วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคสําคัญของเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมมืออาชีพ เกี่ยวกับเกม/กิจกรรมทีมบิ้วดิ้ง (Team Building)



          การฝึกอบรมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรในองค์กร และการที่จะทำให้การฝึกอบรมนั้นมีประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆอย่าง ทั้งทางด้านผู้สอน เนื้อหา ผู้เรียน และผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจึงจำเป็นต้องหาเทคนิคและเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการดำเนินการฝึกอบรม เช่น การทำกิจกรรมกลุ่ม, การทำWorkshop, Role Play เป็นต้น


          เกมนับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งก่อนการเริ่มและระหว่างการสัมมนา ใช้เป็นเครื่องมือที่สร้างความสนใจ สนับสนุนการเรียนรู้ หรือใช้เชื่อมโยงเนื้อหาของการอบรม และยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย เพลิดเพลิน สนุกสนานทั้งผู้เรียนและผู้สอนอีกด้วย เกมประเภทต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมสามารถนำมาปรับใช้ ได้แก่


1. เกมละลายพฤติกรรม (Ice Breaking) ใช้เพื่อเน้นการทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนม เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายก่อนการเริ่มการฝึกอบรม โดยเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมอาจจะใช้เกมละลายพฤติกรรมก่อนการเริ่มการฝึกอบรมประมาณ 5 นาที เป็นเกมที่ไม่ใช้เวลามาก เน้นให้ผู้เรียนได้พูดคุยและทำความรู้จักตามวัตถุประสงค์ของเกม เช่น เกมรู้จักเพื่อนใหม่ เกมบิงโกเรียกชื่อ เกมล่าลายเซ็น เป็นต้น



2. เกมสันทนาการ (Recreational Games) ใช้เพื่อเน้นการสร้างความสนุกสนาน รื่นเริง ให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกผ่อนคลาย อาจจะใช้เกมนี้หลังจากช่วงพักเบรก หรือก่อนเริ่มช่วงบ่ายของการฝึกอบรมเพื่อผู้เรียนจะได้ตื่นตัวและไม่เครียดจากทั้งเนื้อหาและอาหาร เช่น เกมผึ้งแตกรัง เกมทายปริศนาภาพ เกมรวมเหรียญ เป็นต้น


3. เกมการเรียนรู้ (Learning Team Building Activity) เป็นเกมที่ออกแบบให้เน้นการเชื่อมโยงกับเนื้อหาในการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมอาจจะใช้เป็นเครื่องมือแทนการทำ Workshop หรือ Role Play แต่เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจะต้องตั้งวัตถุประสงค์ของเกมให้ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถสรุปผลได้หลังจากเกมสิ้นสุดลง เช่น หลักสูตรการสรรหาคัดเลือกแบบมืออาชีพ เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมอาจใช้เกมตัวเลข หรือเกมตรรกะ เพื่อใช้วิเคราะห์เรื่องการคิดเป็นระบบของผู้สมัครงาน เป็นต้น


          และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ บทบาทผู้นำเกม เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจะต้องสวมบทบาทเป็นทั้งผู้นำเกมและเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม นั่นคือต้องวิเคราะห์ผู้เล่นเกมว่าเกมใดเหมาะสม อธิบายเกมได้ชัดเจน และสรุปเกมอย่างตรงประเด็น และยังต้องดูแลงานฝึกอบรมให้เรียบร้อยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของการอบรมนั้นด้วย ส่วนการเลือกเกมมาใช้ประกอบนั้น อาจจะพิจารณาจากกลุ่มผู้เข้าอบรมว่าอยู่ในระดับใด ควรใช้เกมประเภทใด สถานที่ฝึกอบรมเหมาะหรือไม่ในการใช้เกมนั้น


         และที่สำคัญคือ หลักสูตรในการจัดอบรมนั้น ๆ เหมาะหรือไม่ในการใช้เกมมาประกอบการฝึกอบรม เพราะความสำคัญของการใช้เกมแต่ละประเภทนั้นอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการนำเกมมาใช้ การฝึกอบรมที่ต้องการให้ผู้เข้าได้เรียนรู้ หรือพัฒนาทักษะ ก็ไม่ควรใช้เกมประเภทสันทนาการมากจนเกินไป หรือหากเลือกเกมประเภทเสริมการเรียนรู้มาใช้ เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมก็จะต้องสรุปให้ได้ว่าเกมที่นำมาใช้นั้นสอดคล้องกับเนื้อหาอย่างไร และให้ข้อคิดอย่างไร 


          ตรงกันข้ามหากหลักสูตรนั้นเป็นการฝึกอบรมขั้นต้น เช่น การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ หรือหลักสูตรที่กลุ่มผู้เรียนอยู่ในระดับกลาง ก็ควรจะเลือกเกมประเภทสันทนาการเพื่อให้เหมาะกับผู้เข้าอบรมแต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมก็จะต้องวิเคราะห์ให้เห็นว่าการใช้เกมเป็นเพียงเทคนิคหนึ่งในหลาย ๆ เทคนิคเท่านั้น ที่ช่วยให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


         ดังนั้นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจะต้องมุ่งที่วัตถุประสงค์ หลักของการฝึกอบรมแล้วค่อยมาเลือกใช้เทคนิคต่าง ๆไปประกอบการฝึกอบรม เพราะหากผิดประเด็นไปแล้วการฝึกอบรมนั้นอาจจะได้รับเพียงแค่ความสนุกแต่ไม่เกิดประสิทธิผลใด ๆ ก็ได้


อ้างอิง : hrcenter.co.th
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น