วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พุทธศาสนากับการทำงานเป็นทีม


มีหน่วยงานแห่งหนึ่งเชิญผมไปบรรยายให้ผู้บริหารประมาณ 200 คนฟัง ในหัวข้อ "อุปสรรคของการทำงานเป็นทีม" และ "การประยุกต์นำธรรมะมาใช้ในการทำงานเป็นทีม"

          คงจะเห็นว่าระยะหลังๆ นี้ผมสนใจธรรมมะผสมจิตวิทยามากขึ้น จึงเชิญให้บรรยายในหัวข้อดังกล่าว

          แต่ก็เร้าใจดีทั้งผู้พูดและผู้ฟังว่าผู้พูดจะพูดได้น่าง่วงหรือน่าสนใจ หรือผู้ฟังจะตั้งใจฟังหรือตกใจที่จะฟัง

          ในระยะหลังๆ นี้การทำงานเป็นทีมทำได้ยากมากขึ้น แม้จะพยายามให้รางวัลหรือเงินตอบแทนอย่างดี ให้เวลาและเทคนิคการพัฒนามากขึ้น ผมออกมาก็ไม่ได้ดีดังใจ

          อุปสรรคของการทำงานเป็นทีมในขณะนี้ก็คือ

1. เป้าหมายของการทำงานอยู่ที่ความสำเร็จ ไม่ใช่ความสุข แต่มนุษย์ต้องการความสุขเขาจึงหน่ายที่จะทำงาน

แต่ถ้าทำให้เขารู้สึกว่า เขาทำงานแล้วเขาได้ความสุขของชีวิตซิ เขาจึงจะทำ! แล้วความสำเร็จจะค่อยๆ ตามมา

2. คนไม่เชื่อคน ไม่ศรัทธาคน ทำให้ลูกน้องไม่เชื่อนาย และนายก็ระแวงลูกน้อง พนักงานระแวงกันเอง

ขณะนี้คนขาดศรัทธาในคนกันมาก เกิดภาวะระแวงและศรัทธา "ผี" หรือสิ่งศักดิ์สิทธ์มากกว่าคนทำให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปได้ยาก

3. คนด้อยคุณภาพทั้งนายและลูกน้อง ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ขาดวินัย ขาดแบบอย่างที่ดี ไม่มีคุณธรรม อ่อนแอ ชอบเรียกร้อง แต่ไม่ลงมือทำและไม่รับผิดชอบ

4. การสื่อความหมายไม่ชัดเจน ขาดสมาธิในการฟังและพูด แย่งกันพูด ชอบระบาย ใจน้อย งอน ใจลอย สับสน และขัดแย้งในตัวเอง เครียด กังวลมากขึ้น การสื่อความหมายจึงไม่ดี การทำงานก็ไม่ได้ผลดี

5. ขาดการติดตามผลที่ดี มักใช้เส้นสาย อคติ หรือเข้าข้างในการติดตามผลหรือประเมินผล รวมทั้งผลตอบแทนหรือบทบาทการลงโทษ

6. คนขาดขวัญ-กำลังใจในการทำงาน

7. มองอนาคตไม่เห็น จึงไม่รู้จะทำงานไปทำไม

          ส่วนการแก้ไขที่จะให้คุณภาพของการทำงานเป็นทีมรวมทั้งการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นนั้น ผมแนะนำให้ทุกคนทำ "ความดี" ให้มากขึ้น ถ้าคนที่ไม่เชื่อ "กฎแห่งกรรม" ก็จะไม่ลงมือทำหรอก

          ถ้าคนที่เชื่อกฎแห่งกรรมก็จะลงมือทำได้ง่ายขึ้น เพราะเชื่อว่าผลดีจากการทำความดีจะได้ "บุญ" ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ทำงานร่วมกันได้ดีด้วย

          การทำความดีซึ่งทำให้ได้ผลดีคือ "บุญ" ได้แก่ 

1. ทำทาน 2. ถือศีล (5 ข้อก็ใช้ได้) 3. ภาวนา เพื่อให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญา 4. อ่อนน้อมถ่อมตน 5. บริการคนอื่น รับใช้คนอื่น 6. เฉลี่ยส่วนดีให้คนอื่น 7. ยินดีในความดีของคนอื่น 8. ฟังธรรมบ่อยๆ หาความรู้ใส่ตัว 9. สั่งสอนคนอื่น ให้ความรู้ ให้ธรรมะคนอื่น 10. ทำความเห็นให้ตรง คือเชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อกฎแห่งกรรม

          ทั้ง 10 ข้อนี้จริงๆ ก็คือ "บุญกิริยา 10" หรือการทำกรรมดีซึ่งจะได้บุญ มี 10 อย่าง

          ลองทำดูซิครับ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในทีมงาน หรืออยู่ในวิถีชีวิตที่พ้นจากการทำงานแล้ว

          จะเห็นว่าชีวิตของคุณจะเจริญขึ้น รู้สึกมีค่า มีความหมาย และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี เข้ากับคนอื่นได้มากขึ้น

          ข้อสำคัญคุณจะเข้ากับตัวเองได้มากขึ้น รู้สึกนับถือตัวเองได้มากขึ้นทุกวันๆ

          และความสุขก็มาเคาะประตูหัวใจทุกวันเช่นกัน

ที่มา : ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

องค์ประกอบของทีมงานที่ประสบความสำเร็จ


          ทีมงานที่ประสบความสำเร็จ เป็นหน่วยงานย่อยที่จะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าในองค์กรมีหลาย ๆ ทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถคาดเดาได้เลยว่า ผลการดำเนินงานโดยรวมของกิจการจะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ดังนั้น การสร้างความสำเร็จของทีมงานในแต่ละหน่วยธุรกิจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ และหลายองค์กรก็เน้นย้ำและให้ความสนใจเป็นพิเศษ พยายามผลักดันความสามารถและผลงานของทีมงานเป็นอย่างมาก มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง มีการปลูกฝังสมรรถนะ วัฒนธรรมองค์กร เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีม สำหรับองค์ประกอบของการทำงานเป็นทีมนั้นมีอยู่หลายประการ ได้แก่

1. เป้าหมาย (Goals)– ทีมจะต้องมีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่ชัดเจน ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันที่จะบรรลุเป้าหมายภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

2. คนเก่ง (Talent) – ทีมจะต้องมีคนเก่งอยู่ในทีม ซึ่งมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานเพื่อเติมเต็มความต้องการตามวิสัยทัศน์เป้าหมาย

3. บทบาท (Roles) – สมาชิกในทีมจะต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง และทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่เป็นภาระหรือตัวถ่วงของสมาชิกคนอื่น ๆ

4. ขั้นตอนการทำงาน (Procedures) – กระบวนการในการทำงาน การสื่อสารข้อมูล การแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

5. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relations) – มีความรักใคร่สามัคคีปรองดอง ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง

6. แรงเสริม (Reinforcement) – มีการให้กำลังใจ ให้รางวัล คำชื่นชม ปลอบใจ รับรู้ความก้าวหน้าสู่ความสำเร็จ และให้สิ่งตอบแทนที่จูงใจ

7. ความสัมพันธ์ภายนอก (External Relations) – เมื่อต้องมีการใช้ความร่วมมือระหว่างบุคคลภายนอกทีม ก็สามารถที่จะประสานงานและขอความร่วมมือ หรือเจรจาต่อรอง ให้ทีมสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นผลประโยชน์ต่อทีมได้


อ้างอิง : humanrevod.wordpress.com

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เริ่มต้นทำ CSR อย่างไรดี?


สิ่งที่ควรลงมือทำก่อนการคิดกิจกรรม CSR ขึ้นใหม่ คือ การสำรวจกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจัดจำพวก CSR สำหรับการพัฒนาต่อยอดขยายผล ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์

หลักการง่ายๆ ที่ช่วยบ่งชี้ว่า เรื่องใดเป็น CSR หรือไม่ คือ

ประการแรก
          เรื่องนั้นทำแล้วส่งผลต่อผู้อื่น (รวมถึงสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศโดยรวม) จึงต้องเกิดเป็น “ความรับผิดชอบ” ต่อผลแห่งการดำเนินงานนั้น ในทางกลับกัน กิจกรรมใดที่องค์กรทำแล้วไม่ส่งผลต่อผู้อื่น ถือว่าไม่อยู่ในข่ายของ CSR
         ในความเป็นจริง คงไม่มีเรื่องใดที่องค์กรทำ แล้วไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เช่น บริษัทหนึ่งตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือธุรกิจซบเซา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรอยู่รอด และได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด กรณีนี้ ถือว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม (ในที่นี้ คือ พนักงาน) ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
        หากแต่อีกบริษัทหนึ่ง ต่อกรณีเดียวกันนี้ ตัดสินใจที่จะประคับประคองกิจการ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายอื่น โดยพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบกับการว่าจ้างพนักงาน การดำเนินงานนี้ ถือว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน และอาจจะเหนือกว่าการตัดสินใจดำเนินงานของบริษัทแรกที่เป็นไปตามภาระผูกพันทางกฎหมาย เพราะองค์กรสมัครใจที่จะใช้วิธีดำเนินการเพื่อรักษาพนักงานที่ร่วมก่อร่างสร้างธุรกิจมาด้วยกันไว้

ประการที่สอง
          “สังคม” ที่อยู่ในคำว่า “Corporate Social Responsibility” มิได้หมายถึง สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายนอกองค์กรเท่านั้น อันที่จริงแล้ว การทำ CSR ตามลำดับที่ควรจะเป็น คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมกับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรก่อน ซึ่งก็คือ พนักงาน ทั้งที่เป็นพนักงานประจำ ลูกจ้างรายวัน ผู้รับเหมา หรือผู้รับจ้างทำงานให้ (Outsource) ตัวอย่าง CSR ที่ทำกับแรงงานขั้นพื้นฐาน คือ การมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนหรือผลตอบแทนให้ตรงต่อเวลา การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
          สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรกลุ่มต่อมา คือ ผู้บริหารหรือผู้จัดการ ที่องค์กรต้องรับผิดชอบดำเนินการจัดวางระบบการบริหารให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีโครงสร้างและกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย กลยุทธ์ และกรบวนการปฏิบัติงานตามที่ได้วางไว้ มีการเสริมสร้างวัฒนธรรม ค่านิยมองค์กร และทัศนคติของบุคลากรที่เอื้อต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นรากฐานให้เกิดการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร
          องค์กรที่เริ่มจากการทำ CSR ภายในองค์กรได้ข้างต้น จะมีความพร้อมต่อการขับเคลื่อน CSR ภายนอกองค์กร มากกว่าการเริ่มนับหนึ่งที่กิจกรรม CSR เพื่อสังคมภายนอกตั้งแต่แรก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่เริ่มจากการมีบรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance ในองค์กร เป็นฐานสำหรับการดำเนินเรื่อง CSR กับสังคมภายนอกองค์กรในขั้นต่อไป

โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

5 ลักษณะผู้นำทีมงานแบบสมานฉันท์


คุณสมบัติความเป็นผู้นำทีมงานแบบสมานฉันท์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อ ดังนี้
1. Intergral Vision โดยผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการมองภาพในเชิงองค์รวมของเหตุการณ์ความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้บริหารเผชิญความขัดแย้งขึ้นก็ตัดสินใจที่จะเลือกยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารที่ดีนั้นต้องอย่าด่วนตัดสินใจ หรือเลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน แต่จะต้องมองภาพรวมของสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้รอบด้านด้วยใจที่เป็นธรรมก่อน
2. Systems Thinking เป็นการคิดเชิงระบบ คือ พิจารณาทุกปัจจัยหรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้น จากนั้นจะต้องคิดในเชิงว่าทุกๆ ส่วนขององค์กรประกอบด้วยความขัดแย้งต่างอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน และมองให้เห็นถึงส่วนประกอบต่างๆ ของปัญหานั้น
3. Presence เป็นการมีสติอยู่ตลอดเวลา คือ ระหว่างจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง คนที่เป็นผู้นำต้องมีสติรู้สึกตัวตลอดเวลา เพราะ ท่ามกลางความขัดแย้งนั้นจะเกิดปัญหาในเรื่องของการหมกมุ่น เครียด หวาดกลัว ซึ่งอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่ความ ขาดสติทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้เรื่องร้ายอยู่แล้วยิ่งหนักเข้าไปอีกก็ได้
4. Inquiry การตั้งคำถาม เพราะความสามารถในการตั้งคำถามนั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญ สำหรับผู้บริหารในการเข้าถึงและทำความเข้าใจ ต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หลายๆ ครั้งที่ผู้บริหารเข้าไปบริหารหรือจัดการกับความขัดแย้งนั้น ผู้บริหารไม่ได้มีข้อมูลใดๆ เบื้องต้นมาก่อนจะทำให้พลาดในการตัดสินปัญหานั้นก็เป็นได้
5. Dialogue เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสนทนา ซึ่งจะเป็นคุณสมบัติที่ต่อมาจากการตั้งคำถาม เนื่องจากการสนทนาระหว่างกันเป็น กลไกที่สำคัญในการสื่อสาร เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกัน ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไม่ใช่ การโต้แย้ง

ที่มา : www.siamhrm.com

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เรียนรู้ภาวะผู้นำและการบริหารทีมแบบ “ซิโก้”



          มาเริ่มที่ ทีมชาติไทยกันดีกว่า “ทีมชาติไทย” ผ่านยุครุ่งเรืองและยุคตกต่ำ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปตามวัฏจักร..และไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ถือเป็นยุคตกต่ำของทีมชาติไทย ที่ตกรอบแรกซีเกมส์เมื่อหลายปีก่อน ล้มเหลว ทั้งระดับภูมิภาคในทุกครั้งที่ลงแข่ง ไม่ว่าจะจ้าง Coach ต่างชาติค่าตัวแพงๆ กี่คนๆ จนเปลี่ยนมาใช้ Coach คนไทยด้วยกัน ก็ยังคงล้มเหลวต่อเนื่อง จนทำให้ความศรัทธาของแฟนบอลคนไทยอยู่ในช่วงตกต่ำสุดๆ!

          จนกระทั่งการมาของชายคนที่ชื่อ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซิโก้” หนุ่มขอนแก่น อดีตนักฟุตบอลอันดับ1 ของไทยและย่านอาเซียน ในยุค “ดรีมทีม” ของ บิ๊กหอย (ธวัชชัย สัจจกุล) อดีตผู้จัดการทีมยุครุ่งเรืองของทีมชาติไทย
          ซีเกมส์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่พม่าเป็นเจ้าภาพ ซิโก้ นำทัพทีมชาติไทย กระชากเหรียญทองกลับมาครองได้ หลังห่างหายจากเหรียญทองซีเกมส์ไปซะหลายปี เท่านั้นยังไม่พอ..ยังพาทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญทองในฟุตบอล เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ ปีที่แล้วที่ไทยไม่ได้แชมป์ในรายการนี้มา 12 ปีแล้ว!
ยังไม่สาแก่ใจ! ซิโก้นำทัพทีมฟุตบอลไทยไปคว้าที่ 4 ในเอเซียนเกมส์ และล่าสุด..ส่งมือขวา โชคทวี นำทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองฟุตบอลซีเกมส์ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายนปีนี้เอง!
กระแสฟุตบอลไทยฟีเวอร์ ขึ้นถึงจุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในปีที่ผ่านมา แถมยังสร้าง “ซุปตาร์” แบบไม่ได้ตั้งใจให้เกิดอีกหลายคน เช่น ชัปปุยส์ กลองกลางตัวรุกลูกครึ่งไทย-สวิส สุดหล่อขวัญใจสาวๆ ทั่วไทยและทั้งอาเซียน!
ประเด็นที่น่าสนใจ และควรเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในการบริหารทีมงานของเราๆ ท่านๆ ก็คือ...เพราะอะไรที่ให้ Coach ให้ผู้จัดการทีมกี่คนๆ มาทำทีมชาติไทยก็ล้มเหลว...แต่ ซิโก้ ถึงทำสำเร็จและสำเร็จอย่างต่อเนื่อง!
ความสำเร็จนี้ เริ่มต้นที่...

1.ผู้นำทีม!
ซิโก้ ในอดีตที่เป็นดาวยิงอันดับ1 ของไทยและอาเซียน ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศไทย ไปเล่นลีกอาชีพที่สิงคโปร์และเวียดนาม(ที่ซิโก้เป็นนักเตะและต่อมาคุมทีมฮอง อันห์ ยาลาย 1 ในทีมลีกของเวียดนาม จากทีมธรรมดาๆ ไปเป็นทีมแชมป์อย่างต่อเนื่อง จนเป็นขวัญใจของคนเวียดนามทั้งประเทศจนถึงปัจจุบัน)
ความสำเร็จของ ซิโก้ มาจาก “พรแสวง” มากกว่า “พรสวรรค์”! เป็นคนที่มีวินัยตั้งแต่สมัยเป็นนักเตะจนกระทั่งปัจจุบัน ใช้ชีวิตที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความมุ่งมั่นที่จะพาทีมชาติไทยกลับมาสู่ความสำเร็จอีกครั้ง ผ่านการอบรมในเรื่อง Coach อย่างเป็นระบบ และวางแผนการสร้างทีมทั้ง ระยะสั้น ระยะกลางไปจนถึงระยะยาว
นอกจากนี้ สต๊าฟโค้ช ก็คัดแต่ทีมงานที่มีทัศนคติและความสามารถที่ “พูดจาภาษาเดียวกัน คือ ภาษาของมืออาชีพ!” ไม่เอาพวกเหลาะแหละ หรือรู้ใจแต่ไร้ความสามารถและความทุ่มเท!
ด้วยความสามารถและความสำเร็จที่ผ่านมาของซิโก้ รวมทั้งการวางตัว วางกรอบระเบียบ “นำโดยการทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี” ทำให้นักเตะทุกคน เคารพและศรัทธา เชื่อฟัง ได้รับการหล่อหลอมให้กลายเป็นทีมที่มีศักยภาพ!

2.ทีม(นักเตะ)
ทีมชาติไทยทั้งยุคที่พอจะรุ่งเรือง ต่อเนื่องมาจนถึงยุคตกต่ำ จะมีนักเตะประเภท “อารมณ์ร้อน” ประเภท “ขี้เก๊ก” ประเภท “เก๋าส์ขาใหญ่” ประเภท “เล่นแบบเห็นแก่ตัว” ผสมผสานคละเคล้ากัน มารวมตัวเฉพาะกิจ มาเล่นแบบปราศจากความทุ่มเท คิดว่าข้าแน่ ยังไงก็ติดทีมชาติทุกครั้งอยู่แล้ว ไม่ต้องแปลกใจที่ผ่านมาถึงเละและล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง!
เมื่อซิโก้เข้ามาคุม..ก็เริ่มกระบวนการ “คัดสรร” นักฟุตบอลทีมชาติทั้งชุดใหญ่ และ ชุดเล็ก โดยเน้นที่ ทัศนคติ วินัย การควบคุมอารมณ์ ทำให้ได้สายเลือดใหม่ๆ มาหล่อหลอม เป็น ดรีมทีมยุคใหม่ ที่ไม่มีพวกเก๋า พวกอารมณ์ร้อนฯลฯ เข้ามาติดทีมเลย! (เรียกว่า “ถ่ายเลือดแบบหมดจด” และได้ผลที่ดีกว่าที่คาดไว้จริงๆ)

3.ฝึกซ้อมและวางระบบทีมและรูปแบบทีมให้ “มีทรง”
ทีมของซิโก้ เล่นแบบวิ่งไม่มีหมดจนถึงหมดเวลา(ทีมชาติยุคตกต่ำ ยังไม่จบครึ่งแรกก็เดินเล่นบอลเพราะหมดแรง ขาดการฟิตซ้อม) และยังสร้างทรงบอลให้มีรูปแบบการต่อบอลที่สวยงาม คล้ายๆ ติกี้ ตาก้า ของทีมบาร์เซโลน่า ยอดทีมของยุโรป และของโลก ที่เน้นการครองบอล ต่อบอลที่สวยงามในเกมรุก

4.เน้นทีมเวิร์ค
ทั้งรูปแบบการเล่น โดยเฉพาะ “ทัศนคติ” ที่ทุกคนทำเพื่อทีม ไม่ใช่ทุกคนต้องเล่นตามใจ “ซุปตาร์” แค่คนสองคนเหมือนที่ผ่านมา ถึงแม้ภายหลังจะมี “ซุปตาร์” เกิดขึ้น แต่ทุกคนก็ยังมีความเป็นทีมเวิร์คอย่างเหนียวแน่น
ขอบคุณ “ซิโก้” ที่ “คืนความสุขและความภาคภูมิใจ” ให้กับแฟนบอลชาวไทย ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมไปทั่วทั้งอาเซียน และสื่อของเอเซียและยุโรปยังชื่นชม
          และขอบคุณที่ทำให้ทุกคน ได้เรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ ในเรื่อง ภาวะผู้นำ การสร้าง การบริหารทีมสู่ความสำเร็จ
ขอคาราวะจากใจจริงครับ

โดย : ธีรพล แซ่ตั้ง www.bangkokbiznews.com

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จัด Team Building อย่างไร? ให้ตรงจุดและตอบโจทย์


          คำถามที่มักได้รับช่วงนี้ คือจะประเมินทีมของเราอย่างไร เพื่อจะได้พัฒนาทีมได้ตรงจุด แน่นอนค่ะ อะไรที่วัดได้ เรามักพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น หากวางแผน Team Building ก็ควรจะมี focus ว่าจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ มิฉะนั้นกลับมาแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้ทักษะและพฤติกรรมที่สมาชิกในทีมสามารถนำกลับมาช่วยกันพัฒนาทีมได้ ดิฉันแนะนำการประเมินดังนี้นะคะ

         วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการร่วมงานกันในทีม - มีความชัดเจน สมาชิกในทีมไม่สับสนว่าหน้าที่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เป้าหมายรวมคืออะไร นั่นเป็นเพราะสมาชิกในทีมบางคนอาจยึดเป้าหมายส่วนตัวหรือเพียงส่วนของตนเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงภาพรวม

สมาชิกในทีม - มีความตั้งใจ มีทักษะ และมีความคิดริเริ่มในด้านสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งไปที่ปมปัญหาโครงสร้างและบทบาทความรับผิดชอบของสมาชิกในทีมนั้น ได้รับการสื่อสารเข้าใจตรงกันและชัดเจน

การสื่อสาร - สมาชิกในทีมมีโอกาสในการพูดคุยกัน สร้างมิตรสัมพันธ์ และสร้างความไว้วางใจ กล้าพูด กล้าถาม เพราะบรรยากาศในการสื่อสารเปิดเผยและปลอดภัย

การตัดสินใจ - การตัดสินใจมาจากความคิดถ้วนถี่อย่างจริงจังของสมาชิกในทีม หรือหมายถึงสมาชิกในทีมไม่ละเลยให้ผู้อื่นอยากคิดก็คิดไป ส่วนเราก็ตามน้ำไป ว่าไงว่ากันตามนั้น ช่างมันฉันไม่แคร์

ความขัดแย้ง - สมาชิกในทีมพูดคุยกันตรงไปตรงมาในความเห็นที่ต่างกัน และรู้ว่าต้องแสดงออกอย่างไรในการแสดงความคิดเห็นต่าง เพื่อไม่นำมาซึ่งความขัดแย้งพ่วงท้ายกลายเป็นเรื่องส่วนตัว

ภาวะผู้นำ - ผู้นำทีมเป็นตัวอย่างที่ดีในการมองผลกระทบแบบภาพรวม โน้มน้าวใจคนได้ในขณะที่บริหารจัดการได้ตามเป้าหมายและเป็นธรรม ถ้าผู้นำทำเสียเองในการแบ่งเขาแบ่งเรา วางยาทีมอื่น ไม่นานทั้งสมาชิกในทีม และสายตาจากคนภายนอกจะเลิกไว้วางใจทีมดังกล่าว

ความร่วมมือ - สมาชิกในทีมทุกคนรู้ได้ถึงคุณค่าของตนเองต่อผลสำเร็จของทีม ดังนั้นเขาจึงกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม ใช้ทักษะที่มีและความสามารถเต็มที่ แบบไม่แอ้ป ไม่อมภูมิ

การยอมรับชื่นชมกัน - เปิดเผยและบ่อยครั้ง ไม่ว่าเป็นความสำเร็จเล็กหรือใหญ่ มีการให้รางวัลอย่าง สร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปเงินทองเสมอไป แต่ผู้มอบต้องจริงใจ ผู้รับจึงจะภูมิใจ

ผลงานของทีม - เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และบรรลุเป้าหมายหรือเหนือกว่านั้น

          เราใช้ 1-5 rating scale ได้ เช่น 1 คือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 5 คือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยสามารถให้สมาชิกในทีมประเมินได้ เพื่อจะได้ให้เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น จากหัวข้อด้านบนจะเห็นว่า บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องออกไป Team Building เช่น ด้านภาวะผู้นำ สามารถใช้การพัฒนาที่ตัวบุคคลหรือการให้ Performance Feedback ที่ตรงจุด หรือการจัดให้มีการ Coaching แบบตัวต่อตัวที่ตัวบุคคลได้

โดย : ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