วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการทำงานเป็นทีม



"การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือสามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ต้องดำเนินคู่กันไป และจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิด ความเห็นที่เป็นอิสระ ปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้อง ตามเหตุตามผลด้วย จึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วน" 
---พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ---

การทำงานเป็นทีม ถือว่าเป็นหัวใจหนึ่งในการทำงานร่วมกัน องค์กรไหน บริษัทไหน หน่วยงานไหน ที่สามารถสร้างทีม พัฒนาทีม ให้ทำงานร่วมกันได้ องค์กรนั้น บริษัทนั้น หน่วยงานนั้นจะเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว
ทำไม ต้องทำงานเป็นทีม?
แน่นอนการทำงานบางอย่างอาจจะทำคนเดียวได้ แต่การทำงานบางอย่างต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจึงจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากทุกคนมีความสามารถแต่ความสามารถของทุกคนมีจำกัด การนำความสามารถของทุกคนมารวมกันจึงเกิดผลงานมากขึ้น อีกทั้งงานบางอย่างต้องการความคิดที่ริเริ่มสร้างสรรค์จึงต้องการคนมาทำงาน ด้วยการคิดร่วมกัน งานจึงออกมาสำเร็จ
การทำงานเป็นทีม คือ การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาทำงานร่วมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน
การทำงานเป็นทีมที่ดี คือ ทีมต้องทำงานร่วมกัน โดยทุกคนในทีมจะต้องทุ่มความคิด ทุ่มแรงกาย เพื่องาน เพื่อความสำเร็จของงาน โดยไม่ถือว่าเป็นผลงานของคนคนเดียวแต่ผลงานทั้งหมดเป็นของทีม ทีมที่ดีควรสร้างบรรยากาศในการทำงานให้มีความไว้ใจกัน เชื่อใจกัน มีความผูกพันกันจนก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี กันในทีม
เมื่อทีมมีประสิทธิภาพในการทำงานประโยชน์ที่ได้รับก็คือ การทำงานจะมีพลังอย่างมากมายมหาศาล ผลงานที่เกิดขึ้นจะมีมากมาย ช่วยลดต้นทุนในการทำงาน ผลงานมีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆหรือนวัตกรรมใหม่ๆ
การทำงานเป็นทีมที่ดีมักมีองค์ประกอบของทีมดังนี้ มีวัตถุประสงค์ในการทำงานร่วมกัน มีระบบบริหารหรือการจัดการทีมที่ดี มีสมาชิกที่มีคุณภาพมีความสามารถในการทำงานมีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีผู้นำทีมที่มีประสิทธิภาพมีภาวะผู้นำที่ดี
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทำงานเป็นทีม ทำให้ทีมเกิดการแตกแยก ได้แก่
- เรื่องของผลประโยชน์
- เรื่องของความขัดแย้ง
- เรื่องของการเสียสละ
- เรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล
- เรื่องของการสื่อสาร ฯลฯ
แนวทางในการลดปัญหาในการทำงานเป็นทีม คือ สร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน มีการสื่อสารกันอย่างชัดเจนไม่ปิดบังกัน มอบหมายงานก็ต้องมีความชัดเจนแน่นอนไม่เปลี่ยนไปมา ยอมรับในความแตกต่างของสมาชิกในทีม เนื่องจากคนเราเกิดมาก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพศ วัย ศาสนา การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความสามารถ ประสบการณ์ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จ เช่น
- การประชุมของทีมงาน ทีมงานที่ดีต้องมีการประชุมกันสม่ำเสมอ เพื่อให้สมาชิกได้ปรึกษาหารือในการทำงานร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน ระดมความคิดร่วมกันในการทำงาน
- ภาวะผู้นำกับการทำงานเป็นทีม ผู้นำมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ผู้นำมีหน้าที่ในการบอกวัตถุประสงค์ที่จะต้องทำงานร่วมกันให้ชัดเจน ผู้นำจะต้องมีหน้าที่ในการชี้นำ สอนงาน สั่งงาน อำนวยการ พร้อมทั้งติดตามควบคุมการทำงานของทีมเพื่อให้เกิดมีประสิทธิภาพ
- ส่วนทักษะของผู้นำทีมที่ดี คือ ต้องมีความสามารถทางด้านการสื่อสาร ต้องมีความสามารถในด้านบริหารหรือการจัดการ (วางแผน จัดองค์กร จัดคนเข้าทำงาน สั่งการหรืออำนวยการ และการควบคุม) ต้องมีความสามารถในด้านการเจรจาต่อรองและแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างดีเยี่ยม
สรุป การทำงานเป็นทีมมีความสำคัญมากในการทำงานขององค์กร ของหน่วยงาน หากองค์กร หน่วยงาน ไหนที่มีทีมงานที่เข้มแข็ง ย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น

