คำถามที่มักได้รับช่วงนี้ คือจะประเมินทีมของเราอย่างไร เพื่อจะได้พัฒนาทีมได้ตรงจุด แน่นอนค่ะ อะไรที่วัดได้ เรามักพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น หากวางแผน Team Building ก็ควรจะมี focus ว่าจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ มิฉะนั้นกลับมาแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้ทักษะและพฤติกรรมที่สมาชิกในทีมสามารถนำกลับมาช่วยกันพัฒนาทีมได้ ดิฉันแนะนำการประเมินดังนี้นะคะ
วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการร่วมงานกันในทีม - มีความชัดเจน สมาชิกในทีมไม่สับสนว่าหน้าที่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เป้าหมายรวมคืออะไร นั่นเป็นเพราะสมาชิกในทีมบางคนอาจยึดเป้าหมายส่วนตัวหรือเพียงส่วนของตนเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงภาพรวม
สมาชิกในทีม - มีความตั้งใจ มีทักษะ และมีความคิดริเริ่มในด้านสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งไปที่ปมปัญหาโครงสร้างและบทบาทความรับผิดชอบของสมาชิกในทีมนั้น ได้รับการสื่อสารเข้าใจตรงกันและชัดเจน
การสื่อสาร - สมาชิกในทีมมีโอกาสในการพูดคุยกัน สร้างมิตรสัมพันธ์ และสร้างความไว้วางใจ กล้าพูด กล้าถาม เพราะบรรยากาศในการสื่อสารเปิดเผยและปลอดภัย
การตัดสินใจ - การตัดสินใจมาจากความคิดถ้วนถี่อย่างจริงจังของสมาชิกในทีม หรือหมายถึงสมาชิกในทีมไม่ละเลยให้ผู้อื่นอยากคิดก็คิดไป ส่วนเราก็ตามน้ำไป ว่าไงว่ากันตามนั้น ช่างมันฉันไม่แคร์
ความขัดแย้ง - สมาชิกในทีมพูดคุยกันตรงไปตรงมาในความเห็นที่ต่างกัน และรู้ว่าต้องแสดงออกอย่างไรในการแสดงความคิดเห็นต่าง เพื่อไม่นำมาซึ่งความขัดแย้งพ่วงท้ายกลายเป็นเรื่องส่วนตัว
ภาวะผู้นำ - ผู้นำทีมเป็นตัวอย่างที่ดีในการมองผลกระทบแบบภาพรวม โน้มน้าวใจคนได้ในขณะที่บริหารจัดการได้ตามเป้าหมายและเป็นธรรม ถ้าผู้นำทำเสียเองในการแบ่งเขาแบ่งเรา วางยาทีมอื่น ไม่นานทั้งสมาชิกในทีม และสายตาจากคนภายนอกจะเลิกไว้วางใจทีมดังกล่าว
ความร่วมมือ - สมาชิกในทีมทุกคนรู้ได้ถึงคุณค่าของตนเองต่อผลสำเร็จของทีม ดังนั้นเขาจึงกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม ใช้ทักษะที่มีและความสามารถเต็มที่ แบบไม่แอ้ป ไม่อมภูมิ
การยอมรับชื่นชมกัน - เปิดเผยและบ่อยครั้ง ไม่ว่าเป็นความสำเร็จเล็กหรือใหญ่ มีการให้รางวัลอย่าง สร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปเงินทองเสมอไป แต่ผู้มอบต้องจริงใจ ผู้รับจึงจะภูมิใจ
ผลงานของทีม - เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และบรรลุเป้าหมายหรือเหนือกว่านั้น
เราใช้ 1-5 rating scale ได้ เช่น 1 คือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 5 คือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยสามารถให้สมาชิกในทีมประเมินได้ เพื่อจะได้ให้เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น จากหัวข้อด้านบนจะเห็นว่า บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องออกไป Team Building เช่น ด้านภาวะผู้นำ สามารถใช้การพัฒนาที่ตัวบุคคลหรือการให้ Performance Feedback ที่ตรงจุด หรือการจัดให้มีการ Coaching แบบตัวต่อตัวที่ตัวบุคคลได้
โดย : ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น