วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เครียดแค่ไหนก็แฮปปี้ได้ เทคนิคทำงานให้สนุก




เชื่อว่าหลายคนมักคิดอยู่เสมอๆ กับตัวเองว่าคุณเป็นคนนะไม่ใช้หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานทั้งวันได้โดยไม่ต้องรู้สึกหรือรับรู้เรื่องปวดหัวต่างๆ ให้ทำงานอะไรตั้งมากมาย แค่ออกจากบ้านตอนเช้าเจอรถติดก็เหนื่อยหน่าย เพลียจะแย่แล้ว ไหนบางวันต้องเจอกับสารพัดอารมณ์เจ้านายอีก บางครั้งเพื่อนร่วมงานก็ทำตัวงี่เง่าซะจนอยากเบือนหน้าหนี แต่เชื่อสิ …ทั้งหมดคุณสามารถควบคุมมันได้ เคล็ดลับง่ายๆ ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวคุณเองนั่นแหละ

วันนี้เราจะมาเผยเคล็ดลับการทำงานให้สนุกง่ายๆ กระตุ้นแรงใจและแรงกายของคุณให้ทำงานได้ไม่ติดขัด แค่เปลี่ยนความคิด...ชีวิตการทำงานก็แฮปปี้เว่อร์ !

1. มันเป็นฟิลลิ่ง ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดก็ดีไป แต่ถ้าทำงานในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก็ต้องหาวิธีบูสอัพฟิลลิ่งความสุขหรือกระตุ้นเรียกอารมณ์กันหน่อยล่ะ อย่างเช่น นั่งคิดถึงผลงานเจ๋งๆ ที่คุณทำ แล้วคนอื่นบอกว่าสุดยอด หรือเดือนที่แล้วทำโปรเจกต์ใหญ่สุดหินและได้รับคำชมจากเจ้านายเป็นรางวัลคุณก็เก็บเอาความรู้สึกตรงนั้นมาช่วยเสริมเป็นพลังบวกในการทำงานให้เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นตอนนั้นเลย

2. ให้รางวัลตัวเองหน่อย ทำงานหนักมาเกือบทุกวัน ก็ต้องให้รางวัลกับตัวเองกันหน่อย อย่าหวังรอให้คนอื่นมาให้ล่ะ อย่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็พาตัวเองไปนวดเข้าสปาทำทรีตเมนท์ผ่อนคลายไปเลย 3 ชั่วโมงเต็ม เอาให้ฟินกันไปเลย หรือไม่ก็นัดปาร์ตี้รวมตัวกับแก๊งสเตอร์จัดหนักบุฟเฟ่ต์ซีฟู้ดที่คุณอยากกินมานานรับรองคุณจะรู้สึกสดชื่นขึ้น เหมือนได้ชาร์จพลังเต็มอิ่ม พร้อมรับอาทิตย์ใหม่ที่หนักอึ้ง !

3. อย่าทำงานให้เหมือนเป็นรูทีน งานบางอย่างอย่าทำให้เป็นความเคยชิน อย่าให้งานซ้ำๆ ไปสะกิดต่อมเฉื่อยของคุณขึ้นมาจนกลายเป็นความเบื่อหน่ายถ้าคุณคิดว่างานมันไม่น่าสนใจ ก็แค่เปลี่ยนงานออกมาเดินเส้นทางใหม่ที่ใช่กว่า แบบนี้จะสร้างสีสันและแรงกระตุ้นในชีวิตคุณมากกว่านะแต่ถ้าคุณไม่อยากเปลี่ยนงานก็ต้องหาสิ่งใหม่ๆ มาดึงดูดคุณไม่ให้จำเจ อย่างเช่น เปลี่ยนสถานที่กินข้าวตอนกลางวัน หรือเดทกับหนุ่มที่ไม่ใช่สเปกบ้างเพราะอย่างน้อยคุณก็ต้องมีอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเองทุกวัน!

