วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"คำพูด" ให้กำลังใจตัวเองเมื่อล้มเหลว



          ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นเรื่องยากที่เราจะปฏิเสธว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นจริง ทั้ง ๆ ที่มันเกิดขึ้น และกำลังสร้างความลำบากใจทั้งกับเราเอง และเพื่อนร่วมงานของเรา

คนทำงานจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะเครียดและกดดัน เมื่อต้องรับมือกับความผิดพลาด หรือความล้มเหลวที่เกิดจากการทำงาน บางคนเลือกที่จะรับความผิดทั้งหมดไว้กับตัวเอง แต่นั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะปัญหามีไว้แก้ไข ไม่ใช่มีไว้เพื่อกดดันตัวเอง การหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดต่างหาก คือคำตอบของปัญหา

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดอยู่กับเรานาน เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเครียดจากการทำงาน อย่าลืมบอก 7 ประโยคนี้กับตัวเอง แล้วเราจะรู้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย แต่เป็นบทเรียนบทหนึ่งที่จะช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้นเอง

1. เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ มันไม่มีวันที่จะอยู่กับเรานาน พอมันเข้ามาแล้วมันก็จะผ่านไป ปัญหาต่าง ๆ มันอายุสั้น เพียงแค่หันหลังให้กับปัญหาเหล่านั้น ปัญหาก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ แต่การหันหลังให้กับปัญหานั้น หมายความว่าเรากำลังหาทางจัดการกับมัน โดยที่ไม่ยอมให้มันมาทำให้เราทุกข์ใจ ไม่ได้หมายความว่าเราจะวิ่งหนีปัญหาเพียงอย่างเดียว

2. เราทำดีที่สุดแล้ว
เมื่อไรก็ตามเรารู้สึกถึงความผิดหวัง อย่ามัวแต่โทษตัวเอง สิ่งที่เราต้องทำ เราได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่เราจะแก้ไขคนเดียวได้ และจงมั่นใจว่าไม่มีใครทำได้ดีกว่าเรา อย่าให้ความหม่นหมองใจมาทำลายความเชื่อมั่นของเรา

3. มันคือบทเรียนที่แสนวิเศษ
ความผิดพลาดไม่ได้นำมาซึ่งความผิดหวังเสมอไป เพราะในบางครั้ง ปัญหาคือบทเรียนที่แสนวิเศษ มันสอนให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผิด และสิ่งไหนคือสิ่งที่เราไม่ควรทำ และจำไว้ว่า หากเราไม่เคยทำผิดมาก่อน เราจะไม่รู้เลยว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง และสามารถทำได้ เราจึงควรจดจำความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน เพื่อที่เราจะได้ทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม

4. ความท้าทายทำให้เราเข้มแข็ง
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ “What doesn’t kill you, makes you stronger. ” ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เรารู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง แต่เราจะไม่มีวันรู้สึกเช่นนั้นอีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะเราได้เรียนรู้แนวทางและวิธีคิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เราได้เรียนรู้ว่าวิธีการที่ดีที่สุดของแต่ละปัญหาคืออะไร แล้วเราต้องแก้ไขอย่างไร เมื่อปัญหาเกิดขึ้นและไม่ได้ทำให้เราย่ำแย่จนหาทางออกไม่ได้ เราก็จะเก่งและเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน

5. ทุกปัญหาย่อมมีทางออก
เตือนสติตัวเองไว้เสมอว่า “ทุกปัญหาย่อมมีทางออก” ไม่มีปัญหาไหนที่ไม่มีทางออก หรือไม่มีใครที่จะแก้ไขปัญหานั้นไม่ได้ แต่การแก้ปัญหานั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทันที แต่ต้องอาศัยเวลา บางครั้ง สิ่งที่ดีที่สุดมักจะมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เร็วอย่างที่ใจเราคิด แต่เราสามารถหาทางออกให้กับตัวเองอย่างแน่นอน ช้าบ้างเร็วบ้าง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของปัญหานั้น ๆ

6. เราจะไม่เดียวดายเมื่อเกิดปัญหา
ครั้งใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าปัญหาต่าง ๆ กำลังรุมเร้าเรา ให้ลองหันไปมองรอบ ๆ ตัวเรา แล้วเราจะพบว่ายังมีคนอีกหลายคนที่คอยให้กำลังใจเราอยู่ ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ตอกย้ำ หรือคอยสมน้ำหน้ากับความผิดพลาดของเรา เพื่อนร่วมงานคือกำลังใจที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นคือเหตุผลว่าเหตุใดเราจึงต้องทำงานเป็นทีม เพราะเราจะได้มีคนที่คอยช่วยแก้ปัญหา และให้กำลังใจเราเมื่อยามที่เราล้มเหลว หรือผิดพลาดจากการทำงาน

7. ใคร ๆ ก็เจอปัญหาด้วยกันทั้งนั้น
ประโยคให้กำลังใจตัวเอง มั่นใจได้เลยว่าเราไม่ใช่คน ๆ เดียวในโลกที่ต้องเผชิญกับปัญหา มีคนอีกมากมาย มีเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับเรา เราไม่ใช่คน ๆ เดียวในโลกที่ต้องพบเจอกับความผิดพลาด และปัญหาของเราก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด หากเราลองพูดคุยกับคนอื่นดูบ้า เราอาจจะรู้สึกว่าปัญหาของเราเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลยก็ได้

          ท้ายที่สุดแล้ว เราควรขอบคุณปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาทำให้เราได้มองเห็นแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากการทำงาน วิธีการแก้ปัญหา หรือแม้แต่ ใครคือคนที่เราไว้ใจได้ หรือใครที่คอยช่วยเหลือเราเมื่อยามที่เราเกิดปัญหา แต่อย่างน้อยที่สุด เราต้องไม่ตอกย้ำซ้ำเติมความผิดพลาดของตัวเราเอง แต่ต้องให้กำลังใจตัวเองให้มากที่สุด หากเราไม่สามารถให้กำลังใจเราได้ ก็คงไม่มีใครบนโลกนี้ที่สามารถทำได้อีกแล้ว


ข้อมูลจาก th.jobsdb.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

7 วิธีลดความเครียด แบบสไตล์คนทำงาน



ในปัจจุบันนี้ คนเรามีความเครียดเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ และสารพัดเรื่องที่ทำให้คุณเกิดความเครียดสะสม ถ้าปล่อยเอาไว้รับรองว่าคุณจะต้องเป็นบ้าตายแน่ ๆ เราจึงขอนำเสนอวิธีที่ช่วยบรรเทาความเครียดในราคาย่อมเยาให้กับคุณ จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย

1. กลิ่นลาเวนเดอร์ช่วยได้
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ากลิ่นลาเวนเดอร์สามารถทำให้คุณรู้สึกสงบและผ่อนคลาย ซึงในทุกวันนี้ มีผลิตภัณฑ์จากลาเวนเดอร์มากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันที่มีความเครียด ไม่ว่าจะเป็นเทียนหอม สบู่ ครีมอาบน้ำ นั้นหอมระเหย ฯลฯ ซึ่งแต่ละอย่างนั้นมาในราคาที่ไม่ทำให้คุณกระเป๋าแบนแน่นอน

2. โคมไฟหินเกลือหิมาลายัน
โคมไฟหินเกลือหิมาลายันของเทือกเขาหิมาลัย เป็นโคมไฟหินที่ปล่อยไอออนลบที่สามารถต่อสู้กับไอออนบวกที่ก่อให้เกิดความกังวลได้ และมีราคาเพียง 500-600 บาทเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับขนาด) ซึ่งโคมไฟหินเกลือหิมาลายันนี้ สามารถทำให้คุณรู้สึกสงบและผ่อนคลายได้ เพียงแค่มีโคมไฟหินเกลือหิมาลายันในห้องนอนเท่านั้นเองค่ะ

3. อาบน้ำในอ่างที่มีฟองฟูฟ่อง
การอาบน้ำสามารถช่วยให้คุณเพลิดเพลินกับความผ่อนคลายในบ้านได้ โดยไม่ต้องเสียเงินราคาแพงเพื่อเข้าสปาเลยค่ะ และอย่าลืมใช้สบู่กลิ่นลาเวนเดอร์ หรือจุดเทียนหอมกลิ่นลาเวนเดอร์ในห้องน้ำขณะเพลิดเพลินกับฟองสบู่นุ่มนิ่ม ที่มีคุณสมบัติช่วยให้คุณผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้คุณจะเสียเงินไม่ถึง 300-500 แน่นอนค่ะ!

4. Stress balls
Stress balls หรือ Chinese stress balls เป็นลูกบอลเล็ก ๆ ที่คุณสามารถใช้บีบเล่นหรือกลิ้งไปกลิ้งมาในมือได้ คุณสมบัติของมันคือช่วยลดความเครียดและลดความดันโลหิตของคุณได้เป็นอย่างดีเลยล่ะคะ อีกทั้ง Stress balls ยังมีราคาถูกมาก อยู่ที่ประมาณ 300 บาทเท่านั้นเอง แถมยังสามารถหาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นตามร้านหนังสือ หรือร้านขายเครื่องเขียนทั่วไปอีกด้วยค่ะ

5. นวดตัวเอง
ลูกกลิ้งโฟม แผ่นรองเพื่อสุขภาพ ลวดนวดศีรษะ และไม้นวดหลัง สามารถช่วยคุณลดความตึงเครียดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เฉพาะเจาะจงได้ โดยที่คุณไม่ต้องไปเสียเงินให้กับหมอนวดมืออาชีพเลยค่ะ นอกจากนี้ เจ้าอุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถกระตุ้นจุดต่าง ๆ ในร่างกายของคุณ เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและกระตุ้นการปล่อยสารเอ็นโดรฟินในร่างกายคุณได้อีกด้วยนะคะ

6. หนังสือระบายสีสำหรับผู้ใหญ่
หนังสือระบายสีไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่อยากเราก็สามารถระบายสีเล่นเพื่อผ่อนคลายความเครียดได้เช่นกัน เพราะมันจะช่วยให้คุณมุ่งเน้นสมาธิไปที่การระบายสีเพื่อให้ภาพวาดสวยงาม อีกทั้งมันยังช่วยให้สมองของคุณปิดความคิดในเชิงลบ และทำให้หยุดคิดเรื่องราวเครียด ๆ ต่าง ๆ ในชีวิตเอาไว้ชั่วคราว สำหรับหนังสือระบายสีสำหรับผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีราคาไม่แพงมาก และหาซื้อได้ง่ายตามร้านหนังสือทั่วไป

7. บันทึกประจำวัน
การจดบันทึกประจำวัน เป็นวิธีการลดความเครียดได้เป็นอย่างดี เหมือนกับคุณได้ปลดปล่อยความคิดต่าง ๆ ทั้งเรื่องดีและร้ายออกไปจากสมองของคุณ เหมือนเป็นการระบายความเครียดออกไปทางการเขียนนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแค่มีดินสอหรือปากกาสักด้าม กับแผ่นกระดาษหรือสมุดจดธรรมดา ๆ เท่านั้น คุณก็สามารถระบายความคิดอัดอั้นตันใจที่สะสมมาทั้งวันของคุณได้แล้ว และถือเป็นวิธีคลายเครียดที่ได้ผลมากที่สุดด้วย

ทุกคนย่อมมีความเครียดเหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะจัดการอย่างไรกับมัน ซึ่งเราหวังว่าวิธีจัดการกับความเครียดที่เรานำมาเสนอกันในวันนี้ได้เลยนะคะ

อ้างอิงจาก money.sanook.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กิจกรรมบริษัท ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กร



          การดูแลพนักงานให้ใช้ชีวิตในองค์กรได้อย่างราบรื่นและมีความสุข ก็เป็นอีกหน้าที่สำคัญของฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล สิ่งหนึ่งที่จะทำให้พนักงานมีความสุขได้ก็คือ การที่พนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ซึ่งวิธีหนึ่งที่ HR นำมาใช้ก็คือการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้พนักงานต่างแผนกที่แทบจะไม่ค่อยได้ทำงานร่วมกัน ได้ทำความรู้จัก และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน

มีงานเลี้ยงประจำปี
ในงานมีการแจกทอง แจกของรางวัล
ซึ่งมีให้ครบทุกคน แล้วแต่ว่าจะได้รางวัลเล็กหรือใหญ่เท่านั้นเอง

มีกิจกรรมอาสาที่ให้พนักงานไปร่วมกันทำความดี
เช่น เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กกำพร้า ซึ่งบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
มีทุก ๆ ประมาณ 3-4 เดือน

มีงานเลี้ยงขอบคุณพนักงานทุกปี
เป็นงานเลี้ยงในโรงแรมหรู ๆ เลย ให้พนักงานแต่งตัวสวย หล่อมาร่วมงานกัน
ช่วงก่อนวันงานก็จะเป็นช่วงที่ทำให้พนักงานสนิทกันด้วย เพราะต้องช่วยกันเตรียมงาน

มีกิจกรรม Outing ที่ต่างประเทศทุกปี
เป็นกิจกรรมที่ให้พนักงานได้ไปเที่ยวสนุกด้วยกัน
มี Founder เป็นคนนำทีมตลอดทริป ทำให้พนักงานสนิทกับผู้บริหารด้วย

มีกิจกรรมให้พนักงานไปปฏิบัติธรรมร่วมกันทุกปี
นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่พนักงานได้ทำร่วมกันแล้ว
ยังเป็นช่วงเวลาที่ให้พนักงานได้เปิดใจเรื่องที่ขุ่นข้องหมองใจกันด้วย

          นี้ก็เป็นตัวอย่างกิจกรรมในการสร้างความสัมพันธ์ของคนในองค์กร ถ้า HR ท่านไหนกำลังมีแผนที่จะหากิจกรรมไปนำเสนอผู้บริหาร ลองหยิบไอเดียเหล่านี้ไปประยุกต์และต่อยอดดูได้นะคะ

อ้างอิงจาก : jobthai.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สไตล์การทำงานของหัวหน้า แบบไหนที่เป็นตัวคุณ




บทบาทของผู้นำรูปแบบต่าง ๆ (Leadership Styles) ที่ผู้เป็นหัวหน้าเลือกนำมาใช้กับลูกน้องในการทำงานนั้น มีความแตกต่างกันในแง่ของการกำหนดทิศทางของการทำงาน การวางแผนการทำงาน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ลูกน้อง ความเหมาะสมกับการนำมาใช้กับประเภทของลูกน้อง และสถานการณ์การทำงานที่แตกต่างกันออกไป ผู้เป็นหัวหน้าที่ดีควรรู้จักเลือกใช้บทบาทความเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับการทำงานแต่ละงาน เคิร์ท เลวิน (ค.ศ. 1939) นักวิชาการชาวเยอรมัน-อเมริกัน ผู้บุกเบิกแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม องค์กร และจิตวิทยาประยุกต์ ได้จำแนกบทบาทของผู้นำสำหรับผู้เป็นหัวหน้าออกเป็นสามรูปแบบ ได้แก่


1. หัวหน้าแบบยึดถืออำนาจ (Authoritative) คือบทบาทที่หัวหน้ามีอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว การใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้ หัวหน้าจะมอบหมายหน้าที่แบบเฉพาะเจาะจงให้ลูกน้อง แล้วลูกน้องนำไปปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย
เมื่อใดจึงจะใช้บทบาทหัวหน้าแบบยึดถืออำนาจ ผู้เป็นหัวหน้าควรเลือกใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้ก็ต่อเมื่อตนเองทราบ และเข้าใจดีแล้วว่าในภารกิจการทำงานนี้ ต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง และสามารถชี้แจงหรือสอนงาน (Coaching) ให้ลูกน้องทราบได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ใช้ในกรณีที่การทำงานใดงานหนึ่งอาจมีเวลาจำกัดมากและไม่มีเวลามากพอที่จะมานั่งระดมสมองกัน แต่ตัวลูกน้องเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว สั่งการแล้วทำได้เลย นอกจากนี้หัวหน้าอาจใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้กับพนักงานใหม่ ที่กำลังเรียนรู้งานและยังไม่ทราบว่าทิศทางการทำงานที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม การใช้ภาวะผู้นำรูปแบบนี้ไม่ใช่การเอาแต่ออกคำสั่ง ใช้อำนาจ วางตัวเหนือลูกน้องมากจนเกินเหตุ และใช้คำพูดที่แสดงความไม่ให้เกียรติลูกน้องตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพของหัวหน้าคนนั้น ซึ่งไม่มีลูกน้องคนไหนเต็มใจอยากจะทำงานด้วยแน่นอน


2. หัวหน้าแบบประชาธิปไตย (Participative) คือบทบาทที่หัวหน้าเปิดโอกาสให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการทำงาน ลูกน้องแต่ละคนสามารถนำเสนอแนวคิดที่ตนคิดว่าเป็นประโยชน์ในการทำงานได้ อย่างไรก็ตาม หัวหน้าจะเป็นผู้ดำเนินการตัดสินใจในขั้นสุดท้ายเสมอ
เมื่อใดจึงจะใช้บทบาทหัวหน้าแบบประชาธิปไตย ในการทำงานเป็นทีมนั้น สมาชิกในทีมทุกคนอาจมีความรู้ความสามารถ จุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน ดังนั้นจึงค่อนข้างเป็นไปไม่ได้ว่าสมาชิกเพียงคนใดคนหนึ่งของทีม รวมทั้งตัวหัวหน้าเองจะสามารถทำทุกอย่างให้ดีได้ด้วยตนเองเพียงคนเดียว การใช้ภาวะผู้นำแบบเปิดโอกาสให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนี้ หัวหน้าอาจเข้าใจดีว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมาย และทีมต้องการที่จะบรรลุผลคืออะไร แต่อาจจะไม่ทราบว่า จะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ได้ จึงต้องอาศัยความรู้ความสามารถของสมาชิกทีมแต่ละคนในการดำเนินพันธกิจที่สมาชิกทุกคนในทีมมีร่วมกัน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้องแต่ละคนได้ใช้ศักยภาพและความเป็นมืออาชีพของตนอย่างเต็มที่ และมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของทีมอยู่เสมอ


3. หัวหน้าแบบเสรีนิยม (Delegative) เป็นบทบาทที่เปรียบได้กับการปกครองแบบเสรีนิยม ถ้าจะนิยามบทบาทของหัวหน้ารูปแบบนี้ก็หมายถึงการที่หัวหน้าได้มอบอำนาจในการดำเนินการให้กับลูกน้องอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ตัวหัวหน้าเองยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในผลของการดำเนินการของลูกน้องที่ตนได้มอบหมายอำนาจให้ดำเนินการใด ๆ ไปแล้ว
เมื่อใดจึงจะใช้บทบาทหัวหน้าแบบเสรีนิยม เนื่องจากการมอบหมายอำนาจให้ลูกน้องดำเนินการใด ๆ แทนตนเองนั้น หัวหน้ายังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลของการดำเนินการและไม่สามารถกล่าวโทษลูกน้องได้หากเกิดความผิดพลาด การใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้จึงไม่ควรใช้แบบไม่ยั้งคิด แต่ต้องใช้อย่างชาญฉลาด การจะมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ใครนั้นต้องพิจารณาแล้วว่าผู้รับมอบหมายคนนั้นมีความรับผิดชอบ มีความเป็นมืออาชีพ และมีความรู้ความสามารถในงานที่ได้รับมอบหมายดีกว่าตนเอง และอาจรวมถึงผู้ที่เป็นพนักงานอาวุโสที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานเฉพาะด้านมากกว่า ข้อดีของการที่หัวหน้าใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้กับลูกน้องก็คือ ตัวลูกน้องที่ได้รับมอบหมายอำนาจให้ดำเนินการใด ๆ ได้นั้นจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่ตนมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ และตัวหัวหน้าเองก็มีเวลามากพอที่จะไปทำภาระกิจอื่น ๆ ที่ตนยังต้องลงมือทำด้วยตนเองและอาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งที่ได้มอบหมายให้ลูกน้องทำ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานของทีมงาน


เห็นได้ว่ารูปแบบของบทบาทผู้นำแต่ละรูปแบบของผู้เป็นหัวหน้านั้นมีความเหมาะสมที่จะใช้กับลูกน้องและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น หัวหน้าที่ดีไม่ควรยึดติดกับบทบาทผู้นำรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมากเกินไป แต่ควรรู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของการทำงาน


ที่มา : th.jobsdb.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก