วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (ตอนท้าทายตัวเอง ด้วยการทดสอบความคิดสร้างสรรค์)


1. จำกัดตัวเองให้ใช้แต่อุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุด. การใช้แต่สิ่งที่คุณมีอย่างจำกัด จะเป็นการท้าทายตัวเองให้พยายามขยับขยายความคิดสร้างสรรค์ ยาวออกไปให้สุดปลายลิ่ม ผลก็คือ คุณจะสามารถทำให้ผลงานออกมาดีได้อย่างเหลือเชื่อ แม้ด้วยทรัพยากรอันจำกัด และคุณจะชำนาญในการสร้างสรรค์จากสิ่งนั้นๆ ด้วยฝีมือขั้นเทพ พูดง่ายๆ คือ คุณจะเก่งกว่าพวกที่เน้นแต่การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือมากมาย[8] พยายามใช้ทรัพยากรภายในให้มากกว่าภายนอก
          - หากคุณเป็นจิตรกร ก็ลองใช้เพียงแค่แม่สีในการระบายผลงาน หากคุณเป็นนักวาด ก็ลองใช้แต่ดินสอธรรมดาๆ ดูสักพัก การพยายามฝึกทักษะด้วยวัตถุดิบขั้นพื้นฐานให้ชำนาญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ นั้น จะทำให้คุณกลายเป็นเซียนในศิลปะแขนงนั้นได้ ในกรณีที่มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้มากขึ้นในเวลาต่อมา
          - หากคุณเป็นคนทำภาพยนตร์ ลองทำด้วยฟิล์มขาวดำ หากคุณเป็นช่างภาพ ก็เช่นเดียวกัน อย่าคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ต้องเป็นเรื่องเดียวกับแนวทางของศิลปะนั้นๆ เสมอไป ที่จริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์เป็นต้นกำเนิดของแนวทางต่างๆ ไม่ใช่ในทางกลับกัน
          - หากคุณเป็นนักเขียน ลองฝึกเขียนด้วยภาษาของเด็กประถม ที่คนวัยอื่นอาจไม่เข้าใจ แม้ว่าคุณอาจจะเขียนในเรื่องที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังอาจสับสนก็ตาม หรือหากคุณเป็นคนเขียนบทละคร ลองเขียนดำเนินเรื่องโดยไม่มีอะไรประกอบฉากเลย ไม่ว่าจะในบทหรือบนเวที ลองดูซิว่าจะเป็นยังไงบ้าง

 
2. เขียนเรื่องราวออกมาจากภาพ. ลองฝึกคิดคำศัพท์สัก 50-100 คำออกมา โดยดูจากภาพๆ หนึ่งเท่านั้น จากนั้น คุณอาจจะลองแต่งเป็นเรื่องราวบ้าบออะไรก็ได้ โดยใช้คำทั้งหมดที่เขียนออกมา (หรือใช้ให้มากที่สุด) ซึ่งคุณอาจจะหาภาพดังกล่าวมาจากนิตยสาร หรืออินเตอร์เน็ต หรือรูปถ่ายที่คุณมีก็ได้


3. ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงในแต่ละวันคิดถึงเรื่องๆ เดียวโดยเฉพาะ. ตอนแรกๆ การทำเช่นนี้อาจจะยากสักหน่อย โดยคุณอาจจะเริ่มคิดถึงสิ่งนั้น สัก 5 นาทีดูก่อน และค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงครึ่งชั่วโมง ในช่วงแรกๆ มันจะฉลาดมาก หากว่าคุณจะทำกิจกรรมฝึกฝนดังกล่าวนี้ตอนอยู่คนเดียว แต่เมื่อคุณชำนาญแล้ว คุณย่อมที่จะทำได้ แม้ว่าอาจจะกำลังอยู่ท่ามกลางผู้คน เช่น ระหว่างเดินทาง หรือตอนอยู่ในที่ทำงานก็ตาม


4. พูดต่อเนื่อง 15 นาที โดยห้ามใช้คำว่า ฉัน ของฉัน ตัวฉัน และฉันเอง (เปลี่ยนสรรพนามตามเพศ หรือตามที่คุณเคยชิน) พยายามพูดให้ไหลลื่นและน่าสนใจ เพื่อให้คนที่กำลังอ่านหรือฟังไม่รู้สึกถึงสิ่งผิดปกติ. กิจกรรมนี้ฝึกให้คุณคิดออกไปภายนอกตัวเอง แทนที่จะหมกมุ่นจมปลักอยู่แต่กับชีวิตส่วนตัว
          - หากคุณชอบกิจกรรมนี้ ลองพูดไปเรื่อยๆ (ให้มีสาระ) ดูว่าคุณจะพูดได้นานแค่ไหน โดยไม่ใช้คำว่า “และ” หรือ “แต่” เป็นต้น


5. หลอมรวมแนวคิด. ลองหาวัตถุมาสองสิ่ง และอธิบายสิ่งแรกอย่างละเอียด เช่น ลักษณะของมัน หรือมันทำมาจากอะไร จากนั้น ลองคิดดูว่า วัตถุอีกอันหนึ่ง จะสามารถแทนอีกอันหนึ่งได้อย่างไร เช่น ฉันจะสามารถเอาวัตถุ A มาทำหน้าที่แทนวัตถุ B ได้อย่างไร เป็นต้น

 
6. บันทึกคำอุปลักษณ์. ลองจดบันทึกทุกสิ่งที่คุณทำ หรือสิ่งที่รู้สึกในแต่ละวัน ออกมาเป็นภาษาในการอุปลักษณ์ คุณควรลองพยายามหาคำใหม่ๆ ให้ได้ทุกวัน (คุณจะเปรียบเปรยการแปรงฟันในตอนเช้าได้สักกี่อย่างกันเชียว) คุณอาจเริ่มเขียนอุปลักษณ์ดูเล่นๆ ก่อน และค่อยเริ่มจดบันทึกลงสมุดก็ได้ ทั้งนี้ การอุปลักษณ์ คือ การพูดที่เปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “ดั่ง” หรือ “เหมือน” เช่น "หวานเป็นลม ขมเป็นยา"
- หากคุณไม่คุ้นเคยกับการอุปลักษณ์ อาจจะเริ่มจากการอุปมาก่อนก็ได้ ซึ่งมันเป็นการเปรียบเทียบโดยใช้คำอย่าง “ดั่ง” “เหมือน” หรือ “เช่น” เป็นต้น เมื่อคล่องแล้วจึงค่อยตัดออกหรือฝึกอุปลักษณ์ในภายหลัง


7. ตอบคำถามทั่วไปด้วยเนื้อเพลงบางท่อน. ลองเขียนคำถามทั่วไป เช่น “คุณชื่ออะไร” หรือ “คุณทำอะไรในวันพฤหัสที่ผ่านมา” พยายามเขียนออกมาให้ประมาณ 10 คำถาม ยิ่งมากยิ่งดี คิดอะไรออกก็เขียนออกมาให้หมด แม้ว่าอาจฟังดูโง่ๆ ก็ตาม จากนั้น ก็ตอบแต่ละคำถามด้วยเนื้อเพลง โดยพยายามอย่าใช้เพลงซ้ำกันหรือมากกว่าหนึ่งครั้ง

 
8. เล่นเกมโยงคำศัพท์. หาใครสักคนมาเล่นด้วยก็จะดีมาก หากคุณเล่นคนเดียว ก็เริ่มด้วยการเขียนคำใดก็ได้ขึ้นมาหนึ่งคำ จากนั้นใช้เวลาอีกสิบนาทีถัดไป ในการพูดต่อคำศัพท์ที่เชื่อมโยงกันไปเรื่อยๆ ลองเปรียบเทียบคำแรกกับคำสุดท้ายที่ออกมาดู มันมักจะเป็นคนละเรื่องกันเลย กิจกรรมนี้จะช่วยให้ความคิดของคุณยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้มีไอเดียคำศัพท์มากขึ้น


9. เขียนเรื่องราวเดียวกันจากมุมมองของคนสามคน. ลองเล่าเรื่องราวเดียวกันจากมุมมองของคน หรือตัวละคนหลักสามตัวที่อยู่ในเรื่องนี้ คุณอาจคิดว่าคนเรามองสถานการณ์หนึ่งๆ ไปในทางเดียวกัน แต่หากคุณได้ลองเข้าไปนั่งในจิตใจของพวกเขา คุณจะพบว่าไม่มีใครเลยที่จะมองเหตุการณ์เดียวกันด้วยมุมมองเดียวกันเป๊ะๆ กิจกรรมนี้จะช่วยให้คุณพัฒนาการคิดแบบเป็นกลาง และมีความเข้าถึงเรื่องราวที่คุณจะเล่าในมุมที่กว้างและลึกขึ้น.
          - หลังจากทำกิจกรรมดังกล่าวเสร็จแล้ว ลองถามตัวเองดูว่า คุณชอบมุมมองแบบของใครมากที่สุด และเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น


ที่มา : th.wikihow.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น