4. ให้เวลาตัวเองบ้าง ไม่ใช่คิดถึงแต่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว อะไรๆ ก็งาน เพราะจะทำให้คุณเครียดและกดดันเกินไป ลองแบ่งเวลาระหว่างชั่วโมงการทำงาน หาอะไรที่คุณชอบทำพักผ่อนสมองบ้างน่าจะดี อย่างตีปิงปอง ตีแบตฯ (ถ้าที่ทำงานคุณมีเลาจน์สำหรับนั่งเล่นผ่อนคลายนะ) เชื่อเถอะว่ากลับมาทำงานอีกทีสมองคุณจะปลอดโปร่ง รีแลกซ์ ความคิดแล่นฉลุยแน่นอน

5. รีเฟรชความคิด เวลาทำงานมากๆ บางทีความคิดก็ตันได้เหมือนกันนะ คิดออกแต่อะไรซ้ำๆ เดิมๆ ทางที่ดีถ้าไม่ให้เวลากับตัวเองพักสมองบ้างอย่างข้อข้างบน ก็ลองหยุดและจัดระเบียบความคิดของคุณใหม่ซะ มองสิ่งต่างๆ รอบตัวให้กว้างมากขึ้น คุณต้องคิดเสมอว่ามันไม่ได้มีแค่ด้านเดียว ทุกอย่างมันสามารถพลิกแพลง ปรับเปลี่ยนได้หมด แค่เปลี่ยนความคิดที่มองจากมุมเดิมๆ แล้วคุณจะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆที่เข้าตาเจ้านายมากขึ้น

บางทีหันมาชมตัวเองบ้างเพื่อเพิ่มกำลังใจการทำงานก็เป็นวิธีที่ไม่เลวนะ อย่างเช่น ถ้าเป็นคนอื่นเจองานหินอย่างเราคงลาออกไปนานแล้ว เรานี่มันก็เก่งเหมือนกันนะ! … ลองดูสิ คำพูดนี้ช่วยคุณได้เยอะเลย

โดย : ไทยรัฐออนไลน์
ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/453496

UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

CSR เวิร์กไม่เวิร์ก ดูยังไง?



การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่วันนี้หลายองค์กรได้นำมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักทางธุรกิจไปแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้บริหารหลายๆ ท่าน มีความข้องใจสงสัยว่า ทำไปแล้ว จะได้อะไรบ้าง นอกจากหน้าตาหรือภาพลักษณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี หรือเป็นองค์กรที่ห่วงใยตอบแทนสังคม และในฐานะผู้บริหารที่กำกับดูแลองค์กร จะทราบได้อย่างไรว่า องค์กรตนเองประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR

เพื่อให้ผู้บริหารที่ยังไม่คุ้นชินกับเรื่อง CSR แต่คุ้นเคยกับการบริหารธุรกิจเข้าใจได้ง่ายๆ ให้ลองตั้งคำถามที่ตนเองน่าจะมีคำตอบก่อนก็คือ ท่านวัดอย่างไรว่าธุรกิจที่ท่านบริหารอยู่ประสบผลสำเร็จ

ถ้าธุรกิจท่านมีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของก็ลงมาบริหารเอง ก็จะมีคำตอบทำนองว่า ก็ต้องทำให้กิจการอยู่ได้ มีกำไร มั่นคง และมีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตหรือขยายออกไปได้ในอนาคต ผู้บริหารจึงให้ความสำคัญที่ตลาด ซึ่งมีลูกค้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุด โจทย์ของธุรกิจจึงมุ่งที่การมีหรือได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นที่ต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ไล่เรียงมาถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองมีคุณลักษณะ (Attribute) ที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ยิ่งถ้ามีได้คนเดียวยิ่งดี (เรื่องลิขสิทธ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า สูตรลับฯ จึงถูกออกแบบมาเพื่อการนี้)

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มักเป็นบริษัทมหาชน ไม่ได้มีเจ้าของคนเดียว และมีผู้บริหารมืออาชีพ เป้าหมายหรือความสำเร็จของกิจการก็เป็นเรื่องเดียวกัน แต่จะใช้คำใหญ่กว่าคือ การสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งก็ต้องมาจากการที่บริษัทมีรายได้และผลกำไรที่มั่นคง สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง โจทย์ของธุรกิจในกรณีนี้ได้ให้ความสำคัญที่ตลาดไม่แตกต่างกัน

กิจการทั้งหลายทั้งปวงทางธุรกิจ จึงให้ความสำคัญที่การตลาด เพื่อให้เกิดธุรกรรม นำรายได้เข้ากิจการ บริหารต้นทุน ให้เหลือสุทธิเป็นกำไร สะสมกำไรเพื่อเป็นทุนสำหรับขยายตลาด ขยายกิจการสืบเนื่องต่อไปตามหลัก Going Concern

เงื่อนไขความสำเร็จของธุรกิจ จึงอยู่ที่การยอมรับของตลาด หรือของลูกค้าที่มีต่อตัวผลิตภัณฑ์ ต่อแบรนด์ ต่อองค์กร ต่อผู้นำองค์กร หรือต่อบุคคลในองค์กร (ก็มี)

กลับมาในเรื่อง CSR เงื่อนไขความสำเร็จของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อยู่ที่ “การยอมรับ” เช่นกัน แต่มิได้จำกัดเพียงการยอมรับของตลาด โดยมีหน่วยวัดเป็นเม็ดเงินที่ได้จากลูกค้าตามโจทย์ของธุรกิจปกติ แต่เป็นการยอมรับของสังคม ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละกิจการ) โดยมีหน่วยวัดที่มิใช่ตัวเงิน และไม่ได้คำนึงถึงผู้รับประโยชน์ที่เป็นผู้ถือหุ้นเท่านั้น

สาเหตุที่เรื่อง CSR มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และได้ถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์หนึ่งทางธุรกิจ ก็เพราะ หากธุรกิจประสบปัญหาเรื่องการยอมรับจากสังคม เช่น ชุมชนรอบโรงงานเดือดร้อนจากการประกอบการ ลุกขึ้นมาต่อต้านการดำเนินงานของกิจการ ความชะงักงันของธุรกิจก็อาจเกิดขึ้น หรือหากกิจการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของกิจการอาจถูกสั่งระงับโดยหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล หรือหากกิจการบกพร่องเรื่องสวัสดิการ การดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัยของแรงงาน พนักงานในองค์กรก็อาจลุกขึ้นมาเรียกร้อง ประท้วง นัดหยุดงาน จนเป็นเหตุให้บริการทางธุรกิจสะดุดหยุดลง

การวัดความสำเร็จของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ไม่ได้อยู่ที่การ “ได้ทำ” ตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม CSR ที่วางไว้ และได้ตอบโจทย์ตามตัวชี้วัดการดำเนินงานของแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตัวชี้วัดระดับ “ผลผลิต” แต่ความสำเร็จของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องมุ่งให้เกิด “ผลลัพธ์” จากการดำเนินงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิด “การยอมรับ” ของผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นเป้าหมายของแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม CSR เป็นสำคัญ

ขณะที่เป้าหมายสูงสุดของการดำเนินธุรกิจอยู่ที่การแสวงหากำไรสูงสุด (Maximize Profit) สำหรับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เป้าหมายยอดสุดจะอยู่ที่การสร้างผลได้สูงสุดจากความทุ่มเท (Maximize Contribution) ขององค์กร ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


โดย : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ที่มา : http://pipatory.blogspot.com/2012/03/csr.html
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ตัวชี้วัดผลของการทำ CSR (Corporate Social Responsibility)



          บทความตอนนี้ จะขอเขียนเรื่องขององค์กรธุรกิจที่ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) แล้วผู้บริหารที่รับผิดชอบเกิดสนใจใคร่รู้ว่า จะมีวิธีนำเสนอและกำหนดตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการดำเนินงานลักษณะใดได้บ้าง ที่สามารถสื่อความให้กับทีมงานได้เข้าใจตรงกันและในแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เพื่อจะได้ตั้งธงการทำงานของทีมไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดอาการสะเปะสะปะ หรือไปในทำนองขี่ช้างจับตั๊กแตนจนเกินไป

ในทางปฏิบัติ แต่ละองค์กรที่ทำ CSR จะมีดีกรีของความทุ่มเท ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น กำลังคน งบประมาณ หรือเวลาในระดับที่แตกต่างกัน ทำให้เราๆ ท่านๆ พอจะสามารถคาดเดาคำตอบได้เหมือนกันว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในแต่ละองค์กร ก็จะมีดีกรีของความสำเร็จที่ไม่เท่ากันตามไปด้วย
ตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ที่ผมจะขออนุญาตนำมาเรียบเรียงในบทความนี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ โดยจะขยายความพร้อมยกตัวอย่างประกอบในแต่ละระดับ ดังนี้

