วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ด้วย 8 วิธี



          ความคิดสร้างสรรค์... ใครๆ ก็อยากมี เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นของหายาก มากคุณค่า และ (อาจ) ไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด Secret ปักษ์นี้จึงได้พูดคุยกับอาจารย์รัศมี ธันยธร หรือ ครูเอ็ด เจ้าตำรับ Creative Thinking (Creative + Positive) เพื่อหาวิธีปลุกความคิดสร้างสรรค์ให้งอกงามขึ้น

ครูเอ็ดเล่าว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้จากสองส่วนคือ ปัจจัยภายใน หมายถึง การพัฒนาตนเอง และ ปัจจัยภายนอก หมายถึงสภาพแวดล้อมและคนรอบข้าง เพราะถ้าเราได้ทำงานในบรรยากาศที่มีมิตรจิตมิตรใจและเอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เราก็จะเป็นคนที่คิดได้ กล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ ซึ่งการสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์ทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้


1 ไม่ว่า ไม่วิจารณ์ใคร เชื่อไหมว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าออกความเห็นเพราะกลัวว่าพูดไปแล้วจะถูกตอกกลับด้วยคำพูดแรงๆ เช่น "คิดมาได้ยังไง" "คิดเข้าไปได้" "คิดอะไรบ้าๆ" ซึ่งคำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดติดปาก คนพูดอาจพูดไปโดยไม่รู้สึกอะไร แต่คนฟังจะรู้สึกเจ็บปวดมาก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไม่อยากเสนอความคิดเห็น ดังนั้นกติกาข้อแรกของการอยู่ร่วมกันคือ เราจะไม่ว่า ไม่วิจารณ์ ไม่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานแล้วไปตัดสินคนอื่นแม้หลายคนจะบอกว่าการวิจารณ์คือส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดเห็น แต่เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานให้ดีขึ้น ขอให้เราอดใจละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อน


2 ยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน การยอมรับไม่ได้แปลว่าเราคิดเหมือนเพื่อนหรือชอบสิ่งที่เขาทำ แต่หมายความว่าเมื่อเพื่อนพูดอะไรขึ้นมาสักอย่าง แม้ไม่ตรงกับความคิด ความเชื่อของเรา เราก็ต้องไม่เบรคหรือแสดงว่าไม่สนใจในความคิดของเขาหรือเธอเป็นอันขาด


3 พยายามเข้าใจทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ นอกจากจะต้องพยายามเข้าใจความคิดของอีกฝ่าย เรายังต้องพยายามที่จะเข้าใจความรู้สึกของเขาด้วย เช่นเวลาที่เพื่อนร่วมงานมีเรื่องไม่สบายใจมาบ่นให้เราฟัง เราก็ไม่ควรจะเอาแต่บอกว่า "จะบ่นทำไม บ่นไปก็ทุกข์ใจเปล่าๆ" เพราะถ้าเรายังพยายามห้ามไม่ให้เขาเป็นทุกข์ เราก็จะไม่มีทางเข้าใจความกังวลของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดขอให้เราพยายามทำความเข้าใจประหนึ่งเข้าไปนั่งในใจของเขา


4 ให้อิสระ คนแต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกัน แม้จะดื่มน้ำจากแก้วใบเดียวกัน คนหนึ่งอาจบอกว่า อร่อยจัง... ขออีกแก้ว อีกคนอาจบอกว่าน้ำอะไร... รสชาติประหลาด ในขณะที่อีกคนอาจบ้วนทิ้งก็ได้ ซึ่งในการทำงานหรือการใช้ชีวิตก็ตามแต่ เราจะพบว่าคำตอบของปัญหาไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว ในการประชุมแต่ละครั้ง เราอาจจะขอไอเดียจากทุกคน คนละหนึ่งข้อ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสนำเสนอความคิดเห็นได้โดยอิสระ


5 เมตตากันมากๆ คนหลายคนก็ไม่เข้าใจว่าความเมตตาคืออะไร ครูเอ็ดจึงอยากให้เรานึกถึงความเมตตาของพ่อแม่ บางทีพ่อแม่สอนอย่าง ลูกทำอีกอย่าง หรือพ่อแม่ลำบากตรากตรำ ลูกกลับมองไม่เห็น แต่พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร ความเมตตาแท้จริงแล้วเป็นแบบนั้น เราอาจจะไม่เมตตาเพื่อนร่วมงานเท่ากับที่พ่อแม่เมตตาลูก แต่ก็ให้เมตตาเขาให้มากที่สุด บางครั้งแผนงานหรือโครงการที่เพื่อนเสนอมาอาจดูอ่อนด้อย ไร้เดียงสา หรือเขาอาจมีกริยาอาการที่เราบอกตัวเองว่าฉันเลิกทำตั้งแต่ห้าขวบ แต่ก็ขอให้เราเมตตาเขามากๆ ไม่ถือโทษโกรธเคือง และให้อภัยเขา


6 ให้กำลังใจกันเยอะๆ คนไทยส่วนใหญ่เป็นพวก "รักนะแต่ไม่แสดงออก" เวลาใครเสนอไอเดียในห้องประชุม ทั้งๆ ที่เป็นไอเดียที่ดีมาก แต่คนฟังกลับ ไม่ยิ้ม ไม่พยักหน้า ไม่สบตา ปล่อยให้คนพูดเก้อเขินหรืองงว่าฉันทำอะไรผิดไปหรือเปล่า ขืนโดนอย่างนี้บ่อยๆ เขาก็จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ต่อไปไม่ว่าใครเสนอไอเดียอะไรมา ขอให้เราพูดคำว่า "ดีมากเลย" ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไอเดียของเขาเจ๋งมาก แต่คือการให้กำลังใจเขาว่า "ดีเหลือเกินที่เขาพูดมันออกมา... ขอบคุณนะที่บอกให้พวกเราฟัง"


7 แคร์กันมากๆ เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการแคร์กัน ครูเอ็ดได้เล่านิทานเรื่อง "คำถามพระราชา" ให้ฟังว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีพระราชาองค์หนึ่ง พระองค์ทรงมีปุจฉาอยู่สามข้อซึ่งหาคนตอบโดนพระทัยไม่ได้สักที อำมาตย์จึงทูลว่า มีฤาษีบำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขารูปหนึ่งน่าจะตอบได้ พระราชาจึงเสด็จไปหา พอไปถึงก็ทอดพระเนตรเห็นฤาษีนั่งหลับตาอยู่ พระราชาตรัสว่า "เรามีคำถามสามข้อพระฤาษีช่วยตอบหน่อย หนึ่ง เวลาใดสำคัญที่สุด สอง บุคคลใดสำคัญที่สุด และสาม สิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์ควรทำให้กันและกันคืออะไร" ตรัสจบ ฤาษีก็ยังไม่ยอมขยับตัว พระราชาทรงถามซ้ำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สาม กระทั่งตรัสว่าจะถามเป็นครั้งสุดท้าย ถ้ายังไม่ยอมตอบจะลงโทษ ฤาษีก็ลืมตาขึ้น ลุกขึ้นยืนคู่กับพระราชา วันนั้นพระราชาทรงสะพายดาบไปด้วย ฤาษีก็ดึงดาบออกจากฝักแล้วจ่อไปที่พระศอของพระราชา ด้านหลังพระราชาเป็นหุบเหว ฤาษีถามว่า "พระราชาช่วยตอบเราหน่อย เวลาใดสำคัญที่สุด"
พระราชาตอบว่า "เวลานี้"
"ดีมาก บุคคลใดสำคัญที่สุด"
พระราชาตอบว่า "บุคคลที่อยู่ตรงหน้า"
"แล้วสิ่งสำคัญที่มนุษย์ควรทำให้กันและกันคืออะไร"
พระราชาบอกว่า "น่าจะใส่ใจกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่ทำร้ายกัน"
พอพระราชาตรัสจบ ฤาษีก็คืนดาบแล้วกลับมานั่งหลับตาเช่นเดิม... นิทานจบลงเพียงเท่านี้
ทุกวันนี้เมื่ออยู่ที่ออฟฟิศ เรามักห่วงที่บ้าน เมื่ออยู่ที่บ้าน เรามักห่วงที่ทำงาน โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า เราคุยโทรศัพท์เกือบตลอดเวลา เราแชทผ่านอินเตอร์เน็ต เราแคร์คนได้ทั้งโลกยกเว้นคนที่อยู่ตรงหน้า ทั้งที่ความจริงแล้วเมื่ออยู่กับใคร เราก็ควรใส่ใจคนคนนั้นให้มากที่สุด เพราะถ้าเราแคร์กันมากพอ ความขัดแย้งจะลดลงทันที


8 ฟังคนอื่นให้จบ ครั้งหนึ่งดอกเตอร์เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์เดินทางมาที่เมืองไทย ผู้สื่อข่าวถามว่า "คุณสอนเรื่องการคิด (Thinking) นี่ไม่ตลกเหรอ เพราะคนเราคิดตลอดเวลาอยู่แล้ว" ดอกเตอร์เดอ โบโนตอบว่า "we don't think, we just react". (เราไม่ได้คิด จริงๆ เราแค่โต้ตอบไปอย่างนั้น)
ข้อสุดท้ายนี้มีไว้เพื่อเตือนใจคนที่เพียงแค่ได้ยิน "ชื่อ" ของคนที่ไม่ชอบ หรือได้ยิน "หัวข้อ" ที่ตนรังเกียจก็จะปฏิเสธไม่รับฟังทันที การสนองตอบเช่นนี้สามารถทำลายบรรยากาศดีๆ ได้ในพริบตา คนกลุ่มนี้จึงควรต้องบอกตัวเองให้ฟังคนอื่นพูดให้จบก่อน แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก แต่ก็คุ้มค่าที่จะฝึกฝนเพราะเมื่อเราฟังคนอื่น คนอื่นก็จะฟังเราเช่นกัน


        กติกาทั้ง 8 ข้อนี้ เป็นเหมือนหลักยึดเหนี่ยวให้เราได้เตือนตัวเองว่า ต่อไปนี้เราจะทำงานและใช้เวลาร่วมกับใครก็ตาม"อย่างสร้างสรรค์" เพื่อทั้งเราและคนรอบข้างจะได้เติบโตไปด้วยกัน หากนำกฎเหล่านี้ไปใช้ในที่ทำงาน เราก็จะมีออฟฟิศที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอันอบอุ่น และเมื่อมีปัญหาทุกคนก็จะได้ร่วมกันแก้ไขและปรึกษากันอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด และหากนำไปประยุกต์ใช้ในครอบครัว... บ้านก็จะกลายเป็นสรวงสรรค์
ผลลัพธ์... รับประกัน
- คนที่ไม่กล้าคิดจะเริ่มมีกำลังใจ
- คนที่คิดออกแต่ไม่กล้าพูดจะกล้าพูด
- คนที่ไม่เคยคิดว่าอยากจะฟังความคิดของใครจะเริ่มสนุกกับการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
- คนที่รู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องน่าเบื่อจะรู้สึกสนุกกับการทำงานแบบทีมเวิร์ค
สุดท้าย ทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


 
ขอบคุณเนื้อหาโดย : นิตยสาร Secret
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น