วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

5 ขั้นตอนเพื่อการพัฒนาทีมบริหาร


         จะพัฒนาทีมให้มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารทีมต้องดำเนินการอย่างมีระบบ ซึ่งขั้นตอนการพัฒนาทีมแบบมีแบบแผน สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะค่ะ

ระยะแรก เรียกว่าระยะปรับตัว
ซึ่งเป็นระยะช่วงที่เหล่าสมาชิกขาดความไว้วางใจกัน และตัวใครตัวมัน การสื่อสารไม่ทั่วถึง จุดประสงค์ในการทำงานก็ยังไม่เด่นชัด การบริหารนั้นอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้น และในขั้นตอนการปฏิบัติงานมีขั้นตอนมากมายยุ่งยาก สมาชิกยังไม่มีโอกาสเเรียนรู้ความผิดพลาดและปรับปรุงให้ดีขึ้นและปฏิเสธหรือไม่สนใจความช่วยเหลือและวิทยาการใหม่ ๆ

ระยะที่สอง คือระยะประลองกำลัง
ในช่วงเวลานี้หัวหน้าทีมจะรู้จักประเมินและหาทางพัฒนา ทบทวนการทำงานของทีมแล้ว มีการปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้ลูกทีมให้ความสนใจบรรยากาศในการทำงาน และเห็นความสำคัญซึ่งกันและกันมากขึ้น มีการประชุมมากขึ้น คิดมากขึ้น พูดน้อยลง และในระยะนี้ยังคงเกิดความไม่สบายขึ้นในหมู่สมาชิกอยู่นั่นเองค่ะ

ระยะที่สาม คือระยะทดลอง
กฏเกณฑ์ต่าง ๆ จะถูกทบทวน เข้าใจวัตถุประสงค์ของงานอย่างกระจ่าง ภาคภูมิใจในความเป็นทีม ห่วงใยความเป็นอยู่ของสมาชิก และการทำงานคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่มากขึ้น

ระยะที่สี่ คือระยะแสดงผลงาน และระยะที่ห้า คือระยะสมบูรณ์
ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้ายความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกดีเยี่ยม เปิดเผยจริงใจซึ่งกันและกัน รูปแบบของกลุ่มเป็นรูปแบบไม่เป็นทางการ แต่สมาชิกนับถือความสามารถของกลุ่ม ให้ขวัญและกำลังใจ มีความสัมพันธ์ที่ในกลุ่ม และระหว่างกลุ่ม มีความยืดหยุ่นเป็นกันเอง ภาวะผู้นำเป็นไปตามสถานะการณ์ ภูมิใจและพึงพอใจในการทำงาน

          ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการที่จำเป็นของการทำงานเป็นทีม คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมี ส่วนร่วมในการแก้ปัญหา การป้อนข้อมูลย้อนกลับ ตลอดจนสื่อสารที่ชัดเจน
          เพื่อให้ได้ข้อมูลในการตัดสินใจร่วมกันเป็นผลดีในการสร้างความสามัคคี และการทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความผูกพันและอนาคตของหน่วยงาน ซึ่งผลที่ได้รับจะเป็นผลสำเร็จและความภูมิใจของแต่ละคน ซึ่งจะนำไปถึงการบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งก็หมายถึง ความเจริญของหน่วยงานนั่นเอง

ที่มา http://th.jobsdb.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

การทำงานเป็นทีม (Team) ให้ประสบผลสำเร็จ เราต้องเข้าใจคนทุก Generation



เราจะเข้าใจคนทำงานใน Generation ที่หลากหลายได้อย่างไร? 
ตามหลักสากล จะมีการแบ่งกลุ่มคนทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม (Generation) คือ Baby Boomer Generation X และ Generation Y ซึ่งแต่ละกลุ่มมีคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน

Baby Boomer คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 จะเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา อดทน ให้ความสำคัญกับผลงานแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว มีความทุ่มเทกับการ ทำงานและองค์กรมาก คนกลุ่มนี้จะไม่เปลี่ยนงานบ่อยเนื่องจากมีความ จงรักภักดีกับองค์กรอย่างมาก

Generation X คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522 มีลักษณะพฤติกรรมชอบอะไรง่ายๆ ไม่ต้องเป็นทางการให้ความ สำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work-life Balance) มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่างทำทุกอย่างได้เพียงลำพัง ไม่พึ่งพาใคร มีความคิดเปิดกว้าง พร้อมรับฟังข้อติติง เพื่อการปรับปรุงและ พัฒนาตนเอง

Generation Y คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523-2543 เป็นกลุ่มคนที่โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี เป็นวัยที่เพิ่งเริ่ม เข้าสู่วัยทำงาน มีลักษณะนิสัยชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบ และไม่ชอบเงื่อนไข คนกลุ่มนี้ต้องการความชัดเจนในการ ทำงานว่า สิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร อีกทั้งยังมีความ สามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร และยังสามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน

ในบางแหล่งข้อมูล แบ่งแยกออกเป็น 4 กลุ่ม โดยผสานแนวคิด วิธีการ ในการทำงานร่วมกัน "แค่เข้าใจ ... ทุกอย่างก็ลงตัว"

หนึ่งในสาเหตุของความเครียดในที่ทำงาน คือ การที่คนหลายรุ่นหลายวัยหลายความคิด ต้องมาทำงานร่วมกัน ความแตกต่างระหว่างเลขวัยที่สัมพันธ์กับเลขไมล์ของประสบการณ์ มักนำมาซึ่งความไม่เข้าใจกัน..จนก่อตัวเป็นความขัดแย้งในที่สุด

บางทีความแตกต่าง คือ กุญแจแห่งความสำเร็จ เพียงขอให้เปิดใจทำความรู้จักคนแต่ละรุ่นให้ลึกซึ้งก็จะได้พบโลกใบใหม่ที่งดงาม หลากหลาย และหากเลือกที่จะสื่อสารได้อย่างถูกช่องถูกกลุ่ม ก็อาจจะได้อะไรใหม่ ๆ คาดไม่ถึง

ใครเป็นใครในที่ทำงาน
เราจะแบ่งรุ่นของคนทำงานในที่ทำงานให้ชัดๆ ก่อน โดยจำแนกจากช่วงปีเกิด ซึ่งจะสัมพันธ์กับประสบการณ์ในช่วงเติบโต ทำให้เห็นยุคสมัยที่หล่อหลอมความคิดของพวกเขาได้ชัดเจนขึ้น

กลุ่มลายคราม : คนที่เกิดก่อนปี 2488
ลาย คราม...ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษา หรือเป็นพนักงานวัยใกล้เกษียณ คนกลุ่มนี้จะมีผู้คนนับหน้าถือตามากมาย อันเนื่องมาจากประสบการณ์การทำงานอันยาวนานของพวกเขานั่นเอง คนกลุ่มนี้จะเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ จึงเติบโตมาท่ามกลางสภาพบ้านเมืองที่มีทรัพยากรที่จำกัด ทำให้รู้จักคุณค่าของเงิน มักมีคุณลักษณะที่มั่นคงเชื่อใจได้ สู้งานหนัก ใช้จ่ายอย่างรู้คิด และภักดีต่อองค์กรสูง

กลุ่ม Baby Boom : คนที่เกิดช่วงปี 2489 – 2507
หลังสงครามยุติ ประเทศเข้าสู่ความสงบ การรณรงค์คุมกำเนิดยังไม่แพร่หลาย จึงเกิดพลเมืองตัวน้อย ๆ ขึ้นมากมาย Baby Boom เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและแข่งขันกับคนวัยเดียวกันเพื่อให้ได้งาน ยิ่งเมื่อประเทศกำลังพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ยุคความเป็นอุตสาหกรรม Baby Boom ก็ยิ่งจำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้น เต็มเหยียดวันละ 8 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์
ลูกจ้าง Baby Boom มักเคยชินต่อการพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้นายจ้างยอมรับในศักยภาพ การจะก้าวไปสู่ตำแหน่งใหญ่นั้น ต้องใช้เวลาและแรงผลักดันอย่างสูง

กลุ่ม Generation–X : คนที่เกิดช่วงปี 2508 – 2523
Generation–X ลืมตาดูโลกในช่วงเวลาที่มนุษยชาติส่งยานอวกาศออกไปนอกโลกได้สำเร็จ ของเล่นสุดฮิตของเด็กรุ่นจึงไม่ใช่ม้าโยก หรือตุ๊กตาหมีอีกต่อไป แต่เป็นวิดีโอเกม เกมกด และ Walkman พวกเขาเติบโตมาในยุครอยต่อของ Analog กับ Digital อยู่ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ ทว่าที่สังคมเปลี่ยนแปลงในทางวัตถุนี้ กลับทำให้สถาบันครอบครัวสั่นคลอน ความภักดีต่อองค์กรของคนรุ่นนี้จึงคลายลงมาก นำมาสู่การลาออก และเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น

ไม่แปลกที่ชาว Baby Boom ผู้ไม่เคยเกี่ยงที่จะทำโอทีจนดึกดื่น จะอึ้งที่ชาว Generation–X ปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา หรือลาออกไปหางานใหม่หน้าตาเฉยหากไม่พอใจ ทั้งนี้เพราะ Generation–X เชื่อว่างานไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต

กลุ่ม Millennium : คนที่เกิดปี 2524 เป็นต้นมา
Millennium คือ กลุ่มคนทำงานหน้าใหม่ไฟแรง แต่ยังอ่อนต่อประสบการณ์ บางคนอาจยังเรียนไม่จบเสียด้วยซ้ำ หรือบางคนมีแผนที่จะเรียนต่อ ชาว Millennium โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ รวมถึงระบบการศึกษาที่เริ่มให้ความสำคัญกับการคิดมากกว่าการท่องจำ
ชาว Millennium จะมีพ่อแม่ที่มีความรู้สูง จึงให้การสนับสนุนให้ Millennium ได้เสริมทักษะด้านต่าง ๆ ตั้งแต่เด็ก ฉะนั้น Millennium จึงชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และสนุกกับการทำงานเป็นทีม ไม่ชอบอยู่ในกรอบ และไม่ชอบเงื่อนไข
ในขณะที่ ชาว Generation-X เปลี่ยนงานครั้งที่ 12 เพื่อเป็นผู้บริหารระดับสูงกินเงินเดือนเรือนแสน แต่ชาว Millennium จะลาออกไปเริ่มธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง

สลายช่องว่างสร้างความเข้าใจเพื่อก้าวสู่การทำงานเป็นทีม (TEAM)
เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า ใครมีค่านิยมในชีวิตอย่างไร ใคร ๆ ก็สามารถสร้างสะพานข้ามช่องว่าง เพื่อข้ามไปหากันได้ สูตรสร้างสะพานข้ามช่องว่างระหว่างวัยมีอยู่ 3 ขั้นตอน
1. เข้าใจถึงความแตกต่าง ยอมรับว่าคนเราถูกหล่อหลอมมาไม่เหมือนกัน คนที่มีความเชื่อ หรือทัศนคติต่อชีวิตไม่เหมือนคุณ เขาไม่ใช่คนไม่ดีเสมอไป
2. ชื่นชมจุดดี แทนที่จะต่อต้าน ให้เราลองมองหาจุดเด่นของคนในแต่ละกลุ่มให้พบ
3. บริหารความแตกต่าง เปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้เข้าถึงคนแต่ละกลุ่มที่เราต้องทำงานด้วย

ทำงานกับกลุ่มลายคราม
จงให้เกียรติและให้ความเคารพอย่างสูงต่อพวกเขา เมื่อคุณให้เกียรติผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะให้เกียรติคุณ แล้วถ้าบังเอิญคุณมีตำแหน่งสูงกว่าพวกเขา จงแสดงความชื่นชมต่อเขาในด้านการเป็นเสาหลักขององค์กร และจงรับฟังเมื่อพวกเขาถ่ายทอดประสบการณ์ในอดีต การต่อสู้ ความพากเพียรในการทำงานจนผ่านพ้นความยากลำบากมาได้ เพราะสิ่งนั้นคือ สิ่งที่คนรุ่นหลังไม่มี และไม่รู้จัก อย่ามองว่า..กลุ่มลายครามคือ หมาล่าเนื้อไม่มีที่ไป แต่การที่พวกเขาทำงานอยู่จนถึงวัยเกษียณนั้น เป็นเพราะพวกเขา เชื่อในคุณค่าของความมั่นคง และถือความซื่อสัตย์เป็นที่สุด

ทำงานกับกลุ่ม Baby Boom
จงแสดงความนับถือ รับฟัง และเรียนรู้จากประสบการณ์ของ Baby Boom แล้วพยายามปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าคุณจะเก่งกาจแค่ไหน หรือคุณจะประสบความสำเร็จเพียงใด คุณก็ยังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ อย่าแสดงออกว่าการทำงานหนัก คือ การถูกเอาเปรียบ เพราะ Baby Boom ให้ความสำคัญต่อหลักการทำงาน ยึดถือวัฒนธรรมองค์กร และเห็นคุณค่าต่อการทำงานอย่างทุ่มเท หากต้องทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งบริหารงานโดย Baby Boom ควรพยายามเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรเสียก่อนว่ามีการเจริญเติบโตมาอย่างไร ก่อนที่จะเสนอความคิดริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แก่ Baby Boom

ทำงานกับกลุ่ม Generation–X
ต้องพูดให้กระชับ ชัดเจนและไม่อ้อมค้อม เพราะ Generation–X ชอบความตรงไปตรงมา คุณสามารถใช้ Email กลับคนกลุ่มนี้ได้ หากคุณสามารถสื่อสารได้ใจความและตรงเป้าหมาย หากเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ ควรพูดต่อหน้า เพราะ Generation–X ไม่ชอบถูกบงการ ผู้ใหญ่แค่ให้นโยบายกว้าง ๆ เปิดโอกาสให้เขาได้แก้ปัญหาเองจะดีที่สุด ส่วน Baby Boom ควรลดความคาดหวังต่อ Generation–X ในการทำงานหนักอย่างหนักโดยไม่มีวันหยุด หรือก้าวไปอย่างช้า ๆ อย่างรุ่นตน เพราะ Generation–X ต้องการชีวิตที่สมดุล ไม่ชอบการอยู่ติดที่

ทำงานกับกลุ่ม Millennium
ลองท้าทายพวกเขาด้วยภารกิจใหม่ ๆ Millennium จะชอบความเป็นคนสำคัญ การเพิ่มความรับผิดชอบ เสมือนการให้คำชม จงเปิดโอกาสให้ Millennium ได้แสดงความคิดเห็นของเขา เห็นพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในทีม ผู้ใหญ่ที่ยอมรับความคิดเขา ก็จะได้รับการยอมรับจากพวกเขาเช่นกัน Millennium ชอบให้คุณแสดงออกต่อสิ่งที่พวกเขาทำทุกขณะจิต เพราะความรู้สึกและความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน มีผลต่อพวกเขามาก

ที่มา : http://ihears.blogspot.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

การทำงานเป็นทีมในแบบญี่ปุ่น



          ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในเรื่อง การทำงานเป็นทีม ความรักหมู่คณะ พร้อมจะเสียสละเพื่อหมู่คณะ ซึ่งเป็นเคล็ดลับ สำคัญที่นำความสำเร็จมาสู่กลุ่ม องค์กร บริษัท หน่วยงานต่างๆ รวมถึงการพัฒนาประเทศ

แนวคิดพื้นฐานสำคัญของการรวมกลุ่มของญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณ มีอยู่ว่า สมาชิกแต่ละคนจะกระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ยึดถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ทำโดยดูทิศทางความเห็นของกลุ่มเป็นหลัก ทุ่มเทอุทิศตนทำงานเพื่อกลุ่ม ในทางกลับกัน กลุ่มก็จะรับประกันความมั่นคงปลอดภัยของสมาชิก พูดง่ายๆ ว่า สมาชิกกลุ่มจะร่วมกันวางกฎเกณฑ์ กติกาการทำงาน การประพฤติปฏิบัติตนให้กับสมาชิก และทุกคนที่ปฏิบัติตามก็จะได้รับหลักประกันความมั่นคงในชีวิตเป็นการตอบแทน เช่น ระบบการจ้างงานตลอดชีพในบริษัทต่างๆ เป็นต้น

การทำงานโดยคำนึงถึงหมู่คณะเป็นหลักนี้ ดูได้จากพนักงานบริษัทญี่ปุ่นเกือบร้อยทั้งร้อย ใช้วันลาพักร้อนของตัวเองไม่หมด ส่วนใหญ่แทบไม่ยอมใช้ด้วยซ้ำไป เพราะเขาไม่ได้คิดแต่เพียงว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขา เขาย่อมมีสิทธิ์ใช้ได้เต็มที่ แต่เขากลับคิดว่า ถ้าเขาหยุดพักร้อนก็เท่ากับว่า คนอื่นๆ ที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักขึ้น คือต้องทำงานในส่วนของเขาด้วย ในขณะที่ตัวเองไปเที่ยวสบาย คิดแล้วไม่สบายใจ ทำให้เขาไม่ยอมลาพักร้อน จนกระทั่งบริษัทใหญ่หลายแห่งต้องออกจดหมายเวียน ประกาศให้พนักงานทุกคนช่วยใช้สิทธิ์ลาพักร้อนด้วย มิฉะนั้นบริษัทจะลำบาก เพราะถูกกระทรวงแรงงานกระตุ้นเร่งเร้ามา พนักงานจึงยอมใช้สิทธิ์ลาพักร้อนบ้าง

ชาวญี่ปุ่นมีคติพจน์บทหนึ่งว่าจงตีตะปูทุกตัวที่โผล่ขึ้นมา คือในหมู่คณะถ้ามีใครทำตัวแปลก ผิดไปจากหมู่ อวดเด่น อวดฉลาด ละก็ ต้องช่วยกันทุบให้จมลงไป ให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ คนต่างชาติได้ยินเข้าแล้วก็ตกใจ บางท่านได้ตั้งคำถามที่น่าคิดขึ้นว่า ถ้าทุกคนต้องทำอะไรเหมือนๆ กันหมด จะไม่เป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์หรือ?

คำตอบคือ "ไม่" เพราะการทำตัวให้กลมกลืนเข้ากับคนอื่นได้ ไม่ใช่หมายความว่า จะคิดหรือเสนออะไรใหม่ๆ ไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิ์คิดหรือเสนอสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อทุกคนให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ผู้ที่มีความสามารถก็จะค่อยๆ เรียนรู้วิธีว่า ต้องนำเสนออย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่แสดงออกแบบอวดฉลาด หรือ ข่มทับคนอื่น แต่นำเสนอเพื่อประโยชน์ ความก้าวหน้าของกลุ่มจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้สึกหมั่นไส้ก็ไม่เกิดขึ้น ทุกคนพร้อมรับฟังและให้ความร่วมมือ ความสมัครสมานสามัคคี ความก้าวหน้าก็เกิดขึ้น

ระบบควบคุมคุณภาพของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า QC. Circle อันโด่งดัง ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานของคนญี่ปุ่นแบบเป็นทีมได้อย่างดี ในญี่ปุ่น คนจะเด่นได้ต้องมาจากการทำความดี สร้างผลงานซ้ำๆ จนทุกคนค่อยๆ ยอมรับ และยกย่องเชิดชู คือต้องให้คนอื่นๆ ยอมรับและยกขึ้นถึงจะได้ แต่ใครที่ยกตัวเองขึ้นก็จะถูกทุบลงไปแทบจะในทันทีทันใด ถ้าเปรียบคนกับลูกโป่ง ก็เหมือนกับว่า เขาห้าม พองลม จะเป่าลมเข้าให้ดูว่าตัวเองใหญ่ไม่ได้ มิฉะนั้นจะถูกคนอื่นบีบให้แฟบลงเหลือเท่าเนื้อลูกโป่งจริง อยากจะใหญ่ต้องทำความดีมากๆ สะสมเนื้อลูกโป่งให้มากๆ ใหญ่ขึ้นโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างหนักแน่น จะต้องไม่โตด้วยลม

ตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานเป็นทีมที่ดีมากเรื่องหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ตัวของพวกเราในเมืองไทยนี่เอง คือ ทีมฟุตบอลชาติไทย ชุดบี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่เรียกกันว่า ดรีมทีม ถือกันว่าเป็นทีมชาติ ชุดไร้ดารา ไม่มีใครที่ถือว่าเป็นนักฟุตบอลชุดใหญ่ เป็นดาราดัง แต่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันฝึกซ้อมอย่างหนัก มีใจมุ่งมั่นเป็นหนึ่งสามัคคี กลมเกลียวกัน จนสามารถเอาชนะทีมที่มีชื่อดังจากต่างประเทศได้อย่างราบคาบ ครองแชมป์ชนะเลิศได้ท่ามกลางความชื่นชมของผู้คนทั้งหลายอย่างเป็นประวัติการณ์



"ตะปูที่โผล่ขึ้นมาแม้เพียงตัวเดียว ก็ทำให้หมู่คณะรวนได้มาก"
คนญี่ปุ่นเขารักคนเก่ง ชื่นชมคนเก่ง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างคนเก่งกับทีม เขาเลือกเอาทีมไว้ก่อน แต่ไม่ใช่ทิ้งคนเก่งไป เพียงแต่ต้องฝึกคนเก่งให้กลมกลืนเข้ากับหมู่คณะให้ได้ เพื่อเอาความเก่งออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เขาสอนให้ตีตะปูที่โผล่ขึ้นมา ไม่บอกให้ถอนตะปูทิ้ง แต่ก็ไม่ทะนุถนอม ไม่โอ๋เอาใจคนเก่งประเภทข้ามาคน เดียว จนทำให้ทีมรวน

วิธีฝึกให้เกิดการทำงานเป็นทีมนั้น ผู้นำของทีมมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทั้งการชี้แนะ การทำตัวเป็นแบบอย่าง ยกย่องผู้ที่ทำงานเป็นทีม ให้ความสำคัญกับทีมมากกว่าตัวบุคคล มอบหมายงานเป็นทีม ให้คุณให้โทษเป็นทีม และสิ่งหนึ่งที่อาตมภาพ อยากจะเน้นในที่นี้คือ ความยุติธรรม
ปัจจุบันภาพลักษณ์ในใจของคนทั่วไป ด้านความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบริษัทญี่ปุ่น คือ พนักงานรักบริษัท จงรักภักดีกับบริษัท บางคนก็คิดไปว่า เป็นเพราะวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างนั้น ประเทศอื่นคงเลียนแบบยาก อาตมภาพอยากให้พวกเราได้มองอย่างนี้ว่า วัฒนธรรมของคนชาติใดชาติหนึ่ง ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของคนชาตินั้นแน่นอน แต่วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งคงที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงได้ และจริงๆ ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสำเร็จที่แท้จริงมาจากการวางแผนอย่างเป็นระบบ และลงมือทำอย่างจริงจังต่อเนื่องต่างหาก

พวกเราทราบหรือไม่ว่า เมื่อ 30 กว่าปีก่อน คนงานของบริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นก็เคยเดินขบวนประท้วงกันอย่างหนักไม่แพ้ชาติไหนๆ จนบริษัทแทบล้มละลายไปตามๆ กันมาแล้ว ต่อมาผู้บริหารก็ปรึกษา หารือกันและคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างยุติธรรม ผลกำไรของบริษัทแต่ละปีจะถูกแบ่งให้กับทุกคนอย่างยุติธรรม ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้สึกรักบริษัทก็เกิดขึ้น ทุกคนรู้สึกว่าบริษัทเป็นของเขา ต่างก็ทุ่มเททำงานกันเต็มที่ เพราะถ้าบริษัทได้กำไรมาก เขาก็จะได้รับผลประโยชน์มากไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร จึงไม่ใช่ศัตรูที่คอยจะจ้องเอาเปรียบกันอีกต่อไป แต่กลายเป็นคนในทีมเดียวกัน มีผลได้ผลเสียร่วมกัน เพียงแต่แบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดความสามารถของแต่ละคนเท่านั้น
เมื่อบริษัทหนึ่งทำได้ผล บริษัทอื่นก็เอาอย่างตามๆ กัน จนเป็นไปทั้งประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่า วัฒนธรรมความจงรักภักดีต่อบริษัทของญี่ปุ่นนั้น ถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ ๓๐ ปีมานี่เอง และในอนาคต ถ้าเงื่อนไขเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป วัฒนธรรมนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่คนไทยเรา แต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวสูงไม่แพ้ใคร เคยมีผู้เปรียบเอาไว้ว่า ถ้าคนไทยกับคนญี่ปุ่นแข่งกันตัวต่อตัว คนไทยเราชนะขาด ถ้าสองต่อสองเริ่มสูสี แต่เมื่อไรเกินสามแล้วละก็ ญี่ปุ่นชนะขาด เพราะคนไทยมัวแต่ทะเลาะกัน ปัดแข้งปัดขากันเอง
เรามาช่วยกันสร้างนิสัยทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นกับหมู่คณะของเรากันเถิด

สุขา สงฺฆสฺส สามคฺค
ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข

ที่มา www.kalyanamitra.org
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

สร้างวัฒนธรรม “Teamwork” ขับเคลื่อนองค์กร



         เรามักจะพบว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่มีความเป็นทีมเวิร์กสูง สมาชิกในทีมแต่ละส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ ซึ่งความเป็นทีมเวิร์กนี้ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า และมีศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ การบริหารทีมเป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการมีทีมที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูง ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการสร้างทีมเวิร์กให้ได้ผล

- สื่อสารให้ทราบถึงสิ่งที่องค์กรคาดหวังจากทีมอย่างชัดเจน
ไม่มีใครสามารถทำงานเสร็จสมบูรณ์ทุกขั้นตอนด้วยตัวของตัวเองเพียงคนเดียวได้ นี่คือเหตุผลที่เราต้องทำงาน ร่วมกันเป็นทีม เพราะเหตุนี้ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หากสมาชิกในทีมช่วยกันคิดช่วยกันทำ ความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อมเท่านั้น

- เป็นแบบอย่างในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันภายในทีม และกับฝ่ายอื่นๆ ภายในองค์กร
ผู้นำที่ดีต้องมีวิธีการในการรักษาทีมเวิร์กเอาไว้ให้ดีที่สุด แม้ว่าในบางครั้งจะเกิดความผิดพลาด ซึ่งอาจนำไปสู่การไม่ลงรอยกัน แบบอย่างที่ผู้นำได้สร้างเอาไว้จะเป็นกรอบให้สมาชิกในทีมสามารถดำเนินตามได้ รู้ว่าจะรับมือกับปัญหาได้อย่างไร ไม่ให้เกิดรอยร้าวภายในทีมหรือภายในองค์กร

- ให้ทีมได้แก้ปัญหาในการทำงานจริง
ถ้าพูดถึงการสร้างทีมเวิร์กเรามักจะนึกถึงการทำกิจกรรมเป็นกลุ่มระหว่างการไป outing ด้วยระยะเวลาเพียง 2-3 วันต่อปี ซึ่งมักจะเป็นการให้สมาชิกในทีมช่วยกันคิดแก้ปัญหาจากโจทย์ที่สมมติขึ้น กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ผลในระยะยาว ซ้ำยังไม่ก่อให้เกิดการปฏิบัติจริงเมื่อกลับมายังที่ทำงานอีกด้วย ควรฝึกพวกเขาได้ทุ่มเทกับการแก้ปัญหาในการทำงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงคิดว่าจะทำอย่างนี้ อย่างนั้นเพื่อแก้ไขโจทย์ปัญหาสมมติแต่ไม่มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติจริง

- จัดประชุมแผนกเพื่อทบทวนโครงการต่างๆ
การติดตามความคืบหน้า ประสานงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเป็นประจำ ทำให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ หากสมาชิกในทีมมีความคิดเห็นในแง่มุมที่ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่าเขาจะทำตัวมีปัญหา แต่กลับจะเป็นโอกาสอันดีที่ให้ทีมได้กลับมาพิจารณากระบวนการทำงานอีกครั้ง เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดช่องโหว่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่คาดไม่ถึงตามมา

- จัดกิจกรรมสนุกๆ ให้สมาชิกในทีมได้ทำร่วมกัน
ความบันเทิงก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน หาเวลาเติมความสนุกในการทำงานให้กับสมาชิกบ้าง เช่น เซอร์ไพรส์อาหารญี่ปุ่นมื้อกลางวัน หรือเลี้ยงอาหารค่ำร้านอร่อย พาไปดูกีฬาที่พวกเขาชื่นชอบ เล่นกีฬาร่วมกัน ทำกิจกรรมนอกสถานที่ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ หรือจัดเวลาให้สมาชิกได้ทำกิจกรรมขำๆ ได้หัวเราะด้วยกันเพื่อละลายพฤติกรรม และเพื่อให้รู้จักกันดียิ่งขึ้น หรืออื่นๆ ที่ทำให้สมาชิกในทีมรับรู้ถึงความเอาใจใส่ที่คุณมีต่อพวกเขา

- ให้รางวัลทีมเวิร์ก
การทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นเรื่องยากและมักจะพบอุปสรรคเสมอๆ แต่หากทีมสามารถสร้างเอกภาพและเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้ ก็ย่อมสมควรได้รับการชื่นชม กล่าวขาน และให้รางวัล ซึ่งไม่ใช่แค่มอบเสื้อสามารถ หรือพิมพ์ประกาศนียบัตรให้เท่านั้น เพราะความสำเร็จจากการทำงานเป็นทีมนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และสมควรจะได้รับรางวัลตอบแทนในความเป็น “ทีมเวิร์ก” สู่สาธารณชนให้ได้รับรู้โดยทั่วกันเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

การบริหาร “ทีม” ให้ “เวิร์ก” ที่สำคัญอยู่ที่ผู้นำต้องสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ชี้ให้เห็นแนวทางที่ชัดเจน เพื่อที่พวกเขาจะได้ก้าวไปได้ถูกต้องตรงทาง รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร และพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ โดยระหว่างทางยังมีผู้นำคอยติดตามความเคลื่อนไหว และเป็นที่ปรึกษาตามสมควร เพื่อให้ทีมได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกปล่อยให้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง สุดท้ายเมื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำจนบรรลุเป้าหมายแล้ว อย่าลืมให้รางวัลกับความเป็น “ทีมเวิร์ก” ที่ยอดเยี่ยมแก่พวกเขาด้วย เพื่อเป็นกำลังใจสำหรับการทำงานที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา : http://th.jobsdb.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของ "นักประสานงาน" (Coordinator)



คอนแบคได้กล่าวไว้ว่า “ความรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากประสบการณ์

มันอาจเป็นคำนิยามกว้างๆ ยังไม่ลงซึ่งรายละเอียดว่ามันคืออะไร อย่างไร แต่มันสอดคล้องที่จะอธิบายตน ว่ากระมีความรู้อะไรบ้าง
หากดูในนิยามของ คอนแบค จะมีคำสำคัญอยู่ 3 คำ คือ

1.การเปลี่ยนแปลง
2.พฤติกรรม
3.ประสบการณ์
การที่คนเราได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และได้สัมผัส โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส ทำให้เกิด การได้เห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การได้สัมผัส สิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดีเกิดการเรียนรู้และสะสมเป็นความรู้ในชุดหนึ่งในตัวของเรา


หลายท่านอาจมองว่า การประสานงาน เป็นอาชีพได้ด้วยเหรอ ? แล้วทำอะไรบ้าง?
การประสานเป็นหัวใจของทุกองค์กร ที่ทำงาน ไม่ว่าหน่วยงานไหน แต่อาจแทรกในตำแหน่งต่างๆเพราะทุกอย่างมนุษย์ทำงานร่วมกันต้องติดต่อประสานงานกัน เพื่อให้เกิดงานและบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน แต่หากในที่นี้จะกล่าวโดยเฉพาะคือ ตำแหน่งประสานงาน เพราะเปรียบเสมือนจุดเชื่อม การทำงาน โดยการสื่อสารภายใน ในภายนอกขององค์กรให้เกิดการเรียนรู้ การทำงาน ขับเคลื่อนองค์กรให้สู่เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ขององค์กรให้สำเร็จได้

"การประสานงาน" นั้นใช่ว่าทุกคนจะทำได้เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะ ความรอบด้าน ประสบการณ์ โดยต้องเข้าใจสถานการณ์รอบด้าน และมองทุกอย่างให้ ทะลุปรุโปร่ง เหมือนที่ รศ.รังสรรค์แสงสุข อดีตอธิการบดี รามคำแหงบอกต้องมองแบบ “ ซีทรู” คือเห็นทุกมิติ เข้าใจทุกแก่นสาร
ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของนักประสานงาน 

ประการแรก คือ การสื่อสาร เพราะการสื่อสารเป็นหัวใจ ของการติดต่อประสานงาน การทำงานงานร่วมกันทั้งภายในภายนอกองค์กร ต้องมีทักษะการสื่อสาร ทั้งจิตวิทยาของผู้สื่อสารและการรับสาร หากขาดหัวใจ ส่วนนี้แล้วย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดล้มเหลวในการทำงาน 

ประการที่สอง คือ ทักษะการเป็นนักกระบวนการ คือ การจัดประชุม สัมมนา ดึงการมีส่วนร่วม จากผู้ที่ทำงานร่วมกันและผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ความรู้ หรือจุดประสงค์ของการทำงาน อาจเป็นโครงการ หรือยุทธศาสตร์ ทักษะตรงนี้สำคัญมาก 

ประการที่สาม คือ ทักษะด้านจิตวิทยา คือ การเห็นปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น งานด้านติดต่อประสานงานเป็นงานที่อาศัยความรอบด้านด้าน เหมือนที่กล่าวมาข้างตน การที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และปรับเปลี่ยนได้เสมอ เป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นมาก หากปรับเปลี่ยนไม่ทันก็อาจทำให้งานนั้นล้มเหลวและไม่ประสบความสำเร็จได้ 

ประการที่สี่ คือ เป็นนักแสวงหาความรู้ คือ เท่าทันความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ โดยสามารถนำเสนอและแลกเปลี่ยนได้ในที่ประชุม ซึ่งการเป็นนักแสวงหาความรู้นี้จะเป็นการเติมเต็มงานและเสนอสิ่งใหม่ๆให้เกิดการขับเคลื่อนประสานงานและพัฒนาได้ 
สิ่งเหล่านี้ได้มาจากไหน? อย่างไร นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร 
สิ่งเหล่านี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้มาจาก ประสบการณ์ จากการทำงาน ก่อนจะได้ประสบการณ์เหล่านี้ คือ โอกาส ซึ่งหมายถึง การได้ทำงานและสะสม จนเกิดเป็นทักษะโดยหมั่นฝึกฝนเรียนรู้ ถอดบทเรียนทั้งด้วยตนเอง และประชุมกับผู้ร่วมงาน ให้เกิดการสะท้อน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนเกิดเป็นความชำนาญ ความเป็นนักวิชาชีพ โดยการประสานงานจะเป็นอาชีพที่เกื้อกูลตัวเราและองค์กร พัฒนาองค์กร สิ่งที่สำคัญที่ลืมไม่ได้ของนักประสานงาน คือพัฒนาตนเองสม่ำเสมอและเป็นนักแสวงหาความรู้นวัตกรรมเสมอ ด้วยเหตุผลที่ได้อธิบายทั้ง4ประการ คุณก็จะเป็นนักประสานงาน

ที่มา : อาณาจักรโกวิทย์ 
สนใจหลักสูตร ด้านการประสานงาน (Coordination) คลิ๊กที่นี่
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับการสร้างเสน่ห์ให้ตัวเอง 10 วิธี

วันนี้มีเคล็ดลับดีๆมาฝากทุกท่านนะคะ
วิธีการเสริมสร้างเสน่ห์ เพื่อความมั่นใจก่อนเข้าสังคม


          เวลาไปงานสังคม บ่อยครั้งที่เราเห็นบางคนมีความสามารถในการพูดที่ทำให้ทุกคนติดใจ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ใช่คนหน้าตาสวยหรือหล่อเหลาอะไรนัก แต่ก็สามารถเป็นจุดสนใจต่อเพื่อน ๆ และทุกคนได้ และเมื่อถึงเวลากลับบ้านทุกคนก็มักจะถามหา และไม่อยากให้กลับ สิ่งที่คนนั้นมีคือ “เสน่ห์” วันนี้เราลองมาสร้างเสน่ห์ให้ตัวเองกันเถอะ

1. รู้จักตัวเองและมีความสุขกับตัวเองก่อน คนที่มีความสุขภายในตัวเอง และยอมรับจุดดี จุดด้อยของตัวเอง จะทำให้เข้าใจผู้อื่นได้ดีกว่าผู้ที่มีปัญหาภายใน เช่น หากเราคิดถึงค่าไฟที่ต้องจ่าย ทะเลาะกับสามี คิดถึงการทำงานที่คั่งค้างยังไม่เสร็จ ปัญหาภายในเหล่านั้นจะแสดงออกมาทางบุคลิก ไม่สามารถปกปิดไว้ได้

2. ยอมรับทุกคนในแบบที่เขาเป็น สร้างทัศนคติที่ดี และไม่มีเงื่อนไขกับผู้อื่น ไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือพยายามหาจุดบกพร่องของผู้อื่น ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้อื่นเป็น

3. ทักทายและคุยกับทุกคน เหมือนเราเป็นเจ้าของบ้าน แทนที่จะยืนแอบอยู่ที่มุม เฝ้ามองและหวังว่าจะมีคนมาคุยด้วย ให้เริ่มคุยและสร้างบทสนทนาก่อนกับทุกคน เหมือนเราเป็นเจ้าภาพของงาน แนะนำให้คนรู้จักกัน อย่าแบ่งแยก อคติ เสียดสี เหยียด คนอื่น คุยกับทุกคน ทุกอาชีพไม่ว่าจะเป็น หมอ ครู ทนายความ ศิลปิน คนเสริฟ์อาหาร ให้ทุกคนอบอุ่นและรู้สึกเหมือนได้รับการต้อนรับ

4. ยิ้ม เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม และนั่นคือเสน่ห์ของประเทศไทย เช่นเดียวกันเมื่อเรายิ้มอย่างจริงใจในเวลาพบกัน ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญและมีค่า ทุกคนชอบให้คนอื่นรู้สึกเช่นนั้นกับตัวเอง นั่นคือการสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเอง

5. ชื่นชมผู้อื่นอย่างจริงใจ เมื่อเราชื่นชมในสิ่งที่ผู้อื่นทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ จะทำให้ผู้นั้นดีใจ และรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ เราเองก็จะรู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับ และจะเพิ่มคุณค่าในตัวของเราเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน วิธีง่ายๆที่ทำได้คือ การขอบคุณ ในทุกๆโอกาสไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ สร้างนิสัยการชื่นชมคนอื่น ขอบคุณภรรยาที่ทำกับข้าวให้ทาน ขอบคุณสามีที่ขับรถให้ ขอบใจลูก ๆ ที่ทำงานและรับผิดชอบงานที่บ้านและโรงเรียน ขอบคุณพี่เลี้ยงเด็กที่ช่วยดูแลน้องเป็นอย่างดี เป็นต้น รอยยิ้มและคำขอบคุณเป็นเสมือนน้ำที่ชื่นใจบนพื้นดินที่แห้งแล้ง เมื่อเรายิ้มและขอบคุณผู้อื่นไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความสำคัญให้ผู้อื่น อย่างเดียวแต่ยังช่วยเพิ่ม คุณค่าให้ตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราขาดข้อที่ 1 นั่นคือรักและพอใจกับสิ่งเรามี เราจะสนใจและชื่นชมผู้อื่นมากขึ้น หากเรารู้จักตัวเอง เราก็จะไม่ทำตัวเด่น หรือเรียกร้องความสนใจ ในทางตรงกันข้ามเราจะมีเสน่ห์ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น

6. กำลังใจ คนทุกคนเกิดมาต้องการกำลังใจ ไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการกระทำ ดังนั้นหากเรากล่าวชม ให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือสิ่งใหญ่ เราทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเขาทำได้ เขาจะรู้สึกชอบเรามากขึ้น คำพูดที่จริงใจ ช่วยคิดต่อยอดความคิดเดิมที่มี หรือเห็นความสำคัญในสิ่งที่ผู้อื่นกระทำอยู่ จะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ เช่นกล่าวชมชุดที่ใส่ ชมรางวัลที่ได้ พยายามหาสิ่งที่จะชมด้วยความจริงใจไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ จะเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้ตัวเราเองโดยไม่รู้ตัว

7. ให้ความสนใจ สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นเหมือนกุญแจสำคัญในการสร้างเสน่ห์ เมื่อเราให้ความสนใจคนอื่นอย่างใกล้ชิด จะทำให้ผู้นั้นรู้สึกมีค่ามีความสำคัญ และเขาจะรู้สึกชอบเรามากขึ้น

8. มีจุดสนใจที่คนอื่นไม่ใช่ตัวเอง คนมีเสน่ห์จะมีจุดสนใจที่คนอื่นมากกว่าตัวเอง เป็นผู้ฟังที่ดี และมีบทสนทนาที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่ามีคนตั้งใจฟังอย่างแท้จริง แสดงความคิดเห็น พยายามคิดว่าจะช่วยคนอื่นได้อย่างไร อาจใช้วิธีนี้ แนะนำให้รู้จักคนอื่นที่ทำธุรกิจที่คล้าย ๆ กันรู้จักกัน

9. มีอารมณ์ขัน หัวเราะและอารมณ์ดี มีความคิดทางบวก ทุกคนชอบอยู่กับคนที่มีอารมณ์ขัน ไม่เครียด

10. ทำให้ทุกคนรู้สึกดี ไม่อึดอัด สร้างบทสนทนาที่เหมาะสม ไม่ทำให้ผู้สนทนาอยากวิ่งหนี ในกรณีที่รู้จักกันใกล้ชิด อาจใช้วิธีสัมผัสที่เหมาะสม ฮอร์โมนซี่งเรียกว่า อ๊อกซิโตซิน (oxytocin): ฮอร์โมนแห่งความผูกพันจะหลั่งออกมา ผู้ถูกสัมผัสจะรู้สึกอบอุ่น และไว้ใจ ในกรณีนี้ต้องดูความเหมาะสมและกาลเทศะด้วย
ความมีเสน่ห์จะเป็นประตูเล็ก ๆ ที่เปิดประตูใหญ่ที่สำคัญอีกหลายประตูในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ ตำแหน่ง การงาน สังคม ธุรกิจ และอีกหลายอย่างอีกมากมาย หากเราฝึกปฏิบัติทั้ง 10 ข้อเป็นประจำอยู่เสมอ ความมีเสน่ห์คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เป็นกำลังใจให้ทุกคนเสมอค่ะ

ที่มา : www.prthai.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

คุณสมบัติของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ



คุณสมบัติของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
1.มีเป้าหมาย 
          ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมาย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าประสบความสำเร็จเเล้ว นั้นก็คือเราต้องกำหนดว่าอย่างไหนที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ นั้นคือเป้าหมายระยะยาว และเราก็ต้องตั้งเป้าหมายระยะสั้นด้วย เพื่อที่จะได้กำหนดจุด หรือสถานะ ระหว่างกลาง เป็นขั้นๆซึ่งอีกนัยหนึ่งจะทำให้เรามีกำลังใจ เมื่อสามารถผ่านเเต่ละขึ้นได้

2.คิดบวก
          นี่ก็เป็นข้อสำคัญอันดับต้นๆเลยที่เดียว เพราะการทำงานทุกอย่างจะต้องมีอุปสรรค การมองโลกในแง่ดี การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เป็นหนทางแห่งการแก้ไขปัญหา และนั้นก็ทำให้ท่านประสบความสำเร็จ

3.ใช้จุดเเข็งของตนให้เป็นประโยชน์ 
          ซึ่งทุกท่านมีความสามารถอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ นั้นคืออาวุธลับที่จะได้เปรียบคนอื่นมาก ถ้าท่านนำมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง เเน่หละ เราอาจต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มเติมในสิ่งที่เราไม่รู้แต่นั้นก็ไม่ใช่จุดอ่อน มันเป็นเพียงสิ่งที่เราไม่รู้ และไม่มีใครแก่เกินเรียน

4.มุมานะ
          ความขยันหมั่นเพียร มุ่งจดจ่ออยู่กลับสิ่งที่ทำ จะทำให้ท่านมีสมาธิ มีสติ สัมปชัญญะ สามารถทำงานตรงหน้าให้ลุล่วงได้ ไม่มีใคร ไม่มีประสบความสำเร็จโดยไม่ทำงานหนัก ไม่ความมุมานะ

5.สร้างเครือข่าย
          เป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำธุรกิจโดยไม่ต้องติดต่อกับใครเลย ยิ่งเรามีคนที่เรารู้จักเยอะเเค่ไหนก็ยิ่งมีส่วนช่วยให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จมากเท่านั้น เครือข่ายที่ผู้ถึงไม่ใช่กลุ่มคนที่เป็นลูกค้าของเราในอนาคตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน คนที่มากด้วยประสบการณ์ ผู้ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือท่านในเรื่องต่างๆ

6.สนุกกับการเรียนรู้ใหม่ๆ
          เพราะเมื่อใดที่หยุดเรียนรู้ ก็เหมือนกันเราถอยหลังลงคลอง เพราะสภาพการเเข่งขันในท้องตลาดเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทั้งนี้ยังเกิดการเปลี่ยนเเแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

7.กล้าเผชิญความล้มเหลว
          ถ้าเรากลัวที่จะล้ม เราจะไม่กล้าที่จะเดิน ถ้าเรากลัวตก เราจะไม่บิน ดังนั้นสิ่งที่เป็นอุปสรรคขว้างกั้นที่ใหญ่ที่สุด ก็คือ "ใจของเราเอง "

ที่มา jobbkk.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก