วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

วิธีเติมความคิดสร้างสรรค์ในทุกๆ วันของการทำงาน



          ทุกคนล้วนทราบดีว่าการมีความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity นั้น เป็นสิ่งที่มีค่าและจำเป็น โดยเฉพาะในการทำธุรกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขัน ไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์นั้นคือสิ่งชี้ขาดระหว่างผู้นำและผู้ตามในตลาดเลยทีเดียว

เวลาที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายหรือเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา หนึ่งในคำถามที่ผมมักถามอยู่เสมอคือ “ความคิดสร้างสรรค์ สร้างได้หรือเป็นพรสวรรค์?” เพราะคนส่วนมากมักคิดเอาเองว่าการมีความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นพรสวรรค์ที่มีมาในเฉพาะบุคคลกลุ่มหนึ่ง และการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในธุรกิจนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือการตลาดเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่บ่มเพาะขึ้นมาได้ และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องฝึกฝนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถฝึกฝนตนเองและบุคลากรให้มีการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในธุรกิจได้ โดยมีข้อคิดดังนี้ครับ

สร้างวัฒนธรรมของการ “ฟัง” ที่ดี
หนึ่งในเทรนด์ด้าน Personal Development ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ผมสังเกตเห็นคือ การที่ผู้บริหารเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองด้านทักษะ “การฟัง” พอๆ กับการพัฒนาทักษะ “การพูด” เพราะความคิดดีๆ ในการแก้ปัญหาและทำธุรกิจนั้นมักเกิดขึ้นเมื่อมีการระดมความคิด โดยเฉพาะในยามที่มีการพูดคุยกันระหว่างทีมงานต่างแผนก ซึ่งนอกเหนือจากการที่ทีมงานต่างหน้าที่จะได้เรียนรู้มุมมองของกันและกันแล้ว ยังสามารถนำแนวคิดที่ได้ไปประยุกต์แก้ปัญหาอื่นๆ ในหน้าที่การงานของตัวเองอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่การแข่งขันในเชิงธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กรนั้นทวีความรุนแรงขึ้น บ่อยครั้งที่การระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหากลับกลายเป็นการประชันขันแข่งกันเพื่อให้ไอเดียของตัวเองเป็นใหญ่ รวมถึงกลายเป็นพื้นที่แสดงผลงานหรืออีโก้ของแต่ละคนไปแทนที่จะรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน วัฒนธรรมการ “ฟัง” ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง โดยเริ่มจากผู้นำที่ต้องเป็นทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้ปฏิบัติที่ดีจึงจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จ

เปลี่ยนมุมของการมองปัญหา
ความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะในเวลาที่ธุรกิจติดอยู่ในวังวนของปัญหา ไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะสมได้ หนึ่งในวิธีที่ผู้ประกอบการใช้ได้ผลมากคือการเปลี่ยนมุมมองของคำถาม ตั้งโจทย์ใหม่ให้กับปัญหาเดิม ซึ่งบ่อยครั้งที่วิธีนี้สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และบ่อยครั้งเป็นการจุดชนวนสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆอีกด้วย
ผมขอยกตัวอย่างวิธีที่ผมใช้ประจำในการเพิ่มยอดขาย คือการเปลี่ยนมุมมองของพนักงานขายที่ต้องรับเป้ายอดขายที่ดูเหมือนจะสูงเกินเอื้อมจนทำให้รู้สึกท้อ ให้เป็นจำนวนลูกค้าที่ต้องซื้อต่อเดือน จำนวนลูกค้าที่ต้องเข้าไปเสนองานต่อเดือน จนถึงจำนวนลูกค้าที่ต้องเข้าไปนำเสนอต่อวันอันเป็นตัวเลขที่สามารถทำได้จริงและจับต้องได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างของวิธีการตั้งโจทย์ให้กับปัญหาเดิม โดยเปลี่ยนจาก “ยอดขาย” ให้มาเป็น “จำนวนลูกค้าที่ต้องเสนอ”

ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Cross-Industry
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ Henry Ford ผู้ก่อตั้งรถยนต์ Ford เริ่มต้นธุรกิจ รถยนต์รุ่น T-Model ของเขาเริ่มขายดีมากจนผลิตไม่ทัน Henry Ford ใช้ความคิดและความพยายามอย่างหนักในการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรในโรงงานให้สามารถประกอบรถเสร็จหนึ่งคันได้ในเวลาที่เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการผลิตก็ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร จนกระทั่งเขาได้ไปเห็นวิธีการของโรงงานชำแหละเนื้อที่ใช้ “สายพาน” ในการชำแหละ Henry Ford จึงสามารถคิดค้นระบบ “Assembly Line” ในการประกอบรถยนต์ที่ได้ประสิทธิภาพสูงในเวลาที่จำกัด จนกลายเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก
บางครั้งการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาก็มาจากการที่เราได้ประยุกต์หล่อหลอมประสบการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ยิ่งเรามีความรู้รอบตัวมากเท่าไร ทักษะในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ก็มีมากเท่านั้น บริษัทชั้นนำที่เข้าใจรับทราบถึงความจริงในข้อนี้มักจะส่งเสริมให้บุคลากรของเขามีการทำกิจกรรมหรือเรียนรู้สิ่งที่นอกเหนือจากการทำงานเสมอ

สร้างข้อจำกัดอย่างมีเหตุผล
“Creativity Loves Constraints” ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นเมื่อเราตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อเราสบาย ไม่เร่งรีบ ไม่มีความเดือดร้อน เราก็จะไม่พยายามหรือไม่อาจดึงศักยภาพของเราออกมาได้ทั้งหมด ความคิดสร้างสรรค์ก็เช่นกัน
ผู้ประกอบการ หรือหัวหน้างานที่ดีจึงต้องรู้ถึงความสำคัญของการสร้างข้อจำกัด รวมทั้ง “Sense of Urgency” ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เหมาะสม ข้อจำกัดเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทีมงานระดมสมองใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหามากกว่าหวังพึ่งการแก้ปัญหาด้วยเงินหรือทรัพยากรของบริษัท รวมทั้งความท้าทายที่อยู่ในขอบเขตจะทำให้ทีมงานรู้สึกสนุกตื่นเต้น และมีความกระหายในชัยชนะมากขึ้นอีกด้วย

          ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นวิธีที่สามารถช่วยให้องค์กรมีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งบ่อยครั้งนอกจากจะแก้ปัญหาแล้วยังเป็นที่มาของนวัตกรรมทางด้านธุรกิจและสินค้าใหม่อีกด้วย

ธีระ กนกกาญจนรัตน์
http://www.facebook.com/SMECompass
โดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น