วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทำงานเป็นทีมเวิร์คอย่างไร? ให้เป็นทีมงานที่เเข็งเเกร่ง



          ไม่มีใครสามารถอยู่คนเดียวบนโลกได้ คำพูดนี้สามารถจำแนกออกมาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตได้หลากหลายทางอย่างมากเช่นกัน และหากเราลองนำเอาคำพูดนี้มาจำแนกไปยังการปรับตัวเข้ากับการทำงานด้วย ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเท่านั้น เราเลยต้องคิดให้หนักหน่อยในการที่จะทำงานหรือปฏิบัติงาน การทำงานเป็นทีมและรู้จักรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานด้วยนั้น คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราสามารถยอมรับในความคิดและการตัดสินใจของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงเพื่อนร่วมงานเองก็สามารถยอมรับเราได้ด้วยเช่นกัน


          เราจะสามารถปรับตัวอย่างไรให้เราสามารถยอมรับความคิดและมุมมองต่างๆของเพื่อนร่วมงานของเราได้บ้าง เรามาดูกันเลยในแต่ละข้อ


          การทำโปรเจคต์ใหญ่ไม่มีทางสำเร็จด้วยตัวเองคนเดียว : แม้แต่ผู้บริหารของบริษัทเองแม้พวกเขาจะผ่านร้อนผ่านหนาวและเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่โชกโชนมากขนาดไหน แต่พวกเขาเองก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานได้ด้วยตัวคนเดียว โดยปราศจากที่ปรึกษา หรือทีมฝ่ายบริหารที่จะช่วยระดมสมองในการผลักดันโครงการต่างๆของบริษัทไปได้เช่นกัน การปฏิบัติงานอะไรเพียงคนเดียวโดยที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถที่มากพอนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้คนที่ลงมือไปนั้นจะมารู้สึกเหนื่อยมากกว่าเดิมและอาจจะทำงานอยู่ท่ามกลางสายตาของเพื่อนร่วมงานที่ไม่เป็นมิตร อีกทั้ง โอกาสผิดพลาดเองก็มีโอกาสสูงอย่างมาก

การทำโครงการใหญ่ๆนั้นไม่มีใครที่จะสามารถรับผิดชอบในการทำงานเพียงคนเดียวได้อย่างแน่นอน การทำงานโดยรู้จักขอความช่วยเหลือและหัดทำงานแบบเป็นกลุ่มและเป็นทีม โอกาสที่งานจะสำเร็จโดยเร็วและยังถือว่าประสบความสำเร็จในด้านคุณภาพนั้นจะมีมากกว่าการทำคนเดียวอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างได้อย่างเช่น การพัฒนาเว็บไซต์ขององค์กร นาย A อาจจะมีความสามารถในด้านการพัฒนาเว็บไซต์ด้วยภาษา HTML หรือ PHP แต่ก็ยังไม่มีความสามารถในการใช้ภาษา CSS ที่จะทำให้เว็บไซต์ออกมามีหน้าตาที่น่าสนใจมากขึ้น ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากคนในทีมคือนาย B ที่มีความสามารถด้านนี้ รวมถึงขอให้นาย C ที่มีความสามารถในการเป็น Graphic Designer ช่วยออกแบบทั้งแบนเนอร์ โลโก้ของเว็บไซต์ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น นี่คือความสำคัญของการทำงานเป็นทีม


          ถ้าหากเพื่อนไม่มีความสามารถคงจะไม่มาทำงานกับเราในออฟฟิศเดียวกันได้ : มีคนมากมายที่อีโก้ คิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสามารถถึงได้เข้ามาทำงานในบริษัท หรือองค์กรนั้นๆ แต่ว่าอันที่จริงแล้วนั้น การที่คนอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมงานกับเรา ได้เข้ามาทำงานเดียวกันกับในองค์กรของเราก็ใช่ว่าพวกเขาด้อยความสามารถ ความสามารถของพวกเขาเองก็ไม่ต่างจากเรามากเช่นกัน อยู่ในระดับไล่เลี่ยกับเรา หรืออาจจะสูงกว่าเราก็ได้ เพียงแต่พวกเขาไม่อีโก้และรู้จักถ่อมตัวเท่านั้นเอง เราจึงสมควรจะต้องรับฟังความคิดของคนอื่นด้วยเช่นกัน และมั่นใจในตัวเพื่อนของเราว่า ศักยภาพและความสามารถของพวกเขานั้นจะสามารถผลักดันงานของเราให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน


          อย่าปากหนักในการจะขอความเห็นหรือขอความช่วยเหลือ : คนเราไม่ได้เก่งไปหมดเสียทุกเรื่อง ถ้าหากเราไม่ยึดติดเกี่ยวกับความอีโก้หรือความทะนงตนของตัวเองแล้วนั้น ลองใช้คำพูดดีๆของคุณนั้นขอความช่วยเหลือจากเพื่อนคุณดูบ้าง เผื่อที่จะทำให้ตัวคุณเองนั้นได้รับความคิด แนวทางในการปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงานที่ดีมากขึ้น และอย่าลืมยิ้มตอบหรือกล่าวคำว่า “ขอบคุณ” ก็สามารถทำให้คุณกับเพื่อนร่วมงานนั้น จูนเข้าหากัน ช่วยเหลืองานกันได้ดีมากที่แล้วเช่นกัน


 
ที่มา : smartsme.tv
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปัญหา/อุปสรรคของการทำงานเป็นทีม




ยงยุทธ เกษสาคร (2551 : 191-192) กล่าวถึง อุปสรรคในการทำงานเป็นทีม ดังนี้

1. การพูดจาและตกลงกันไม่ชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นถึงเป้าหมายและบทบาทของทีม รวมทั้งบทบาทของแต่ละคน

2. มีการปกปิดความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงาน และหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหา ทำให้ขาดโอกาสที่จะวิเคราะห์ความผิดพลาดที่ผ่านมา และใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดนั้นสำหรับการขจัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อๆ ไป

3. มีการแข่งขันชิงดีกันระหว่างสมาชิก เมื่อมีการขัดแย้งกันในเรื่องของความคิดเห็นเกิดขึ้นก็มิได้มีการหารือกันในทางที่สร้างสรรค์ หรือผดุงประสิทธิภาพของทีม

4. ไม่ได้มีการประชุมหารือเป็นเครื่องกระตุ้นให้สมาชิกเกิดความรู้สึกผูกพันกับมติของที่ประชุมอย่างแท้จริง ทำให้สมาชิกเกิดความรู้สึกฝืนใจที่ต้องสวมบทบาท หรือปฏิบัติตนตามที่ตกลงกันไว้

5. ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องไม่ได้เป็นไปในทางที่สนับสนุนกันและกัน ต่างคนต่างก็มีปัญหาในการทำงาน ซึ่งวิธีการการปรึกษาหารือกันก็มักจะสวนทางกัน

6. ขาดการวางแนวทาง และหาจังหวะที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ในอันที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าของสมาชิก

7. ขาดความสัมพันธ์อันดีกับทีมอื่น หรือหน่วยงานอื่น ทำให้ทีมนั้นไม่ได้รับความเชื่อถือยกย่อง หัวหน้าทีมเองก็ไม่ได้เป็นลูกทีมที่ดีของทีมในระดับเหนือขึ้นไป

8. ขาดการประเมินผลการทำงานของทีม ซึ่งควรจะทำเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ขาดการทบทวนเป้าหมาย และวิธีการ ซึ่งอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปให้สอดคล้องกับสถานะขององค์การนั้นๆ

เกรียงไกร เที่ยงพร้อม (ม.ป.ป.) ได้กล่าวถึงอุปสรรค 9 ประการของทีมงาน คือความแตกต่างระหว่างบุคลิก (Personality Differences) ดังนี้ 
ความแตกต่างระหว่างบุคคล อาจจะเป็นปัญหาที่สำคัญต่อการประสานงานและการทำงานร่วมกันได้ เพราะเราแต่ละคนอาจจะมีอคติ (Bias) ต่อบุคคลอื่น ซึ่งมีคุณลักษณะหรือบุคลิกภาพที่แตกต่างหรือทำให้เราไม่ชอบใจ ทำให้เราไม่อยากติดต่อสื่อสารหรือทำงานด้วย 


1. การมีส่วนร่วมในงานอย่างไม่เท่าเทียม (Unequal Contributions) 
จะมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันและความสามัคคีของทีม ผู้บริหารก็ต้องยอมรับว่าไม่มีความเสมอภาคอย่างแท้จริงในสังคม ดังนั้นถึงสมาชิกแต่ละคนจะมีส่วนร่วมทำงานไม่เท่ากัน หรือมีความสามารถไม่เท่ากัน แต่เขาก็ควรจะแสดงความตั้งใจและเต็มใจในการเป็นสมาชิก ซึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้าทีมที่จะต้องกำหนด และจัดสรรความรับผิดชอบของสมาชิกอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม 


2. การขาดความรู้สึกมีส่วนร่วม (No Sense of Belonging) 
ทีมในองค์การต่างๆ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากสมาชิกทีทำงานร่วมกันนานพอที่จะรู้จักกัน และมีความเคารพซึ่งกันและกันมากนัก โดยสมาชิกส่วนใหญ่จะมีความจำเป็น ที่จะต้องทำงานร่วมกันตามที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหาร ทำให้สมาชิกขาดความผูกพันและความรู้สึกเป็นเจ้าของทีม จึงไม่ทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงานให้กับทีมอย่างเต็มที่ 


3. ความล้มเหลวในการประเมิน (Failure of Evaluation)
เพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของทีม ผู้ประเมินจะต้องมีความสามารถในการติดตาม ตรวจสอบรายละเอียด และได้รับข้อมูลจากการทำงานเพื่อกำหนดปัญหาและแนวทาง
แก้ไขในอนาคต ซึ่งจะอาศัยความสามารถในการตั้งคำถามให้ตรงประเด็น และค้นหาข้อมูลได้อย่างเจาะลึก โดยเฉพาะกับหัวหน้าทีม 


4. อำนาจของผู้นำ (Power of the Leader)
อาจจะเกิดขึ้นจากการยอมรับของสมาชิก หรือการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ผู้นำจะใช้อำนาจของตนในการผลักดันทีมงานให้ปฏิบัติงานไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยเขาจะต้องรู้จังหวะในการใช้พระเดชพระคุณให้เหมาะสม มิเช่นนั้นจะสร้างปัญหาการไม่ยอมรับ และขาดความเชื่อถือในตัวผู้นำ 


5. การขาดแคลนทางเลือก (To Be of Alternative)
ทีมงานที่มีสมาชิกน้อยเกินไป หรือทีมงานที่มีเอกภาพสูง อาจจะมีข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจจำกัด ดังนั้น เมื่อสมาชิกในทีมต่างรู้สึกพอใจกับแผนงานที่มีอยู่ และต้องการดำเนินงานให้เสร็จตามแผนโดยเร็ว ทำให้ไม่สนใจข้อมูลอื่นๆ และมองข้ามทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ ทำให้การปฏิบัติงานอาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่ได้รับผลตอบแทนที่สูงที่สุด 


6. การปิดบัง (Concealment)
ทีมงานมักประสบความล้มเหลว หากสมาชิกไม่มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างกัน อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โดยสมาชิกจะเก็บงำข้อมูลสำคัญ และ
ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเต็มที่แก่ทีมงาน ทำให้กลุ่มตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งการปิดบังข้อมูลของสมาชิกมักจะมาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 : เกรงว่าจะเป็นการทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่น หรือเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างกันในอนาคต 
ประการที่ 2 : เกิดความรู้สึกที่ว่าหากเงียบไว้จะปลอดภัย หรือพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ทำให้สมาชิกไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลและแสดงความคิดเห็น เพราะเกรงว่าจะเป็นที่สนใจจากบุคคลอื่นและอาจสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น 
ประการที่ 3 : สมาชิกไม่มีความรู้สึกร่วมและไม่สนใจในทีม จึงไม่ใส่ใจที่จะติดตามและแสดงความคิดเห็น โดยเขาจะปฏิบัติงานตามที่ตนได้รับมอบหมาย แต่ไม่สนใจหรือใส่ใจที่จะให้ความร่วมมือกับกลุ่ม 


7. ขาดการวินิจฉัยทีมงาน (Short of Teamwork Diagnosis) 
ในทางปฏิบัติ ทีมงานส่วนใหญ่ต่างมุ่งปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายของตน โดยละเลยการวิเคราะห์และตรวจสอบตนเอง ทำให้ปัญหาต่างๆ ค่อยๆ ก่อตัวและขยายตัวลุกลามขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อทีมงานเริ่มรู้ตัวว่ามีปัญหาก็อาจจะสายเกินไป


8. ขาดการกระจายข่าวสู่ระดับล่าง (Lack of Spreading News to Lower Level)
นอกจากการเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแล้ว การสื่อสารภายในทีมและกับสิ่งแวดล้อม จะมีความสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของทีม ดังนั้น ทีมงานควรประกาศผลการตัดสินใจให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับทราบและทำความเข้าใจ 


เราจะเห็นได้ว่าปัจจัยต่างๆ ที่สร้างความล้มเหลวให้กับทีมงาน มักจะเกิดขึ้นจากปัญหาภายในทีมและเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นทั้งผู้บริหารและสมาชิกในทีมจึงต้องหมั่นติดตามตรวจสอบ และแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีระบบเตือนภัยขั้นต้น อย่าปล่อยให้เรื่องเล็กน้อยลุกลามจนกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และยากแก่การแก้ไข


ผู้เขียน : นายยาเย็น เรืองจรูญศรี
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ด้วย 8 วิธี



          ความคิดสร้างสรรค์... ใครๆ ก็อยากมี เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นของหายาก มากคุณค่า และ (อาจ) ไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด Secret ปักษ์นี้จึงได้พูดคุยกับอาจารย์รัศมี ธันยธร หรือ ครูเอ็ด เจ้าตำรับ Creative Thinking (Creative + Positive) เพื่อหาวิธีปลุกความคิดสร้างสรรค์ให้งอกงามขึ้น

ครูเอ็ดเล่าว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้จากสองส่วนคือ ปัจจัยภายใน หมายถึง การพัฒนาตนเอง และ ปัจจัยภายนอก หมายถึงสภาพแวดล้อมและคนรอบข้าง เพราะถ้าเราได้ทำงานในบรรยากาศที่มีมิตรจิตมิตรใจและเอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เราก็จะเป็นคนที่คิดได้ กล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ ซึ่งการสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์ทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้


1 ไม่ว่า ไม่วิจารณ์ใคร เชื่อไหมว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าออกความเห็นเพราะกลัวว่าพูดไปแล้วจะถูกตอกกลับด้วยคำพูดแรงๆ เช่น "คิดมาได้ยังไง" "คิดเข้าไปได้" "คิดอะไรบ้าๆ" ซึ่งคำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดติดปาก คนพูดอาจพูดไปโดยไม่รู้สึกอะไร แต่คนฟังจะรู้สึกเจ็บปวดมาก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไม่อยากเสนอความคิดเห็น ดังนั้นกติกาข้อแรกของการอยู่ร่วมกันคือ เราจะไม่ว่า ไม่วิจารณ์ ไม่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานแล้วไปตัดสินคนอื่นแม้หลายคนจะบอกว่าการวิจารณ์คือส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดเห็น แต่เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานให้ดีขึ้น ขอให้เราอดใจละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อน


2 ยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน การยอมรับไม่ได้แปลว่าเราคิดเหมือนเพื่อนหรือชอบสิ่งที่เขาทำ แต่หมายความว่าเมื่อเพื่อนพูดอะไรขึ้นมาสักอย่าง แม้ไม่ตรงกับความคิด ความเชื่อของเรา เราก็ต้องไม่เบรคหรือแสดงว่าไม่สนใจในความคิดของเขาหรือเธอเป็นอันขาด


3 พยายามเข้าใจทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ นอกจากจะต้องพยายามเข้าใจความคิดของอีกฝ่าย เรายังต้องพยายามที่จะเข้าใจความรู้สึกของเขาด้วย เช่นเวลาที่เพื่อนร่วมงานมีเรื่องไม่สบายใจมาบ่นให้เราฟัง เราก็ไม่ควรจะเอาแต่บอกว่า "จะบ่นทำไม บ่นไปก็ทุกข์ใจเปล่าๆ" เพราะถ้าเรายังพยายามห้ามไม่ให้เขาเป็นทุกข์ เราก็จะไม่มีทางเข้าใจความกังวลของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดขอให้เราพยายามทำความเข้าใจประหนึ่งเข้าไปนั่งในใจของเขา


4 ให้อิสระ คนแต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกัน แม้จะดื่มน้ำจากแก้วใบเดียวกัน คนหนึ่งอาจบอกว่า อร่อยจัง... ขออีกแก้ว อีกคนอาจบอกว่าน้ำอะไร... รสชาติประหลาด ในขณะที่อีกคนอาจบ้วนทิ้งก็ได้ ซึ่งในการทำงานหรือการใช้ชีวิตก็ตามแต่ เราจะพบว่าคำตอบของปัญหาไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว ในการประชุมแต่ละครั้ง เราอาจจะขอไอเดียจากทุกคน คนละหนึ่งข้อ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสนำเสนอความคิดเห็นได้โดยอิสระ


5 เมตตากันมากๆ คนหลายคนก็ไม่เข้าใจว่าความเมตตาคืออะไร ครูเอ็ดจึงอยากให้เรานึกถึงความเมตตาของพ่อแม่ บางทีพ่อแม่สอนอย่าง ลูกทำอีกอย่าง หรือพ่อแม่ลำบากตรากตรำ ลูกกลับมองไม่เห็น แต่พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร ความเมตตาแท้จริงแล้วเป็นแบบนั้น เราอาจจะไม่เมตตาเพื่อนร่วมงานเท่ากับที่พ่อแม่เมตตาลูก แต่ก็ให้เมตตาเขาให้มากที่สุด บางครั้งแผนงานหรือโครงการที่เพื่อนเสนอมาอาจดูอ่อนด้อย ไร้เดียงสา หรือเขาอาจมีกริยาอาการที่เราบอกตัวเองว่าฉันเลิกทำตั้งแต่ห้าขวบ แต่ก็ขอให้เราเมตตาเขามากๆ ไม่ถือโทษโกรธเคือง และให้อภัยเขา


6 ให้กำลังใจกันเยอะๆ คนไทยส่วนใหญ่เป็นพวก "รักนะแต่ไม่แสดงออก" เวลาใครเสนอไอเดียในห้องประชุม ทั้งๆ ที่เป็นไอเดียที่ดีมาก แต่คนฟังกลับ ไม่ยิ้ม ไม่พยักหน้า ไม่สบตา ปล่อยให้คนพูดเก้อเขินหรืองงว่าฉันทำอะไรผิดไปหรือเปล่า ขืนโดนอย่างนี้บ่อยๆ เขาก็จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ต่อไปไม่ว่าใครเสนอไอเดียอะไรมา ขอให้เราพูดคำว่า "ดีมากเลย" ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไอเดียของเขาเจ๋งมาก แต่คือการให้กำลังใจเขาว่า "ดีเหลือเกินที่เขาพูดมันออกมา... ขอบคุณนะที่บอกให้พวกเราฟัง"


7 แคร์กันมากๆ เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการแคร์กัน ครูเอ็ดได้เล่านิทานเรื่อง "คำถามพระราชา" ให้ฟังว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีพระราชาองค์หนึ่ง พระองค์ทรงมีปุจฉาอยู่สามข้อซึ่งหาคนตอบโดนพระทัยไม่ได้สักที อำมาตย์จึงทูลว่า มีฤาษีบำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขารูปหนึ่งน่าจะตอบได้ พระราชาจึงเสด็จไปหา พอไปถึงก็ทอดพระเนตรเห็นฤาษีนั่งหลับตาอยู่ พระราชาตรัสว่า "เรามีคำถามสามข้อพระฤาษีช่วยตอบหน่อย หนึ่ง เวลาใดสำคัญที่สุด สอง บุคคลใดสำคัญที่สุด และสาม สิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์ควรทำให้กันและกันคืออะไร" ตรัสจบ ฤาษีก็ยังไม่ยอมขยับตัว พระราชาทรงถามซ้ำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สาม กระทั่งตรัสว่าจะถามเป็นครั้งสุดท้าย ถ้ายังไม่ยอมตอบจะลงโทษ ฤาษีก็ลืมตาขึ้น ลุกขึ้นยืนคู่กับพระราชา วันนั้นพระราชาทรงสะพายดาบไปด้วย ฤาษีก็ดึงดาบออกจากฝักแล้วจ่อไปที่พระศอของพระราชา ด้านหลังพระราชาเป็นหุบเหว ฤาษีถามว่า "พระราชาช่วยตอบเราหน่อย เวลาใดสำคัญที่สุด"
พระราชาตอบว่า "เวลานี้"
"ดีมาก บุคคลใดสำคัญที่สุด"
พระราชาตอบว่า "บุคคลที่อยู่ตรงหน้า"
"แล้วสิ่งสำคัญที่มนุษย์ควรทำให้กันและกันคืออะไร"
พระราชาบอกว่า "น่าจะใส่ใจกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่ทำร้ายกัน"
พอพระราชาตรัสจบ ฤาษีก็คืนดาบแล้วกลับมานั่งหลับตาเช่นเดิม... นิทานจบลงเพียงเท่านี้
ทุกวันนี้เมื่ออยู่ที่ออฟฟิศ เรามักห่วงที่บ้าน เมื่ออยู่ที่บ้าน เรามักห่วงที่ทำงาน โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า เราคุยโทรศัพท์เกือบตลอดเวลา เราแชทผ่านอินเตอร์เน็ต เราแคร์คนได้ทั้งโลกยกเว้นคนที่อยู่ตรงหน้า ทั้งที่ความจริงแล้วเมื่ออยู่กับใคร เราก็ควรใส่ใจคนคนนั้นให้มากที่สุด เพราะถ้าเราแคร์กันมากพอ ความขัดแย้งจะลดลงทันที


8 ฟังคนอื่นให้จบ ครั้งหนึ่งดอกเตอร์เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์เดินทางมาที่เมืองไทย ผู้สื่อข่าวถามว่า "คุณสอนเรื่องการคิด (Thinking) นี่ไม่ตลกเหรอ เพราะคนเราคิดตลอดเวลาอยู่แล้ว" ดอกเตอร์เดอ โบโนตอบว่า "we don't think, we just react". (เราไม่ได้คิด จริงๆ เราแค่โต้ตอบไปอย่างนั้น)
ข้อสุดท้ายนี้มีไว้เพื่อเตือนใจคนที่เพียงแค่ได้ยิน "ชื่อ" ของคนที่ไม่ชอบ หรือได้ยิน "หัวข้อ" ที่ตนรังเกียจก็จะปฏิเสธไม่รับฟังทันที การสนองตอบเช่นนี้สามารถทำลายบรรยากาศดีๆ ได้ในพริบตา คนกลุ่มนี้จึงควรต้องบอกตัวเองให้ฟังคนอื่นพูดให้จบก่อน แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก แต่ก็คุ้มค่าที่จะฝึกฝนเพราะเมื่อเราฟังคนอื่น คนอื่นก็จะฟังเราเช่นกัน


        กติกาทั้ง 8 ข้อนี้ เป็นเหมือนหลักยึดเหนี่ยวให้เราได้เตือนตัวเองว่า ต่อไปนี้เราจะทำงานและใช้เวลาร่วมกับใครก็ตาม"อย่างสร้างสรรค์" เพื่อทั้งเราและคนรอบข้างจะได้เติบโตไปด้วยกัน หากนำกฎเหล่านี้ไปใช้ในที่ทำงาน เราก็จะมีออฟฟิศที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอันอบอุ่น และเมื่อมีปัญหาทุกคนก็จะได้ร่วมกันแก้ไขและปรึกษากันอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด และหากนำไปประยุกต์ใช้ในครอบครัว... บ้านก็จะกลายเป็นสรวงสรรค์
ผลลัพธ์... รับประกัน
- คนที่ไม่กล้าคิดจะเริ่มมีกำลังใจ
- คนที่คิดออกแต่ไม่กล้าพูดจะกล้าพูด
- คนที่ไม่เคยคิดว่าอยากจะฟังความคิดของใครจะเริ่มสนุกกับการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
- คนที่รู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องน่าเบื่อจะรู้สึกสนุกกับการทำงานแบบทีมเวิร์ค
สุดท้าย ทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


 
ขอบคุณเนื้อหาโดย : นิตยสาร Secret
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

4 ขั้นตอน ผลิตความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

         

          ความคิดสร้างสรรค์ คำที่ฟังดูดี มีคุณค่า แต่ยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานรูปแบบเดิมๆ ไปทุกวันๆ หรือกระทั่งผู้ผลิตงานศิลปะที่วันหนึ่งอาจจะเกิดสมองตื้อ ไม่สามารถผลิตผลงานออกมาได้ตามเวลาที่สมควร

          การผลิตความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนนั้นก็มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป และในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน บางคนอาจจะนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ ก็คิดขึ้นมาได้ แต่บางคนอาจจะใช้วิธีนั่งสมาธิเลียนแบบอิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญาในการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ช่วยให้เกิดปัญญาในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาก็เป็นได้

          แต่ในวันนี้จะนำเอาวิธีสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่โค้ชชื่อดังในต่างประเทศอย่าง แอนนาเบล แอคตัน นำเสนอไว้ ที่เรียกว่า A Beautiful Constraint มาให้เรียนรู้กัน โดยเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของสมองในช่วงเวลาที่ต้องการการสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

       วิธีการของแอคตัน มีอยู่ด้วยกัน 4 แนวทาง ซึ่งจะนำไปใช้ประกอบกัน หรือจะเลือกใช้ในสถานการณ์ใดๆ ที่เหมาะสมก็ย่อมทำได้
  
        เริ่มจากการเปลี่ยนคำว่า "ทำไม่ได้" ให้เป็น "ถ้าฉันทำได้" ในช่วงที่สมองตื้อคิดหาหนทางไม่ออก การคิดในแนวทางปกติจากศูนย์ไปถึงสิบ อาจจะเห็นแต่ทางตัน แต่ถ้าในทางกลับกัน ถ้าเราคิดว่าถ้าเราเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ได้ในปลายทางแล้ว เราก็จะค้นหาขั้นตอนการทำจากศูนย์ไปถึงสิบได้ตามไปด้วย เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างปีติ เช่น ผู้ที่ต้องการเขียนหนังสือ แต่เชื่อว่าตนเองไม่มีพื้นฐานในการเขียนหนังสือ ให้ลองจินตนาการว่าถ้าตนเองเป็นนักเขียนที่เก่ง มีประสบการณ์มากมาย จะเขียนหนังสือออกมาเช่นใด มีการดำเนินเรื่องราวเช่นใด เรียกว่าใช้ทางลัดไปสู่เป้าหมายก่อนที่จะมาสร้างขั้นตอนในการทำไปสู่เป้าหมายอีกทีหนึ่ง

          แนวทางที่สอง คือการคิดถึงหนทางใหม่ๆ ในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือการสนับสนุนในการทำงาน รวมทั้งผู้สนับสนุนรายใหม่ๆ หรือผู้ที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่นในกรณีของบริษัท โคลาไลฟ์ ที่ต้องการนำเอาเวชภัณฑ์ช่วยชีวิตพลเรือนในแอฟริกาไปให้ถึงมือคนที่อยู่ห่างไกลในกาฬทวีป แต่ขาดเครือข่ายในการจัดส่ง บริษัทแห่งนี้ก็นึกถึงการทำงานร่วมกับโคคา โคลา ผู้ผลิตน้ำอัดลมระดับโลกที่ทั้งมีศักยภาพในทางเครือข่ายและมีชื่อเสียงในวงกว้าง นำเสนอโครงการร่วมกันรณรงค์การระดมทุนสนับสนุนโครงการจัดซื้อเวชภัณฑ์ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยผลที่ได้คือการตอบรับจากอาสาสมัคร 10,000 คนที่นำโครงการไปขยายเพิ่มเติมในแต่ละประเทศ และที่สุดแล้ว โคลาไลฟ์ ก็ได้รับการสนับสนุนด้านเครือข่ายการกระจายเวชภัณฑ์ไปยังชาวกาฬทวีปที่ห่างไกล

         แนวทางที่สาม คือการตั้งคำถามที่เป็นไปไม่ได้ ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์นั้นการตั้งคำถามที่เป็นไปไม่ได้นั้นเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญ ที่ก่อให้เกิดกระบวนการคิด และแก้ไข ในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน โดยการเริ่มตั้งคำถามควรเริ่มจากปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ตั้งคำถามก่อน แล้วค่อยๆ หาคำตอบที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในวงกว้างมากขึ้นๆ ต่อไป

          ตัวอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบในแนวทางนี้คือ ร้านอาหารไทยที่ชื่อ "ดี๊ ด้า" (Dee Daa) ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ต้องการแสดงตัวตนของเอกลักษณ์อาหารไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมอเมริกัน แต่ก็ติดปัญหาที่ว่างบประมาณในการทำโฆษณามีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถซื้อพื้นที่สื่อหลัก (เช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์) ได้ เจ้าของร้านเลยกลับมาคิดถึงว่าจะสร้างกระแสให้เกิดการบอกเล่าแบบปากต่อปากจากลูกค้าคนหนึ่งถึงว่าที่ลูกค้าอีกหลายๆ คนได้อย่างไร ทีมงานของร้านเลยคิดแนวทางการโฆษณาโดยอาศัยเอกลักษณ์เล็กๆ ของคนไทยในสมัยก่อนนั่นคือ การผูกปิ่นโตอาหาร เป็นเอกลักษณ์ของทางร้าน มีการเสิร์ฟอาหารในปิ่นโตเป็นเถาๆ ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้านได้สัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่ ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดี ลูกค้าจึงทำหน้าที่เป็นสื่อ (ที่ทางร้านไม่ต้องเสียเงินซื้อ) ไปยังว่าที่ลูกค้าคนอื่นๆ ต่อไป โดยอาศัย "ปิ่นโต" เป็นหัวข้อในการพูดคุยนั่นเอง

         แนวทางสุดท้าย คือการกดดันตัวเอง ถ้าเราจะสังเกตดีๆ จะเห็นว่าการทำงานในหลายต่อหลายครั้งที่ต้องเร่งทำในช่วงเวลาที่จำกัด หรือใกล้เส้นตาย หรือมีทรัพยากรน้อย จะทำให้เราค้นหาความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และมีแรงกระตุ้นในการทำงานได้ดีกว่าในช่วงเวลาปกติ สบายๆ

        ผู้เขียนแนะนำไว้ว่าถ้าต้องการสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ลองจำกัดตัวเองด้วยการกำหนดวงเงินในการใช้จ่าย เวลา หรือตั้งเงื่อนไขกับตัวเองที่จะไม่ละเมิดเกินขอบเขตใดๆ ที่เป็นแรงกดดันให้กับตัวเอง เช่นนี้แล้วความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นมาได้ไม่ยาก


ขอบคุณข้อมูลจาก : นสพ.คมชัดลึก
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

45 คำสอน สร้างทีมงานให้เป็นแชมเปี้ยน โดย แบลร์ ซิงเกอร์ (ตอนจบ)



          หลังจากที่ได้เสนอ 22 คำสอน สร้างทีมงานให้เป็นแชมเปี้ยน โดย แบลร์ ซิงเกอร์ (ตอนที่แรก) ไปเเล้ว วันนี้ผมจะนำเสนอข้อที่เหลือให้ครบครับ มาเริ่มกันเลย...

23. คุณสมบัติของสมาชิกที่ดี ที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ระดับแชมเปี้ยน
          1. พลังความมุ่งมั่น ที่อยากได้ชัยชนะอย่างแท้จริง
          2. ความต้องการชัยชนะ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
          3. พร้อมให้คนอื่นเป็นฝ่ายชนะ แฟร์เกมส์
          4. เป็นคนมีความรับผิดชอบ ไม่โทษคนอื่น ไม่หาข้ออ้าง
          5. พร้อมทำตามกฎ โดยไม่มีข้อโต้แย้ง
          6. มีความสามารถเฉพาะด้าน ได้ทำงานในด้านที่ตัวเองถนัด
24. กุญแจสู่ความล้มเหลวของทีม คือ การที่คุณพยายามเอาใจคนทุกคน

25. กฎแห่งเกียรติยศ จะต้องสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกันเอง คุณต้องอธิบายให้ทีมงานเข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนในทีมเข้าใจตรงกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง เพราะการตีความต่างกัน

26. กฎของเจ้านาย คือ ทำทุกอย่างเพื่อให้งานนั้นเสร็จ ไม่ว่าได้เงิน หรือ ไม่ได้เงินก็ตาม

27. กฎของพนักงาน คือ ทำทุกอย่างเพื่อให้งานนั้นเสร็จ ในเวลา 9-to-5 ถ้าเกินนั้น จ่าย OT มาซะดีๆ

28. กุญแจสู่ความสำเร็จของทีม คือ สมาชิกทุกคนในทีม ได้ทำงานตามจุดแข็งของตัวเอง

29. หลักคิดในการเลือกหุ้นส่วนธุรกิจของทีมพ่อรวย คือ เลือกคนที่มีความสามารถเฉพาะตัว มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การตลาด การขาย หุ้น จิตวิทยา การตลาดออนไลน์ การวางแผนการเงิน เพราะจะช่วยเสริมกันและกัน ทำให้สินค้าหรือบริการมีมูลค่าสูง และมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น

30. องค์ประกอบที่ช่วยให้การสื่อสารในทีมมีประสิทธิภาพ คือ
          1. สนใจใส่ใจผู้ร่วมทีม ในการสื่อสารทุกครั้ง
          2. พูดจาภาษาเดียวกัน พูดเรื่องที่เขากำลังคิด
          3. สรุปสั้น ชัดเจน ตรงประเด็น
          4. ทวนซ้ำ สิ่งที่อีกฝ่ายพูด เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

31. คุณมี กฎแห่งเกียรติยศ ของตัวเองหรือยัง ถ้ายัง หาที่สงบๆ นั่งเขียน กฎแห่งเกียรติยศ ที่สำคัญกับชีวิตคุณจริงๆ กฎที่จะพาคุณขึ้นไปเป็นแชมเปี้ยน ทั้งเรื่องงาน เงิน ความสัมพันธ์ ความรัก ครอบครัว สุขภาพ พัฒนาตัวเอง ธุรกิจส่วนตัว ทีมงาน

32. ความต้องการเป็นแชมเปี้ยนของคุณอยู่ระดับไหน 1-6
          1. น่าสน = ไม่มีกฎแห่งเกียรติยศ
          2. ได้ก็ดี = คุณไม่ได้อยากได้จริงๆ
          3. อยากได้ = เริ่มตั้งกฏแห่งเกียรติยศ
          4. จะเอาให้ได้ = รองอันดับ 2
          5. ต้องได้ = รองอันดับ 1
          6. ฉันเท่านั้นที่คู่ควร = แชมเปี้ยน (กฎแห่งเกียรติยศชัดเจน)

33. กฎแห่งเกียรติยศ จะเป็นเครื่องมือบอกคุณว่า เมื่อไหร่ที่คุณเข้าสู่สภาวะ Comfort Zone โซนสบายปลอดภัย ไร้กังวล ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกต่อไป นั่นแสดงว่าถึงเวลาที่คุณ ต้องค้นหาความท้าทายครั้งใหม่ให้ชีวิต

34. วิธีบังคับใช้กฎ เพื่อนำทีมไปสู่มาตรฐาน ระดับแชมเปี้ยน คือ การตรวจสอบกฎอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างเช่น
          - สายการบิน มีกฎรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ทำให้ได้รับรางวัล สายการบินดีเด่น 3 ปีซ้อน
          - ทหาร มีกฎห้ามทิ้งเพื่อนในสงคราม ทำให้ทุกคนรบชนะ และรอดตายได้ในที่สุด
          - ร้านอาหารฟาสต์ฟู๊ด มีกฎลูกค้าต้องได้รับอาหารที่สั่ง ภายใน 3 นาที คนที่รักษามาตรฐานได้ เป็นพนักงานดีเด่น
          - เทรนเนอร์ฟิตเนส มีกฎถ้าคุณอยาก หุ่นดี ฟิตเฟิร์ม สวยออร่าดารา คุณต้องทำตามทุกอย่างที่ผมบอก
          - ประเทศหนึ่ง มีกฎห้ามทิ้งขยะบนถนน ฝ่าฝืนโดนประจานลงหนังสือพิมพ์ โดนปรับ ทำให้อับอาย เสียชื่อเสียง
          - ทีมฟุตบอล มีกฎตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา โอกาสชนะเป็นของเราเสมอ จงสู้ให้ถึงที่สุด
          - สามีภรรยา มีกฎถ้าทะเลาะกัน ต้องปรับความเข้าใจกันทันที ห้ามปล่อยข้ามวันเด็ดขาด
          - กฎของบ้าน ให้เด็กๆเล่นเกมส์ได้วันละ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นทำการบ้าน อ่านหนังสือ พักผ่อน

35. ถ้าคุณต้องการเป็นทีมระดับแชมเปี้ยน คำว่า ‘ดี’ ถือว่าแพ้ …ถ้าแน่จริงต้อง ‘ดีที่สุด’

36. การบ้าอำนาจ หรือ มีกฎมากเกินไปของผู้นำทีม จนคนในทีมรู้สึกอึดอัด เครียด ขาดความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้ทีมทำงานด้วยความผิดพลาด ไม่มีความภาคภูมิใจในงาน ไม่มั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจ หรือ ทำอะไรใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม

37. คุณเป็นคนตั้งกฎ คุณต้องยึดมั่นในกฎ และทำทุกอย่างตามกฎ แต่ถ้าคุณเป็นผู้ที่ทำผิดกฎซะเอง จงยอมรับความจริงต่อหน้าทีมงาน ครอบครัว ภรรยา ลูก และตัวคุณเอง พร้อมกล่าวขอโทษ คุณจะแก้ไขปรับปรุงในส่วนนั้น เพื่อไม่ให้ทำผิดกฎซ้ำสอง เมื่อคุณทำแบบนั้น ทุกคนจะเชื่อถือคุณ และเห็นความสำคัญของการ ตรวจสอบกฎอย่างสม่ำเสมอ

38. ทักษะการเป็นผู้นำทีมที่ยอดเยี่ยม คือ
          1. สามารถดึงจุดแข็งของทีมงานแต่ละคนออกมาได้
          2. สามารถสอน คนในทีมให้ประสบความสำเร็จได้
          3. สามารถเปลี่ยนความผิดพลาด ความกลัว ให้เป็นพลังของทีมได้

39. ผู้นำที่ดี จะรู้วิธีใช้ความผิดพลาดเพื่อสร้างพลังให้กับทีม ผู้นำที่แย่ จะเอาความผิดพลาดมาเป็นเครื่องมือในการทำลายทีม

40. วิธีเปลี่ยนข้อผิดพลาด เปลี่ยนปัญหา เปลี่ยนอุปสรรค ให้เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ (ใช้ได้ทุกอาชีพ)
          1. เมื่อเกิดปัญหา ให้ถามตัวเองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร
          2. อะไรบ้างที่ทำแล้ว Work 1… 2… 3…
          3. อะไรบ้างที่ทำแล้วไม่ Work 1… 2… 3…
          4. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณได้บทเรียนอะไรบ้าง
          5. ถ้ามัน Work คุณจะทำอะไรให้ดียิ่งขึ้นไปอีก 1… 2… 3…
          6. ถ้าไม่ Work คุณจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพื่อแก้ไขให้มันดีขึ้น 1… 2… 3…

41. คุณควรสอนให้ทีมงานของคุณ รู้จักการเฉลิมฉลองกับความสำเร็จเล็กๆ เพราะมันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

42. ทุกคนสามารถเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณลงมือทำ ในสิ่งที่คุณถนัดที่สุด ชอบที่สุด เชี่ยวชาญที่สุด คุณจะเป็นผู้นำในสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ และผู้คนจะตามคุณ เพื่อเรียนรู้สิ่งที่คุณเป็นผู้นำ

43. วิธีสร้างพลังให้ทีมงาน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว คือ การจับมือ ปรบมือ แตะบ่า โอบไหล่ การกล่าวขอบคุณ กล่าวชื่นชมด้วยความจริงใจ

44. คำวิจารณ์ในยามที่คุณฝึกหัด จะเหมือนดั่งยาขมผสมยาพิษ คำวิจารณ์ในยามที่คุณฮอตฮิต จะเหมือนดั่งมดตัวนิดที่คิดทำอะไรคุณไม่ได้เลย

45. ศัตรูตัวฉกาจที่มักจะทำลาย กฎแห่งเกียรติยศ ก็คือ ตัวคุณเอง


Credit : blairsinger.com/ ที่มา : leaderwings.co
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก