วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

CSR กับ CSV แตกต่างกันอย่างไร



CSR : Corporate Social Responsibility แปลความอย่างง่ายว่าความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคม ส่วนใหญ่นิยมแสดงผ่านการจัด "กิจกรรม" ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหลัก โดยเป็นการแบ่งปันผลกำไรมาใช้จัดโครงการเพื่อสังคม บางครั้งเป็นการทำตามความต้องการของผู้บริหาร หรือเมื่อมีปฏิกิริยากดดันจากภายนอก

CSV : Creating Shared Value คือ การปรับเปลี่ยน "การดำเนินธุรกิจ" ให้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม โดยการปรับตัวเข้าสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อย "รอยเท้า" ของธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น ของเสียจากการผลิต มลพิษ คาร์บอน

เนื่องจาก CSV ไม่ใช่การแบ่งปันผลกำไร หรือการกุศลโดยตรง แต่ CSV เน้นการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (value chain) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่หวังดีต่อสังคม ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสร้างกำไรให้บริษัทด้วย ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ทำ CSV ประสบความสำเร็จ


>>> Case study ตัวอย่างองค์กรที่ทำ CSV 

- Novartis ผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพระดับโลก : ทำ CSR ด้วยการแจกยาฟรีหรือลดราคาให้กับประชาชนในประเทศยากจน ทำให้คนจนเข้าถึงยาได้ แต่รายได้บริษัทกลับลดลง ด้วยการแบกรับต้นทุนเท่าเดิม ต่อมา Novartis ได้เปลี่ยนมาทำ CSV โดยการตั้งโครงการ “Arogya Parivar” (แปลว่า ครอบครัวสุขภาพดี ในภาษาฮินดี) เป็นบริการสุขภาพเพื่อคนจน โดยเริ่มต้นในอินเดีย ด้วยการปรับผลิตภัณฑ์ การบริการ ไปจนถึงกลยุทธ์ และโมเดลธุรกิจ จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทควบคู่กับไปกับการสร้างประโยชน์ให้สังคมได้

- Dow Chemical บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก : ออกผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ชื่อว่า The Spinetoram มีสรรพคุณไล่แมลงได้ผลมากขึ้นในปริมาณการใช้ที่น้อยลง และส่งผลกระทบน้อยมากกับแมลงซึ่งถือเป็นหัวใจของระบบนิเวศ ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์อื่นๆ และพันธุ์ไม้โดยรอบ เพราะเป็นสารที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทำให้ยอดขายเติบโตปีละกว่า 10% ตั้งแต่เริ่มวางจำหน่าย

- GE (General Electric) บริษัทอุตสาหกรรมหนักรายใหญ่ของโลก : ปรับยุทธศาสตร์จากอุตสาหกรรมแบบเดิมมาเน้น 2 เรื่องหลัก คือ Ecomagination - เน้นการลงทุนในพลังงานสะอาดและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ Healthymagination - เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนเข้าถึงการสาธารณสุขได้มากขึ้นด้วยเทคโลยี เริ่มโดยออกแบบเครื่องตรวจ x-ray , MRI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเริ่มดำเนินการปรับปรุงการจัดการในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียน ทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงได้มากกว่า 41% และลดการใช้น้ำลงกว่า 20% อีกด้วย

- Campbell’s soup บริษัทผลิตอาหารระดับโลก : ให้ความสำคัญกับทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับภาครัฐในการตั้งเป้าลดระดับเกลือในอาหาร ด้วยการผลิตซุปโซเดียมต่ำออกมาขายพร้อมเปิดเผยข้อมูลโภชนาการอย่างละเอียด โดยปัจจุบันรายได้ของซุปโซเดียมต่ำคิดเป็น 30% ของรายได้รวมบริษัทเลยทีเดียว

- Cisco บริษัทผู้นำด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายสำหรับอินเตอร์เน็ต : ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น โดยการก่อตั้ง cisco networking academy โครงการศึกษาทางไกลสำหรับนักเรียนในพื้นที่ต่างๆ กว่า 170 ประเทศทั่วโลก หลักสูตรนี้ได้รวมกับหลักสูตรอบรมพัฒนาทักษะพนักงานของ cisco ทำให้นักเรียนที่จบหลักสูตรดังกล่าว มีโอกาสเข้าทำงานกับ Cisso ด้วย ซึ่งโมเดลนี้นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในบริษัทแล้ว ยังเป็นการพัฒนาการศึกษาระดับท้องถิ่น เกือบ 10 ปีที่เริ่มโครงการนี้มาจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้มาแล้วกว่า 5.5 ล้านคนทั่วโลก

ขอบคุณข้อมูล : ป่าสาละ schoolofchangemakers.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับสร้างการมีส่วนร่วมในการประชุมทีมงาน



บางคนมักจะรู้สึกว่าการประชุมเป็นสิ่งเต็มไปด้วยความกดดัน หากเตรียมตัวไม่พร้อม เราก็จะกลายเป็นจุดสนใจ แน่นอนว่าไม่ใช่จุดสนใจที่ดีนัก เราจะรู้สึกได้ถึงสายตาทุกสายตา ที่กำลังจ้องมองมาที่เราเป็นตาเดียว ทำอย่างไรจึงจะทำให้การประชุมที่เรามีส่วนร่วมน่าสนใจ และดูไม่น่าเบื่อจนเกินไป หลายคนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมกับองค์กร เพราะส่วนหนึ่งรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ขาดความน่าสนใจ และไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

การประชุมไม่เพียงแต่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้ฟังเท่านั้น แต่เราต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการประชุมให้เกิดขึ้นด้วย เราต้องให้ผู้ฟังสามารถโต้ตอบ เพื่อแสดงออกถึงการรับรู้ว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอไปมากน้อยเพียงใด ผู้พูดต้องทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกว่าการเข้าประชุมนั้นสำคัญเพียงใด จำเป็นเพียงใดที่เขาต้องเข้าประชุมในครั้งนี้

การจัดการประชุมให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพนั้น ไม่เพียงแต่ต้องทำอย่างมีระบบ แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้กับการประชุมในแต่ละครั้งด้วย เทคนิคการประชุมนั้นไม่ตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สถานการณ์การประชุมที่จะเกิดขึ้นก็มักจะแตกต่างกันไป เคล็ดลับที่จะช่วยให้การประชุมเกิดการมีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง มีดังนี้

เข้าประชุมตรงเวลา
การตรงต่อเวลาเป็นมารยาทข้อสำคัญที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนต้องมี และปฏิบัติให้ได้ เพราะหากต้องรอใครคนใดคนหนึ่ง ก็จะเสียเวลาการประชุมออกไปอีก หากเป็นไปได้ให้เข้าประชุมก่อนเวลาสัก 5 นาที เพราะเราจะได้มีเวลาเตรียมตัว และเตรียมประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องพูดถึงในการประชุมให้มากขึ้น การเข้าประชุมสายจะทำให้คนอื่น ๆ เข้าใจว่าเราไม่มีความพร้อมมากพอ และเป็นคนไม่รักษาเวลา

จำกัดผู้มีส่วนร่วมประชุม
เราต้องทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนรู้สึกได้ถึงความสำคัญ ว่าเหตุใดเขาจึงต้องเข้าประชุมในครั้งนี้ และผู้จัดประชุมเองต้องมั่นใจว่าทุกคนที่เข้าประชุมจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการประชุมจริง ๆ ไม่ใช่เชิญเพียงเพราะว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าประชุม หากเชิญคนที่ไม่มีบทบาทอย่างจริงจังมา ก็จะทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่าย และไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใด ๆ ได้ เพราะเขาไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริงแต่อย่างใด เช่น หากเป็นการประชุมแผนก เราก็ควรเชิญเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกับกับหัวข้อที่เราจะพูดเท่านั้น ไม่ควรชวนคนอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมาด้วย แม้ว่าเขาจะอยู่ในแผนกเดียวกับเราก็ตาม ยิ่งมีผู้ประชุมมากก็จะทำให้การประชุมยืดเยื้อเกินความจำเป็น

เตรียมทุกอย่างให้เกินความพร้อม
การประชุมทุกครั้งมีโอกาสที่จะเกิดเรื่องไม่คาดหวังอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในบริษัท หรือจำเป็นต้องออกไปประชุมนอกสถานที่ เราต้องเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในการประชุมให้พร้อม และเตรียมเผื่อไว้ในกรณีที่มีผู้เข้าประชุมต้องการข้อมูลเพิ่ม ในกรณีที่เรามีเอกสารให้ผู้เข้าประชุม เราไม่จำเป็นต้องพูดให้ครบทุกประเด็น พูดเพียงประเด็นที่สำคัญ ๆ เท่านั้น และพูดให้ตรงประเด็นมากที่สุด หากผู้เข้าประชุมมีข้อสงสัยก็อาจจะอ่านเพิ่มเติมจากเอกสาร หรือเปิดโอกาสให้เขาได้ซักถามเพิ่มเติม โดยเราเป็นผู้ตอบคำถามนั้น เพื่อไขข้อข้องใจ

ให้ความสำคัญกับผู้เข้าประชุม
เราควรกำหนดเวลาว่าเราจะใช้เวลาในการนำเสนอข้อมูลนานเพียงใด จากนั้น เราจะใช้เวลาเท่าใดในการตอบคำถามของผู้เข้าร่วมประชุม การให้ความสำคัญกับผู้เข้าประชุม จะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมได้ดีในระดับหนึ่ง การเกิดคำถามคำตอบในระหว่างการประชุม หรือแม้แต่หลังการประชุมเองก็ตาม ทำให้เราได้รู้ว่าผู้เข้าประชุมสนใจหัวข้อใด หรือมีข้อสงสัยในประเด็นใดเป็นพิเศษ หากมีโอกาสเราต้องไขข้อข้องใจนั้นให้กระจ่าง เป็นการตัดปัญหาการประชุมที่ขนาดความน่าสนใจไปได้

การสร้างการมีส่วนร่วมในการประชุมนั้น จะทำให้ประเด็นที่นำมาประชุมนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะเข้าใจในประเด็นที่ตรงกันมากขึ้น และไม่จะเป็นต้องพูดซ้ำ หากประเด็นนั้นมีการพูดถึงไปแล้ว การสร้างการมีส่วนร่วมจะทำให้การประชุมมีความสำคัญ เพราะผู้เข้าร่วมประชุมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่


ที่มา : th.jobsdb.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อิทธิบาท 4 ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน สู่ความสำเร็จ



ในโลกของการทำงาน คนรุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหลายต่างก็เฝ้าหาทฤษฎีแห่งความสำเร็จมากมาย มาใช้แก้ปัญหาและหาหนทางเจริญก้าวหน้า แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ และเจอประตูสู่ความสำเร็จ งั้นลองมาดู ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน เพื่อให้คุณประสบความสำเร็จในการทำงาน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ นั่นคือ อิทธิบาท 4 ธรรมแห่งความสำเร็จ
อิทธิบาท 4 ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน ประกอบด้วย
1. ฉันทะ คือ ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่
2. วิริยะ คือ ขยันหมั่นเพียรกับงาน
3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่รับผิดชอบงาน
4. วิมังสา คือ การพินิจพิเคราะห์ หรือ ความเข้าใจทำ

ฉันทะ : ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่
อันดับแรกต้องสำรวจตนเองว่า มีความชอบหรือศรัทธางานด้านใด แล้วมุ่งไปในเส้นทางนั้น อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ฉันทำงานเพื่ออะไร ฉันมีความสุขหรือไม่หากงานที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่รักเสียทีเดียว เผื่อเราจะได้มีเวลาค้นหาและปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือปรับศรัทธาของตัวเองให้เข้ากับงานที่ทำอยู่
อย่างไรก็ตาม เชื่อเถอะว่างานแต่ละอย่างนั้น ไม่มีทางที่ใครจะชื่นชอบไปทั้งหมดทุกกระบวนการ ดังนั้น ถ้าคุณพอใจที่จะทำ และมีความสุขกับงาน เชื่อว่างานที่คุณทำอยู่ต้องออกมาดีแน่ ๆ

วิริยะ : ขยันหมั่นเพียรกับงานที่มี
งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ความวิริยะจึงเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จได้ ยิ่งคุณขยันเท่าไรผลตอบแทนที่คุณจะได้รับมันก็มีมากเท่านั้น ที่สำคัญความวิริยะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความรักในงานจากฉันทะนั่นเอง และความวิริยะไม่ใช่การทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการหมั่นฝึกฝนตนเองต่างหาก ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตสำหรับคนทำงานร่วมกันคือ จะต้องขยันด้วยกันทั้งหัวหน้าและลูกน้อง ยิ่งผู้เป็นหัวหน้ายิ่งสำคัญมาก ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน คิดกินแรงอย่างเดียว ลูกน้องก็มักขยันไปได้ไม่กี่น้ำ เดี๋ยวก็รามือกันหมด แต่ถ้าหัวหน้าเอาการเอางาน ก็จะสามารถดึงลูกน้องให้ขยันขันแข็งขึ้นด้วย

จิตตะ : เอาใจใส่รับผิดชอบกับงานที่ทำ
จิตใจที่จดจ่อกับงานล้วนเกิดผลดีต่องานที่ทำ จิตตะเป็นธรรมะที่แสดงถึงสติ ความรอบคอบและความรับผิดชอบที่จะตามมา ซึ่งในสังคมการทำงานปัจจุบันนี้ มุ่งเน้นแย่งชิงตำแหน่งกัน และขัดขาจนลืมคิดไปว่า งานที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้นคือสิ่งใดกันแน่ จิตตะจึงมีความสำคัญในการทำงานโดยไม่วอกแวกออกไปนอกลู่นอกทาง ดังนั้น เมื่อคุณมีทั้งฉันทะและวิริยะแล้ว จิตตะจะเป็นเสมือนรั้วของเส้นทางที่ไม่ให้ไขว้เขวออกนอกทางสู่ความสำเร็จได้ อย่างไรก็ดี ปกติคนที่โตเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบ มักจะใส่ใจกับงานอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติจะทำให้หยุดคิดยาก แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบคิดเจ้ากี้เจ้าการแต่เรื่องงานของคนอื่น คอยติ คอยสอดแทรก คอยวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่ธุระของตัวกลับไม่คิดไม่ดู ซึ่งไม่ส่งผลให้งานของเราดีขึ้น พระพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้เป็นนักตรวจตรางาน คือให้มีจิตตะ แล้วก็ทรงให้โอวาทสำทับไว้ด้วยว่า "ควรตรวจตรางานของตัวเอง ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ"

วิมังสา : การพินิจพิเคราะห์และใช้ปัญญาตรวจสอบงาน
สุดยอดของวิธีทำงานให้สำเร็จอยู่ในอิทธิบาทข้อสุดท้ายนี้ วิมังสา แปลว่า การพินิจพิเคราะห์ หมายความว่า ทำงานด้วยปัญญา ด้วยสมองคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน บากบั่นเพียงใด หรือเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าขาดการใช้ปัญญาพิจารณางานด้วยแล้ว ผลที่สุดงานก็คั่งค้างและผิดพลาดจนได้
เราอาจลองทบทวนตัวเองนิ่ง ๆ ว่าวันนี้ทั้งวันเราทำอะไรบ้าง สรุปกับตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เราจะได้มีกำลังใจต่อในวันต่อ ๆ ไป และไม่ทำผิดซ้ำซากอีกเช่นเดิม พร้อมกันนั้นเราจะสามารถเห็นหนทางได้ว่า เส้นทางไหนที่จะนำเราสู่ความสำเร็จได้จริง ๆ จะเห็นได้ว่า หลักธรรมะที่ใช้ในการทำงาน เป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว หากเรานำ อิทธิบาท 4 มาปรับใช้ในการทำงาน รักงานที่ทำ ขยันทำงาน รับผิดชอบงาน และรู้จักไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ทางแห่งความสำเร็จคงไม่เกินเอื้อม...เชื่อเถอะ คุณก็ทำได้ ทุกอย่างอยู่ที่ "ใจ"


ที่มา : hplan.msu.ac.th
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก