วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

"มุมที่มองข้ามไป" กับการทำงานเป็นทีม



การบริหารไสตล์ญี่ปุ่นที่เน้นการทำงานเป็นทีม เป็นที่ยอมรับว่าเป็นแนวทางการบริหารคนที่ได้ผลมากกว่าสไตล์การทำงาน แบบต่างคนต่างทำ (Individualism) ของประเทศทางตะวันตกหลายประเทศ พูดง่าย ๆ ก็คือฝรั่งเองก็ต้องยอมรับว่า “การทำงานเป็นทีม” นั้นเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน การทำงานเป็นทีมทำให้เกิด “การประสานพลัง” (Synergy) ซึ่งทำให้ 1 + 1 ได้มากกว่า 2

หลายท่านตระหนักดีถึงภาระหน้าที่ในการเป็นผู้นำทีม ภาระหน้าที่ในการสร้างทีมงาน เป็นการมองจากข้างบนลงข้างล่าง ซึ่งบางท่านทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี บริหารลูกน้องให้ทำงานได้ตามเป้าหมาย ลูกน้องรัก ให้ความเคารพนับถือ มีศรัทธา แต่ผู้บริหารท่านเดิมนั้นเอง กลับมีปัญหากับ “ผู้นำทีม” ของตนเอง

“มุมที่มองข้ามไป” ในเรื่องการทำงานเป็นทีมก็คือ การทำงานเป็นทีมกับผู้นำทีมของตัวเราเอง ซึ่งไม่เป็นประเด็นที่นำมาถกเถียงคุยกันมากเท่าที่ควรจะเป็น ผู้บริหารที่มีความรู้ ประสบการณ์ดี บริหารทั้งงานผลิต งานขาย-การตลาด การเงิน ฯลฯ ลูกน้องรัก ลูกค้าพอใจ แต่ “ผู้นำทีม” หรือ ผู้บังคับบัญชา กลับไม่นิยมยกย่องก็มี!!! หลายครั้งหลายคราที่องค์กรต้องเสียมือดี ๆ ไป เสียโอกาสทางธุรกิจไป เพราะประเด็นเรื่องการทำงานเป็นทีมระหว่างลูกทีมกับผู้นำทีม ที่คล้ายกับเกิดศรศิลป์ไม่กินกัน นอกจากมองตาไม่รู้ใจแล้ว ยังรู้สึกขัดหูขัดตาอีกด้วย

ปัญหาอยู่ที่ไหน?-หลายท่านอาจจะถาม
บางท่านอาจจะบอกว่าก็คนมันดวงไม่สมพงศ์กัน ลูกน้องบางคนว่า“นาย” เล่นพวก เราเลยไม่รุ่ง ลูกพี่บางคนว่า “ลูกน้อง” ซื่อบื้อ หรือ บางคนสรุปว่าเป็นเพราะขาดคาถามหาจำเริญ คาถาที่ว่านี้มีเพียง 4 วลี “ใช่ครับพี่” “ดีครับท่าน” “ทันครับผม” และ“เหมาะสมครับเจ้านาย" ถ้าผู้อ่านเห็นด้วยกับคาถาที่ว่านี้ ก็ไม่ต้องอ่านบทความนี้อีกต่อไป - เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไร

หัวใจในการทำงานเป็นทีมนั้นมีอยู่ 4 ข้อ ข้อแรกคือต้องมี “เป้าหมาย” เดียวกัน ข้อ 2 คือ“บทบาท” อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ของทั้ง“ผู้นำทีม” และ “ผู้ตาม” เข้าใจตรงกันมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ข้อ 3 คือ มีระบบการให้รางวัลค่าตอบแทนที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ข้อสุดท้าย คือต้องมี “ทักษะ” ที่จำเป็นในการทำงานเป็นทีม เช่นการบริหารความขัดแย้ง ความสามารถในการติดต่อสื่อสารให้ถูกช่องทาง ฯลฯ

ไม่สนใจหรือมองข้าม “สไตล์” การทำงานของซึ่งกันและกัน การเล่นบทบาทอย่างที่ตัวเองคิดว่าน่าจะเป็น โดยไม่ทันเหลียวมองสัญญาณจาก “ผู้กำกับการแสดง” ว่าต้องการให้ “เล่น” อย่างไร ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

หน้าที่ของลูกทีม ที่อาจเป็นผู้บริหารด้วยหรือไม่ก็ได้นั้น มีหน้าที่ที่ไม่ปรากฎอยู่ใน JD.หน้าที่หนึ่ง นั่นคือ การพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมกับ “ผู้บังคับบัญชา” ของตนเองด้วย หน้าที่ของท่านไม่เพียงแต่สร้างทีมงานกับลูกน้องเท่านั้น แต่กับ“นาย” ของเราด้วย การบริหารนั้นมีทั้ง แบบบน-ลง-ล่าง (Downward management) ที่เราต้องเป็นผู้นำทีม บริหารลูกทีมสู่เป้าหมาย และแบบล่าง-ขึ้น-บน (Upward management) ที่จะต้องทำให้ลูกพี่และตัวเราเองเกื้อกูลกัน ทำงาน ”เข้าขา” กันอย่างดี เพื่อสร้างผลงานให้ตัวเราเอง ซึ่งก็จะเป็นผลงานของ “นาย” ของเรา ผลงานของทีมงานและเป็นผลงานต่อองค์กรในที่สุด


อ้างอิงจาก : hrtothai.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก  
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น