ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม คนทำงานทุกคนไม่มีใครไม่เคยเจอปัญหาอย่างแน่นอน แต่เจอปัญหาแล้วจะรับมือจัดการได้ดีแค่ไหน และได้เรียนรู้อะไรขึ้นมาบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับทักษะและความพยายามของแต่ละบุคคล มีคำแนะนำและเทคนิคดี ๆ เพื่อเป็นหลักคิด ฝึกแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มาฝากคนทำงานทุกคน
1. มองปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง บางคนอาจเจอปัญหาหลายเรื่องพร้อม ๆ กัน และแต่ละปัญหามีความคล้ายคลึงกันบ้าง คุณจึงต้องพิจารณาปัญหาเหล่านั้นอย่างเจาะจงลงไป ถ้ารู้ว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง ก็จะสามารถหาหนทางในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจ มองเห็นปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง และได้คำตอบที่ชัดเจน
2. คิด วิเคราะห์ แยกแยะ การคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์นั้นมักต้องใช้วิธีแก้ปัญหาหรือคำตอบหลาย ๆ ทาง วิธีการแก้ปัญหาหรือคำตอบที่คิดได้เป็นอันดับแรก ๆ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะความคิดเห็นและข้อมูลที่สำคัญ ๆ นั้นมีอยู่มากมาย ต้องพยายามคิดให้รอบด้าน แยกแยะ และคัดเลือกออกมา เพื่อให้ได้คำตอบที่ดี สร้างสรรค์ และตอบโจทย์ได้มากที่สุด
3. Brainstorming ระดมสมองหาทางออกที่ดีกว่า ระดมความคิดจากหลาย ๆ คน เพื่อคิดหาสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เหมาะสม และได้ผลดี โดยวางกฎพื้นฐานในการระดมสมองไว้ เช่น ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตัดสินว่าความคิดใดดีหรือไม่ดี ถ้าใครคิดวิธีการอะไรได้ต้องกล้าพูดออกมา และอย่าอายที่จะนำความคิดของคนอื่นมาผสมผสานกับความคิดของตน เพื่อสร้างเป็นความคิดใหม่ จากนั้นวางขั้นตอนในการระดมสมองให้เป็นลำดับ เช่น กำหนดเวลาในการคิด กำหนดให้มีคนเขียนสาเหตุของปัญหาและจดวิธีแก้ปัญหา และให้สมาชิกทุกคนแสดงความคิดเห็นเรียงกันไปทีละคน ที่สำคัญต้องจดทุกความคิด ไม่ว่าจะแปลกประหลาดแค่ไหนก็ตาม เพื่อนำไปคัดเลือก แล้วร่วมกันลงมติเลือกวิธีแก้ที่ดีที่สุด
4. Mind Mapping แผนภูมิความคิดช่วยแก้ปัญหา การทำแผนภูมิความคิดหรือเป็นการกระตุ้นสมองให้เกิดความคิดที่เป็นอิสระจากปัญหาที่เป็นศูนย์กลาง ออกไปสู่วิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่แปลกและแตกต่างจากเดิมได้ เริ่มจากการเขียนสาเหตุของปัญหาไว้กลางหน้ากระดาษ แล้วลากเส้นโยงออกมารอบ ๆ ถ้าคิดวิธีแก้ไขได้ ก็ให้เขียนวิธีนั้นไว้เหนือเส้นที่เพิ่งลากออกมา ความคิดใดสัมพันธ์หรือสนับสนุนวิธีแก้ไขที่มีอยู่แล้ว ก็ให้เติมความคิดใหม่นั้นต่อยอดจากวิธีแก้เดิม เมื่อได้ความคิดใหม่ ๆ ที่หลากหลายแล้ว ก็สามารถนำความคิดเหล่านั้นไปใช้ในขั้นตอนของการวางแผนแก้ไขปัญหาได้
5. มุ่งสู่เหตุผลเพื่อแก้ปัญหา ต้องมองเหตุผลที่แท้จริงว่า เราต้องการแก้ปัญหาเพื่ออะไร อย่ามัวแต่คิดว่ามีปัญหาอะไรและเกิดอะไรขึ้น เพราะจะไม่ทำให้เราได้ทางออก ให้คิดว่าเรากำลังพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาเพื่อผลลัพธ์อะไร สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดความคิด กระตุ้นให้หาวิธีหรือหาหนทางแก้ไขปัญหาได้
6. ฝึกมองปัญหาอย่างเป็นระบบ และฝึกมองการณ์ไกล เมื่อฝึกมองปัญหาและหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบได้ ก็จะทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในงานต่าง ๆ ได้ ทำให้งานที่คุณทำนั้นจะราบรื่นมากกว่าเดิม จะพบเจอกับปัญหาน้อยลง
7. ละทิ้งข้อมูลที่ไม่จำเป็น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น คนส่วนมากจะใช้ข้อมูลจำนวนมาก เพื่อประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหา แต่อย่าลืมว่าบางครั้งการมีข้อมูลมากเกินไป ทำให้เราไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้ มัวแต่ติดอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิม ๆ เพราะข้อมูลนั้นเองกลับกลายเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้เราใช้สัญชาตญาณและความคิดสร้างสรรค์ได้มากเท่าที่ควร
8. คำนึงถึงปัจจัย “บุคคล” เมื่อสามารถพัฒนาวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงประการต่อไปคือ ความร่วมมือของบุคคล เพราะคนจะเป็นตัวขับเคลื่อนไอเดียการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นได้จริง นับเป็นตัวแปรสำคัญของการแก้ปัญหาให้ประสบผลสำเร็จ นักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์จึงต้องพยายามหาวิธีแก้ปัญหาแบบให้ concept กว้าง ๆ พร้อมยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามปัจจัยของบุคลากรในทีมหรือองค์กรอยู่เสมอ
9. เปลี่ยนความคิดเห็นให้เป็นการกระทำ อย่าแค่พูดแต่ไม่ทำ จุดมุ่งหมายสำคัญของการแก้ปัญหาก็คือการเปลี่ยนแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติจริง พยายามดึงคิดสร้างสรรค์ออกมาไม่ให้จบลงเพียงแค่การคิดในใจ แล้วลงมือทำอย่างมั่นใจ ไม่กังวลถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ใส่ใจพร้อมความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและพากเพียรพยายาม จนกระทั่งเกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจได้ในที่สุด
เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา สัญชาตญาณพื้นฐานของคนเราก็จะทำงาน ผลักดันให้เกิดความพยายามในการแก้ไขปัญหาและมองหาทางออก การแก้ปัญหาจึงเป็นภารกิจสำคัญของแต่ละคนที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง เมื่อการทำงานของคุณต้องเจอกับปัญหา อย่าเพิ่งเครียดหรือท้อแท้ เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางแก้เสมอ คุณก็สามารถฝึกแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ เอาใจช่วยทุกคนที่กำลังมีปัญหา และขอให้หาทางแก้ไขปัญหาให้ได้เร็ว ๆ ค่ะ
ที่มา : jobsdb.com
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น