วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีฝึกให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (ตอนสร้างผลงานตามแนวของตัวเอง)


1. หารูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง. สิ่งที่คุณทำจนเคยชินอยู่แล้วอาจส่งผลดีได้ หากมันกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ แต่สิ่งที่ทำจนเคยชินจะส่งผลเสียก็ต่อเมื่อมันไปขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของคุณ แม้ว่าการออกจากความเคยชินเดิมๆ บ้าง เพื่อเปิดทางให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ จะเป็นสิ่งที่ดี แต่การประยุกต์ให้เกิดการเรียนรู้ เติบโต และมีประสบการณ์ใหม่ๆ ได้แม้ว่าจะยังทำเรื่องเดิมๆ อยู่ ย่อมจะดีไม่แพ้กันมิใช่หรือ คนที่ดูแคลนการทำตามความเคยชินเดิมนั้นๆ มักเป็นคนที่ไม่ได้ประยุกต์รูปแบบเดิมๆ ดังกล่าว ให้ส่งเสริมกระบวนการเติบโตภายในจิตใจของพวกเขา ซึ่งกุญแจสำคัญก็คือ การค้นหา พิธีการอันสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถชักนำคุณเข้าไปสู่กระบวนการสรรสร้างต่างหาก
          - หากคุณต้องการเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ก็ถูกแล้วที่คุณมองสิ่งที่ตนเองกำลังจะทำออกมา ราวกับว่ามันเป็น ผลงาน ชิ้นหนึ่ง และต้องลงมือทำมันออกมาอย่างเคร่งครัด ตามช่วงเวลาใดๆ ก็ตามที่คุณจัดสรรเอาไว้ในแต่ละวัน แม้ว่าคุณอาจจะไม่มีแรงบันดาลในช่วงนั้นเลยก็ตาม
          - นักเขียนหลายคน ไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าหรอกว่า ตัวเองจะต้องเขียนวันละกี่คำ แต่พวกเขามักจะมีเงื่อนไขในการเขียนให้ตัวเอง ในลักษณะที่เหมือนกับเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น นักเขียนชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 18 อย่าง เฟร็ดเดอริก ชิลเลอร์ ซึ่งต้องวางผลแอ็ปเปิ้ลเน่าๆ ไว้บนโต๊ะทำงาน และแช่เท้าในอ่างน้ำแข็งทุกครั้งที่กำลังเขียนงานออกมา
          - อย่ากลัวที่จะควบคุมและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้คุณรู้สึกดี เรย์ แบรดบิวรี่ สามารถต้องออกไปเขียนเรื่องสุดมันส์อย่าง “ฟาเร็นไฮท์ 451” ในห้องสมุด แทนที่จะเขียนที่บ้านตัวเอง สตีเฟ่น คิง จะเขียนก็ต่อเมื่อบรรยากาศเงียบสนิทจริงๆ เท่านั้น ส่วนนักเขียนอย่าง ฮาร์แลน เอลลิสัน ต้องเปิดเพลงคลาสสิกคลอตามไปด้วยถึงจะเขียนออก
          - จัดสรรเวลาส่วนหนึ่งในการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ เริ่มต้นช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการบริหารหัวคิด หรือทำพิธีกรรมบางอย่าง ที่จะช่วยกระตุ้นระบบความคิดของตัวเอง อาจจะเป็นการทำสมาธิ การเขียนตามใจฉัน การฟังเพลงโปรด หรือจะนั่งคุยกับตุ๊กตาลูกเทพก่อนก็ได้ ขอแค่ให้จิตใจคุณเริ่มเข้าสู่กระแความคิดสร้างสรรค์ แล้วจึงค่อยตั้งเป้าหมายประจำวัน (เช่น ร่างรูปวาดวันละรูป เขียนหนังสือวันละ 1000 คำ หรือแต่งกวีวันละบท เป็นต้น)


2. อย่าไหลไปตามกระแส. แม้ว่าการติดตามความเป็นไปในสังคม จะช่วยให้คุณรู้ทันกระแสวัฒนธรรมได้ คุณก็ไม่ควรทำผลงานออกมในแนวทางเดียวกับคนอื่นๆ เพียงเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนเองทำได้เจ๋งล้ำหน้าที่สุด คุณควรเดินบนทางตัวเองและทำในสิ่งมีแรงบันดาลใจมากที่สุด หากคุณอยากร้องเพลงลูกทุ่ง และช่วงนั้นเพลงป๊อบอาจจะมาแรงกว่า จะไปสนทำไมล่ะ แต่กรณีที่คุณเปลี่ยนจากร้องเพลงแหล่ ไปเป็นร้องหมอลำ อันนั้นก็ยังถือว่าโอเค การตระหนักในกระแสนิยมของศิลปะแนวเดียวกันหรือใกล้เคียงกับของคุณ ย่อมถือว่าดี แค่อย่าให้มันมากำหนดว่าคุณต้องทำหรือไม่ทำอะไร
         - การไม่ได้รับอิทธิพลตามกระแส เป็นคนละเรื่องกับการเพิกเฉยต่อกระแส หากคุณกำลังเขียนนวนิยายวรรณศิลป์สักเล่ม คุณก็ควรสำรวจว่า นวนิยายวรรณศิลป์หมวดใดที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อจะได้รู้ว่างานที่คุณกำลังจะเขียนนั้นอยู่ในระดับใดหากเทียบกับผลงานอื่นๆ ในสายเดียวกัน คุณจำเป็นต้องรู้ว่ากำลังเทียบชั้นกับใครอยู่ เพื่อที่จะได้พูดแสดงจุดขายงานของตัวเองออกมาได้ดูมีชั้นเชิงหน่อย


3. อย่าหมกมุ่นกับวัฒนธรรมตามกระแส. อย่าดูทีวีมากไป รวมถึงวิทยุด้วย อย่าปล่อยให้วัฒนธรรมตามกระแสนิยมครอบงำชีวิตคุณ แม้ว่าการเสพสื่อเหล่านั้นแต่พอดีจะไม่มีอะไรน่าเสียหาย แต่หากเอาแต่หมกมุ่นมากเกินไป มันจะกลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางแนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้น หากอยากได้แนวคิดดีๆ ก็หาเวลาไปสังสรรค์พูดคุยกับเพื่อนแทนการดูทีวีบ้าง หรือแทนที่จะฟังว่าเพลงอะไรกำลังฮิตจากวิทยุ คุณก็ควรไปเดินดูตามร้ายขายซีดี และหารสนิยมของตัวเองให้เจอ
          - นั่นหมายถึงกรณีที่คุณเป็นพวกบ้าดูทีวีหรือฟังวิทยุอยู่เดิมนะ เพราะบางคนเปิดทีวีและวิทยุทิ้งไว้ เพื่อให้มีเสียงเป็นเพื่อนใจไปงั้นเองด้วยซ้ำ หากคุณเป็นคนประเภทนั้น ก็ลองฝืนทนความเงียบดูบ้าง ลองเงี่ยหูฟังจิตใจตัวเองเมื่ออยู่ในความเงียบงัน เผื่อความคิดสร้างสรรค์จะออกมาโดยไม่รู้ตัว
          - การสังสรรค์กับเพื่อนหรือคนที่ไม่ชอบกระแสนิยมเหมือนกัน จะช่วยให้คุณเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น


4. อย่าจัดผลงานของคุณเข้าหมวดใดหมวดหนึ่ง. แม้ว่าคุณจำเป็นต้องให้คำจำกัดความผลงานตัวเอง คุณก็ไม่จำเป็นต้องปักหมุดผลงานนั้นว่า เป็นแนวใดแนวหนึ่งตายตัวเท่านั้น หากผลงานของคุณเป็นลูกผสมระหว่างสองสามแนวรวมกัน เช่น คุณอาจเรียกผลงานของตัวเองว่าเป็น นิยายแนวแวมไพร์สืบสวนสำหรับเยาวชน ก็ได้ ยิ่งน่าสนใจกว่าเดิมอีก อย่ามัวแต่คิดเรื่องชื่อแนวในขณะที่สร้างสรรค์ผลงานอยู่ รอให้ผลงานออกมาเสร็จสมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยคิดดีกว่า


5. ใช้เวลาส่วนตัวให้เกิดประโยชน์. คุณไม่จำเป็นต้องเป็นพวกต่อต้านสังคม แต่หลายๆ คนพบว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า หากใช้เวลาที่อยู่เป็นส่วนตัวคนเดียวแยกจากผู้อื่น ดังนั้น พยายามใช้เวลาส่วนตัวนี้ระดมสมองเพื่อสร้างผลงานศิลป์ออกมา เช่น ช่วงเวลาก่อนนอน หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า ก็เหมาะในการบันทึกไอเดียเช่นกัน ศิลปินหลายๆ คนพบว่า พวกเขามักมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดในช่วงทันทีที่ตื่นนอน
          - เปิดใจในการร่วมงานกับผู้อื่นเอาไว้บ้าง ศิลปินหลายคนพบว่า พวกเขาสามารถสร้างผลงานได้ดีเกินคาดหมาย เวลาที่ร่วมงานกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นจอห์น เลนนอน-พอล แม็คคาร์ทนีย์ หรือโจ-ก้อง นูโว เป็นต้น การร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงาน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์
          - หาใครสักคนที่คุณสามารถแชร์ไอเดียด้วยได้ ชักชวนให้เขาหรือเธอมาร่วมกันสร้างผลงานที่แปลกใหม่และท้าทายกับคุณสิ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ของคุณอาจจะถูกระเบิดออกมาในกระบวนการดังกล่าวได้ด้วย


6. อย่าใส่ใจอดีต. หากคุณอยากจะเดินบนเส้นทางของตัวเองจริงๆ อย่ายึดติดกับอดีต การศึกษาว่าศิลปะในแนวของคุณมีความเป็นมาอย่างไรนั้นอาจเป็นเรื่องดี แต่อย่าให้ตัวเองไปลอกเลียนผลงานเหล่านั้น การได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลทางความคิดจากศิลปินในอดีตเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้สิ่งนั้นมาขัดขวางแนวทางและการแสดงออกของคุณ จำไว้ว่า ในห้วงขณะแห่งความคิดสร้างสรรค์นั้น เวลาไม่ได้มีอยู่จริง หนึ่งชั่วโมงอาจรู้สึกเหมือนหนึ่งวัน ในขณะที่เวลาครึ่งวันอาจผ่านไปเพียงชั่วพริบตา คุณมักจะรู้สึกอยู่แต่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น[7] พยายามมีสติอยู่กับปัจจุบัน
          - การรับเอาแรงบันดาลใจจากอดีตเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าจมอยู่ในอดีตนั้น ผลงานจากอดีตกาลย่อมมีทั้งส่วนที่คุณชอบและไม่ชอบ แต่คุณควรเน้นเอาส่วนที่เชื่อมโยงกับแนวทางของคุณมาต่อยอดพัฒนาในแบบของตัวเอง เช่น เอาแนวเรโทรมาผสานกับฮิปฮอป หรือลองเอาเพลงป๊อบร็อค มาใส่ท่อนเซิ้งหมอลำดูก็ได้
          - ไม่ว่าคุณจะหยิบเอาผลงานจากอดีตมาทำอะไร (กรณีที่คุณมีแรงบันดาลใจ) ต้องพยายามให้เกิดสิ่งใหม่ๆ มากกว่าจะเป็นเหมือนของเดิม


ที่มา : th.wikihow.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น