วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

สร้างทัศนคติในการทำงานแบบ PROACTIVE ได้อย่างไร



          คุณเข้าใจความหมายของคำว่า “ Proactive ” มากน้อยแค่ไหน พบว่า การทำงานแบบ “Proactive” นั้นถือว่าเป็นลักษณะของคนที่ทำงานในเชิงรุก ซึ่งเป็นการทำงานของคนที่ชอบคิดวางแผนงานของตนไว้ล่วงหน้าก่อนเสมอ รวมถึงการคิดถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องรอให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นก่อน แบบชนิดที่ว่า “ วัวหายแล้วล้อมคอก ” ซึ่งตรงกันข้ามกับการทำงานแบบ Reactive ที่ทำงานเชิงรับ โดยทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จไปวัน ๆ เท่านั้น ไม่ใส่ใจที่จะต้องวางแผนการทำงานและไม่สนใจที่จะคิดถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นไว้ก่อนเลย

          มีหลายครั้งที่คนที่มีนิสัยทำงานแบบ Proactive จะทำงาน Proactive เป็นบางช่วงเวลา หากโชคดีหน่อยถ้าบุคคลเหล่านี้รู้ตัวและปรับเปลี่ยนนิสัยของตนให้ทำงานเชิงรุกทันก็จะทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่มีนิสัยแบบชนิดที่ว่าทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ แต่ก็ยังมีคนบางคนมีนิสัยที่ทำงานไม่ Proactive อยู่ตลอดเวลา ซึ่งคุณสามารถสำรวจตนเองว่าคุณเริ่มทำงานแบบชนิดที่ไม่ Proactive หรือไม่ โดยพิจารณาจากสัญญาณบอกเหตุดังต่อไปนี้

รู้สึกห่อเหี่ยวใจในเช้าวันทำงาน คุณจะรู้สึกว่าเซ็งหรือเบื่อสุด ๆ ที่ต้องเดินเข้าออฟฟิตที่ทำงานของคุณเอง ซึ่งทำให้คุณไม่อยากตื่นมาทำงานแต่เช้า บางคนตื่นสายมากจนทำให้มาถึงที่ทำงานเกือบไม่ทันเวลา ต้องรีบวิ่งกระหืบกะหอบมายังที่ทำงานเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ทันตอกบัตรหรือรูดบัตร

เบื่อหน่ายกับชีวิตเมื่อต้องเผชิญปัญหา คุณจะถอนหายใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเอื่อมระอากับปัญหาที่เกิดขึ้น รู้สึกปัญหามีไว้ให้กลุ้มมากกว่ามีไว้ให้แก้ บางคนถึงขนาดโยนปัญหาไปให้ผู้อื่นรับผิดชอบ บอกปัดไปซะทุกเรื่อง โดยไม่ช่วยคิดที่จะแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นเลย

เซ็งสุด ๆ เมื่อต้องรับผิดชอบงานที่เพิ่มขึ้น เมื่อหัวหน้างานมอบหมายภาระงานให้เพิ่มขึ้น คุณจะรู้สึกว่าทำไมต้องทำด้วย ไม่เห็นคุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ บางคนจะรู้สึกว่างานที่ให้นั้นไม่ใช่ที่ตกลงพูดคุยกันถึงขอบเขตงานที่ต้องรับผิดชอบเลย พวกนี้จะพยายามหาสาเหตุในการปฏิเสธหรือบอกปัดภาระงานที่เพิ่มขึ้น จนเป็นให้หัวหน้างานต้องยอมจำนนในเหตุผลที่ยกขึ้นมาสารพัด

เตรียมพร้อมเสมอเมื่อใกล้ถึงเวลาเลิกงาน คุณจะมีอาการลิงโลดหรือรู้สึกดีเมื่อใกล้ถึงเวลาเลิกงาน ไม่ว่างานที่มอบหมายจะทำเสร็จหรือไม่คุณก็ไม่สนใจ ขอเพียงให้คุณได้กลับบ้านหรือไปทำธุระที่ใจปรารถนาเป็นพอ ซึ่งคุณมักจะรู้สึกไม่พอใจหากหัวหน้าขอให้คุณอยู่เย็นหน่อยเพื่อสะสางงานที่ต้องรีบนำเสนอให้วันรุ่งขึ้น

ชอบทำงานตามรูปแบบเดิม ๆ คุณจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการทำงานที่เคยทำอยู่ บางคนต่อต้านและอ้างว่าระบบงานที่เปลี่ยนใหม่นั้นใช้ไม่ได้ เนื่องจากคุณคุ้นเคยกับขั้นตอนหรือระบบงานเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติ คุณมักจะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระบบงานนั้นจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพหรือความมั่นคงในงานของตัวคุณ หรือคุณไม่อยากเสียเวลาในการเรียนรู้ระบบงานใหม่ ๆ พูดง่าย ๆ ว่าคุณเองก็ขี้เกียจเรียนรู้หรือกลัวว่าจะเรียนรู้ไม่ทันเพื่อนคนอื่น ๆ

          และเมื่อคุณรู้ตัวแล้วว่าคุณมีอาการตามสัญญาณบอกเหตุที่กล่าวถึงนี้ ดิฉันอยากให้คุณเริ่มปรับเปลี่ยนนิสัยและวิธีการทำงานให้เป็นคนทำงานในเชิงรุก ทั้งนี้ผู้ที่สามารถทำงานในเชิงรุกได้นั้น สิ่งแรกที่คุณจะทำได้นั่นก็คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองก่อน ซึ่งความคิดหรือทัศนคติที่เป็นพื้นฐานทำให้เกิดการทำงานในเชิงรุกนั้น ได้แก่

การมองโลกในทางบวก เป็นการคิดดี หรือคิดในทางสร้างสรรค์ คุณไม่ควรคิดมากกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้คุณไม่สบายใจ โดยคุณควรมองว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงแค่ทางผ่านหรือสิ่งที่ทุกคนย่อมต้องเจอะเจอได้เช่นกัน เช่น หากหัวหน้างานต่อว่าคุณว่าคุณทำงานไม่เอาไหน และต่อว่าคุณต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ หลายคน คุณไม่จำเป็นต้องคิดมากและนำเรื่องเหล่านั้นมาใส่ใจ เพราะความคิดในทางลบหรือในทางไม่สร้างสรรค์จะเป็นตัวทำลายความคิดในการทำงานเชิงรุกของคุณ

คิดที่จะเป็น“ ผู้ให้ ” มากกว่า “ ผู้รับ ” พื้นฐานของการทำงานแบบ Proactive นั้นต้องเป็นคนที่สามารถคิดหาหนทางหรือวิธีการที่จะเป็น “ ผู้ให้ ” โดยเฉพาะการมีจิตสำนึกของการให้ต่อองค์การหรือต่อหน่วยงานที่คุณทำงานร่วมด้วย พยายามคิดว่าทำอย่างไรที่ตนสามารถทำให้องค์การได้รับประโยชน์มากที่สุด ต้องเป็นคนที่มีความคิดที่จะทำงานให้องค์การมากกว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับจากองค์การ โดยไม่มองว่าองค์การให้เงินเดือนและค่าตอบแทนเท่านี้ ก็ทำงานแค่นี่ก็เพียงพอแล้ว

ทุกอย่างย่อมต้องเป็นไปได้ คุณต้องมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง กล้าและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สามารถผลักดันให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่ฝันไว้ ผู้ที่ทำงานแบบ Proactive จะมองว่าไม่มีทางที่เป็นไปไม่ได้ หากมีความตั้งใจและมีความเพียรพยายามเต็มที่ นอกจากนี้กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความคิดว่าปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยมองว่าปัญหาทุกอย่างย่อมต้องมีหนทางหรือทางออกในตัวเอง ซึ่งพวกเค้าจะไม่กระวนกระวายใจหรือกลุ้มอกกลุ้มใจกับปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นเลย

“ วันพรุ่งนี้ ” ย่อมดีกว่า “ วันนี้ ” การทำงานในเชิงรุกนั้นจะต้องไม่ใส่ใจถึงอดีต พวกเค้าจะมองถึงอนาคตมากกว่า โดยจะตระหนักไว้เสมอว่าอนาคตย่อมต้องดีขึ้น เป้าหมายในอนาคตย่อมเกิดขึ้นจากกานำความรู้และประสบการณ์ รวมถึงบทเรียนจากความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอดีตและปัจจุบันเป็นครูสอนหรือครูฝึกที่ดีที่สุด พวกที่ทำงานแบบ Proactive มักจะมองถึงอนาคตที่จะต้องทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป โดยพยายามทำให้วันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้และวันที่ผ่าน ๆ มา

          ทัศนคติหรือการรับรู้ของคุณเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้คุณมีนิสัยในการทำงานเชิงรุก หรือ Proactive เนื่องจากความคิดเชิงรุกจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการกระทำในเชิงรุกเช่นเดียวกัน และพบว่าบุคคลที่ประสพความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับต่อสังคมนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีทัศนคติและการปฏิบัติตนในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ แล้วคุณเองล่ะ อยากจะเป็นเหมือนเช่นบุคคลที่ประสพความสำเร็จนั้นบ้างหรือไม่


ผู้เขียน : อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น