ที่มา : ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก


ตัวอย่างรายละเอียดหลักสูตรการสร้างทีมงาน "คลิก" เพื่อชมข้อมูลเพิ่มเติม






วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เคล็ดไม่ลับสำหรับหัวหน้างานยุคใหม่


ก่อนที่จะใช้คำว่า”หัวหน้างาน” เราต้องเคยเป็น”ลูกน้อง”มาก่อน ดังนั้น เราจะต้องรู้ว่า เราเคยทำอย่างไรแล้วหัวหน้างานพอใจและชื่นชมเรา ในทางกลับกัน หัวหน้างานทำอย่างไรกับเรา เราถึงเคารพและรักในหัวหน้างาน นี่จึงเป็นที่มาว่า หากเราอยากที่จะเป็นหัวหน้าที่ดี เราต้องทำอย่างไรกับการบริหารจัดทีม รวมถึงการดูแลลูกทีมของเรา ซึ่งมีเคล็ดไม่ลับง่ายๆ 5 ข้อ ดังนี้

1. การให้เกียรติซึ่งกันและกัน 
การเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น เราควรที่จะให้กียรติกับคนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับบัญชาของเรา ลูกค้า หรือแม้กระทั่งการให้เกียรติลูกน้องของเราเอง หลักง่ายๆของการให้เกียรติคือ การยอมรับฟังความคิดเห็น การเคารพในการตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อคุณได้ให้เกียรติลูกน้องคุณแล้ว ลูกน้องก็จะให้เกียรติคุณเช่นเดียวกัน นี่คือหลักในการจูงใจคนในการทำงาน

2. เอาใจเขามาใส่ใจเรา 
แน่นอนว่า การที่เราจะรู้ว่าลูกน้องเราคิดอะไรอยู่ เหตุใดจึงกระทำการต่างๆ เช่นนั้น หัวหน้าจะต้องลองเอาตัวเองไปนั่งในใจของเขา เพื่อที่จะทำความเข้าใจในตัวลูกน้อง การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็เหมือนกับการรู้เขารู้เรา ดังนั้น จะง่ายต่อการบริหาร เราต้องรู้ว่า ลูกน้องแต่ละคนชอบอะไร บางคนชอบการยกย่อง บางคนชอบรางวัล บางคนชอบตำแหน่ง ดังนั้น เราควรจะให้ในสิ่งที่เหมาะสมกับลูกน้องของเรามากที่สุดในการให้รางวัลต่างๆ เช่นเดียวกันกับการลงโทษ เราควรหลีกเลี่ยงการลงโทษต่อหน้าคนอื่น ควรจะรับรู้กันเพียงหัวหน้ากับลูกน้องเท่านั้น เพราะลองคิดถึงใจเราว่า เราก็คงไม่ชอบที่หัวหน้าจะมาต่อว่าเราต่อหน้าคนอื่นเช่นเดียวกัน

3. ส่งเสริมและสนับสนุนลูกน้อง
ทุกๆ คนก็ต้องการความก้าวหน้า และความสำเร็จในชีวิต รวมทั้งลูกน้องของเราด้วย ดังนั้น หากว่าลูกน้องคนใดมีแววที่จะสามารถก้าวหน้าได้ เราก็ควรจะให้โอกาสโดยการส่งเสริม และสนับสนุนให้ลูกน้องคนนั้นได้โอกาสเจริญเติมโต

4. สามารถฝึกฝน และให้ความรู้ลูกน้อง
หัวหน้าที่ดีจะต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดี โดยสามารถฝึกฝน และให้ความรู้ต่างๆ แก่ลูกน้องได้ โดยสามารถวิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลใดบ้างที่สำคัญ และจำเป็นต่อการปฏิบัติงาน และการใช้ชีวิตในองค์กร ควรที่จะทำการสื่อสารให้ลูกน้องได้รับทราบ เพื่อลูกน้องจะได้ฝึกฝน และเรียนรู้ระบบของงาน ซึ่งทำให้ลูกน้องทำงานอย่างเข้าใจ หรือปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ขององค์กร

5. รู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
การจะเป็นหัวหน้านั้น ต้องใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ตลอด พึงคิดเอาไว้เสมอว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมาก พยายามมองอย่างลึกซึ้ง และจริงจัง เป็นผู้รู้ และเข้าใจในแต่ละเรื่องอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ และการดำรงชีวิต และสารมารถนำความรู้ต่างๆ มาประยุคใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา และเหมาะสม
จะเห็นได้ว่าหลักการง่ายๆทั้งสองข้อนี้เป็นหลักการจากหลายๆหลักการในการเป็นหัวหน้างานที่ดี ถ้าเราอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราเช่นไร เราก็ปฏิบัติเช่นนั้นกับเขา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะและความเหมาะสม เราก็สามารถที่จะได้ใจลูกน้องของเราได้โดยง่าย และหากลูกน้องรักและเคารพในตัวเราแล้ว อย่าว่าแต่สั่งสิบทำได้สิบเลย เขาจะทำให้ถึงสิบห้าเลย

อ้างอิง : ManpowerGroup
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คุณลักษณะเด่นของการเป็นผู้นำทีมงาน

         ผู้นำหรือผู้ตาม อาจพูดกว้างๆ ได้ว่า โลกใบนี้มีคนอยู่เพียงสองประเภทเท่านั้น ประเภทแรกคือผู้นำ และอีกประเภทคือผู้ตาม จงตัดสินใจเองว่าคุณอยากเป็นผู้นำในแบบที่คุณเลือกได้ หรือจะเป็นผู้ตามตลอดไป มันแตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาล ผู้ตามไม่สามารถจะคาดหวังอะไรได้มากเหมือนกับผู้นำ ในขณะที่ผู้ตามบางคนจะคิดอะไรผิดพลาดไปบ้างก็ไม่เป็นไร แม้ว่าการเป็นผู้ตามไม่ได้เสื่อมเสียอะไร

          แต่อีกมุมหนึ่งผู้ตามมักไม่ได้รับเกียรติ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ส่วนมากก็เริ่มจากการเป็นผู้ตามก่อน เขาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้เพราะเคยเป็นผู้ตามที่ชาญฉลาดมาก่อนมีข้อยกเว้นในกรณีของคนที่ไม่ฉลาดพอที่จะยอมตามผู้อื่นบ้างในบางเรื่อง ก็อาจจะไม่สามารถเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน คนที่สามารถตามผู้นำได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน ย่อมเป็นบุคคลที่มีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ชาญฉลาดมีข้อได้เปรียบหลายอย่างรวมไปถึงมีโอกาสที่จะได้ความรู้จากผู้นำด้วย

คุณลักษณะเด่นของความเป็นผู้นำทีมงาน
1. กล้าหาญ ไม่มีใครอยากได้ผู้นำที่ไม่มั่นใจในตนเองหรอกครับ แน่นอนว่าไม่มีผู้ตามที่ฉลาดคนใดจะยอมอยู่ภายใต้ผู้นำที่ไม่กล้าหาญได้นานนัก

2. การควบคุมตัวเอง คนที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ย่อมควบคุมผู้อื่นไม่ได้ ทั้งนี้การควบคุมตัวเองได้เป็นอย่างดีเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับผู้ตาม

3. สำนึกแห่งความยุติธรรม ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ยุติธรรม เหล่านี้สำคัญยิ่ง

4. ตัดสินใจแน่วแน่ คนที่ตัดสินใจเด็ดขาด และแสดงความมั่นใจในตัวเอง จะสามารถนำผู้อื่นได้สำเร็จ

5. แผนการที่ชัดเจน ผู้นำที่ประสบความสำเร็จต้องวางแผนการทำงานและนำแผนนั้นไปปฏิบัติ ผู้นำที่ทำงานด้วยการคาดการณ์ ไม่มีแผนปฏิบัติการที่แน่นอน เปรียบเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ ไม่ช้าก็เร็วย่อมชนกับหินโสโครก

6. นิสัยการทำงานเกินค่าตอบแทน หนึ่งในภาระแห่งภาวะผู้นำ ผู้นำมักเต็มใจทำงานหนักกว่าลูกน้อง หรือทำงานหนักกว่าผลตอบแทน

7. บุคลิกภาพดีเป็นที่ประทับใจของผู้อื่น ภาวะผู้นำต้องการการยอมรับนับถือจากผู้คน ผู้ตามจะไม่ยอมรับนับถือผู้นำที่บุคลิกภาพดีน้อยกว่าตนเอง

8. ความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น ผู้นำที่ประสบความสำเร็จต้องมีความเห็นอกเห็นใจลูกน้อง ยิ่งกว่านั้นต้องเข้าใจลูกน้องและปัญหาของลูกน้องด้วย

9. ความรอบรู้ในงานปลีกย่อย ภาวะผู้นำที่จะประสบความสำเร็จต้องการความรอบรู้ในงานปลีกย่อยในตำแหน่งของผู้นำ เปรียบคือไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญหรือทำได้ทุกอย่างของ งานแต่มีความรู้ที่สามารถแจกแจงรายละเอียดของเนื้องานได้

10. เต็มใจรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จต้องมีความเต็มใจที่จะรับผิดชอบข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของลูกน้อง หากผู้นำคนใดพยายามที่จะผลักความรับผิดชอบ ผู้นำคนนั้นจะไม่สามารถนำผู้อื่นได้ ถ้าลูกน้องคนใดคนหนึ่งทำผิดพลาดหรือไร้ความสามารถ คุณต้องพิจารณาว่าตัวเองนั่นแหละเป็นผู้ล้มเหลว

11. ความร่วมมือ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จต้องเข้าใจรู้จักประยุกต์หลักการประสานความร่วมมือร่วมใจ และสามารถชักชวนให้ลูกน้องทำตามได้ ภาวะผู้นำต้องการพลังและพลังต้องการความร่วมมือ

          มีภาวะผู้นำอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือ มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นผู้นำที่ผู้ตามยอมรับและให้ความเห็นอกเห็นใจ ประเภทที่สองคือ ใช้ภาวะผู้นำด้วยการบังคับ ปราศจากการยอมรับและเห็นอกเห็นใจจากผู้ตาม

อ้างอิง : Think & Grow Rich (The 21st-Century Edition)
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ซีเอสอาร์คืออะไร (CSR is ???)

        ซีเอสอาร์ เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษว่า Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ บรรษัทบริบาล หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในองค์กรและในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

          หากพิจารณาแยกเป็นรายคำศัพท์ คำว่า Corporate มุ่งหมายถึงกิจการที่ดำเนินไปเพื่อแสวงหาผลกำไร (หมายรวมถึงองค์กรประเภทอื่นได้ด้วย) ส่วนคำว่า Social ในที่นี้ มุ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันหรือมีวิถีร่วมกันทั้งโดยธรรมชาติ หรือโดยเจตนา รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบประกอบ และคำว่า Responsibility มุ่งหมายถึงการยอมรับทั้งผลที่ไม่ดีและผลที่ดีในกิจการที่ได้ทำลงไปหรือที่ อยู่ในความดูแลของกิจการนั้นๆ ตลอดจนการรับภาระหรือเป็นธุระดำเนินการป้องกันและปรับปรุงแก้ไขผลที่ไม่ดี รวมถึงการสร้างสรรค์และบำรุงรักษาผลที่ดีซึ่งส่งกระทบไปยังผู้มีส่วนได้เสีย กลุ่มต่างๆ

