วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (ตอนเข้าสู่ภวังค์แห่งความสงบนิ่ง) พร้อมเคล็ด


เข้าสู่ภวังค์แห่งความสงบนิ่ง. ความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ผุดขึ้นมาจากห้วงจิตหรือความสงบนิ่งภายใน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างสรรค์ทั้งปวง มันเป็นภาวะที่ปราศจากความคิด ไร้ซึ่งเนื้อหาใดๆ ขนาดผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์หลายคน ยังไม่เคยรู้เลยว่าความคิดสร้างสรรค์ของตนเองนั้น ถือกำเนิดมาจากพื้นที่อันว่างเปล่าอันปราศจากความคิดและตรรกะใดๆ แห่งนี้ จำไว้ว่า การขาดความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากการคิดน้อยเกินไป แต่เป็นเพราะคิดมากไปต่างหาก หากคุณกำลังมองหาทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับปัญหาใดๆ ลองพาตัวเองเข้าไปสู่ห้วงภวังค์ดังกล่าวนี้ดู ความคิดที่ผุดขึ้นมาหลังกระบวนการนี้ จะเต็มไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งวิธีการก็คือ:

- ทำสมาธิ การทำสมาธิจะพาคุณออกจากโลกของความคิดและช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับภาวะที่ไร้ตรรกะ ทั้งนี้ วิธีตระหนักรู้ลมหายใจและรู้ถึงสภาวะที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ถือเป็นกรรมฐานที่ดีในการฝึกทำสมาธิ ลองอ่านบทความฝึกสมาธิเพื่อศึกษาเพิ่มเติม
- ทำกิจกรรมที่คุณมีความสุขจริงๆ คุณสังเกตบ้างไหมว่า เวลาทำกิจกรรมที่คุณสนใจจริงๆ นั้น คุณจะปลอดจากความกังวลและปัญหา ไม่มีทั้งอดีตและอนาคตใดๆ มีแต่ปัจจุบันขณะ ลองสังเกตคุณภาพของความคิดที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนี้ดูสิ ซึ่งกิจกรรมนี้อาจรวมถึงการปั่นจักรยาน เล่นกับสัตว์เลี้ยง ฟังดนตรี การคุยกับคนรัก ฯลฯ
- อย่ายอมรับหรือปฏิเสธเรื่องอะไรด่วนเกินไป ลองทดสอบความจริงดูก่อน


เคล็ดลับ
- อย่าแคร์ความเห็นคนอื่นเกี่ยวกับผลงานหรือความสามารถของคุณ คุณย่อมรู้ตัวเองดีกว่าพวกเขา

- ใช้เวลาร่วมกับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ ที่แน่นอนที่สุดคือเด็กๆ ไงล่ะ จินตนาการของเด็กจะยังไม่ถูกตีกรอบ การผสานจิตเป็นหนึ่งเดียวกับเด็กๆ จะช่วยรื้อฟื้นวิธีการคิดนอกกรอบให้คุณ

- หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จงมองเข้าสู่ภายใน หากคุณคิดว่าตนเองไม่ดีพอสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ก็เป็นไปได้ว่าคุณยังไม่เหมาะที่จะฝึกความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น พยายามเพิ่มความนับถือตนเองให้ได้ก่อน และคุณจะรู้สึกว่ามันง่ายในการเป็นตัวของตัวเองมากกว่าเดิม

- เมื่อใดก็ตามที่คุณถูกท้าทายให้สร้างสรรค์บางอย่าง ถามตัวเองดูว่า อะไรคือสิ่งที่แหวกแนว ประหลาด และไร้สาระที่สุดที่ฉันจะทำออกมาได้

- ลองเปลี่ยนวิธีการทำกิจกรรมบางอย่างดู เช่น ใช้ถนนเส้นอื่นเดินทาง ดูโทรทัศน์ด้วยตาข้างเดียว หรืออ่านหนังสือขณะนั่งส้วม

- รายล้อมตัวเองด้วยสีน้ำเงิน ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า คนที่ทำงานโดยมีสภาพแวดล้อมตกแต่งด้วยสีน้ำเงิน จะทำงานสร้างสรรค์ได้ดีกว่า ในขณะที่สีแดงจะทำให้คนเราเอาแต่สนใจรายละเอียด

- หากต้องการพัฒนาญาณทรรศนะให้เต็มศักยภาพ ลองอ่านหนังสือของเดวิด ฮอว์กิ้นส์ เรื่อง “Power VS Force” ซึ่งเขาได้อธิบายวิธีการทดสอบพลังงานแฝง ด้วยตนเอง หรือทำกับคู่ของคุณก็ได้ มันอาจเรียกได้ว่าเป็น ญาณนิมิต เหมือนเป็นการได้ค้นพบคำตอบจากต้นกำเนิดพลังงานชีวิต

- ความคิดสร้างสรรค์มักมาพร้อมกับการฝึกฝน หากคุณต้องการมีความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งใด ก็พยายามฝึกให้มากๆ ยิ่งทำเท่าไร ก็ยิ่งมีความคิดสร้างสรรค์มากเท่านั้น

- มีอีกเรื่องที่คุณควรรู้หากต้องการให้ความคิดสร้างสรรค์พรั่งพรู ฟังเสียงหัวใจตัวเอง ฟังเสียงสายฝนโปรยปราย และฟังเสียงจากภายในสมองของตัวเองไงล่ะ!

- ใคร่ครวญเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตตัวเอง และแปรเปลี่ยนมันลงบนบทเพลง บทกวี ภาพวาด ภาพตัดแปะ และแม้กระทั่งหนังสั้น

- ลองฟังเพลงไปด้วยขณะที่วาดภาพหรือระบายสี

- คิดนอกกรอบบ้าง วาดภาพตัวเองโดยลากเพียงไม่กี่เส้น และดูว่าออกมาเป็นยังไง

- ไตร่ตรองดูว่า ชีวิตคุณควรเป็นอย่างไร ควรมีประสบการณ์อะไร จากนั้น จึงวาดมันออกมา หรือเขียนเป็นเพลงและเรื่องราวเกี่ยวกับมัน แสดงความรู้สึกออกมาให้ผู้คนได้เห็นความงามภายในตัวคุณ


ที่มา : th.wikihow.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (ตอนท้าทายตัวเอง ด้วยการทดสอบความคิดสร้างสรรค์)


1. จำกัดตัวเองให้ใช้แต่อุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุด. การใช้แต่สิ่งที่คุณมีอย่างจำกัด จะเป็นการท้าทายตัวเองให้พยายามขยับขยายความคิดสร้างสรรค์ ยาวออกไปให้สุดปลายลิ่ม ผลก็คือ คุณจะสามารถทำให้ผลงานออกมาดีได้อย่างเหลือเชื่อ แม้ด้วยทรัพยากรอันจำกัด และคุณจะชำนาญในการสร้างสรรค์จากสิ่งนั้นๆ ด้วยฝีมือขั้นเทพ พูดง่ายๆ คือ คุณจะเก่งกว่าพวกที่เน้นแต่การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือมากมาย[8] พยายามใช้ทรัพยากรภายในให้มากกว่าภายนอก
          - หากคุณเป็นจิตรกร ก็ลองใช้เพียงแค่แม่สีในการระบายผลงาน หากคุณเป็นนักวาด ก็ลองใช้แต่ดินสอธรรมดาๆ ดูสักพัก การพยายามฝึกทักษะด้วยวัตถุดิบขั้นพื้นฐานให้ชำนาญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ นั้น จะทำให้คุณกลายเป็นเซียนในศิลปะแขนงนั้นได้ ในกรณีที่มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้มากขึ้นในเวลาต่อมา
          - หากคุณเป็นคนทำภาพยนตร์ ลองทำด้วยฟิล์มขาวดำ หากคุณเป็นช่างภาพ ก็เช่นเดียวกัน อย่าคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ต้องเป็นเรื่องเดียวกับแนวทางของศิลปะนั้นๆ เสมอไป ที่จริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์เป็นต้นกำเนิดของแนวทางต่างๆ ไม่ใช่ในทางกลับกัน
          - หากคุณเป็นนักเขียน ลองฝึกเขียนด้วยภาษาของเด็กประถม ที่คนวัยอื่นอาจไม่เข้าใจ แม้ว่าคุณอาจจะเขียนในเรื่องที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังอาจสับสนก็ตาม หรือหากคุณเป็นคนเขียนบทละคร ลองเขียนดำเนินเรื่องโดยไม่มีอะไรประกอบฉากเลย ไม่ว่าจะในบทหรือบนเวที ลองดูซิว่าจะเป็นยังไงบ้าง

 
2. เขียนเรื่องราวออกมาจากภาพ. ลองฝึกคิดคำศัพท์สัก 50-100 คำออกมา โดยดูจากภาพๆ หนึ่งเท่านั้น จากนั้น คุณอาจจะลองแต่งเป็นเรื่องราวบ้าบออะไรก็ได้ โดยใช้คำทั้งหมดที่เขียนออกมา (หรือใช้ให้มากที่สุด) ซึ่งคุณอาจจะหาภาพดังกล่าวมาจากนิตยสาร หรืออินเตอร์เน็ต หรือรูปถ่ายที่คุณมีก็ได้


3. ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงในแต่ละวันคิดถึงเรื่องๆ เดียวโดยเฉพาะ. ตอนแรกๆ การทำเช่นนี้อาจจะยากสักหน่อย โดยคุณอาจจะเริ่มคิดถึงสิ่งนั้น สัก 5 นาทีดูก่อน และค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงครึ่งชั่วโมง ในช่วงแรกๆ มันจะฉลาดมาก หากว่าคุณจะทำกิจกรรมฝึกฝนดังกล่าวนี้ตอนอยู่คนเดียว แต่เมื่อคุณชำนาญแล้ว คุณย่อมที่จะทำได้ แม้ว่าอาจจะกำลังอยู่ท่ามกลางผู้คน เช่น ระหว่างเดินทาง หรือตอนอยู่ในที่ทำงานก็ตาม


4. พูดต่อเนื่อง 15 นาที โดยห้ามใช้คำว่า ฉัน ของฉัน ตัวฉัน และฉันเอง (เปลี่ยนสรรพนามตามเพศ หรือตามที่คุณเคยชิน) พยายามพูดให้ไหลลื่นและน่าสนใจ เพื่อให้คนที่กำลังอ่านหรือฟังไม่รู้สึกถึงสิ่งผิดปกติ. กิจกรรมนี้ฝึกให้คุณคิดออกไปภายนอกตัวเอง แทนที่จะหมกมุ่นจมปลักอยู่แต่กับชีวิตส่วนตัว
          - หากคุณชอบกิจกรรมนี้ ลองพูดไปเรื่อยๆ (ให้มีสาระ) ดูว่าคุณจะพูดได้นานแค่ไหน โดยไม่ใช้คำว่า “และ” หรือ “แต่” เป็นต้น


5. หลอมรวมแนวคิด. ลองหาวัตถุมาสองสิ่ง และอธิบายสิ่งแรกอย่างละเอียด เช่น ลักษณะของมัน หรือมันทำมาจากอะไร จากนั้น ลองคิดดูว่า วัตถุอีกอันหนึ่ง จะสามารถแทนอีกอันหนึ่งได้อย่างไร เช่น ฉันจะสามารถเอาวัตถุ A มาทำหน้าที่แทนวัตถุ B ได้อย่างไร เป็นต้น

 
6. บันทึกคำอุปลักษณ์. ลองจดบันทึกทุกสิ่งที่คุณทำ หรือสิ่งที่รู้สึกในแต่ละวัน ออกมาเป็นภาษาในการอุปลักษณ์ คุณควรลองพยายามหาคำใหม่ๆ ให้ได้ทุกวัน (คุณจะเปรียบเปรยการแปรงฟันในตอนเช้าได้สักกี่อย่างกันเชียว) คุณอาจเริ่มเขียนอุปลักษณ์ดูเล่นๆ ก่อน และค่อยเริ่มจดบันทึกลงสมุดก็ได้ ทั้งนี้ การอุปลักษณ์ คือ การพูดที่เปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “ดั่ง” หรือ “เหมือน” เช่น "หวานเป็นลม ขมเป็นยา"
- หากคุณไม่คุ้นเคยกับการอุปลักษณ์ อาจจะเริ่มจากการอุปมาก่อนก็ได้ ซึ่งมันเป็นการเปรียบเทียบโดยใช้คำอย่าง “ดั่ง” “เหมือน” หรือ “เช่น” เป็นต้น เมื่อคล่องแล้วจึงค่อยตัดออกหรือฝึกอุปลักษณ์ในภายหลัง


7. ตอบคำถามทั่วไปด้วยเนื้อเพลงบางท่อน. ลองเขียนคำถามทั่วไป เช่น “คุณชื่ออะไร” หรือ “คุณทำอะไรในวันพฤหัสที่ผ่านมา” พยายามเขียนออกมาให้ประมาณ 10 คำถาม ยิ่งมากยิ่งดี คิดอะไรออกก็เขียนออกมาให้หมด แม้ว่าอาจฟังดูโง่ๆ ก็ตาม จากนั้น ก็ตอบแต่ละคำถามด้วยเนื้อเพลง โดยพยายามอย่าใช้เพลงซ้ำกันหรือมากกว่าหนึ่งครั้ง

 
8. เล่นเกมโยงคำศัพท์. หาใครสักคนมาเล่นด้วยก็จะดีมาก หากคุณเล่นคนเดียว ก็เริ่มด้วยการเขียนคำใดก็ได้ขึ้นมาหนึ่งคำ จากนั้นใช้เวลาอีกสิบนาทีถัดไป ในการพูดต่อคำศัพท์ที่เชื่อมโยงกันไปเรื่อยๆ ลองเปรียบเทียบคำแรกกับคำสุดท้ายที่ออกมาดู มันมักจะเป็นคนละเรื่องกันเลย กิจกรรมนี้จะช่วยให้ความคิดของคุณยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้มีไอเดียคำศัพท์มากขึ้น


9. เขียนเรื่องราวเดียวกันจากมุมมองของคนสามคน. ลองเล่าเรื่องราวเดียวกันจากมุมมองของคน หรือตัวละคนหลักสามตัวที่อยู่ในเรื่องนี้ คุณอาจคิดว่าคนเรามองสถานการณ์หนึ่งๆ ไปในทางเดียวกัน แต่หากคุณได้ลองเข้าไปนั่งในจิตใจของพวกเขา คุณจะพบว่าไม่มีใครเลยที่จะมองเหตุการณ์เดียวกันด้วยมุมมองเดียวกันเป๊ะๆ กิจกรรมนี้จะช่วยให้คุณพัฒนาการคิดแบบเป็นกลาง และมีความเข้าถึงเรื่องราวที่คุณจะเล่าในมุมที่กว้างและลึกขึ้น.
          - หลังจากทำกิจกรรมดังกล่าวเสร็จแล้ว ลองถามตัวเองดูว่า คุณชอบมุมมองแบบของใครมากที่สุด และเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น


ที่มา : th.wikihow.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (ตอนสร้างผลงานตามแนวของตัวเอง)


1. หารูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง. สิ่งที่คุณทำจนเคยชินอยู่แล้วอาจส่งผลดีได้ หากมันกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ แต่สิ่งที่ทำจนเคยชินจะส่งผลเสียก็ต่อเมื่อมันไปขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของคุณ แม้ว่าการออกจากความเคยชินเดิมๆ บ้าง เพื่อเปิดทางให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ จะเป็นสิ่งที่ดี แต่การประยุกต์ให้เกิดการเรียนรู้ เติบโต และมีประสบการณ์ใหม่ๆ ได้แม้ว่าจะยังทำเรื่องเดิมๆ อยู่ ย่อมจะดีไม่แพ้กันมิใช่หรือ คนที่ดูแคลนการทำตามความเคยชินเดิมนั้นๆ มักเป็นคนที่ไม่ได้ประยุกต์รูปแบบเดิมๆ ดังกล่าว ให้ส่งเสริมกระบวนการเติบโตภายในจิตใจของพวกเขา ซึ่งกุญแจสำคัญก็คือ การค้นหา พิธีการอันสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถชักนำคุณเข้าไปสู่กระบวนการสรรสร้างต่างหาก
          - หากคุณต้องการเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ก็ถูกแล้วที่คุณมองสิ่งที่ตนเองกำลังจะทำออกมา ราวกับว่ามันเป็น ผลงาน ชิ้นหนึ่ง และต้องลงมือทำมันออกมาอย่างเคร่งครัด ตามช่วงเวลาใดๆ ก็ตามที่คุณจัดสรรเอาไว้ในแต่ละวัน แม้ว่าคุณอาจจะไม่มีแรงบันดาลในช่วงนั้นเลยก็ตาม
          - นักเขียนหลายคน ไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าหรอกว่า ตัวเองจะต้องเขียนวันละกี่คำ แต่พวกเขามักจะมีเงื่อนไขในการเขียนให้ตัวเอง ในลักษณะที่เหมือนกับเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น นักเขียนชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 18 อย่าง เฟร็ดเดอริก ชิลเลอร์ ซึ่งต้องวางผลแอ็ปเปิ้ลเน่าๆ ไว้บนโต๊ะทำงาน และแช่เท้าในอ่างน้ำแข็งทุกครั้งที่กำลังเขียนงานออกมา
          - อย่ากลัวที่จะควบคุมและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้คุณรู้สึกดี เรย์ แบรดบิวรี่ สามารถต้องออกไปเขียนเรื่องสุดมันส์อย่าง “ฟาเร็นไฮท์ 451” ในห้องสมุด แทนที่จะเขียนที่บ้านตัวเอง สตีเฟ่น คิง จะเขียนก็ต่อเมื่อบรรยากาศเงียบสนิทจริงๆ เท่านั้น ส่วนนักเขียนอย่าง ฮาร์แลน เอลลิสัน ต้องเปิดเพลงคลาสสิกคลอตามไปด้วยถึงจะเขียนออก
          - จัดสรรเวลาส่วนหนึ่งในการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ เริ่มต้นช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการบริหารหัวคิด หรือทำพิธีกรรมบางอย่าง ที่จะช่วยกระตุ้นระบบความคิดของตัวเอง อาจจะเป็นการทำสมาธิ การเขียนตามใจฉัน การฟังเพลงโปรด หรือจะนั่งคุยกับตุ๊กตาลูกเทพก่อนก็ได้ ขอแค่ให้จิตใจคุณเริ่มเข้าสู่กระแความคิดสร้างสรรค์ แล้วจึงค่อยตั้งเป้าหมายประจำวัน (เช่น ร่างรูปวาดวันละรูป เขียนหนังสือวันละ 1000 คำ หรือแต่งกวีวันละบท เป็นต้น)


2. อย่าไหลไปตามกระแส. แม้ว่าการติดตามความเป็นไปในสังคม จะช่วยให้คุณรู้ทันกระแสวัฒนธรรมได้ คุณก็ไม่ควรทำผลงานออกมในแนวทางเดียวกับคนอื่นๆ เพียงเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนเองทำได้เจ๋งล้ำหน้าที่สุด คุณควรเดินบนทางตัวเองและทำในสิ่งมีแรงบันดาลใจมากที่สุด หากคุณอยากร้องเพลงลูกทุ่ง และช่วงนั้นเพลงป๊อบอาจจะมาแรงกว่า จะไปสนทำไมล่ะ แต่กรณีที่คุณเปลี่ยนจากร้องเพลงแหล่ ไปเป็นร้องหมอลำ อันนั้นก็ยังถือว่าโอเค การตระหนักในกระแสนิยมของศิลปะแนวเดียวกันหรือใกล้เคียงกับของคุณ ย่อมถือว่าดี แค่อย่าให้มันมากำหนดว่าคุณต้องทำหรือไม่ทำอะไร
         - การไม่ได้รับอิทธิพลตามกระแส เป็นคนละเรื่องกับการเพิกเฉยต่อกระแส หากคุณกำลังเขียนนวนิยายวรรณศิลป์สักเล่ม คุณก็ควรสำรวจว่า นวนิยายวรรณศิลป์หมวดใดที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อจะได้รู้ว่างานที่คุณกำลังจะเขียนนั้นอยู่ในระดับใดหากเทียบกับผลงานอื่นๆ ในสายเดียวกัน คุณจำเป็นต้องรู้ว่ากำลังเทียบชั้นกับใครอยู่ เพื่อที่จะได้พูดแสดงจุดขายงานของตัวเองออกมาได้ดูมีชั้นเชิงหน่อย


3. อย่าหมกมุ่นกับวัฒนธรรมตามกระแส. อย่าดูทีวีมากไป รวมถึงวิทยุด้วย อย่าปล่อยให้วัฒนธรรมตามกระแสนิยมครอบงำชีวิตคุณ แม้ว่าการเสพสื่อเหล่านั้นแต่พอดีจะไม่มีอะไรน่าเสียหาย แต่หากเอาแต่หมกมุ่นมากเกินไป มันจะกลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางแนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้น หากอยากได้แนวคิดดีๆ ก็หาเวลาไปสังสรรค์พูดคุยกับเพื่อนแทนการดูทีวีบ้าง หรือแทนที่จะฟังว่าเพลงอะไรกำลังฮิตจากวิทยุ คุณก็ควรไปเดินดูตามร้ายขายซีดี และหารสนิยมของตัวเองให้เจอ
          - นั่นหมายถึงกรณีที่คุณเป็นพวกบ้าดูทีวีหรือฟังวิทยุอยู่เดิมนะ เพราะบางคนเปิดทีวีและวิทยุทิ้งไว้ เพื่อให้มีเสียงเป็นเพื่อนใจไปงั้นเองด้วยซ้ำ หากคุณเป็นคนประเภทนั้น ก็ลองฝืนทนความเงียบดูบ้าง ลองเงี่ยหูฟังจิตใจตัวเองเมื่ออยู่ในความเงียบงัน เผื่อความคิดสร้างสรรค์จะออกมาโดยไม่รู้ตัว
          - การสังสรรค์กับเพื่อนหรือคนที่ไม่ชอบกระแสนิยมเหมือนกัน จะช่วยให้คุณเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น


4. อย่าจัดผลงานของคุณเข้าหมวดใดหมวดหนึ่ง. แม้ว่าคุณจำเป็นต้องให้คำจำกัดความผลงานตัวเอง คุณก็ไม่จำเป็นต้องปักหมุดผลงานนั้นว่า เป็นแนวใดแนวหนึ่งตายตัวเท่านั้น หากผลงานของคุณเป็นลูกผสมระหว่างสองสามแนวรวมกัน เช่น คุณอาจเรียกผลงานของตัวเองว่าเป็น นิยายแนวแวมไพร์สืบสวนสำหรับเยาวชน ก็ได้ ยิ่งน่าสนใจกว่าเดิมอีก อย่ามัวแต่คิดเรื่องชื่อแนวในขณะที่สร้างสรรค์ผลงานอยู่ รอให้ผลงานออกมาเสร็จสมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยคิดดีกว่า


5. ใช้เวลาส่วนตัวให้เกิดประโยชน์. คุณไม่จำเป็นต้องเป็นพวกต่อต้านสังคม แต่หลายๆ คนพบว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า หากใช้เวลาที่อยู่เป็นส่วนตัวคนเดียวแยกจากผู้อื่น ดังนั้น พยายามใช้เวลาส่วนตัวนี้ระดมสมองเพื่อสร้างผลงานศิลป์ออกมา เช่น ช่วงเวลาก่อนนอน หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า ก็เหมาะในการบันทึกไอเดียเช่นกัน ศิลปินหลายๆ คนพบว่า พวกเขามักมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดในช่วงทันทีที่ตื่นนอน
          - เปิดใจในการร่วมงานกับผู้อื่นเอาไว้บ้าง ศิลปินหลายคนพบว่า พวกเขาสามารถสร้างผลงานได้ดีเกินคาดหมาย เวลาที่ร่วมงานกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นจอห์น เลนนอน-พอล แม็คคาร์ทนีย์ หรือโจ-ก้อง นูโว เป็นต้น การร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงาน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์
          - หาใครสักคนที่คุณสามารถแชร์ไอเดียด้วยได้ ชักชวนให้เขาหรือเธอมาร่วมกันสร้างผลงานที่แปลกใหม่และท้าทายกับคุณสิ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ของคุณอาจจะถูกระเบิดออกมาในกระบวนการดังกล่าวได้ด้วย


6. อย่าใส่ใจอดีต. หากคุณอยากจะเดินบนเส้นทางของตัวเองจริงๆ อย่ายึดติดกับอดีต การศึกษาว่าศิลปะในแนวของคุณมีความเป็นมาอย่างไรนั้นอาจเป็นเรื่องดี แต่อย่าให้ตัวเองไปลอกเลียนผลงานเหล่านั้น การได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลทางความคิดจากศิลปินในอดีตเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้สิ่งนั้นมาขัดขวางแนวทางและการแสดงออกของคุณ จำไว้ว่า ในห้วงขณะแห่งความคิดสร้างสรรค์นั้น เวลาไม่ได้มีอยู่จริง หนึ่งชั่วโมงอาจรู้สึกเหมือนหนึ่งวัน ในขณะที่เวลาครึ่งวันอาจผ่านไปเพียงชั่วพริบตา คุณมักจะรู้สึกอยู่แต่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น[7] พยายามมีสติอยู่กับปัจจุบัน
          - การรับเอาแรงบันดาลใจจากอดีตเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าจมอยู่ในอดีตนั้น ผลงานจากอดีตกาลย่อมมีทั้งส่วนที่คุณชอบและไม่ชอบ แต่คุณควรเน้นเอาส่วนที่เชื่อมโยงกับแนวทางของคุณมาต่อยอดพัฒนาในแบบของตัวเอง เช่น เอาแนวเรโทรมาผสานกับฮิปฮอป หรือลองเอาเพลงป๊อบร็อค มาใส่ท่อนเซิ้งหมอลำดูก็ได้
          - ไม่ว่าคุณจะหยิบเอาผลงานจากอดีตมาทำอะไร (กรณีที่คุณมีแรงบันดาลใจ) ต้องพยายามให้เกิดสิ่งใหม่ๆ มากกว่าจะเป็นเหมือนของเดิม


ที่มา : th.wikihow.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (ตอนปรับทัศนคติ)



1. รับฟังคำติชมอย่างรอบคอบ. จงเดินตามเส้นทางของตนเองต่อไป ปัญหาของการขอความเห็นจากผู้อื่นก็คือ ความเห็นคนเรามักจะมีอคติ เนื่องจากคนเราย่อมมีไอเดียเกี่ยวกับผลงานชิ้นหนึ่งๆ แตกต่างกันไป บางคนยังอาจพยายามชี้นำให้คุณสร้างสรรค์ออกมาในแบบที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่แบบที่คุณต้องการอีกต่างหาก แม้ว่าพวกเขาอาจจะหวังดี ก็รังแต่จะทำให้คุณอึดอัดมากกว่า คุณควรรับฟังความเห็นได้อย่างสบายๆ แค่อย่าปล่อยให้คำวิจารณ์ของใครมาบั่นทอนกำลังใจ ในการทำสิ่งที่คุณทำอยู่นี้
 
เมื่อคุณรู้สึกยอมรับคำติชมได้อย่างไร้กังวลแล้ว คุณจะเริ่มแยกแยะได้ว่าคนไหนที่สามารถเข้าถึงผลงานของคุณได้ และสามารถให้ความเห็นที่มีค่าแก่คุณได้ รวมถึงใครบ้างที่ไม่มีคุณสมบัติมากพอที่จะเข้าใจผลงานของคุณ
หลังจากสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นเสร็จ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม คุณก็ย่อมสามารถยอมรับคำติชมได้แล้ว แต่อย่าให้คำวิจารณ์ของใคร ไม่ว่าจะฟังดูดีมีหลักการแค่ไหน มาทำการแช่แข็งความคิดสร้างสรรค์ของคุณได้ ในช่วงของกระบวนการแห่งการสร้างสรรค์นี้
 
จำไว้ว่า คนทั่วไปมักจะต่อต้านไอเดียของคุณอยู่แล้ว เพราะความคิดดีๆ มักจะไปทำลายพลวัตรทางใจที่มีอยู่เดิม และคนส่วนใหญ่ก็มักยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ดังนั้น เวลาที่คุณนำเสนอบางอย่างที่ไปขัดกับสิ่งที่มีอยู่เดิมนั้น ผู้คนทั่วไปจึงมักจะรู้สึกถูกคุกคาม


2. อย่ากลัวที่จะวิจารณ์ตัวเอง. ที่จริง คุณควรวิจารณ์ตัวเองให้หนักกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ถามตัวเองบ่อยๆ ว่า”ฉันจะทำผลงานให้ออกมาดีกว่านี้ได้อย่างไร” หรือ “หากทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมสรรพได้ดั่งใจ ผลงานของฉันควรจะออกมาแบบไหน” การได้ตระหนักว่า ตัวคุณไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพียงแค่ต้องการทำผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นผลพวงของการแสดงตัวตนออกมาทางงานศิลปะ หากคุณไม่พบข้อบกพร่องในผลงานตัวเองเลย แสดงว่าคุณอาจจะยังหาไม่ละเอียดพอ

การวิจารณ์ตนเองไม่ได้หมายความว่า ต้องตั้งมาตรฐานไว้สูงลิ่ว จนรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองทำผิดพลาดอยู่เสมอ คุณควรกล้าวิจารณ์ผลงานตัวเองไปพร้อมๆ กับการชื่นชมยินดีในจุดแข็งของตัวเองด้วย


3. อย่านิยมความสมบูรณ์แบบ. สิ่งที่คุณสร้างสรรค์ออกมาโดยไม่กังวลว่ามันจะต้องไร้ที่ติ มักจะทำให้ผลงานนั้นออกมาอย่างสร้างสรรค์ หนทางสู่ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีนับไม่ถ้วน มนุษย์เราย่อมไม่สมบูรณ์แบบ บางครั้งศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และมีความสร้างสรรค์มากที่สุด ยังถึงกับแกล้งทิ้งรอยตำหนิไว้ในผลงานตัวเองด้วยซ้ำ แม้แต่ธรรมชาติก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็ยังดูงดงามจับใจ ดังนั้น อย่าพยายามทำผลงานให้สมบูรณ์แบบ จนกระทั่งไปทำลายความมีเอกลักษณ์ในผลงานดังกล่าวของตัวเอง
 
การนิยมในควาสมบูรณ์แบบยิ่งทำให้ความคิดสร้างสรรค์คุณถึงทางตันเร็วขึ้นด้วย แน่นอนว่า คุณอาจสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพเยี่ยมออกมาได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่คุณก็จะยังต้องลองผิดลองถูกและทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่เพอร์เฟ็คดั่งใจบ้าง เพื่อที่จะเป็นบาทฐานไปสู่ผลงานอันล้ำเลิศในอนาคตด้วยเช่นกัน
ทำงานห่วยๆ ต่อไป แม้ว่าบางครั้งคุณอาจมีความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่คุณรู้สึกว่า "ห่วย" มันก็ยังถือเป็นความคิดสร้างสรรค์อยู่ดี ดังนั้น จงต่อยอดทำต่อไปให้เสร็จเถอะ ระหว่างทางมันอาจจะกลายเป็นผลงานที่ออกมาดีก็ได้ พูดง่ายๆ คือ พยายามเน้นที่การปรับปรุงผลงานห่วยๆ ให้ได้ มากกว่าที่จะไปพยายามทำผลงานดีๆ อยู่แล้วให้ไร้ที่ติ

4. อย่าเอาคุณค่าในตัวเองไปผูกติดกับผลงาน. คุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งของคุณ ถูกจำกัดความด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง เช่น วิธีที่คุณปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงความรักที่คุณมอบให้แก่สังคมและโลกใบนี้ ความตั้งใจในการทำเพื่อผู้อื่น ความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค ฯลฯ เรายังสามารถพูดต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ ก็คือ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ 

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่สำคัญ หากคุณล้มเหลวในการระเบิดผลงานสร้างสรรค์ออกมา ก็อย่าให้มันกระะทบกับความนับถือตนเองของคุณล่ะ แต่จงใช้มันเป็นแรงผลักดันในการทำผลงานให้ดีกว่าเดิม
นอกจากนี้ อย่าเอาผลงานตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้มีความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น เพื่อนของคุณเอง เพราะแต่ละคนมีสไตล์การสร้างสรรค์ไม่เหมือนกัน การทำเช่นนั้น รังแต่จะทำให้คุณบ้า ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจใดๆ เลย


5. พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์ที่คุณมั่นใจว่าต้องล้มเหลว. เรื่องนี้อาจจะฟังดูขัดแย้งกับตรรกะทั่วไป แต่มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนที่นิยมในความสมบูรณ์แบบมักกลัวความล้มเหลว จึงเลือกที่จะทำแต่ในสิ่งที่พวกเขาถนัด อย่าไปเอาอย่างพวกเขาเลย ความคิดสร้างสรรค์ก็เหมือนการออกเดท คือ หากคุณไม่ได้สมหวังกับใครเขาบ้างสักทีล่ะก็ แสดงว่ายังไม่ได้พยายามให้มากพอ ดังนั้นจงละอัตตาลง และเตรียมใจให้ตนเองล้มเหลวบ้าง (แต่อย่าคาดหวังเช่นนั้น) พยายามกระโจนเข้าหาความท้าทายใหม่ๆ เพราะคุณจะไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์เลย หากไม่รู้จักก้าวกระโดดบ้าง เช่น คุณอาจจะกลัวการวาดภาพ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่า คุณอาจจะวาดได้ดีก็ได้

สมมุติว่าคุณเป็นกวีคนหนึ่ง ลองจับปากกามาเขียนกวีสักบท แม้ว่ามันจะห่างไกลจากความเป็นตัวคุณมากแค่ไหนก็ตาม คุณควรรู้สึกดีขึ้น จากการตระหนักได้ว่า ผลงานที่ออกมา คงยังไม่ใช่ผลงานชิ้นโบว์แดงที่สุดในชีวิตคุณอยู่แล้ว แต่นั่นก็ทำให้คุณสนุกกับมันได้เต็มที่ไง


6. คิดเหมือนผู้ใหญ่ เล่นให้เหมือนเด็ก. ผู้ใหญ่ที่อยากจะมีความคิดสร้างสรรค์มักจะลงเอยด้วยการพบทางตัน พวกเขามักตั้งกฎว่า อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ หรือชอบคิดว่า เราถูกคาดหวังให้แสดงออกอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งนั่นล้วนแล้วแต่เป็นกฎที่จำเป็นก็จริงอยู่ (ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีสักหน่อย) แต่มันแค่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์หายไป ดังนั้น คุณควรใช้สติปัญญาในแบบฉบับของผู้ใหญ่ และหากเป็นไปได้เมื่อไร จึงแสดงด้านที่เป็นเด็กออกมา คือ มีความอัศจรรย์ใจในสิ่งรอบตัว มองทุกคนที่ผ่านพบและต้นไม้ทุกต้นที่ผ่านตา ราวกับว่ามันน่าประทับใจไม่รู้จบ
เด็กๆ มักถามคำถามเสมอ เพื่อทำความเข้าใจโลกใบนี้ คุณเองก็จงทำเช่นนั้นต่อไป

เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถคิดค้นขึ้นได้ใหม่เสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขากำลังเรียนรู้สู่โลกกว้าง และส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่า กำลังถูกคาดหวังให้ทำสิ่งใดแบบตายตัว
อย่ากลัวที่จะแหกกฎอย่างมีความรับผิดชอบ จงเข้าถึงความขี้เล่นภายในตัวเรา และกระโจนเข้าใส่สวนสนุกที่ชื่อว่า โลก


ที่มา : th.wikihow.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

6 วิธีฝึกการทำงานเป็นทีม สำหรับพนักงานใหม่



          การทำงานเป็นทีมได้ดีเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่บริษัทต่างก็มองหาในตัวพนักงาน เพราะพลังจากการร่วมแรงร่วมใจนั้นสามารถเพิ่มทั้งความรวดเร็ว ช่วยในการตัดสินใจและยกระดับความคิดสร้างสรรค์ในผลงานได้เป็นอย่างดี แต่การเป็นพนักงานหน้าใหม่ที่ต้องมาร่วมงานกับรุ่นพี่นั้น บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของทีมทันทีที่เริ่มงาน ใครที่กำลังสับสนและไม่รู้จะเริ่มตรงไหน 6 วิธีต่อไปนี้สามารถช่วยฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมให้คุณได้


รู้จุดแข็งของตัวเอง
ในแต่ละทีมงานย่อมประกอบไปด้วยหลายหน้าที่ แต่ละหน้าที่ต่างก็ต้องการความสามารถหรือทักษะที่แตกต่างกันออกไป หากคุณรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งด้านใด คุณจะสามารถเสนอตัวช่วยรับผิดชอบในส่วนนั้นได้ ความสามารถนี้อาจจะเป็นความรู้ทางด้านเทคนิค การติดต่อประสานงาน การค้นคว้าหาข้อมูลหรือด้านใดก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่องาน เมื่อได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดก็ย่อมสร้างผลงานออกมาได้ดีและทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นอีกด้วย
ข้อแนะนำ : หากยังไม่มั่นใจกับความสามารถของตัวเอง อาจจะลองเริ่มจากเสนอตัวช่วยในงานชิ้นเล็กให้สำเร็จก่อนเพื่อเพิ่มความมั่นใจ


รู้จักเพื่อนร่วมทีม
ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีนั้นสามารถส่งผลให้การทำงานราบรื่นขึ้นได้เสมอ อย่ารู้จักกันแค่เฉพาะเวลางาน หาโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมในเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากงานบ้าง ทำความรู้จักและสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีอย่างจริงใจ คอยสนับสนุนช่วยเหลือในยามที่พวกเขาต้องการ สิ่งนี้จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ข้อแนะนำ : นอกจากความสัมพันธ์กันแบบ “เพื่อนร่วมงาน” แล้ว เราควรเป็น “เพื่อน” กับทุกคนในทีมได้ด้วย


รู้จักและเข้าใจความแตกต่าง
สมาชิคแต่ละคนในทีมย่อมมาจากต่างประสบการณ์ ต่างครอบครัว ทั้งนิสัยและการทำงานย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ควรพยายามเรียนรู้สไตล์การทำงานของแต่ละคน จากนั้นทำความเข้าใจและยอมรับในรูปแบบที่พวกเขาเป็น แทนที่จะมัวแต่หงุดหงิดกับการทำงานที่ไม่ได้ดังใจตัวเอง เราควรหาวิธีสร้างความร่วมมือและผลงานให้ได้ดีที่สุดจากความแตกต่างนี้
ข้อแนะนำ : อย่าใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินผู้อื่น แต่ให้สังเกตและเรียนรู้พวกเขาด้วยใจเป็นกลาง


รู้เวลา
การทำงานเป็นทีมนั้น ความล่าช้าที่เกิดจากคนหนึ่งคนสามารถส่งผลถึงทั้งทีมได้ ดังนั้นความตรงต่อเวลาจึงสำคัญมาก หากได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งควรประเมินเบื้องต้นก่อนว่าจะทำได้สำเร็จตามเวลาที่ได้รับมอบหมายมาหรือไม่ และทำการเจรจาต่อรองจนได้ระยะเวลาที่ทั้งทีมรับได้และตัวเราเองก็มีเวลาเพียงพอที่จะทำงานให้ได้ดีด้วย
ข้อแนะนำ : หากรับงานมาแล้วพบในภายหลังว่าไม่สามารถทำตามเวลาที่กำหนดได้ ให้รีบแจ้งเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าทันทีเพื่อจะได้ช่วยกันหาทางออก อย่ารอจนถึงนาทีสุดท้าย หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราไม่มีความสามารถ การที่เรารับปากแล้วทำตามไม่ได้แต่ยังไม่รีบหาทางออกนั้นส่งผลเสียกว่ากันมาก


รู้จักฟังและมีการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม
รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเปิดใจ แต่ก็อย่าเป็นผู้ฟังอย่างเดียวจนเอาแต่นั่งเงียบในที่ประชุมเพราะจะทำให้เหมือนกับไม่ให้ความร่วมมือ หากมีไอเดียใดที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานก็ควรนำเสนอต่อทีมหรือที่ประชุม หรือหากมีความคิดเห็นที่แตกต่างก็สามารถโต้แย้งได้อย่างสุภาพและใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน
ข้อแนะนำ : หากไม่รู้จะเสนออะไรหรือมีความรู้ในเรื่องนั้นไม่มากพอ ควรทำการบ้านศึกษาหาข้อมูลก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง


รู้และพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติสำหรับชีวิตมนุษย์ ไม่ต่างกับชีวิตของการทำงาน ยิ่งเป็นการทำงานที่มีผู้คนเกี่ยวข้องแล้วนั้น ในบางครั้งเราอาจต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากเพื่อนร่วมงานที่ลาออกกระทันหัน หรือโปรเจคอาจถูกเปลี่ยนมือไปให้คนใหม่ อะไรต่างก็เกิดขึ้นได้เสมอ จงเตรียมใจให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงด้วยสติและปรับตัวตามให้ดีที่สุด
ข้อแนะนำ : ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้า อย่าเพิ่งใช้อารมณ์ ควรปลีกตัวออกไปสงบสติสักพักก่อนกลับมารับมือกับความเปลี่ยนแปลง
แม้จะเป็นพนักงานหน้าใหม่ แต่เราก็สามารถเป็นสมาชิคยอดเยี่ยมของทีมได้ ขอเพียงความตั้งใจจริงและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง หากมีโอกาสได้รับมอบหมายงานหรือโปรเจคใดที่แม้จะดูยาก ขอให้มองเป็นความท้าทาย เป็นโอกาสให้ฝึกฝนและแสดงฝีมือ เพราะยิ่งทำมากเราก็จะยิ่งได้เรียนรู้มากและเก่งขึ้นตามไปด้วย


ที่มา : jobsdb.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก