วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (ตอนปรับทัศนคติ)



1. รับฟังคำติชมอย่างรอบคอบ. จงเดินตามเส้นทางของตนเองต่อไป ปัญหาของการขอความเห็นจากผู้อื่นก็คือ ความเห็นคนเรามักจะมีอคติ เนื่องจากคนเราย่อมมีไอเดียเกี่ยวกับผลงานชิ้นหนึ่งๆ แตกต่างกันไป บางคนยังอาจพยายามชี้นำให้คุณสร้างสรรค์ออกมาในแบบที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่แบบที่คุณต้องการอีกต่างหาก แม้ว่าพวกเขาอาจจะหวังดี ก็รังแต่จะทำให้คุณอึดอัดมากกว่า คุณควรรับฟังความเห็นได้อย่างสบายๆ แค่อย่าปล่อยให้คำวิจารณ์ของใครมาบั่นทอนกำลังใจ ในการทำสิ่งที่คุณทำอยู่นี้
 
เมื่อคุณรู้สึกยอมรับคำติชมได้อย่างไร้กังวลแล้ว คุณจะเริ่มแยกแยะได้ว่าคนไหนที่สามารถเข้าถึงผลงานของคุณได้ และสามารถให้ความเห็นที่มีค่าแก่คุณได้ รวมถึงใครบ้างที่ไม่มีคุณสมบัติมากพอที่จะเข้าใจผลงานของคุณ
หลังจากสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นเสร็จ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม คุณก็ย่อมสามารถยอมรับคำติชมได้แล้ว แต่อย่าให้คำวิจารณ์ของใคร ไม่ว่าจะฟังดูดีมีหลักการแค่ไหน มาทำการแช่แข็งความคิดสร้างสรรค์ของคุณได้ ในช่วงของกระบวนการแห่งการสร้างสรรค์นี้
 
จำไว้ว่า คนทั่วไปมักจะต่อต้านไอเดียของคุณอยู่แล้ว เพราะความคิดดีๆ มักจะไปทำลายพลวัตรทางใจที่มีอยู่เดิม และคนส่วนใหญ่ก็มักยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ดังนั้น เวลาที่คุณนำเสนอบางอย่างที่ไปขัดกับสิ่งที่มีอยู่เดิมนั้น ผู้คนทั่วไปจึงมักจะรู้สึกถูกคุกคาม


2. อย่ากลัวที่จะวิจารณ์ตัวเอง. ที่จริง คุณควรวิจารณ์ตัวเองให้หนักกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ถามตัวเองบ่อยๆ ว่า”ฉันจะทำผลงานให้ออกมาดีกว่านี้ได้อย่างไร” หรือ “หากทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมสรรพได้ดั่งใจ ผลงานของฉันควรจะออกมาแบบไหน” การได้ตระหนักว่า ตัวคุณไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพียงแค่ต้องการทำผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นผลพวงของการแสดงตัวตนออกมาทางงานศิลปะ หากคุณไม่พบข้อบกพร่องในผลงานตัวเองเลย แสดงว่าคุณอาจจะยังหาไม่ละเอียดพอ

การวิจารณ์ตนเองไม่ได้หมายความว่า ต้องตั้งมาตรฐานไว้สูงลิ่ว จนรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองทำผิดพลาดอยู่เสมอ คุณควรกล้าวิจารณ์ผลงานตัวเองไปพร้อมๆ กับการชื่นชมยินดีในจุดแข็งของตัวเองด้วย


3. อย่านิยมความสมบูรณ์แบบ. สิ่งที่คุณสร้างสรรค์ออกมาโดยไม่กังวลว่ามันจะต้องไร้ที่ติ มักจะทำให้ผลงานนั้นออกมาอย่างสร้างสรรค์ หนทางสู่ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีนับไม่ถ้วน มนุษย์เราย่อมไม่สมบูรณ์แบบ บางครั้งศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และมีความสร้างสรรค์มากที่สุด ยังถึงกับแกล้งทิ้งรอยตำหนิไว้ในผลงานตัวเองด้วยซ้ำ แม้แต่ธรรมชาติก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็ยังดูงดงามจับใจ ดังนั้น อย่าพยายามทำผลงานให้สมบูรณ์แบบ จนกระทั่งไปทำลายความมีเอกลักษณ์ในผลงานดังกล่าวของตัวเอง
 
การนิยมในควาสมบูรณ์แบบยิ่งทำให้ความคิดสร้างสรรค์คุณถึงทางตันเร็วขึ้นด้วย แน่นอนว่า คุณอาจสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพเยี่ยมออกมาได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่คุณก็จะยังต้องลองผิดลองถูกและทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่เพอร์เฟ็คดั่งใจบ้าง เพื่อที่จะเป็นบาทฐานไปสู่ผลงานอันล้ำเลิศในอนาคตด้วยเช่นกัน
ทำงานห่วยๆ ต่อไป แม้ว่าบางครั้งคุณอาจมีความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่คุณรู้สึกว่า "ห่วย" มันก็ยังถือเป็นความคิดสร้างสรรค์อยู่ดี ดังนั้น จงต่อยอดทำต่อไปให้เสร็จเถอะ ระหว่างทางมันอาจจะกลายเป็นผลงานที่ออกมาดีก็ได้ พูดง่ายๆ คือ พยายามเน้นที่การปรับปรุงผลงานห่วยๆ ให้ได้ มากกว่าที่จะไปพยายามทำผลงานดีๆ อยู่แล้วให้ไร้ที่ติ

4. อย่าเอาคุณค่าในตัวเองไปผูกติดกับผลงาน. คุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งของคุณ ถูกจำกัดความด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง เช่น วิธีที่คุณปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงความรักที่คุณมอบให้แก่สังคมและโลกใบนี้ ความตั้งใจในการทำเพื่อผู้อื่น ความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค ฯลฯ เรายังสามารถพูดต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ ก็คือ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ 

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่สำคัญ หากคุณล้มเหลวในการระเบิดผลงานสร้างสรรค์ออกมา ก็อย่าให้มันกระะทบกับความนับถือตนเองของคุณล่ะ แต่จงใช้มันเป็นแรงผลักดันในการทำผลงานให้ดีกว่าเดิม
นอกจากนี้ อย่าเอาผลงานตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้มีความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น เพื่อนของคุณเอง เพราะแต่ละคนมีสไตล์การสร้างสรรค์ไม่เหมือนกัน การทำเช่นนั้น รังแต่จะทำให้คุณบ้า ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจใดๆ เลย


5. พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์ที่คุณมั่นใจว่าต้องล้มเหลว. เรื่องนี้อาจจะฟังดูขัดแย้งกับตรรกะทั่วไป แต่มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนที่นิยมในความสมบูรณ์แบบมักกลัวความล้มเหลว จึงเลือกที่จะทำแต่ในสิ่งที่พวกเขาถนัด อย่าไปเอาอย่างพวกเขาเลย ความคิดสร้างสรรค์ก็เหมือนการออกเดท คือ หากคุณไม่ได้สมหวังกับใครเขาบ้างสักทีล่ะก็ แสดงว่ายังไม่ได้พยายามให้มากพอ ดังนั้นจงละอัตตาลง และเตรียมใจให้ตนเองล้มเหลวบ้าง (แต่อย่าคาดหวังเช่นนั้น) พยายามกระโจนเข้าหาความท้าทายใหม่ๆ เพราะคุณจะไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์เลย หากไม่รู้จักก้าวกระโดดบ้าง เช่น คุณอาจจะกลัวการวาดภาพ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่า คุณอาจจะวาดได้ดีก็ได้

สมมุติว่าคุณเป็นกวีคนหนึ่ง ลองจับปากกามาเขียนกวีสักบท แม้ว่ามันจะห่างไกลจากความเป็นตัวคุณมากแค่ไหนก็ตาม คุณควรรู้สึกดีขึ้น จากการตระหนักได้ว่า ผลงานที่ออกมา คงยังไม่ใช่ผลงานชิ้นโบว์แดงที่สุดในชีวิตคุณอยู่แล้ว แต่นั่นก็ทำให้คุณสนุกกับมันได้เต็มที่ไง


6. คิดเหมือนผู้ใหญ่ เล่นให้เหมือนเด็ก. ผู้ใหญ่ที่อยากจะมีความคิดสร้างสรรค์มักจะลงเอยด้วยการพบทางตัน พวกเขามักตั้งกฎว่า อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ หรือชอบคิดว่า เราถูกคาดหวังให้แสดงออกอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งนั่นล้วนแล้วแต่เป็นกฎที่จำเป็นก็จริงอยู่ (ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีสักหน่อย) แต่มันแค่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์หายไป ดังนั้น คุณควรใช้สติปัญญาในแบบฉบับของผู้ใหญ่ และหากเป็นไปได้เมื่อไร จึงแสดงด้านที่เป็นเด็กออกมา คือ มีความอัศจรรย์ใจในสิ่งรอบตัว มองทุกคนที่ผ่านพบและต้นไม้ทุกต้นที่ผ่านตา ราวกับว่ามันน่าประทับใจไม่รู้จบ
เด็กๆ มักถามคำถามเสมอ เพื่อทำความเข้าใจโลกใบนี้ คุณเองก็จงทำเช่นนั้นต่อไป

เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถคิดค้นขึ้นได้ใหม่เสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขากำลังเรียนรู้สู่โลกกว้าง และส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่า กำลังถูกคาดหวังให้ทำสิ่งใดแบบตายตัว
อย่ากลัวที่จะแหกกฎอย่างมีความรับผิดชอบ จงเข้าถึงความขี้เล่นภายในตัวเรา และกระโจนเข้าใส่สวนสนุกที่ชื่อว่า โลก


ที่มา : th.wikihow.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น