          คำว่า กิจกรรม (activities) ในความหมายข้างต้น หมายรวมถึง การคิด การพูด และการกระทำ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การวางแผน การตัดสินใจ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการ และการดำเนินงานขององค์กร

          สังคมในความหมายของความ รับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะพิจารณาตั้งแต่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ สังคมใกล้ และสังคมไกล

          สังคมใกล้ คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับองค์กรโดยตรง ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า ครอบครัวของพนักงาน ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

          สังคมไกล คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยอ้อม ได้แก่ คู่แข่งขันทางธุรกิจ ประชาชนทั่วไป ระบบนิเวศโดยรวม เป็นต้น

          ในระดับของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกิจการ การไม่นำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารหรือกรรมการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม เป็นต้น

          ในระดับของผู้บริหารหรือกรรมการบริษัท ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการบริหารจัดการและการกำหนดค่าตอบแทนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลรายงานทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการ เงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา รวมถึงการอุทิศเวลาและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

          ในระดับของพนักงาน ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การจ่ายค่าจ้างและผลตอบแทนที่เป็นธรรมและตรงต่อเวลา การจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น

          ในระดับของลูกค้าและผู้บริโภค ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ ความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภค การให้บริการลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา การให้ข้อมูลขององค์กรและตัวผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอและอย่างถูกต้องเที่ยงตรง การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค การยุติข้อโต้แย้งและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค เป็นต้น

          ในระดับของคู่ค้า ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การยึดถือข้อปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม การดำเนินงานในทางต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการกรรโชก และการรับหรือให้สินบนในทุกรูปแบบ การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ของคู่ค้า การไม่เอารัดเอาเปรียบต่อคู่ค้า การส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินความรับผิดชอบด้านสังคมร่วมกับองค์กร เป็นต้น

          ในระดับของชุมชนและสภาพแวดล้อม ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การสงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ การส่งเสริมแรงงานท้องถิ่นให้มีโอกาสในตำแหน่งงานต่างๆ ในองค์กร การสนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อม การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ และการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เป็นต้น

          ในระดับของประชาสังคม ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มหรือเครือข่ายอื่นๆ ในการพัฒนาสังคม การตรวจตราดูแลมิให้กิจการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิ มนุษยชน การรับฟังข้อมูลหรือทำประชาพิจารณ์ต่อการดำเนินกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยรวม และการทำหน้าที่ในการเสียภาษีอากรให้รัฐอย่างตรงไปตรงมา เป็นต้น

          ในระดับของคู่แข่งขันทางธุรกิจ ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การดูแลกิจการมิให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันด้วยวิธีการทุ่มตลาด การกลั่นแกล้งหรือใช้อิทธิพลในการกีดกันเพื่อมิให้เกิดการแข่งขัน เป็นต้น

ที่มา : thaicsr.blogspot.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พุทธศาสนากับการทำงานเป็นทีม


มีหน่วยงานแห่งหนึ่งเชิญผมไปบรรยายให้ผู้บริหารประมาณ 200 คนฟัง ในหัวข้อ "อุปสรรคของการทำงานเป็นทีม" และ "การประยุกต์นำธรรมะมาใช้ในการทำงานเป็นทีม"

          คงจะเห็นว่าระยะหลังๆ นี้ผมสนใจธรรมมะผสมจิตวิทยามากขึ้น จึงเชิญให้บรรยายในหัวข้อดังกล่าว

          แต่ก็เร้าใจดีทั้งผู้พูดและผู้ฟังว่าผู้พูดจะพูดได้น่าง่วงหรือน่าสนใจ หรือผู้ฟังจะตั้งใจฟังหรือตกใจที่จะฟัง

          ในระยะหลังๆ นี้การทำงานเป็นทีมทำได้ยากมากขึ้น แม้จะพยายามให้รางวัลหรือเงินตอบแทนอย่างดี ให้เวลาและเทคนิคการพัฒนามากขึ้น ผมออกมาก็ไม่ได้ดีดังใจ

          อุปสรรคของการทำงานเป็นทีมในขณะนี้ก็คือ

1. เป้าหมายของการทำงานอยู่ที่ความสำเร็จ ไม่ใช่ความสุข แต่มนุษย์ต้องการความสุขเขาจึงหน่ายที่จะทำงาน

แต่ถ้าทำให้เขารู้สึกว่า เขาทำงานแล้วเขาได้ความสุขของชีวิตซิ เขาจึงจะทำ! แล้วความสำเร็จจะค่อยๆ ตามมา

2. คนไม่เชื่อคน ไม่ศรัทธาคน ทำให้ลูกน้องไม่เชื่อนาย และนายก็ระแวงลูกน้อง พนักงานระแวงกันเอง

ขณะนี้คนขาดศรัทธาในคนกันมาก เกิดภาวะระแวงและศรัทธา "ผี" หรือสิ่งศักดิ์สิทธ์มากกว่าคนทำให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปได้ยาก

3. คนด้อยคุณภาพทั้งนายและลูกน้อง ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ขาดวินัย ขาดแบบอย่างที่ดี ไม่มีคุณธรรม อ่อนแอ ชอบเรียกร้อง แต่ไม่ลงมือทำและไม่รับผิดชอบ

4. การสื่อความหมายไม่ชัดเจน ขาดสมาธิในการฟังและพูด แย่งกันพูด ชอบระบาย ใจน้อย งอน ใจลอย สับสน และขัดแย้งในตัวเอง เครียด กังวลมากขึ้น การสื่อความหมายจึงไม่ดี การทำงานก็ไม่ได้ผลดี

5. ขาดการติดตามผลที่ดี มักใช้เส้นสาย อคติ หรือเข้าข้างในการติดตามผลหรือประเมินผล รวมทั้งผลตอบแทนหรือบทบาทการลงโทษ

6. คนขาดขวัญ-กำลังใจในการทำงาน

7. มองอนาคตไม่เห็น จึงไม่รู้จะทำงานไปทำไม

          ส่วนการแก้ไขที่จะให้คุณภาพของการทำงานเป็นทีมรวมทั้งการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นนั้น ผมแนะนำให้ทุกคนทำ "ความดี" ให้มากขึ้น ถ้าคนที่ไม่เชื่อ "กฎแห่งกรรม" ก็จะไม่ลงมือทำหรอก

          ถ้าคนที่เชื่อกฎแห่งกรรมก็จะลงมือทำได้ง่ายขึ้น เพราะเชื่อว่าผลดีจากการทำความดีจะได้ "บุญ" ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ทำงานร่วมกันได้ดีด้วย

          การทำความดีซึ่งทำให้ได้ผลดีคือ "บุญ" ได้แก่ 

1. ทำทาน 2. ถือศีล (5 ข้อก็ใช้ได้) 3. ภาวนา เพื่อให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญา 4. อ่อนน้อมถ่อมตน 5. บริการคนอื่น รับใช้คนอื่น 6. เฉลี่ยส่วนดีให้คนอื่น 7. ยินดีในความดีของคนอื่น 8. ฟังธรรมบ่อยๆ หาความรู้ใส่ตัว 9. สั่งสอนคนอื่น ให้ความรู้ ให้ธรรมะคนอื่น 10. ทำความเห็นให้ตรง คือเชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อกฎแห่งกรรม

          ทั้ง 10 ข้อนี้จริงๆ ก็คือ "บุญกิริยา 10" หรือการทำกรรมดีซึ่งจะได้บุญ มี 10 อย่าง

          ลองทำดูซิครับ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในทีมงาน หรืออยู่ในวิถีชีวิตที่พ้นจากการทำงานแล้ว

          จะเห็นว่าชีวิตของคุณจะเจริญขึ้น รู้สึกมีค่า มีความหมาย และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี เข้ากับคนอื่นได้มากขึ้น

          ข้อสำคัญคุณจะเข้ากับตัวเองได้มากขึ้น รู้สึกนับถือตัวเองได้มากขึ้นทุกวันๆ

          และความสุขก็มาเคาะประตูหัวใจทุกวันเช่นกัน

ที่มา : ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก