วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Practical Wisdom ผู้นำทีมงานยุคใหม่ต้องมี


การบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน นับว่าเป็นภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆของผู้นำอีกต่อไป แต่เดิม Ikujiro Nonaga และ Hirotaka Takeuchi ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ ความรู้ บอกว่าผู้นำควรจะต้องนำความรู้ 2 ลักษณะคือ ความชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และ ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) มาผสมผสานกันเพื่อสร้างภูมิปัญญาของผู้นำ ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ แต่จากการที่สภาพแวดล้อมในการบริหารองค์กรในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้นำยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ต้องพัฒนาตนเองให้มีภูมิปัญญาในการบริหารงานเพิ่มขึ้น ไปอีก ซึ่งภูมิปัญญาชุดใหม่นี้ เรียกว่า "ภูมิปัญญาเชิงปัญญาปฏิบัติ (Practical Wisdom)"


ซึ่งประกอบไปด้วยคุณลักษณะใหญ่ๆ 6 ประการ ดังต่อไปนี้

1. ความสามารถในการใช้ดุลยพินิจแยกแยะระหว่างความดีและความไม่ดี ผู้นำที่จะครองใจคนจะต้องมีความสามารถแยกแยะให้ได้ว่าอะไรเป็นความถูกต้อง ความดี ที่ผู้นำจะต้องประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ ที่เริ่มจาก
1.1) ความรู้ ที่จะต้องรู้เสียก่อนว่าสิ่งต่างๆที่ผู้นำจะต้องประพฤติปฏิบัติอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่ดีงาม
1.2) ค่านิยมของตนเอง ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อความศรัทธาในความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งจะต้องเป็น กระบวนการบ่มเพาะมาอย่างยาวนานเริ่มจากครอบครัว โรงเรียน และสังคม 
1.3) ความกล้าลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองเชื่อและศรัทธา
1.4) กระบวนการตรวจสอบเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับว่าอะไรเป็นที่ถูกต้องชอบธรรม
1.5) การถ่ายทอดค่านิยมในความถูกต้องชอบธรรมต่อคนรุ่นต่อๆ ไปและสังคม

2. ความสามารถในการจับประเด็นสำคัญ ผู้นำจะต้องมีความสามารถในการจับประเด็นสาระสำคัญของเรื่องราวต่างๆที่จะต้องแก้ปัญหาและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เช่น ในประเด็นที่จะต้อง แก้ปัญหาและตัดสินใจนั้นๆมีสาระสำคัญอยู่ตรงไหน ผลกระทบของตัดสินใจจะเป็นเช่นไร การแก้ปัญหาแบบนี้จะมีผลกระทบอะไรบ้าง เป็นต้น ในการพัฒนาความสามารถในเรื่องนี้ประกอบด้วย
2.1) การตั้งคำถามอย่างลึกซึ้งในสถานการณ์หรือประเด็นปัญหานั้นๆ
2.2) การเชื่อมโยงประเด็นของสถานการณ์ต่างๆว่าจะกระทบกับภาพรวมขององค์กรอย่างไร 
2.3) การฝึกการใช้ความคิดแบบทัศนภาพ (Scenario Thinking) ว่าถ้าจะทำสิ่งนี้จะมีผลกระทบอะไร เกิดขึ้นตามมาบ้างกับส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
2.4) ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น
2.5) ทบทวนการจับประเด็นสำคัญว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่


3. ความสามารถในการสร้างการตระหนักรู้ร่วมกัน ผู้นำจะต้องมีความสามารถในการสร้างโอกาสและบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในหมู่ผู้เกี่ยวข้อง ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานทราบข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ขององค์กรและสร้างบรรยากาศในการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันจะเป็นโอกาสในการสร้างความรู้ใหม่ๆให้เกิดขึ้นในองค์กร และยังจะเป็นการกระตุ้น ให้เกิดความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร อันจะเป็นพลังร่วมกันของคนในองค์กรที่จะช่วยกันทำงาน


4. ความสามารถในการสื่อสารที่มุ่งเน้นสาระสำคัญ ผู้นำจะต้องมีศิลปะในการสื่อสารที่มั่นใจได้ว่าผู้รับข่าวสารในสถานะต่างๆจะรับรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในสิ่งที่ผู้นำสื่อออกไป ผู้นำจะต้องมีทักษะในการสื่อสารที่จะสร้างพลังในการทำงานกับทีมงาน


5. ความสามารถในการใช้ภาวการณ์นำที่เหมาะสม โดยภาพรวมพนักงานจะแสดงพฤติกรรมในการปฏิบัติงานออกเป็นสามลักษณะใหญ่ๆ คือ พฤติกรรมการทำงานเชิงบวกที่มุ่งมั่นทุ่มเทเป็นพิเศษ พฤติกรรมปกติซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และสุดท้ายพฤติกรรมที่มีปัญหาในการทำงาน ผู้นำจะต้องมีกระบวนการในการที่จะจูงใจและให้รางวัลที่เหมาะสมสำหรับพฤติกรรมเชิงบวก พยายามกระตุ้นให้พฤติกรรมปกติให้กลับกลายมาเป็นพฤติกรรมเชิงบวก และกลุ่มสุดท้ายพฤติกรรมที่มีปัญหา ผู้นำจะต้องมีความกล้าในการใช้มาตรการที่เหมาะสมในการ แก้ปัญหาจากมาตรการการปรับพฤติกรรมการทำงาน ไปจนสุดท้ายมาตรการการลงโทษ เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าพนักงานทุกคนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการทำงาน


6. ความสามารถในการถ่ายทอดภูมิปัญญาเชิงปัญญาปฏิบัติไปสู่คนรุ่นต่อๆไป ในทางปฏิบัติองค์กรที่มุ่งมั่นในความสำเร็จอย่างยั่งยืน ไม่ควรที่จะพัฒนาเฉพาะผู้นำให้มีภูมิปัญญาเชิงปัญญาปฏิบัติเท่านั้น แต่องค์กรควรที่จะพัฒนาให้พนักงานทุกคนมีภูมิปัญญาในลักษณะดังกล่าวด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญอันหนึ่งของผู้นำก็คือการที่จะต้องพัฒนาถ่ายทอดพฤติกรรมและวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่ใช้ภูมิปัญญาเชิงปัญญาปฏิบัติ ให้กับพนักงานรุ่นต่อๆไป ด้วยการแสดงบทบาทของการเป็นพฤติกรรมต้นแบบ (Role model) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดไป


ลองนำแนวคิดของ "ภูมิปัญญาเชิงปัญญาปฏิบัติ" ไปพัฒนาผู้นำองค์กรดูนะครับ
"ผู้นำยุคใหม่ต้องมี ความสามารถ ที่มากขึ้น ด้วยถูกคาดหวังในด้าน ของผลสัมฤทธิ์ ที่หลากหลาย"

 
ที่มา : www.impressionconsult.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น