ระดับแรก คือ “ได้ภาพ” เป็นการนำเสนอข้อมูลปัจจัยนำเข้าที่ได้รับการจัดสรร หรือสื่อสารถึงแผนงานที่จะดำเนินการ หรือจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ หรือแสดงแบบจำลองให้เห็นถึงผลที่คาดว่าจะได้รับ ตัวอย่างที่มีให้เห็น ประมาณว่า
“…เอ่อ เพื่อนสื่อมวลชนทุกท่าน ในปีนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ที่จะร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในโครงการปลูกป่า 1 ล้านต้น ด้วยการสนับสนุนงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกได้ถึง 10,000 ตันต่อปี…”
การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เทียบเคียงได้กับการวัดมูลค่าทางการประชาสัมพันธ์ (PR Value) โดยในความเป็นจริง เราไม่ทราบเลยว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในกรณีนี้ ตกลงแล้วได้ปลูกป่าไปจริง 1 ล้านต้นหรือไม่ มีอัตราการอยู่รอดจริงเป็นเท่าใด และสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามตัวเลขที่เคลมหรือไม่ แต่องค์กรได้มูลค่าสำเร็จไปแล้ว คือ ได้ภาพ (Image)

ระดับที่สอง คือ “ได้ทำ” เป็นการลงมือดำเนินการโดยใช้ปัจจัยนำเข้าที่ได้รับการจัดสรร หาพันธมิตรร่วมดำเนินงาน หรือว่าจ้างหน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ตามแต่วิธีที่องค์กรจะใช้แปลงแผนงานสู่การปฏิบัติ ตัวอย่างที่เห็นโดยทั่วไป คือ
“…วันนี้ ทางบริษัทมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เข้ามาให้การอบรมแก่สมาชิกในชุมชนของท่าน เราเชื่อมั่นว่า ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมวิทยากร จะช่วยให้สมาชิกในชุมชน สามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น และหวังว่าจะมีครัวเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มาร่วมรับการอบรมกับเรา...”
การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เทียบเคียงได้กับการวัดปัจจัยส่งออกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินงาน โดยในความเป็นจริง แม้โครงการจะสามารถให้การอบรมแก่ครัวเรือนได้เกินร้อยละ 50 ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในกรณีนี้ สมาชิกในชุมชน จะสามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น หรือมีรายได้ที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ แต่องค์กรได้ผลผลิตไปแล้ว คือ ได้ทำ (Output)

ระดับที่สาม คือ “ได้รับ” เป็นการดำเนินกระบวนการที่คำนึงถึงการตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ด้วยการให้ความสำคัญกับรูปแบบการดำเนินงานที่สามารถส่งมอบผลการดำเนินงานให้ใกล้เคียงหรือเท่ากับผลที่คาดว่าจะได้รับ ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือ
“…ไตรมาสนี้ ทางบริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า ยอดสั่งซื้อผลิตภันฑ์จากชุมชนของท่าน รวมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว จากการที่ชุมชนสามารถเพิ่มผลผลิต และทำให้ครัวเรือนที่ผ่านการอบรม สามารถแปรรูปผลผลิต มีรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์แปรรูปที่จำหน่ายได้เพิ่มขึ้น…”
การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เป็นการวัดผลการดำเนินงานเทียบเคียงกับวัตถุประสงค์หรือผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ (จากตัวอย่าง คือ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และรายได้เพิ่มขึ้นจริง) โดยในความเป็นจริง องค์กรควรต้องตั้งคำถามว่า “เขาได้รับอะไรจากเรา” มากกว่าที่จะวัดว่า “เราได้ให้อะไรกับเขา” เนื่องจากในระหว่างทาง จะมีทั้งสิ่งรบกวน (noise) และการรั่วไหล (leak) ต่างๆ เกิดขึ้น นอกเหนือจากคุณภาพของผู้ให้และผู้รับ อย่างไรก็ดี หากก้าวขึ้นมาสู่การวัดผลในระดับนี้ได้ องค์กรจะได้ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน โดยสามารถส่งมอบผลที่คาดว่าจะได้รับให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินงาน ที่ถือว่า ได้รับ (Outcome)


ระดับที่สี่ คือ “ได้ผล” เป็นการขับเคลื่อนโดยบูรณาการปัจจัยแวดล้อมกับบริบทของการดำเนินงานที่คำนึงถึงการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อขยายผลกระทบให้เกิดขึ้นทั้งในระหว่างและหลังการดำเนินงาน หรือแม้โครงการจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือ
“…หลังจากการดำเนินโครงการผ่านพ้นไป 3 ปี ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นกว่าเท่าตัว ครัวเรือนมีรายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในชุมชนดีขึ้น อัตราการเจ็บป่วยลดลงกว่าร้อยละ 70 อันเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น จากการลดใช้สารเคมี และการสุขาภิบาลที่สะอาดปลอดภัยจากเดิม…”การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เป็นการวัดผลกระทบของการดำเนินงานที่อาจอยู่นอกขอบเขตของโครงการหรือการดำเนินงานขององค์กร และมิได้เกิดขึ้นจากตัวแปรหรือปัจจัยในโครงการเพียงลำพัง แต่ยังมาจากตัวแปรหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทำให้การวัดผล CSR ในระดับนี้ องค์กรไม่สามารถเคลมได้เต็มปาก แม้ผลสัมฤทธิ์ปลายทางจะเกิดขึ้นจริง ในทำนองเดียวกัน องค์กรก็อาจจะโบ้ยได้ หากผลสัมฤทธิ์ปลายทางไม่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อย องค์กรก็แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบจากการดำเนินงานให้กับกลุ่มเป้าหมายไม่มากก็น้อย ถือว่า ได้ผล (Impact)

          หวังว่า บทความนี้ คงจะช่วยจุดประกายให้องค์กรใช้พิจารณาตัวชี้วัด CSR ในโครงการต่างๆ ของท่าน ตั้งแต่ “ได้ภาพ” (Image) จนมาสู่ “ได้ผล” (Impact) กัน ตามแต่ศรัทธานะครับ


ที่มา : www.pipat.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คุณก็ทำได้



ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม คนทำงานทุกคนไม่มีใครไม่เคยเจอปัญหาอย่างแน่นอน แต่เจอปัญหาแล้วจะรับมือจัดการได้ดีแค่ไหน และได้เรียนรู้อะไรขึ้นมาบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับทักษะและความพยายามของแต่ละบุคคล มีคำแนะนำและเทคนิคดี ๆ เพื่อเป็นหลักคิด ฝึกแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มาฝากคนทำงานทุกคน

1. มองปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง บางคนอาจเจอปัญหาหลายเรื่องพร้อม ๆ กัน และแต่ละปัญหามีความคล้ายคลึงกันบ้าง คุณจึงต้องพิจารณาปัญหาเหล่านั้นอย่างเจาะจงลงไป ถ้ารู้ว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง ก็จะสามารถหาหนทางในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจ มองเห็นปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง และได้คำตอบที่ชัดเจน

2. คิด วิเคราะห์ แยกแยะ การคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์นั้นมักต้องใช้วิธีแก้ปัญหาหรือคำตอบหลาย ๆ ทาง วิธีการแก้ปัญหาหรือคำตอบที่คิดได้เป็นอันดับแรก ๆ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะความคิดเห็นและข้อมูลที่สำคัญ ๆ นั้นมีอยู่มากมาย ต้องพยายามคิดให้รอบด้าน แยกแยะ และคัดเลือกออกมา เพื่อให้ได้คำตอบที่ดี สร้างสรรค์ และตอบโจทย์ได้มากที่สุด

3. Brainstorming ระดมสมองหาทางออกที่ดีกว่า ระดมความคิดจากหลาย ๆ คน เพื่อคิดหาสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เหมาะสม และได้ผลดี โดยวางกฎพื้นฐานในการระดมสมองไว้ เช่น ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตัดสินว่าความคิดใดดีหรือไม่ดี ถ้าใครคิดวิธีการอะไรได้ต้องกล้าพูดออกมา และอย่าอายที่จะนำความคิดของคนอื่นมาผสมผสานกับความคิดของตน เพื่อสร้างเป็นความคิดใหม่ จากนั้นวางขั้นตอนในการระดมสมองให้เป็นลำดับ เช่น กำหนดเวลาในการคิด กำหนดให้มีคนเขียนสาเหตุของปัญหาและจดวิธีแก้ปัญหา และให้สมาชิกทุกคนแสดงความคิดเห็นเรียงกันไปทีละคน ที่สำคัญต้องจดทุกความคิด ไม่ว่าจะแปลกประหลาดแค่ไหนก็ตาม เพื่อนำไปคัดเลือก แล้วร่วมกันลงมติเลือกวิธีแก้ที่ดีที่สุด

4. Mind Mapping แผนภูมิความคิดช่วยแก้ปัญหา การทำแผนภูมิความคิดหรือเป็นการกระตุ้นสมองให้เกิดความคิดที่เป็นอิสระจากปัญหาที่เป็นศูนย์กลาง ออกไปสู่วิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่แปลกและแตกต่างจากเดิมได้ เริ่มจากการเขียนสาเหตุของปัญหาไว้กลางหน้ากระดาษ แล้วลากเส้นโยงออกมารอบ ๆ ถ้าคิดวิธีแก้ไขได้ ก็ให้เขียนวิธีนั้นไว้เหนือเส้นที่เพิ่งลากออกมา ความคิดใดสัมพันธ์หรือสนับสนุนวิธีแก้ไขที่มีอยู่แล้ว ก็ให้เติมความคิดใหม่นั้นต่อยอดจากวิธีแก้เดิม เมื่อได้ความคิดใหม่ ๆ ที่หลากหลายแล้ว ก็สามารถนำความคิดเหล่านั้นไปใช้ในขั้นตอนของการวางแผนแก้ไขปัญหาได้

5. มุ่งสู่เหตุผลเพื่อแก้ปัญหา ต้องมองเหตุผลที่แท้จริงว่า เราต้องการแก้ปัญหาเพื่ออะไร อย่ามัวแต่คิดว่ามีปัญหาอะไรและเกิดอะไรขึ้น เพราะจะไม่ทำให้เราได้ทางออก ให้คิดว่าเรากำลังพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาเพื่อผลลัพธ์อะไร สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดความคิด กระตุ้นให้หาวิธีหรือหาหนทางแก้ไขปัญหาได้

6. ฝึกมองปัญหาอย่างเป็นระบบ และฝึกมองการณ์ไกล เมื่อฝึกมองปัญหาและหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบได้ ก็จะทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในงานต่าง ๆ ได้ ทำให้งานที่คุณทำนั้นจะราบรื่นมากกว่าเดิม จะพบเจอกับปัญหาน้อยลง

7. ละทิ้งข้อมูลที่ไม่จำเป็น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น คนส่วนมากจะใช้ข้อมูลจำนวนมาก เพื่อประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหา แต่อย่าลืมว่าบางครั้งการมีข้อมูลมากเกินไป ทำให้เราไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้ มัวแต่ติดอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิม ๆ เพราะข้อมูลนั้นเองกลับกลายเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้เราใช้สัญชาตญาณและความคิดสร้างสรรค์ได้มากเท่าที่ควร

8. คำนึงถึงปัจจัย “บุคคล” เมื่อสามารถพัฒนาวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงประการต่อไปคือ ความร่วมมือของบุคคล เพราะคนจะเป็นตัวขับเคลื่อนไอเดียการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นได้จริง นับเป็นตัวแปรสำคัญของการแก้ปัญหาให้ประสบผลสำเร็จ นักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์จึงต้องพยายามหาวิธีแก้ปัญหาแบบให้ concept กว้าง ๆ พร้อมยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามปัจจัยของบุคลากรในทีมหรือองค์กรอยู่เสมอ

9. เปลี่ยนความคิดเห็นให้เป็นการกระทำ อย่าแค่พูดแต่ไม่ทำ จุดมุ่งหมายสำคัญของการแก้ปัญหาก็คือการเปลี่ยนแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติจริง พยายามดึงคิดสร้างสรรค์ออกมาไม่ให้จบลงเพียงแค่การคิดในใจ แล้วลงมือทำอย่างมั่นใจ ไม่กังวลถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ใส่ใจพร้อมความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและพากเพียรพยายาม จนกระทั่งเกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจได้ในที่สุด

         เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา สัญชาตญาณพื้นฐานของคนเราก็จะทำงาน ผลักดันให้เกิดความพยายามในการแก้ไขปัญหาและมองหาทางออก การแก้ปัญหาจึงเป็นภารกิจสำคัญของแต่ละคนที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง เมื่อการทำงานของคุณต้องเจอกับปัญหา อย่าเพิ่งเครียดหรือท้อแท้ เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางแก้เสมอ คุณก็สามารถฝึกแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ เอาใจช่วยทุกคนที่กำลังมีปัญหา และขอให้หาทางแก้ไขปัญหาให้ได้เร็ว ๆ ค่ะ

ที่มา : jobsdb.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วิธีบริหารเพื่อสร้างพลัง "ทีมงาน"




- จัดการประชุม เป็นวิธีที่ผู้บริหารจะได้พูดคุยกับทีมงาน และสมาชิกในทีมเองก็ได้ปรึกษาหารือกันด้วยทั้งการประชุมอย่างเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ การจัดการประชุมมักทำให้ทีมทำงานประสานกันได้ดี เพราะมีการถ่ายทอดข้อมูลระหว่างกัน นั่นคือ ข้อมูลจากหัวหน้าสู่ทีม และข้อมูลจากทีมสู่หัวหน้า (สื่อสารแบบสองทาง) ข้อมูลที่ได้จะถูกกลั่นกรองเพื่อหาข้อสรุปให้กับทีมงานได้ง่ายขึ้น

- สร้างความท้าทายให้กับงาน โดยหลักการแล้ว "คน" มักชอบฝ่าฟันสิ่งที่ยาก เพราะท้าทายความสามารถ ดังนั้น"เป้าหมาย" ของทีมที่ตั้งไว้ต้องน่าสนใจ และสามารถดำเนินการได้จริง เพื่อกระตุ้นให้ทีมเกิดแรงจูงใจในการทำงาน

- การสื่อความหมาย เป็นปัจจัยเบื้องต้นที่ช่วยให้การดำเนินงานราบรื่น หากว่าการสื่อความหมายระหว่างผู้บริหารสู่ทีม หรือจากสมาชิกของทีมไปยังผู้บริหารผิดเพี้ยน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายควรสื่อสารให้ชัดเจนและตรงไปตรงมา จากนั้นทบทวนเพื่อตรวจสอบความเข้าใจตรงกันของทั้งสองฝ่าย

          การบริหารความสัมพันธ์ขึ้นกับ "ความไว้วางใจกัน" ในการทำงาน หากผู้บริหารไม่ไว้ใจสมาชิกในทีม หรือสมาชิกไม่ไว้ใจกันเอง ก็อาจก่อให้เกิดความลังเล ไม่เชื่อมั่นในความสามารถซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ในทีมจะแย่ลงและจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การจะสร้างความไว้วางใจในงานให้เกิดขึ้น เพียงแค่มีความตั้งใจและทุ่มเทกับการทำงาน เพื่อแสดงให้ทุกคนรู้ว่าเราสามารถปฎิบัติงานได้ลุล่วง สิ่งนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจแก่ทีมงาน เมื่อสมาชิกในทีมเชื่อมั่นในความสามารถของกันและกัน มีความสามัคคีกันแล้ว การประสานงานก็จะง่ายขึ้น


ที่มา : GotoKnow โดย เกดสุชา ทองน้อย
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก 

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สวัสดิการแปลกๆ ที่น่าสนใจ



          วันนี้จะขอนำเสนอรูปแบบสวัสดิการที่ดูแล้วจะไม่ค่อยเห็นในบ้านเราเท่าไหร่นัก และบางตัวก็เป็นสวัสดิการที่ดูแปลกๆ ดีเหมือนกัน สวัสดิการทั้งหมดที่เขียนถึงในวันนี้มีอยู่จริงๆนะครับ เพียงแต่เป็นบริษัทฝรั่ง บางแห่งก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เผื่อว่าท่านผู้อ่านจะได้ไอเดียไปปรับใช้กับระบบสวัสดิการของบริษัทครับ ลองมาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง

เลี้ยงสุนัข สวัสดิการนี้ก็คือ ให้พนักงานสามารถนำสุนัขมาเลี้ยงที่บริษัทได้ โดยบางแห่งก็กำหนดให้พนักงานแต่ละคนสลับกันนำสุนัขเข้ามาดูแลในที่ทำงานได้ เพื่อไม่ให้มันกัดกัน บางองค์กรก็จัดสถานที่และจัดคนดูแลสุนัขให้เลยก็มีครับ ซึ่งสวัสดิการนี้ก็เหมาะสำหรับพนักงานที่อยู่คนเดียว และมีสุนัขอยู่ที่บ้าน บางบริษัทก็ให้พนักงานสามารถนำสัตว์เลี้ยงของตนเองที่ไม่มีอันตรายนะครับ เข้ามาเลี้ยงในบริษัทได้

- ลาอกหัก มีองค์กรที่ให้สิทธิพนักงานที่อกหักได้ลาเพื่อไปร้องไห้ทำใจ โดยให้สิทธิในการลาร้องไห้ทำใจได้ถึง 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลับมาทำงานเหมือนเดิม

สวัสดิการซักรีด พนักงานสามารถนำเสื้อผ้าของตนเอง และของครอบครัวมาซักที่บริษัทได้ โดยบริษัทจะเปิดให้บริการซักรีดให้กับพนักงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือพนักงานในด้านความเป็นอยู่

ล้างรถ พนักงานสามารถนำรถส่วนตัวมาล้างที่บริษัทได้ ซึ่งบริษัทจัดสถานที่และพนักงานไว้ล้างรถให้กับพนักงาน

Movie night บริษัทจัดให้พนักงานได้ไปพักผ่อนเพื่อดูหนังสัปดาห์ละ 1 คืน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคืนวันศุกร์ เพื่อให้พนักงานได้ไปดูหนังด้วยกันทั้งหมด

ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม บริษัทบางแห่งให้สิทธิพนักงานได้ไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสังคมได้ อาทิ เลี้ยงเด็กกำพร้า หรือปลูกป่ากับองค์กร NGO ต่างๆ โดยที่ยังคงได้รับค่าจ้างปกติ

นวดผ่อนคลาย บริษัทจัดให้มีการนวดเพื่อผ่อนคลายจากความเมื่อยล้าในการทำงาน โดยจัดให้มีสถานที่ที่เหมาะสม และบรรยากาศที่ผ่อนคลายเพื่อให้พนักงานคลายจากความเมื่อยล้าในการทำงาน และพร้อมที่จะลุยงานต่อ

ขนมคบเคี้ยวฟรี บางบริษัทก็ให้พนักงานสามารถหยิบขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มต่างๆ ได้ฟรี โดยจัดให้มีไว้ในตู้เย็น หรือตู้หยอดเหรียญ ซึ่งสามารถใช้บริการได้ฟรี

นอน บางบริษัทจัดให้มีสถานที่ให้พนักงานนอนได้ในระหว่างเวลาทำงาน เพราะเชื่อว่า การที่พนักงานฝืนทนทำงานขณะที่ง่วงนั้น ผลงานจะออกมาไม่ดี ก็เลยอนุญาตให้นอนได้ โดยจัดสถานที่และบรรยากาศให้พนักงานได้นอนหลับพักผ่อน ให้สดชื่นและกลับมาทำงานได้ดีกว่าเดิม

สวัสดิการแปลกๆ เหล่านี้ องค์กรในบ้านเราส่วนน้อยครับ ที่จะนำมาใช้กับพนักงาน ส่วนใหญ่องค์กรในเมืองไทยมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องของการให้สวัสดิการมากนัก ส่วนมากก็ให้เท่ากับที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ค่อยอยากให้มากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเงื่อนไขทางกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า ให้อะไรที่ต่ำกว่าที่เคยให้ถือว่าผิดกฎหมาย แบบนี้ก็เลยทำให้องค์กรส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากที่จะจัดสวัสดิการอะไรให้พนักงาน เพราะให้ไปแล้วก็เอาคืนไม่ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะเลิกสวัสดิการที่เคยให้ ก็ต้องจ่ายคืนเป็นเงินให้กับพนักงานในอัตราที่ใกล้เคียงกับสวัสดิการที่เขาเคยได้ เสมือนหนึ่งเป็นการซื้อสวัสดิการนั้นคืนจากพนักงานนั่นเอง

แต่ถ้าในต่างประเทศ เขาจะให้ จะเลิกให้ หรือเพิ่ม หรือลดสวัสดิการ เขาทำได้โดยไม่ต้องมานั่งสนใจเงื่อนไขทางกฎหมายแบบบ้านเราเลย ทำให้เขาสามารถที่จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่าสวัสดิการนี้ เป็นเครื่องมือในการดึงดูด และรักษาพนักงานได้อย่างดี เคยให้แล้วไม่ work ก็เลิกให้ เปลี่ยนไปให้อย่างอื่นแทน ก็สามารถทำได้ทันที

สวัสดิการแปลกๆ ที่ผมเล่าให้อ่านข้างต้นนั้น จริงๆแล้ว เป็นสิ่งที่พนักงานใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น แต่บริษัทก็ยังสามารถนำเอามาปรับให้เป็นสวัสดิการ เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กร

ในเมืองไทยเองผมว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มหันมาให้ความใส่ใจในเรื่องของสวัสดิการพนักงานกันมากขึ้น เนื่องจากเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนนั้น ปัจจุบันไม่ค่อยมีลูกเล่นอะไรมากมายนัก ผิดกับเรื่องของสวัสดิการ ซึ่งองค์กรยังสามารถสร้างลูกเล่นในการดึงดูดและรักษาพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ก็อย่างว่านะครับ คิดไปคิดมา ก็ไปติดเรื่องของกฎหมายอีก ให้แล้วเลิกก็ไม่ได้ เอาคืนก็ไม่ได้ ก็เลยทำให้นายจ้างเลิกคิดที่จะให้ โดยเฉพาะนายจ้างขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งไม่ค่อยสนใจเรื่องของสวัสดิการพนักงานมากนัก เนื่องจากความสามารถในการจ่ายนั่นเอง


โดย ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร  ที่มา : GotoKnow
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก