วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

4 ขั้นตอน ผลิตความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

         

          ความคิดสร้างสรรค์ คำที่ฟังดูดี มีคุณค่า แต่ยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานรูปแบบเดิมๆ ไปทุกวันๆ หรือกระทั่งผู้ผลิตงานศิลปะที่วันหนึ่งอาจจะเกิดสมองตื้อ ไม่สามารถผลิตผลงานออกมาได้ตามเวลาที่สมควร

          การผลิตความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนนั้นก็มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป และในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน บางคนอาจจะนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ ก็คิดขึ้นมาได้ แต่บางคนอาจจะใช้วิธีนั่งสมาธิเลียนแบบอิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญาในการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ช่วยให้เกิดปัญญาในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาก็เป็นได้

          แต่ในวันนี้จะนำเอาวิธีสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่โค้ชชื่อดังในต่างประเทศอย่าง แอนนาเบล แอคตัน นำเสนอไว้ ที่เรียกว่า A Beautiful Constraint มาให้เรียนรู้กัน โดยเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของสมองในช่วงเวลาที่ต้องการการสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

       วิธีการของแอคตัน มีอยู่ด้วยกัน 4 แนวทาง ซึ่งจะนำไปใช้ประกอบกัน หรือจะเลือกใช้ในสถานการณ์ใดๆ ที่เหมาะสมก็ย่อมทำได้
  
        เริ่มจากการเปลี่ยนคำว่า "ทำไม่ได้" ให้เป็น "ถ้าฉันทำได้" ในช่วงที่สมองตื้อคิดหาหนทางไม่ออก การคิดในแนวทางปกติจากศูนย์ไปถึงสิบ อาจจะเห็นแต่ทางตัน แต่ถ้าในทางกลับกัน ถ้าเราคิดว่าถ้าเราเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ได้ในปลายทางแล้ว เราก็จะค้นหาขั้นตอนการทำจากศูนย์ไปถึงสิบได้ตามไปด้วย เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างปีติ เช่น ผู้ที่ต้องการเขียนหนังสือ แต่เชื่อว่าตนเองไม่มีพื้นฐานในการเขียนหนังสือ ให้ลองจินตนาการว่าถ้าตนเองเป็นนักเขียนที่เก่ง มีประสบการณ์มากมาย จะเขียนหนังสือออกมาเช่นใด มีการดำเนินเรื่องราวเช่นใด เรียกว่าใช้ทางลัดไปสู่เป้าหมายก่อนที่จะมาสร้างขั้นตอนในการทำไปสู่เป้าหมายอีกทีหนึ่ง

          แนวทางที่สอง คือการคิดถึงหนทางใหม่ๆ ในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือการสนับสนุนในการทำงาน รวมทั้งผู้สนับสนุนรายใหม่ๆ หรือผู้ที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่นในกรณีของบริษัท โคลาไลฟ์ ที่ต้องการนำเอาเวชภัณฑ์ช่วยชีวิตพลเรือนในแอฟริกาไปให้ถึงมือคนที่อยู่ห่างไกลในกาฬทวีป แต่ขาดเครือข่ายในการจัดส่ง บริษัทแห่งนี้ก็นึกถึงการทำงานร่วมกับโคคา โคลา ผู้ผลิตน้ำอัดลมระดับโลกที่ทั้งมีศักยภาพในทางเครือข่ายและมีชื่อเสียงในวงกว้าง นำเสนอโครงการร่วมกันรณรงค์การระดมทุนสนับสนุนโครงการจัดซื้อเวชภัณฑ์ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยผลที่ได้คือการตอบรับจากอาสาสมัคร 10,000 คนที่นำโครงการไปขยายเพิ่มเติมในแต่ละประเทศ และที่สุดแล้ว โคลาไลฟ์ ก็ได้รับการสนับสนุนด้านเครือข่ายการกระจายเวชภัณฑ์ไปยังชาวกาฬทวีปที่ห่างไกล

         แนวทางที่สาม คือการตั้งคำถามที่เป็นไปไม่ได้ ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์นั้นการตั้งคำถามที่เป็นไปไม่ได้นั้นเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญ ที่ก่อให้เกิดกระบวนการคิด และแก้ไข ในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน โดยการเริ่มตั้งคำถามควรเริ่มจากปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ตั้งคำถามก่อน แล้วค่อยๆ หาคำตอบที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในวงกว้างมากขึ้นๆ ต่อไป

          ตัวอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบในแนวทางนี้คือ ร้านอาหารไทยที่ชื่อ "ดี๊ ด้า" (Dee Daa) ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ต้องการแสดงตัวตนของเอกลักษณ์อาหารไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมอเมริกัน แต่ก็ติดปัญหาที่ว่างบประมาณในการทำโฆษณามีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถซื้อพื้นที่สื่อหลัก (เช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์) ได้ เจ้าของร้านเลยกลับมาคิดถึงว่าจะสร้างกระแสให้เกิดการบอกเล่าแบบปากต่อปากจากลูกค้าคนหนึ่งถึงว่าที่ลูกค้าอีกหลายๆ คนได้อย่างไร ทีมงานของร้านเลยคิดแนวทางการโฆษณาโดยอาศัยเอกลักษณ์เล็กๆ ของคนไทยในสมัยก่อนนั่นคือ การผูกปิ่นโตอาหาร เป็นเอกลักษณ์ของทางร้าน มีการเสิร์ฟอาหารในปิ่นโตเป็นเถาๆ ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้านได้สัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่ ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดี ลูกค้าจึงทำหน้าที่เป็นสื่อ (ที่ทางร้านไม่ต้องเสียเงินซื้อ) ไปยังว่าที่ลูกค้าคนอื่นๆ ต่อไป โดยอาศัย "ปิ่นโต" เป็นหัวข้อในการพูดคุยนั่นเอง

         แนวทางสุดท้าย คือการกดดันตัวเอง ถ้าเราจะสังเกตดีๆ จะเห็นว่าการทำงานในหลายต่อหลายครั้งที่ต้องเร่งทำในช่วงเวลาที่จำกัด หรือใกล้เส้นตาย หรือมีทรัพยากรน้อย จะทำให้เราค้นหาความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และมีแรงกระตุ้นในการทำงานได้ดีกว่าในช่วงเวลาปกติ สบายๆ

        ผู้เขียนแนะนำไว้ว่าถ้าต้องการสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ลองจำกัดตัวเองด้วยการกำหนดวงเงินในการใช้จ่าย เวลา หรือตั้งเงื่อนไขกับตัวเองที่จะไม่ละเมิดเกินขอบเขตใดๆ ที่เป็นแรงกดดันให้กับตัวเอง เช่นนี้แล้วความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นมาได้ไม่ยาก


ขอบคุณข้อมูลจาก : นสพ.คมชัดลึก
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น