หากพิจารณาดูดีๆ กฎเกณฑ์ทางธรมชาติ ได้มอบปรัชญาและการดำรงชีวิตที่ละเอียดอ่อนและมหัศจรรย์ไว้ให้มนุษย์เสมอ ไม่ว่าจะเป็น วงจรขึ้น-ลงของพระอาทิตย์ ที่แสดงถึงโอกาสในการแสดงประโยชน์ของคนเราว่ามีทั้งขาขึ้นและขาลง ไม่มีใครรักษา อำนาจ และกอดความก้าวหน้า เอาไว้กับตัวเองได้ตลอดเวลา การทำงานทุกอย่างรวมไปถึงการกระทำต้องรู้จัก "จังหวะ" "เวลา" และ "โอกาส" รวมไปถึงการยอมรับความสามารถของตนเอง ไปจนถึงปรัชญายอดภูเขา ยิ่งสูงยิ่งหนาว ที่สอนให้คนเราพึงระวังเมื่อก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนตำแหน่ง"ยอดภูเขา" ที่สูงและลมแรง
หลักการบินของฝูงห่านไซบีเรีย เป็นหนึ่งในต้นแบบที่ถูกนำปรับใช้เป็นจิตวิทยาองค์กร โดย โปรเฟซเซอร์ ดร. ลีโอนาร์ด โยง นักจิตวิทยา และวิทยากรชื่อดังชาวมาเลเซีย จากสถาบัน IITD โดยหยิบมาสร้าง "ทฤษฎีผู้นำ" โดยเรียนรู้วิธีการบินของฝูงห่าน ซึ่งแสดงถึงการทำงานเป็น"ทีม"
"หลักการบินของห่านไซบีเรียสอนถึงการทำงานเป็นทีม และสอนวิธีการทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ อย่างยุติธรรม หน่วยงานที่ต้องการความอยู่รอดและพัฒนาขององค์กรในยามที่ทรัพยากรมีอยู่จำกัดจำเป็นต้องมีร่วมแรงร่วมใจบินกันไปเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้องค์กรนั้นสามารถพัฒนาศักยภาพ ภายใต้ขีดความสามารถที่มี โดยที่ทุกฝ่ายต่างก็พอใจ ไม่เกิดความขัดแย้งและยังได้รับการพัฒนาความสามารถในตัวเองอยู่ตลอดเวลา" มร. โยง กล่าว
ในช่วงฤดูหนาวห่านไซบีเรียจะพากันอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหากินในทำเลใหม่ที่อบอุ่นกว่า เนื่องจากในอาณาบริเวณแถบไซบีเรียนั้นเต็มไปด้วยน้ำแข็ง อากาศหนาวจนอุณหภูมิติดลบ
ด้วยความที่ถิ่นที่อยู่ของพวกมันอากาศหนาวจนหากินลำบากและไม่มีอาหารหลงเหลือเพียงพอสำหรับรองรับความเป็นอยู่ พวกห่านจึงต้อง ขวนขวาย หาทางออกด้วยการบินอพยพหนีกันไปเป็นฝูงร่วมหลายร้อยตัวด้วยสภาพที่ต้องเจอได้แก่ ระยะทางการบินหลายร้อยไมล์ การบินด้วยความเร็วอย่างสม่ำเสมอและไม่ได้หยุดพักผ่อน ณ บริเวณใดที่บินผ่านเลยแม้แต่นิดเดียว อาหารและกำลังที่จำกัด พวกมันมีวิธีการทำการกันอย่างไร? โดยไม่หยุดพักและบินกันไปอย่างสามัคคีเป็นกลุ่มก้อน
ข้อเท็จจริง ห่านทุกตัวมีวิธีการบินที่กางปีกเป็นรูปตัว V ห่านที่เป็นจ่าฝูง จะบิน นำ ห่านตัวอื่นๆ เพื่อ "ต้านกระแสลม" ลดแรงกระแทกจากลมที่พัดเข้ามาตลอดระยะการบิน
จากการพิสูจน์พบว่าการบินไปพร้อมๆ กันเป็นกลุ่มก้อนรูปตัว V อย่างพร้อมเพรียงกัน ห่านที่เป็นจ่าฝูงจะช่วยสามารถช่วยต้านลดแรงกระแทกและลดความเร็วที่ลมจะเข้ามาปะทะห่านตัวอื่นๆ ที่บินถัดกันไปเป็นลำดับ มากกว่าที่ห่านตัวใดตัวหนึ่งจะบินกันอย่างกระจัดกระจายหรือบินไปตัวเดียวหรือบินเดี่ยวๆ
บทเรียน จากการบินกางปีกเป็นรูปตัว V ของฝูงห่านแสดงถึงการออกแรงอย่างเต็มที่ของ "ห่านจ่าฝูง" รวมถึงทำงานกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่สมาชิกในทีมต้องมีการรับรู้ทิศทางการบินอย่างพร้อมเพรียงกันว่า ณ ขณะนี้การบินกันไปเป็นกลุ่มจะมีความเร็วเท่าไหร่? และมีทิศทางการบินอย่างไร?
ผู้บริหารจึงควรสื่อสารเป้าหมายในการทำงานและมีการสื่อสารกำกับผู้ร่วมงานในทีมงานทั่วทุกคนอยู่ตลอดเวลา ว่าขณะนี้อยู่ในระยะบินช้า บินเร็ว บินสูง บินต่ำ จะทำให้เกิดความเข้าใจใน ทิศทาง การทำงาน (Direction) และเกิดความเข้าใจกำหนดบทบาทช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ข้อเท็จจริง เมื่อมีห่านตัวใดตัวหนึ่งในฝูงรู้สึกเหนื่อยหรือบินด้วยความเร็วที่ ต่ำลง จากระดับการบินปกติ แรงต้านจากกระแสลมจะเกิดขึ้น ทางออกคือเคลื่อนย้าย "ห่านตัวนั้น" ไปบิน พยุงตัว หรือพักผ่อนอยู่ด้านหลังของแถว ซึ่งใช้กำลังและแรงในการบินน้อยกว่าการบินของห่านในตำแหน่งอื่นๆ
ส่วนห่านตัวอื่นๆ ที่ยังแข็งแรง ควรถูกขับเคลื่อนมาบินในตำแหน่ง ด้านหน้า เพื่อรับกับการฝ่าแรงของกระแสลมตลอดระยะเส้นทางที่ยาวไกล
บทเรียน ลักษณะการ บินพยุงตัว หรือการ บินสลับตำแหน่งหน้า - หลัง เป็นตัวแทนของการทำงานที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันว่า ในชีวิตการทำงานต้องมีการ หยุดเพื่อพักผ่อน หรือ ผลัดกันทำหน้าที่เป็นผู้นำ ผลัดกันทำหน้าที่เป็นผู้ตาม เนื่องจาก ไม่มีห่านตัวใดที่สามารถบินด้วยความเร็วสูงคงที่ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา และในการทำงานเป็นทีม ก็ไม่มีห่านตัวใดที่ บินช้า และกินแรงห่านตัวอื่นๆ โดยการบินอยู่ในตำแหน่งท้ายโดยตลอด
ข้อเท็จจริง วิธีการบินของห่านข้อนี้จะทำให้เพื่อนร่วงงานในทีม ผลัดกันเป็นผู้ให้ และ ผลัดกันเป็นผู้รับ รวมไปถึง "ผลัดกันเป็นผู้นำ" และ "ผลัดกันเป็นผู้ตาม" ช่วยกันรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายมาอย่างเต็มใจตลอดเวลา
ความจริงอีกข้อหนึ่งคือห่านทุกตัวต้องมีการพักผ่อนเพื่อออมแรงในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ตรงกับความเป็นจริงที่ว่าสภาพของห่านที่บินอย่างหักโหมตลอดเวลาโดยไม่รู้จักจังหวะในการพักผ่อน ห่านตัวนั้นในช่วงเวลาที่เหนื่อยอาจจะหมดแรงและอยากจะ หยุดบิน ไปเลย ซึ่งส่งผลกระทบให้กับการทำงานเป็นทีมเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตการทำงาน
ห่านที่ รู้จักวิธีการทำงาน ที่ถูกสุขอนามัยในระยะยาวและทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบินอย่างสม่ำเสมอการทำงานเป็นทีมต้อง "รู้จักจังหวะเวลา" ที่จะ บินผ่อน หรือจังหวะเวลาการบินแบบ ออกกำลังทุ่มเท อย่างเต็มที่ ห่านทุกตัวจึงจะสามารถมุ่งหน้าอพยพย้ายถิ่นจะมีการหมุนเวียนสลับกันและบินสลับตำแหน่งกัน ด้วยวิธีการ บินสลับตำแหน่งกันไป
บทเรียน การทำงานร่วมกันไปเป็นทีม ทีมงานทุกคนต้องมีส่วนช่วยเหลือในผลงานกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน ไม่มีใครที่สามารถทำงานหนักตลอดเวลาโดยที่ไม่มีช่วงเวลาในการ "เบรก" หรือพักผ่อนและก็ต้องไม่มีห่านตัวไหนในทีมที่สามารถบินอย่างเรื่อยๆ สบายๆ เหมือนบินอยู่ตัวเดียวโดดๆ บนฟ้า ในขณะที่ฝูงห่านตัวอื่นๆ กำลังบินขับเคลื่อนฝูงห่านมุ่งไปสู่หนทางข้างหน้าด้วยความเร็วสูงอย่างคงที่ตลอดระยะทางอันยาวไกลอย่างพร้อมเพรียงกัน
สาเหตุที่ฝูงห่านต้อง "บินสลับตำแหน่งกันไป" เกิดจากว่าตำแหน่ง "จ่าฝูง" เป็นตำแหน่งที่ต้องใช้แรงและพละกำลังมากที่สุดต้องมีการบินสลับบ้างบางจังหวะเพื่อการพักผ่อน การบินไปเป็นกลุ่มก้อนสามารถสะท้อนถึงความร่วมแรงร่วมใจในการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ห่านตัวอื่นๆ ก็ต้องมีการใช้กำลัง ความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันห่านทุกตัวต่างก็รอคอยอย่างมีความหวังว่าหนทางข้างหน้ายังมีแหล่งน้ำและอาหารอันอุดมสมบูรณ์
ข้อเท็จจริง วิธีการบินเฉพาะตำแหน่งของห่านแต่ละตำแหน่งมีบทบาทและความรับผิดชอบไม่เท่ากัน การที่ห่านที่อยู่ตำแหน่งด้านหน้าที่เป็น จ่าฝูง ต้องใช้กำลังในการบินและต้องออกแรงมากที่สุดตลอดเวลาห่านที่บินอยู่แถวหลังก็ยังสามารถ บินพยุงตัว" หรือ "บินกางปีกอยู่เฉยๆ ในลักษณะผ่อนแรง วิธีการแบบ "การบินสลับตำแหน่งกัน" เป็นกระบวนการทำงานเป็นทีมที่สอนให้ฝูงห่านต่างฝ่ายต่างรับรู้ความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ๆ ได้รับมอบหมายซึ่งกันและกันอย่างทั่วถึง
หากการทำงานเป็นกลุ่มไม่เคยมีปรากฏการณ์ "การผลัดเปลี่ยน" งานหมุนเวียนความรับผิดชอบกัน ห่านที่บินอยู่ข้างหลังก็จะอยากเปลี่ยนมาบินในตำแหน่งข้างหน้า ขณะเดียวกันห่านที่บินอยู่ตำแหน่งข้างหน้าก็อยากย้ายไปกำกับอยู่ข้างหลัง
บทเรียน การกำหนดวิธีการบิน "เฉพาะตำแหน่ง" ของห่าน สอนให้รู้ว่า "การทำงานเป็นกลุ่ม" ต้องมีการสื่อสารบทบาทและหน้าที่และกำหนดความรับผิดชอบซึ่งกันและกันตาม "ความสามารถ" และ "ตระหนัก" ถึงคุณค่าของตำแหน่งการบินของห่านแต่ละตัวว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลงานกันเป็นทีม
เพราะหากไม่มีการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญและหน้าที่ในการบินไปเป็นลักษณะรูปตัว V สลับกันไปแต่ละตำแหน่ง ห่านแต่ละตัวจะไม่รู้คุณค่าของ "ตำแหน่ง" ที่ตัวเองบินอยู่ และอยากที่จะบินเรียงแถวหน้ากระดาน เนื่องจากความต้องการกำกับการบินและต้องการได้รับ "การยอมรับ" ด้วยความเข้าใจที่ผิดว่า "ตำแหน่งจ่าฝูง เป็นตำแหน่งที่สามารถควบคุมทิศทางการบินของฝูงห่านทั้งหมดและบินได้ง่ายที่สุด
ในขณะเดียวกันห่านที่บินอยู่ตำแหน่ง "จ่าฝูง" ก็อยากย้ายไปบินอยู่ข้างหลังเนื่องจากไม่สามารถบินต้านกระแสลมโดยไม่หยุดพักตลอดเส้นทางการบิน จึงเกิดการบริหารงานเป็นทีมอย่างกลับข้างกันเป็นรูป < กลับข้าง เนื่องจากห่านที่เป็น จ่าฝูง ก็อยากจะเปลี่ยนตำแหน่งไปบินในลักษณะ "กำกับงานอยู่ด้านหลัง"
ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือทำให้ห่านที่บินอยู่ในตำแหน่งหลังสุดรับภาระมากที่สุดอยู่ดี ถึงแม้ว่าจะมีการบินเปลี่ยนตำแหน่งการกำกับแถว
โปรเฟซเซอร์ ดร. โยง ยังบอกว่า "การบินไปเป็นกลุ่มของห่าน" ยังสอนให้ทีมงานรับรู้ไว้ในความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ลักษณะการบินไปเป็นกลุ่มอย่างถูกวิธี เมื่อมีห่านตัวใดตัวหนึ่งในทีมป่วย บาดเจ็บ หมดแรงหรือถูกยิงตกลงไป ห่านทั้งฝูงนั้นก็ยังสามารถบินกันไปเป็นกลุ่มก้อนอยู่ได้ตลอดเส้นทางการบิน
ที่มา : www.nationejobs.com