชคดี 2 ชั้น หนึ่งคือบุคคลเหล่านี้พร้อมจะผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่ทีมบริหารตั้งใจ อีกประการคือองค์กรจะแน่นแฟ้นและมีความมั่นคงเพราะคนที่ยิ่งทำงานด้วยกันมานานย่อมเข้าใจรู้ใจและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ดีกว่า
แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่าการทำงานเป็นทีมจะมีแต่ด้านบวกเสมอไป เมื่อหลายคนก็หลายความคิดถ้าไม่สามารถหลอมรวมกันได้อาจจะกลายเป็นผลร้ายที่มากกว่าดีก็ได้

ทางผู้เขียนมองว่าเรื่องของการทำงานด้วยระบบทีมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ทีมกำลังระส่ำระส่าย วิธีการแบบไหนที่จะนำพาทีมเวิร์คเหล่านั้นให้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง
จากคำแนะนำของ Rebecca M. Knight ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการที่มีงานเขียนใน Harvard Business Review และ Knowledge@Wharton หลายฉบับ ได้พูดถึงเรื่องการทำงานเป็นทีมไว้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดปัญหาเขาเสนอแนะ 7 วิธีนี้เอาไว้เป็นโครงสร้างให้ทุกองค์กรได้ใช้ในยามที่คำว่าทีมเวิร์คเกิดไม่เวิร์คขึ้นมา
1.จงรีบวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในทีมอย่างรวดเร็วและชัดเจน
โดยเทคนิคการแก้ปัญหาที่ใช้กันแพร่หลายมีหลายวิธี เช่น 5 Why คือการถามว่า ทำไม หรือ เพราะเหตุใด ซ้ำๆ อย่างน้อย 5 ครั้ง หรือวิธี ผังก้างปลา คือการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของปัญหา หรือ กราฟพาเรโต (กฎ 80/20) แต่แม้วิธีเหล่านี้จะมีข้อดีคือ กระตุ้นให้เกิดการค้นหาปัญหาที่ต้นเหตุ แต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับพนักงานบางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกที่ยังไม่ได้ถูกฝึกให้คิดมากนัก

วิธีการข้างต้นดูเหมือนง่ายสำหรับผู้คุ้นเคย แต่อาจกลายเป็นเรื่องยากและซับซ้อนสำหรับมือใหม่ ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากการพูดคุยถึงปัญหาง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดเจนก่อน เช่น จำนวนครั้งที่ลูกค้าร้องเรียน จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หรือจำนวนของเสียในกระบวนการผลิต เป็นต้น
2.กำหนดจุดสนใจให้กับทีม
โดยเฉพาะในการประชุมเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ อย่าปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่านและล่องลอยมากจนเกินไป จริงอยู่ไอเดียสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการไม่จำกัดความคิด แต่การมีจุดโฟกัสที่ชัดเจนก็เป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนการประชุมให้มีประสิทธิภาพ

เทคนิคการประชุมง่ายๆ อย่าง “การคิดแบบหมวก 6 ใบ” (6 Thinking Hats ของ Edward de Bono) ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยให้มีโฟกัสมากขึ้น โดยหมวกแต่ละใบเป็นตัวแทนในการคิดแต่ละเรื่อง เช่น อาจเริ่มต้นให้ทุกคนในทีมคิดแบบหมวกสีขาวก่อน คือ พูดคุยแต่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและตัวเลข โดยยังไม่ต้องแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นใดๆ
จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นหมวกสีดำ ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงข้อเสีย ปัญหาและอุปสรรคที่มี โดยยังไม่ต้องคุยถึงข้อดีหรือทางเลือกอื่นๆ การประชุมแบบนี้ช่วยให้สามารถควบคุมประเด็นได้เป็นอย่างดี มีการคิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีข้อสรุปและแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย
3. มีการนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง
คนที่ทำงานด้วยกันในองค์กรเดียวกันมักมีมุมมองคล้ายกัน เพราะอ่านเอกสารชิ้นเดียวกัน ฟังข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเดียวกัน รับประทานข้าวกลางวันกับเพื่อนคนเดียวกัน อบรมห้องเดียวกัน จากอาจารย์คนเดียวกัน ดังนั้นความคิดใหม่ๆจึงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมและสภาพแวดล้อมแบบนี้
ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกในทีม มีโอกาสได้พบกับมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมบ้าง เช่น การไปอบรมสัมมนาภายนอกองค์กร การเข้าสมาคมหรือชมรมของอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจขององค์กร การเชิญวิทยากรหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจอื่นมาแลกเปลี่ยนมุมมอง เป็นต้น
ความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

4.ต้องหยิบยกตัวอย่างความสำเร็จที่ใกล้ตัวมานำเสนอ
ความสำเร็จในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของนักคิดอมตะอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง สตีฟ จอบส์ ,มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก , ริชาร์ด แบรนสัน , แม้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและน่าชื่นชม แต่ดูไกลตัวคนธรรมดาๆ อย่างพวกเรามากเกินไป

ดังนั้นจึงควรยกตัวอย่างง่ายๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ตัว อย่างเช่น ความคิดริเริ่มของเพื่อนพนักงานด้วยกัน แม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องน้ำ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ป้อมยามหน้าบริษัท หรือคนสวนขององค์กร เป็นต้น
แม้เป็นตัวอย่างที่ไม่ได้เลิศเลอเพอเฟคนักแต่ก็สามารถสัมผัสจับต้องได้จริง ซึ่งจะช่วยให้พนักงานไม่คิดว่าการมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่อง “ไกลเกินฝัน” อีกต่อไป

5.สิ่งสำคัญคือต้องพิชิตความกลัวการล้มเหลวของทีมให้ได้
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การประชุมเพื่อระดมสมอง ไม่ค่อยได้ผลมากนัก เพราะพนักงานส่วนใหญ่กลัวว่าไอเดียที่เสนอไปจะไม่ดีพอ ส่งผลให้ไม่กล้าเสนอความคิดนั้นๆ ออกไป จึงทำให้นวัตกรรมหลายๆ อย่างถูกซุกเงียบไว้ภายในตัวบุคคลเท่านั้น

ผู้นำที่ดีต้องสร้างบรรยากาศให้ทีมงานรู้สึกว่า “การกล้าเสนอไอเดีย” กับ “ไอเดียนั้นนำไปใช้ได้จริงหรือไม่” เป็นคนละเรื่องกันคนที่กล้าแสดงความคิดเห็น
แม้ว่าจะยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ก็ควรได้รับการยกย่องชื่นชมในเบื้องต้น เพราะหากไอเดียที่เสนอทุกครั้งต้องนำไปใช้ได้จริงเท่านั้น ก็คงไม่มีใครอยากจะเสนอไอเดียแปลกใหม่อะไรอีกต่อไป ก็นำไปสู่ปัญหาและสร้างรอยร้าวขึ้นภายในทีมได้เช่นกัน
6.สร้างเส้นทางที่เปลี่ยนฝันให้เป็นความจริง
ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จะมีความหมายก็ต่อเมื่อถูกนำไปปฏิบัติ คนจะรู้สึกเบื่อและไม่อยากแสดงความคิดเห็นอีกต่อไป หากไอเดียที่ได้มานั้น ไม่นานก็เงียบหาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นผู้นำมีหน้าที่ผลักดันและสนับสนุนให้ความคิดดีๆ ได้รับการนำไปใช้ให้เป็นรูปธรรม หากทำได้เช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ความคิดริเริ่ิมสร้างสรรค์ก็จะค่อยๆ เบ่งบานขึ้นในองค์กร เพราะพนักงานทุกคนประจักษ์แล้วว่า “หัวหน้าเอาจริง!” 
7.จงหลีกเลี่ยงคำว่า “นวัตกรรม” จะดีกว่า
คำนี้ฟังดูยิ่งใหญ่แต่ห่างไกลสำหรับพนักงาน ดังนั้น แทนที่จะพูดว่า “พวกเราทุกคนมีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้บริษัทของเราเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม” แม้ฟังแล้วจะดูหรูหราในสายตาผู้บริหาร
แต่สำหรับทีมงานก็คงไม่ได้จินตนาการยิ่งใหญ่ไปแบบนั้น ทางที่ดีควร เปลี่ยนใหม่เป็นว่า “พวกเราทุกคนมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างบริษัทให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่และที่นี่คือครอบครัวที่เราจะร่วมกันสร้างอนาคตด้วยกัน” อาจฟังดูธรรมดามาก แต่รับรองสร้างพลังและทำให้ทีมงานเกิดความรุ้สึกอยากทำงานได้มากกว่าแน่นอน
          7 วิธีเหล่านี้แม้จะดูเรียบง่ายและไม่อาจเห็นผลได้ในทันทีแต่ถ้าลองเอาไปปฏิบัติดูแล้วเชื่อว่าทีมงานในองค์กรคงจะรู้สึกมีพลังใจที่อยากทำงานมากขึ้น จงอย่าลืมว่าพนักงานก็คือคนธรรมดาสิ่งที่ดีนอกจากกำลังใจคือการดูแล และตอบแทนให้คุ้มค่ากับการทำงานเมื่อบุคลากรมีความมั่นคงองค์กรก็แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน


Cr.ThaiFranchiseCenter
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก