ผิดแล้วให้รีบออกมายอมรับ – ทุกครั้งที่ก่อความผิด อย่าเข้าข้างตัวเองว่าจะโชคดีไม่มีใครมองเห็น เพราะไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องมีคนเห็นและยิ่งถ้าความผิดพลาดที่ทำไว้ถูกเปิดโปงจากปากคนอื่น หายนะจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าโดยหลังเรื่องแดงขึ้นมาคุณจะถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์ ขี้ขลาด ไม่กล้าเผชิญหน้าความจริง และต่อไปอาจไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญอีก ดังนั้นเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม เมื่อไรเกิดข้อพลาดควรชิงออกมายอมรับตั้งแต่เนิ่นๆ
อธิบายด้วยเหตุผล ไม่ใช่คำแก้ตัว -หลังบอกให้รู้ว่าคุณกล้ายอมรับผิด เชื่อเถอะว่าคนส่วนใหญ่จะชื่นชมอยู่ใจว่าคุณเป็นซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ สิ่งที่ต้องทำหลังกอบกู้ชื่อเสียงตัวเองในขั้นต้นได้แล้ว คือการอธิบายว่าพลาดได้อย่างไร โดยควรชี้แจงตามความเป็นจริงไม่ใช่ใช้เป็นโอกาสแก้ตัว เช่น “ผมยอมรับผิดที่ปล่อยให้ลูกค้าหลุดมือไป เพราะทำงานไม่เสร็จตามกำหนด” คือการชี้แจงโดยยืดข้อเท็จจริง ต่างจากการแก้ตัวด้วยประโยคที่ว่า “ผมทำลูกค้าหลุดมือไป เพราะสุนัขที่บ้านป่วยตลอดเวลาจนไม่มีเวลาทำงานเลย”
ชี้แจงแนวทางแก้ไข – การยอมรับผิดแล้วนิ่งเฉยไม่ทำอะไรต่อ กับยอมรับผิดแล้วเร่งเดินหน้าแก้ไข แน่นอนว่าอย่างหลังย่อมดีกว่า เพราะแสดงให้เห็นว่าคุณจริงจังที่จะกอบกู้สถานการณ์ ไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีกและมีความรับผิดชอบ ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดควรชี้แจงว่าจะแก้ไขอย่างไร แล้วลงมือทำทันที
บอกด้วยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผิดซ้ำ – นอกจากแก้ไขความผิดพลาดแล้ว อีกอย่างที่ควรทำคือป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ปิดโอกาสไม่ให้เรื่องที่ส่งผลต่อส่วนตัวและส่วนรวมเกิดขึ้นอีก การทำแบบนี้อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันให้ทุกฝ่ายได้อุ่นใจและยังบอกให้หัวหน้าเห็นว่าคุณเป็นคนเตรียมความพร้อม มีแผนรับมือเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเอาไว้แล้ว
ใช้เป็นบทเรียน – เรื่องไหนผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป เก็บแค่สิ่งที่ใช้เป็นบทเรียนได้ แต่ไม่ควรจมอยู่กับความผิดนั้นนาน จนมันกลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งความก้าวหน้าและปิดกั้นคุณไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย จำไว้ว่าเมื่อแก้ไขความผิดพลาดแล้วควรกลับมาเป็นคนเดิมให้เร็วที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่า ล้มแล้วก็ลุกได้และพร้อมเดินหน้าต่ออีกครั้ง ด้วยความมุ่งมั่นและมองโลกในแง่ดี
ที่มา : success และ Marketeer.co.th
UP Training อ่านบทความอื่นๆ คลิก