การทำงานให้มีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่หลายๆ คนล้วนต้องการอย่างมากโดยเฉพาะกับคนที่ต้องเจองานปริมาณมากๆ ในแต่ละอาทิตย์ เพราะหากไม่สามารถบริหารกันดีๆ แล้วล่ะก็ งานตรงหน้าก็อาจจะพังเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ มันจึงค่อนข้างจำเป็นเหมือนกันกับการปรับตัวเองบางอย่างให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือทำตัวเองให้ออกจากลูปเดิมๆ เพื่อจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นได้ บล็อกวันนี้ผมเลยขอหยิบไอเดียของ Thomas Oppong จาก Entrepreneur มาเล่าสู่กันฟังพอเป็นไอเดียง่ายๆ ให้เริ่มทำกันนะครับ
1. หยุดวางแผนและเริ่มลงมือทำ
การวางแผนเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่จำเป็นของการทำงานที่ดีอยู่แล้ว คนเก่งๆ ก็มักจะมีการวางแผนในการทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่การวางแผนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยถ้าคุณไม่ได้ลงมือทำเสียที หลายๆ คนวางแผนต่างๆ ไว้มากมายว่าจะทำโน่น จะทำนี่ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ยอมลงมือทำเพราะติดนั่นติดนี่ บ้างก็หาข้อแก้ตัวให้ตัวเองไม่ว่าจะเป็น “เหนื่อยแล้ว”? “วันนี้พักก่อน” ฯลฯ ฉะนั้นอย่าติดกับตัวเองว่าจะต้องวางแผนไปหมดจนไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ลองดูแผนของคุณว่าต้องทำอะไรแล้วลงมือทำกันเสียแต่เนิ่นๆ นั่นแหละครับ
2. ไม่ต้องตอบ “ได้” กับทุกเรื่องก็ได้
หลายๆ คนอยากเป็นคนที่คนอื่นยอมรับ ชื่นชอบ บ้างก็อยากทำดีกับคนอื่นๆ มันเลยเป็นเหตุผลให้หลายๆ คนกลายเป็นพวกประเภทโอเคกับทุกเรื่อง ยอมทำมันทุกงาน ฯลฯ แต่เอาจริงๆ แล้วคนประสบความสำเร็จหรือทำงานได้ดีหลายคนนั้นจะเป็นประเภทที่เลือกปฏิเสธอย่างชาญฉลาดเสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะเอาจริงๆ คุณไม่มีเวลาสำหรับการทำทุกอย่างได้ แถมยิ่งคุณทำงานเยอะๆ ก็จะทำให้คุณมีเวลาโฟกัสกับงานสำคัญๆ ได้น้อยลง มันเลยจำเป็นมากที่คุณจะต้องแยกแยะให้ออกว่างานไหนบ้างเป็นงานสำคัญและงานไหนที่คุณไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ (เว้นเสียแต่คุณมีเวลาและพลังงานเหลือเฟือน่ะนะ) และถ้างานไหนที่มันไม่ควรจะไปทำ คุณก็ควรเลือกตอบว่า “ไม่” ได้แล้ว
3. อย่าพยายามเพอร์เฟคไปซะทุกอย่าง
หลายๆ คนอยากทำงานให้เรียกว่า “สมบูรณ์” เพื่อให้ได้งานที่มี “คุณภาพ” แน่นอนว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าทำได้จริงหรือถ้าคุณสามารถบริหารจัดการเวลาได้โอเค แต่ถ้าคุณไม่มีเวลามากขนาดนั้น บางครั้งคุณต้องยอมลดทอนรายละเอียดบางอย่างเพื่อให้งานนั้นสามารถเดินต่อไปได้ อย่างที่ผมมักพูดเสมอๆ ว่าการทำงานหลายๆ ครั้งมันก็คือการทำข้อสอบที่มีเวลาจำกัดในการตอบข้อสอบ จริงอยู่ว่าคุณอาจจะมีความรู้มากมาย มีข้อมูลล้านแปด แต่ถ้าคุณตอบทั้งหมดแล้วไม่ทันส่งข้อสอบแล้ว คุณก็ถือว่าสอบไม่ผ่านนั่นแหละ ฉะนั้นแล้ว คนเก่งคือคนที่มองออกว่าในข้อจำกัดด้านเวลาดังกล่าวนั้น คุณควรทำงานในระดับไหน ในรายละเอียดอย่างไร เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพ “ดีที่สุด” ภายในเงื่อนไขอย่างนั้น ซึ่งหลายๆ ครั้งมันก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติแต่อย่างใด
4. เอาสิ่งที่อยู่ในหัวของคุณออกมา
เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมคนเก่งๆ เขาถึงจดบันทึกต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับพยายามทำลิสต์ต่างๆ ในสมุด จดนัดต่างๆ ในออแกไนซ์เซอร์แทนที่จะมานั่งจดจำ? ทั้งนี้เพราะสมองของเรานั้นควรถูกเอาไว้ใช้สำหรับการคิดงานที่สำคัญๆ หรือใช้มันเพื่อสิ่งที่จำเป็นที่สุด และพอเป็นแบบนี้แล้ว คุณควรจะหาทางปลดภาระเหล่านี้ด้วยเครื่องทุนแรงหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ แทน จริงอยู่ว่าถ้าคุณจำทุกอย่างได้มันก็คงจะดี แต่เชื่อเถอะครับว่าท้ายที่สุดสมองของเราก็มีขีดจำกัด (เว้นเสียแต่คุณเป็นอัจริยะอะไรก็อีกเรื่องน่ะนะ) ฉะนั้นคุณควรใช้ลิมิตต่างๆ ให้คุ้มที่สุดมากกว่านะครับ
5. หมั่นเช็คดูบ่อยๆ ว่าตอนนี้คุณทำงานไปถึงไหนแล้ว
การทำงานหลายๆ โปรเจคนั้นจำเป็นต้องมีจุดที่คอยเช็คบ่อยๆ ว่าไปถึงขั้นไหนกันบ้างแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะถ้าคุณทำอะไรไปเรื่อยโดยไม่มีการหยุดตรวจดูความเรียบร้อยแล้ว บางทีคุณอาจจะหลงลืมบางอย่างหรือวิ่งออกนอกเส้นทางเอาได้ง่ายๆ เช่นกัน ฉะนั้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพไม่ใช่สักแต่จะวิ่งลุยไปข้างหน้าโดยไม่เหลียวมองดูอะไรเลย ผมเองก็มักจะมีช่วงเวลาในแต่ละวันหรือแต่ละอาทิตย์ในการนั่งดูความเป็นไปของแต่ละโปรเจคและแต่ละเป้าหมายว่าผมอยู่ตรงไหนแล้ว ทำถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมันทำให้คุณได้มีการวางแผนทำให้ดีขึ้นและพัฒนาขึ้นไปกว่าเดิมได้ด้วย
ที่มา : nuttaputch.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น