วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

6 เคล็ดลับปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมทีมใหม่




          โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เงินเดือนจะทำงานกันเป็นทีม น้อยมากที่จะเป็นวันแมนโชว์ การย้ายทีม หรือเจอเพื่อนร่วมทีมใหม่ๆ เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยๆ บทความจาก Inc ชิ้นนี้จะทำให้การปรับตัวเข้ากับคนใหม่ๆ ทำได้ง่ายขึ้นค่ะ คิดว่านำไปใช้ได้กับทั้งทีมใหม่และที่ทำงานใหม่

1. เปิดใจให้กว้าง
รู้จักคำว่า “คอมฟอร์ทโซน” กันใช่มั้ยคะ นั่นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราทำงานกับทีมเดิมเป็นเวลานานๆ เพราะเรารู้จักมันดีมากซะจนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเราไปแล้ว เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในทีมใหม่ๆ เราก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับทีมเก่า แล้วก็รู้สึกผิดหวัง สิ่งที่ควรทำคือรีเซ็ทความคิดของเราใหม่ ต้องยอมรับความจริงว่าเราจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ดังนั้น ทำตัวสบายๆ กับมันจะดีกว่า

2. ใช้เวลาทำความสนิทสนมกับเพื่อนร่วมทีม
จริงอยู่ที่ผลงานของโปรเจคต์นั้นๆ เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมันจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มาก ถ้าเราแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมทีม เช่น อาจจะแบ่งเวลาวันละ 30 นาที พูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมเกี่ยวกับสิ่งที่เราชอบและเพื่อนร่วมทีมสนใจ หรือแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำงานที่น่าสนใจ
สิ่งสำคัญคือพยายามหาจุดร่วมที่เราและเพื่อนร่วมงานมีเหมือนๆ กัน ซึ่งมันจะทำให้กลายเป็นเพื่อนร่วมทีมที่ดีในภายหลัง

3. เตรียมพร้อมและยืดหยุ่น
ถ้าคิดว่าจะเข้าประชุมกับเพื่อนร่วมทีมโดยมีธงในใจแล้วว่าประสบการณ์ของเราเจ๋งที่สุด และทุกคนควรจะทำตาม ขอให้เลิกความคิดนั้น เพราะเราควรจะเตรียมพร้อมที่จะทดลองวิธีการใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการที่ทีมตกลงร่วมกัน การอยู่กับทีมเดิมมาเป็นเวลานาน (หรือคอมฟอร์ทโซนนั่นแหละ) อาจจะทำให้เราไม่รู้ว่าวิธีการเดิมๆ นั้นไม่มีประสิทธิภาพในบางจุด ดังนั้น จงเตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมัน

4. อนุญาตให้เพื่อนร่วมทีมแสดงความเห็นอย่างเต็มที่
เพื่อนร่วมทีมใหม่ๆ อาจจะไม่แน่ใจว่าเรายอมรับการแสดงความเห็นได้มากแค่ไหน พวกเขาอาจจะหลีกเลี่ยงการพูดตรงๆ กับเรา ซึ่งมันจะทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น เราก็ควรจะเป็นฝ่ายเริ่ม ทำให้พวกเขารู้ว่ายินดีที่จะรับฟังฟีคแบ็ก และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น ด้วยวิธีการนี้ จะช่วยให้เพื่อนร่วมงานเรียนรู้เกี่ยวกับเราได้เร็วขึ้น

5. ให้ความสำคัญกับการพูดตรงๆ
มันเป็นสิ่งที่ดีถ้าจะอนุญาตให้เพื่อนร่วมทีมพูดในสิ่งที่คิด แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะทำนะ ยังไงๆ คนก็มักจะแสดงความเห็นกันแบบสงวนท่าที โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เราควรจะทำให้พวกเขารู้ว่าเรายินดีที่จะรับฟังความเห็นที่แสดงออกมาอย่างซื่อสัตย์ ไม่ว่ามันจะฟังดูดีหรือแย่ เพราะมันจะทำให้ทีมมีคุณภาพ ถ้าปราศจากความสร้างสรรค์ ทีมก็จะไม่สามารถเติบโตได้

6. จงสนุกกับมัน
เมื่อทำงานร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดขนาดไหนก็ตาม เราก็ควรจะรู้สึกสนุกไปกับมัน หาวิธีที่เหมาะสมที่จะทำให้อารมณ์ดีขึ้น การยิ้มหรือหัวเราะจะช่วยทำให้เราเข้ากับเพื่อนร่วมทีมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น


ที่มา : thumbsup.in.th
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

4 หัวใจสำคัญ เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Organization)




          วัฒนธรรมที่หลายองค์กรปลูกฝังไว้ให้กับพนักงานทุกคนในองค์กร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน ลดความสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพ โดยกระตุ้นทั้งคิดและทำผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ 5ส, QCC, Kaizen, ISO และอื่นๆอีกมาก ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้องค์กรมีรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคง

แต่องค์กรอาจจะต้องคิดต่อด้วยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติมต่อยอดให้องค์กรสูงเด่นยิ่งขึ้น ยิ่งตอนนี้เราได้มาถึงยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลขนาดใหญ่ในโลกไซเบอร์ เป็นเหมือนเหมืองทองของแท้ที่ทุกธุรกิจต่างๆมุ่งหน้ามาขุดกันอย่างจริงจัง

วัฒนธรรมการทำงานแบบดิจิทัล และความสามารถของคนในองค์กรที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงเหมืองทองแห่งใหม่ในโลกไซเบอร์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า การจะมัวแต่ไปนั่งขุดหาแร่ในเหมืองเดิมๆ ซึ่งเริ่มเหลือน้อยลงทุกที แต่กลับต้องแย่งชิงกันกับคนจำนวนมากคงไม่ได้ คำว่า “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation” จึงเป็นคำฮิตติดอันดับบนสุดของระบบการจัดการองค์กร แล้วมันคืออะไร ใครมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องบาง และจะต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม

เพื่อให้องค์กรก้าวไปสู่องค์กรแบบใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรดิจิตัล (Digital Organization) มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่ขอมาแบ่งปันกันดังนี้

1.Digital Mindset ชุดความคิดของคนในองค์กร ในทุกระดับชั้น และแน่นอนสำคัญที่สุดก็ต้องเริ่มจากคณะผู้บริหาร และผู้บริหารสูงสุด ที่จะต้องไม่ใช่แค่แสดงออกเท่านั้น หากแต่ตนเองจะต้องทำให้เห็นว่าการคิดในเชิงธุรกิจจะต้องเป็นดิจิตัล งบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานต้องพร้อม

2.Digital Processes ระบบงานและกระบวนการภายใน จะต้องลื่นไหลแบบไร้รอยต่อ ข้อมูลต่างๆภายในองค์กรจะไม่ถูกจัดเก็บแบบต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างใช้ หากแต่อยู่ในระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อลดความซ้ำซ้อน เชื่อถือได้ว่าทุกคนจะใช้ข้อมูลที่ใหม่อยู่เสมอ และที่สำคัญคือเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังเป็น 2.0 และคิดว่าจะก้าวไปเป็น 3.0 หรือ 4.0 ในอนาคต โดยใส่เซนเซอร์และระบบอัตโนมัติเข้าไปให้ดูยิ่งใหญ่ไฮเทคนั้น ขอบอกว่านั่นเป็นแค่ด้านเดียว เพราะเป็นการยกระดับอัพเกรดเฉพาะระบบการผลิต (Physical Flow) ในความเป็นจริงจะต้องคำนึงถึงการไหลของข้อมูลและการประมวลผล (Information Flow) เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนและตัดสินใจในทุกจุดของโรงงานด้วย

3.Digital Skills ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทักษะในการใช้เทคโนโลยี ระบบควบคุม สมองกลฝังตัว การเชื่อมต่อทั้งแบบมีสายและไร้สาย และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆในการประมวลข้อมูลและคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว เพราะองค์กรแบบใหม่จะไร้กระดาษ ทุกอย่างอยู่ในระบบ ถ้าไม่มีทักษะในการดึงข้อมูลมาใช้ให้เป็นรูปแบบรายงานต่างๆได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

4.Digital Culture เป็นส่วนสุดท้ายที่ไม่ทำก็ไม่ยั่งยืน กำลังจะบอกว่าวัฒนธรรมการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องในแบบไคเซ็น หรือการสร้างผลงานแบบก้าวกระโดดในเชิงนวัตกรรมนั้น อาจจะมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ถ้าขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมแบบดิจิตัล เพราะช่วยลดปัญหาอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดเดิมๆไปได้อย่างสิ้นเชิง อาทิ ผู้บริหารเซ็นอนุมัติเอกสารสำคัญไม่ได้เพราะไปต่างประเทศ คนทำงานว่างไม่ตรงกันจึงไม่ได้ประชุมเสียที ข้อมูลกระดาษมากมายเก็บไว้จนล้นห้อง จัดทำรายงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไม่รู้สถานะเครื่องจักรและการผลิต เป็นต้น
          คงไม่ต้องถามกันแล้วครับว่า “ทำไม” หรือ “เมื่อใด” ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะจากผลระทบที่เกิดขึ้น และความกังวลของใครหลายคนว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อาจจะไม่ใช่แค่มาทำงานแทนคน แต่สามารถคิดและตัดสินใจในบางเรื่องได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นทุกคนจะต้องขยับปรับตัวขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าเจ้าเครื่องจักรที่ว่า ด้วยการเพิ่มคุณค่าในตัวเอง


บทความโดย : จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
ที่มา : www.bangkokbiznews.com และ Lean Supply Chain by TMB
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประยุกต์ใช้กฏพาเรโต 80/20 กับทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน



          กฎ 80/20 เป็นกฎที่ช่วยเราได้มากที่สุดกฎหนึ่งในบรรดาแนวความคิด ของการบริหารเวลาและชีวิต มันมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หลักปาเรโต ตามชื่อของบิดาแห่งหลักการนี้ ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเต็มว่า วิลเฟรโด้ ปาเรโต (Vilfredo Pareto) ซึ่งได้เขียนอธิบายหลักการนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1895 หรือพุทธศักราช 2438 หรือ 110 ปีมาแล้ว ปาเรโต้ได้สังเกตว่าคนในสังคมของเขาดูเหมือนจะแบ่งออกตามธรรมชาติออกเป็นสองกลุ่มซึ่งเขาเรียกว่า “คนส่วนน้อยที่สำคัญมาก (vital few)” อันเป็นกลุ่มคนที่มีปริมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ที่ครอบครองความมั่งคั่งและมีอิทธิพลในประเทศ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ “ส่วนมากที่สำคัญน้อย (trivial many)” ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรระดับล่างที่มีจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของ จำนวนประชากรทั้งหมด

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ 
ต่อมาเขาได้ค้นพบว่า กิจกรรมเชิงเศรษฐกิจทั้งหมดเป็นไปตามหลักปาเรโตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กฎข้อนี้กล่าวว่า กิจกรรมจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของคุณจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของคุณจะทำให้คุณขายได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมด สินค้าหรือบริการจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของคุณจะก่อให้เกิดผลกำไร 80 เปอร์เซ็นต์ของผลกำไรทั้งหมด การงาน 20 เปอร์เซ็นต์ ของคุณจะส่งผลที่มีคุณค่าในสิ่งที่คุณทำเป็นจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นดังนี้เรื่อยไป 
นั่นหมายความว่า หากคุณมีรายการของงานที่จะต้องทำอยู่สิบรายการแล้วละก็ งานสองงานในจำนวนนั้นจะกลายเป็นงานที่มีค่ามากเท่ากับหรือมากกว่าผลของงานอีกแปดงานรวมเข้าด้วยกันผลลัพธ์ที่มากที่สุด และการค้นพบที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ การงานแต่ละงานเหล่านี้อาจกินเวลาที่จะทำให้สำเร็จเท่าๆกัน แต่งานเพียงหนึ่งหรือสองอย่างในจำนวนนี้จะให้คุณค่าดีกว่าห้าถึงสิบเท่าของงานอื่นๆที่เหลือ คุณอาจไม่เชื่อ แต่บ่อยครั้งงานเพียงหนึ่งงานที่คุณต้องทำในจำนวนนั้นสามารถมีค่ามากกว่างานอีกเก้างานที่เหลือรวมกันเลย และงานนี้เองที่คุณควรจะต้องทำก่อนงานอื่นทันที

งานที่มีคุณค่ามากที่สุด
งานที่มีคุณค่ามากที่สุดที่คุณสามารถทำในแต่ละวันมันจะเป็นงานที่ยากและซับซ้อนมากที่สุด แต่ผลหรือรางวัลที่จะได้รับ เมื่อคุณทำงานนั้นสำเร็จอย่างมีประสิทธิผลนั้นสามารถเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มหาศาลเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เองที่คุณต้องไม่ยอมทำงานต่างๆ ที่ไม่สำคัญในส่วนของ 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วหันไปทำงานในกลุ่มสำคัญ 20 เปอร์เซ็นต์นั้นโดยเร็วก่อนที่คุณจะเริ่มทำงานในแต่ละวัน ให้ถามตัวเองเสมอว่า “งานนี้อยู่ในกลุ่มกิจกรรมสำคัญ 20 เปอร์เซ็นต์ 
ของฉันหรือว่าอยู่ในกลุ่ม 80 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่สำคัญกันนะ”

เรามาเริ่มกันดีกว่า
สิ่งที่ยากที่สุดของงานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นงานใดก็คือการเริ่มต้นก้าวออกไปก้าวแรก ครั้นเมื่อคุณเริ่มลงมือทำงานที่มีคุณค่างานไปแล้วจริงๆ ก็จะดูเหมือนว่าคุณอยากทำต่อโดยไม่หยุด มันมีส่วนของสมองและจิตใจของคุณบางส่วนที่ชอบการทำงานทีสำคัญยิ่งอย่างไม่วางมือ ซึ่งงานนี้เป็นงานที่สามารถสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้จริง คุณจะต้องใส่ข้อมูลเช่นนี้เข้าไปในสมองของคุณอยู่ตลอดเวลาด้วยการทำงานชนิดนี้ทันที

บริหารชีวิตของคุณทุกวัน
แท้จริงแล้วการบริหารเวลาก็คือการบริหารชีวิต มันเป็นการบริหารตัวตนของคุณเอง คุณจะควบคุมเหตุการณ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นได้ การบริหารเวลาเป็นการที่คุณรู้ว่าขั้นต่อไปคุณจะทำอะไร คุณต้องสามารถเลือกสิ่งที่สำคัญออกจากสิ่งที่ไม่สำคัญ และนั่นคือปัจจัยความสำเร็จที่เป็นกุญแจสำคัญของชีวิตและงานที่มีความสุขและรุ่งเรืองคนที่ผลิตอะไรออกมาได้มากๆและมีประสิทธิผลจะทำอะไรอย่างสม่ำเสมอหรือเรียกได้ว่าเขามีวินัยในตนเองก็ได้ วินัยนี้นำไปใช้กับการทำให้ตัวเองลงมือทำงานที่สำคัญทันที นั่นทำให้เขาประสบความสำเร็จและมีความสุขมากกว่าคนอื่นๆทั่วๆไปอย่างมากมาย คุณเองก็ควรจะใช้ชีวิตเช่นนี้

แบบฝึกหัดลงมือปฏิบัติ
เขียนรายการเป้าหมายหลัก กิจกรรม โครงการ และความรับผิดชอบทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตของคุณวันนี้ แล้วพิจารณาว่างานไหนอยู่ในส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ และงานไหนอยู่ในส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ และส่งผลดี 80 เปอร์เซ็นต์ และ 20 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าคุณจะทำงาน 20 เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ทุกวันเพื่อสร้างชีวิตอนาคตของคุณ ด้วยการใช้เวลาที่น้อยลงๆกับงานที่มีคุณค่ามากขึ้นๆ


ที่มา : หนังสือ คิดแบบกฎ 80/20 เรียบเรียงโดย พันโทอานันท์ ชินบุตร
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เมื่อรู้สึกไม่มั่นใจเลย…ควรทำไงดี?



เมื่อพูดถึงเรื่องบุคลิกภาพที่ดีนั้น มักมีจุดเริ่มต้นาจากความมั่นใจก่อนสิ่งอื่นใด เจ๊เชื่อว่าหากเรามีความมั่นใจ ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพไหน เราก็สามารถทำทุกอย่างออกมาได้ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด หลายคนก็ยังคงมีปัญหาเรื่องความไม่ค่อยมั่นใจ ทำให้เป็นอุปสรรคเวลาทำงาน หรือพบเจอกับผู้คน
แต่วันนี้ไม่ต้องกังวลไปนะจ๊ะ เจ๊มีวิธีเสริมสร้างความมั่นใจฝาก รับรองว่าหากทำตามวิธีของเจ๊ได้ จะต้องเป็นคนมั่นใจ สวย หล่อ เริ่ด แน่นอนค่า
1. หยุดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
เป็นหลักการที่เรามักได้ยินกันบ่อย แต่จะให้ทำตามนั้นยากมาก เจ๊เข้าใจค่ะ เพราะเวลาที่เราเห็นคนเก่งๆทำอะไรที่เหมือนกับเราเมื่อไหร่ ความท้อหรือเหนื่อยหน่ายก็เหมือนจะวิ่งจู่โจมเข้ามาทันที เพราะฉะนั้นเคล็ดลับที่จะทำให้เราลดการเปรียบเทียบนั่นคือ การยอมรับตัวตนของเราเอง มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น มีสมาธิกับตัวเอง ทำความเข้าใจว่าเราทุกคนไม่มีใครเหมือนใคร เพราะฉะนั้นจงภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นกันนะจ๊ะ
2. เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก
โดยปกติคนเรามักจะมีความมั่นใจเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนฝูง หรือคนสนิท ยิ่งเพื่อนสนิทมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งความมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น จริงไหมจ๊ะสาวๆ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าไม่มีใครสนใจเรา ไม่มีใครรักเรา เจ๊ให้มองไปรอบๆตัว และสังเกตให้ดีๆ จะพบว่ายังมีคนที่พร้อมจะอยู่ข้างๆและช่วยเหลือเราตลอดเวลา

3. พูดคุยกับคนที่สนิทใจ
บางครั้งเราก็ไม่สามารถหาสาเหตุของการที่เราหมดความมั่นใจได้ เจ๊แนะนำว่าให้ลองคุยกับคนสนิท ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท คนรัก หรือครอบครัว ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ เพราะบางทีนิสัยเราเองก็มักจะมองไม่เห็น หรือมองมันไป ลองเปิดใจให้คนใกล้ชิดช่วยแนะนำดีกว่านะจ๊ะ
4. เผชิญหน้ากับการว่ากล่าว
การดำเนินชีวิตในสังคมเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ไม่มีใครทำอะไรถูกต้องไปหมดทุกอย่างหรอกนะจ๊ะ มันก็ต้องมีผิดพลาดกันบ้าง โดยปกติแล้วเวลาเราทำอะไรผิด ก็อาจจะโดนคนว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่เราควรจะเอาคำว่ากล่าวตักเตือนนั้นาเพื่อแก้ไขเท่านั้น อย่าเอามาทำลายความมั่นใจของตนเอง ให้มองว่าเป็นบทเรียนแต่อย่าเอามาตัดสินทั้งชีวิตนะจ๊ะ
5. ดูแลการแต่งกายของเราให้ดี
เจ๊เชื่อว่าก่อนออกจากบ้าน หนุ่มๆสาวๆหลายคนต้องส่องกระจกไปมา เพื่อดูว่าวันนี้ฉันแต่งตัวเป็นอย่างไรบ้าง วิธีนี้ถือว่าเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจรูปแบบหนึ่งให้กับหนุ่มๆสาวๆ เพราะถ้าเรามีความมั่นใจว่าเราแต่งกายดี ถูกต้องตามกาลเทศะ เวลาเราพบเจอกับใคร เราก็จะสามารถพูดคุยกับเขาได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้เวลาว่างๆ หนุ่มๆสาวๆก็ออกไปเดินช้อปปิ้งเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะกับรูปร่างตัวเองบ้างก็ดีนะจ๊ะ เพื่อที่ว่าเวลาแต่งตัวจะได้ยิ่งมั่นใจในรูปร่างตัวเองยิ่งขึ้น


ที่มา : myhappyoffice.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เทคนิคสร้างความมั่นใจ การพูดในที่สาธารณะ



          ต้องยอมรับว่าการพูดในที่สาธารณะสำหรับใครหลายๆคนเป็นเรื่องที่ยาก ถึงขั้นกลัวการพูด ต้องมีการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวเลยทีเดียว ดังนั้นเราจะมาพูดถึงทักษะการพูดในที่สาธารณะ ที่จะช่วยให้เราพูดในที่สาธารณะได้ดีขึ้น ทั้งนี้จะแบ่งเทคนิคออกเป็นสองช่วงคือ ระยะสั้นและระยะยาว

1.ระยะสั้น เริ่มจาก
- เตรียมพร้อมก่อนการนำเสนอ การพูดที่ดี เริ่มมาจากการรู้ในเรื่องที่เราจะพูด ทั้งนี้เมื่อเรามีความรู้ในเรื่องดังกล่าว เราก็จะมีความมั่นใจ ไม่ประหม่า ทำการการพูดเป็นไปได้อย่างง่าย ไม่ติดขัด
- วิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง กลุ่มผู้ฟังนับเป็นเรื่องสำคัญ ลองมองภาพถ้าเรากำลังจะบรรยายความรู้ให้กับวัยรุ่น แต่พูดในเชิงเนื้อหาหรือศัพท์เฉพาะมากเกินไป ไม่มีการยกตัวอย่าง หรือ ไม่มีเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเข้าใจได้ง่าย อาจเกิดความน่าเบื่อได้
- สร้างความเป็นกันเองกับผู้ฟัง ดังที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเราวิเคราะห์ผู้ฟังแล้ว การสร้างความคุ้นเคยกับผู้ฟัง อาทิ มีอารมณ์ขันหรือมุขตลกก็อาจช่วยให้เราลดความตื่นเต้นลงไปได้มาก

- สร้างความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ หากสถานที่และบุคลากรเอื้ออำนวย ควรไปถึงสถานที่ก่อนเวลาเพื่อสร้างความคุ้นเคยหรือเตรียมอุปกรณ์ เมื่อถึงเวลาจริงจะได้ไม่ประหม่าหรือติดขัดเวลาที่ทำการพูด
- สังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟัง คงเป็นเรื่องไม่ดีแน่ ถ้าหากขณะที่เรากำลังพูด มีผู้ฟังกำลังหลับ ดังนั้นควรสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟังอยู่เสมอ เพื่อจะได้หาโอกาสแก้ไขสถานการณ์ต่อไป

-อย่าท่องจำหรือใช้วิธีอ่านให้คนฟัง ควรทำการเตรียมเรื่องที่จะพูดมาก่อน ทั้งนี้ การที่อ่านหรือว่าท่องจำ เพราะกลัวหลุดเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดนั้นโดยที่ไม่สนใจใคร ไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่

- ลืมความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หากในขณะที่ทำการพูด เกิดข้อผิดพลาด พยายามอย่าเก็บมาคิดมาใส่ใจ หากมีการกังวลเกี่ยวกับข้อผิดพลาดดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คิด ให้พูดต่อให้จบ เมื่อพูดเสร็จแล้ว ค่อยมาทบทวนในสิ่งที่ทำพลาด และหาทางแก้ไขในโอกาสหน้า


2.ระยะยาว เริ่มจาก

- การพัฒนาการพูดและการอ่านออกเสียง ก่อนที่จะพูดให้คนอื่นฟังนั้น เราควรพัฒนาการพูดและการอ่านของเราให้ถูกต้องเสียก่อน คนที่พูดออกเสียงได้ดี มีความมั่นใจ มักจะพูดในที่สาธารณะได้ดี เช่น การอ่านออกเสียง ควรหานิยาย นิทาน หรือหนังสือ มาลองอ่านออกเสียง ลองอ่านโดยเน้นจังหวะ เสียงสูง ต่ำ ให้ถูกต้อง การอ่านอย่างถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ คำบางคำหรือแม้กระทั่งควบกล้ำ ร เรือ ล ลิงต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งนี้จงจำไว้ว่าการพูดในที่สาธารณะคือการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก หลักภาษาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

- ฝึกการพูดและท่าทางเวลาพูด เมื่อเราได้ลองพูดตามหลักอย่างถูกต้องแล้ว เรื่องต่อมาคือเรื่องของท่าทางทั้งนี้ ครอบคลุมถึงเรื่องของจังหวะและระดับน้ำเสียง ซึ่งวิธีการฝึกคือ 
การฝึกหน้ากระจก ทั้งนี้ในขณะที่เราพูด ก็สามารถที่จะสำรวจตัวเองได้ด้วยว่า ท่าทางในการพูดของเราเป็นอย่างไร สร้างความมั่นใจให้กับเราได้มากขึ้นด้วย รวมทั้งการอัดเสียงของตัวเองในขณะที่พูด เพื่อที่จะได้ทราบว่าน้ำเสียงของเราเป็นอย่างไร จังหวะการพูดเป็นอย่างไร ช้า หรือ เร็ว

- ฝึกพูดกับคนในครอบครัวและเพื่อนๆ เนื่องจากว่าคนในครอบครัว หรือ เพื่อนๆเป็นคนที่เราคุ้นเคย เค้าสามารถที่จะวิจารณ์เราได้อย่างตรงไปตรงมา

- ฝึกพูดในที่ชุมชน หรือ เริ่มจากสถานที่เล็กๆก่อน จะช่วยให้เราทราบถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อควรปรับปรุงที่จะต้องแก้ไข เมื่อต้องพูดในสถานที่ ที่ใหญ่มากกว่านี้ได้


ที่มา : nanosoft.co.th
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แนวความคิดสำคัญ 10 ข้อ จากหนังสือ 30 Lessons for Living




จากการสัมภาษณ์ชาวอเมริกันที่อายุเกิน 70 ปีขึ้นไป จำนวน 1,200 คน โดยมีคำถามว่า “จากประสบการณ์ชั่วชีวิตคุณ อะไรคือบทเรียนสำคัญที่สุดที่อยากจะฝากไว้ให้ลูกหลาน” ผลการสัมภาษณ์ได้ถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ 30 Lessons for Living โดยมีบทเรียนสำคัญ 10 ข้อ ที่สามารถเตือนสติ เพื่อให้ชาวออฟฟิศอย่างเรา สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

1. ให้เลือกอาชีพโดยดูจากความต้องการภายในมากกว่าผลตอบแทนด้านการเงิน โดยบรรดาผู้สูงวัยกล่าวว่าความผิดพลาดสำคัญในการเลือกอาชีพของเขา คือ การเลือกอาชีพโดยดูจากผลตอบแทนมากกว่าสิ่งที่ชอบและคุณค่าของอาชีพ

2. ให้ปฏิบัติต่อร่างกายเหมือนกับต้องใช้งานไปอีกร้อยปี โดยให้ลดและเลิกพฤติกรรมที่ทำร้ายร่างกายเราไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ กินอาหารที่ไม่ดี หรือไม่ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราเสียชีวิตในฉับพลัน แต่ทำให้เราเกิดความทรมานเมื่อสูงวัย

3. ตอบตกลงต่อโอกาสที่เข้ามา โดยเมื่อมีโอกาสหรือความท้าทายเข้ามา ต้องอย่าปฏิเสธ เพราะส่วนใหญ่มักจะมาเสียใจหรือเสียดายในภายหลัง

4. เลือกคู่ด้วยความระมัดระวัง อย่ารีบร้อนตัดสินใจ ใช้เวลาในการดูและทำความรู้จักคนที่เราจะอยู่ด้วย อย่ารีบด่วนตัดสินใจที่จะอยู่ด้วยกันจนกว่าจะรู้จักอีกฝ่ายหนึ่งอย่างถ่องแท้

5. เที่ยวให้มากไว้ เมื่อมีโอกาสให้เดินทาง คนสูงวัยส่วนใหญ่จะมองย้อนกลับมายังโอกาสต่างๆ ที่ได้ท่องเที่ยวเดินทาง และมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ และมีคุณค่าของชีวิตเลยทีเดียว

6. ให้พูดในสิ่งที่อยากจะพูดเดี๋ยวนี้ เนื่องจากเรามักจะเสียใจและเสียดาย ว่าไม่ได้พูดในสิ่งที่เราอยากจะพูดกับหลายๆ คน เมื่อไม่มีโอกาส เราจะมีโอกาสแสดงความรู้สึกที่แท้จริงต่อผู้อื่นได้ ก็ต่อเมื่ออีกคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

7. เวลาเป็นของมีค่า ชีวิตของเรานั้นแสนสั้นแต่ไม่ใช่ให้มานั่งเศร้า แต่ให้ทำในสิ่งที่สำคัญและมีค่าเดี๋ยวนี้ เนื่องจากยิ่งเราอายุมากขึ้น เราจะพบว่าเวลายิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วขึ้น

8. ความสุขเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขต่างๆ คำแนะนำหนึ่ง ก็คือ จงรับผิดชอบต่อความสุขของตัวเราเองตลอดชีวิตเรา

9. การใช้เวลามานั่งกังวลต่อสิ่งต่างๆ นั้นเป็นการเสียเวลา ดังนั้น ให้หยุดกังวล หรือไม่ก็พยายามลดความกังวลลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลในสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น

10. คิดเล็ก-อย่าคิดใหญ่ ค่อยๆ ซึมซับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นสิ่งที่ดีในชีวิตเรา และมีความสุขกับสิ่งเหล่านั้น


ขอบคุณข้อมูล - คุณ peh_chai - pantip.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก