วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

สอนงานลูกน้องจากความผิดพลาด



          บางคนชอบทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เช่น การเดาะลิ้นเวลารับประทานอาหาร ซึ่งถ้าอยู่ในยุโรป การทำพฤติกรรมไร้มารยาทเช่นนี้มักถูกรังเกียจอย่างรุนแรง มีคนที่พอรู้เช่นนั้นแล้วเลิกทำ แต่ก็มีบางคนที่ถึงจะบอกไปก็ไม่ได้แก้ไข หรือไม่คิดจะแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว

          คนประเภทหลังที่ไม่รู้จักเรียนรู้นั้น ต้องให้ไปอยู่ที่ยุโรปและได้รับความอับอายสักครั้งถึงจะดี เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น คนประเภทนี้ก็จะไม่มีวันรู้สึกถึงพฤติกรรมอันน่ารังเกียจดังกล่าว

          ด้วยเหตุนี้ การปล่อยให้ลูกน้องทำเรื่องผิดพลาดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เป็นหัวหน้าพึงกระทำ หากอยู่ในขอบเขตที่หัวหน้าสามารถเฝ้าดูได้ และถึงแม้จะผิดพลาดก็แค่เจ็บตัวเพียงเล็กน้อย แต่การที่ได้รับรู้รสชาติของความเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนั้น จะทำให้เขารู้สึกตัวว่าตัวเองทำผิด

           แม้แต่การขับรถก็เหมือนกัน ในตอนแรกที่ถอยรถเข้า ๆ ออก ๆ ก็คงมีบ้างที่เอาด้านข้างไปถู หรือไปชนกับรถข้าง ๆ ที่ลานจอดรถของซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไม่ก็ต้องเคยเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งนั่นก็จะทำให้ผู้ขับมีความชำนาญในการขับรถมากขึ้น คนที่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุเลยแม้แต่ครั้งเดียว พอผ่านไป10 ปี 20 ปี กลับประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่รุนแรงถึงชีวิต ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขามีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปจนทำให้เกิดความพลั้งเผลอได้

          ในด้านธุรกิจก็เช่นกัน ควรให้ลูกน้องได้รู้จักกับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเร็ว ดีกว่าที่จะให้กลายเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงที่ทำให้โครงสร้างของบริษัทสั่นคลอนในภายหลัง

          ตัวอย่างเช่น เมื่อดูงานของลูกน้องจากประสบการณ์ก็พอจะรู้ว่า “ตรงนี้ผิด” แต่ก็ยังบอกกับลูกน้องว่า “โอ้! ทำได้ดีนี่นา…พยายามทำต่อไปนะ” แล้วปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างที่คาดไว้
           
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

4 เทคนิคสนุก ปลุกการประชุมให้มีชีวิตชีวา



          ไม่ว่าคุณจะชอบการประชุมหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือคุณไม่อาจหลีกเลี่ยงมันได้ เพราะการประชุมเป็นวิธีหนึ่งที่จะสื่อสารข้อมูลใหม่ ๆ ไปยังพนักงาน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญ ประกาศนโยบาย บอกเล่าแผนการทำงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และมุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกัน
บ่อยครั้งที่การประชุมดูจะเป็นอะไรที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับพนักงาน จึงต้องมีวิธีการกระตุ้นให้การประชุมมีชีวิตชีวา และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอเสนอ 4 เทคนิคการประชุมที่คุณสามารถนำมาใช้เพื่อปลุกผู้ร่วมประชุมของคุณให้รู้สึกสนุกสนานไปกับการประชุม และเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจจากการประชุมที่จัดขึ้น ดังนี้

1. ทำให้การประชุมเป็นเรื่องสนุก
ก่อนการประชุมลองหาเรื่องสนุก ๆ มาเล่าเพื่อผ่อนคลายความเครียด ของพนักงานลงก่อน การหัวเราะจะช่วยสลายกำแพง ละลายพฤติกรรม ของพนักงานทำให้การประชุมไม่น่าเบื่อและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ด้วยของเล่น
ผู้ใหญ่กับเด็กมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกเขาชอบของเล่น ลองนำของเล่น เช่น ลูกบอลนวดมือ สปริงเด้งดึ๋งสีรุ้ง (ฝรั่งเรียก Slinkies ส่วนบ้านเราเรียก สกายฮูป) เข้าห้องประชุมไปด้วย แล้วให้ผู้เข้าประชุมได้ผลัดกันเล่น มีผู้ทดลองแล้วพบว่าผู้ประชุมที่มีอะไรให้เล่นไปด้วยจะมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น

UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

เตรียมความพร้อมก่อนพรีเซนต์ (7 เทคนิคพรีเซนต์งานขั้นเทพ)



          เคล็ดไม่ลับ ฉบับงานพรีเซนต์เลิศ ๆ กับเทคนิคทั้ง 7 ในการเรียนหรือการทำงาน ที่มักจะต้องพรีเซนต์งานต่างๆอยู่เสมอ แต่กระนั้น ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความถนัดในด้านนี้ ดังนั้น จึงรวบรวม 7 เทคนิคสำคัญเพื่อการพรีเซนต์งานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

1.เริ่มด้วย "ทำไม"
ทางที่ดีเราควรเริ่มต้นการนำเสนอผลงานของคุณด้วยเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ รวมทั้งข้อดี และประโยชน์จากการจัดทำผลงาน เพราะคนส่วนมากอาจไม่สนใจว่าคุณทำอะไร แต่อาจสนใจว่าคุณทำเพราะอะไร และ มีประโยชน์อย่างไร

2.ทำความรู้จักกับกลุ่มผู้ฟั
การศึกษาข้อมูลของกลุ่มผู้ฟัง และรู้จักพวกเขาให้ดีพอจะเอื้อประโยชน์เป็นอย่างมากในการนำเสนอ และโน้มน้าวผู้ฟัง หากคุณรู้ว่าพวกเขาเชื่อ และสนใจในสิ่งใดบ้าง ทั้งนี้ยังรวมถึงสไตล์การพูดที่ควรปรับให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟังด้วยเช่นกัน

3.นำเสนอด้วยภาพและคงความเรียบง่าย
ควรใช้ภาพเป็นสื่อในการนำเสนอข้อมูลแทนข้อความยาวๆ และตัวเลขทางสถิติต่างๆ เพราะข้อมูลที่คุณต้องการนำเสนอจะเป็นที่จดจำมากกว่าหากเป็นภาพที่น่าสนใจ และควรหลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลที่มากเกินไป พยายามใช้ข้อความในแต่ละสไลด์ให้ กระชับและชัดเจน

4.บอกเล่าด้วยเรื่องราว
การพรีเซนต์งานด้วยข้อมูลหนักๆ และตัวเลขทางสถิติอาจทำให้คุณดูมีความรู้ แต่แน่นอนว่าอาจไม่มีใครจำสิ่งที่คุณพูดได้ ในทางกลับกัน การบอกเล่าด้วยเรื่องราว อารมณ์ และมุ่งเน้นความสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะทำให้ผู้ฟังจดจำได้ดีกว่า นอกจากนั้น คุณไม่ควรอ่านจากสไลด์ หรือสคริปท์โดยตรง แต่ควรใช้เพียงโน๊ตสั้นๆและเล่าด้วยจังหวะที่เป็นธรรมชาติ


UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

เรียนรู้จากความสำเร็จของ น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์



          ขอร่วมแสดงความยินดีในการก้าวสู่มือ 1 ของนักแบดมินตันระดับโลก น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ เธอคือขวัญใจชาวไทย หญิงแกร่งยอดนักสู้ในขณะนี้ สิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับความสำเร็จคือ กว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จนั้นเธอฟันฝ่าอะไรมาบ้าง แน่นอนว่าไม่ใช่เรืองง่ายๆเลย เรามาเรียนรู้วิถีเธอสู่การประยุกต์ใช้กับวิถีเราเพื่อความสำเร็จกันครับ
เรามาถอดบทเรียนชีวิตของน้องเมย์ รัชนกกันครับว่าเธอมีอะไรให้เราได้เรียนรู้เพื่อต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้บ้าง

1. เริ่มเร็วเริ่มช้าไม่สำคัญ เท่ากับเริ่มแล้วพยายามจนสุดหรือยัง น้องเมย์คว้าแชมป์แรกในชีวิตตอนอายุ 7 ปี และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการตั้งเป้าให้สูงสุด และยากขึ้น ท้าทายตัวเองไปอย่างไม่หยุดยั้ง และน้องเมย์ รัชนก เคยให้สัมภาษณ์สื่ออย่างน่าประทับใจว่า น้องเมย์ไม่ได้เหนือคนอื่นเลยเมื่อเทียบกับคนที่อายุมากกว่า แต่น้องเมย์ให้เหตุผลว่า เพราะเธอซ้อมเยอะกว่าคนอื่นมากกว่าจึงสำเร็จได้เร็วกว่า

2. การมีโค้ชจะทำให้คุณอุ่นใจ และจะทำให้เราไม่หงทิศ และมีส่วนมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น น้องเมย์ รัชนก มีโค้ชชาวจีนชื่อว่า เซี๊ยะ จือหัว เป็นที่ปรึกษาและคอยดูแลการฝึกมาตลอด 20 ปี

3. ความหมั่นเพียรและสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้จะมีโค้ชระดับเซียนเพียงใด แต่หากเราไม่มีแรงผลักดันจากภายในตัวเองก็ยากที่จะไปถึงฝั่งฝัน น้องเมย์ รัชนก หมั่นเพียรในการฝึกฝนตลอด 365 วัน วันละ 7 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง

4. อ่อนน้อมถ่อมตนคือคุณสมบัติของผู้ยิ่งใหญ่ สังเกตไหมครับว่า น้องเมย์ รัชนก จะยกมือไหว้ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแข่งขัน จากใจจริงๆ ดูแล้วน่ารักมากๆจนสมาคมแบดมินตันของอินเดียกล่าวยกย่องในการแสดงออกของน้องเมย์ รัชนก บางครั้งการตั้งใจทำสิ่งดีๆจากใจที่ดูเหมือนจะเล็กๆอย่างการยกมือไหว้ หรือทำความเคารพมันก็ทำให้หลายๆคนมองว่ามันยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่ได้

5. ความรักและการสนับสนุนจากครอบครัวคือพลังอันยิ่งใหญ่ จุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องแบดมินตันของน้องเมย์ รัชนก คือ ช่วงสมัยที่เป็นเด็กซนที่โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอด แม่ปุก (กมลา ทองกร ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอด) ใช้กุศโลบายอย่างเนียบเนียนให้น้องเมย์ รัชนกเปลี่ยนความซนเป็นการเล่นกีฬาแบดมินตัน เพราะเกรงเรื่องอันตรายที่ต้องมาวิ่งแล่นแถวโรงงาน ในส่วนพ่อกับแม่ของน้องเมย์ รัชนก ก็ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังใจให้ตลอดจนประสบความสำเร็จ

6. ความอดทนคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จ น้องเมย์ รัชนก เคยให้สะมภาษณ์ว่า เรื่องควมอดทน คือ สิ่งที่น้องเมย์ยึดถือปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการซ้อมหนักมาก บางครั้งอาจมีท้อแท้บ้าง แต่เพราะเรามีความอดทนจึงไม่ยอมปล่อยความสำเร็จให้หลุดมือไปง่ายๆ

7. อย่ายึดติดกับความสำเร็จหลงตัวเอง น้องเมย์ รัชนก เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในเรื่องการประสบความสำเร็จในระดับต่างๆแล้วยังทำหน้าที่สำคัญด้วยความไม่ประมาท คือ การลงมือซ้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับความสำเร็จที่ยกระดับตัวเองขึ้น

8. ไม่มีความสำเร็จใดได้มาฟรีๆ ความสำเร็จระดับโลกและหลายๆความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา น้องเมย์ รัชนก
ต้องแลกกับชีวิตบางช่วงที่ขาดหายนั้น คือ ความเป็นวัยรุ่น ในช่วงเวลาวัยรุ่นทั่วไปอาจใช้เวลาว่างไปเที่ยวดูหนัง
ฟังเพลง แต่น้องเมย์ รัชนก กลับใช้เวลาช่วงนั้นมาซ้อมตีแบด เพื่อความสำเร็จ และเพื่อประเทศชาติน้องเมย์เธอเสียสละเพื่อแลกมาได้ น่ายกย่องมากๆครับ

          ก็ขอชื่นชมและยกย่องในความพยายามของน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ อีกครั้งนะครับ ในความอุตสาหะมุ่งมั่นตั้งใจ
จนนำพาตัวเองก้าวไปถึงจุดสูงสุดในวิชาชีพของตนเองได้ เป็นโอกาสดีครับที่เราจะได้เรียนรู้เพื่อนำมาต่อยอดสู่ความสำเร็จในแบบเราบ้าง

ที่มา : www.tonypuy.com
 UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

เคล็ดลับ 19 ข้อ สำหรับภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ



1. รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับนายของท่าน สัมพันธภาพที่ดีมีผลโดยตรงกับความสามารถของท่านที่จะสร้างความพอใจ และผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำที่มีความสามารถได้รับอำนาจจากนายของเขา

2. ทำตัวอย่างที่ดี ในสิ่งที่ท่านอยากให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติ เช่น มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ ควบคุมอารมณ์ใช้ปัญญา กล้าตัดสินใจ ยืดหยุ่นมีเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ ริเริ่ม กระตือรือร้น ท่านต้องให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ ท่านต้องเป็นแบบอย่าง การเป็นแบบอย่างเป็นยุทธวิธีที่ดีมากสำหรับผู้นำที่มีความสามารถ

3. บอกความคาดหวังท่านชัดเจน ท่านคาดหวังอย่างไรกับผู้ร่วมงานที่เขาจะทำให้เกิดความพึงพอใจกับท่าน อย่าคิดเอาเองว่าเขาจะทราบไม่ต้องกลัวที่จะบอกเขาว่าท่านต้องการอะไร บอกเขาก่อนที่เขาจะทำงาน และเตือนเขาบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้

4. นัดประชุมเพื่อสร้างทีมให้เข้มแข็ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดให้กลุ่มมุ่งเน้นที่เป้าหมาย

5. ให้รางวัลผู้ให้ความร่วมมือและทำงานหนัก ถ้าให้รางวัลเขาแล้ว เขาจะทำงานดีขึ้น

6. ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และหาประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านั้น

7. ให้คำชมบางคนที่ให้ความร่วมมือกับทีมดูวัตถุประสงค์ ความจริงใจ และความถี่ ท่านแน่ใจว่าเขาทำตามความคาดหวังของท่าน และสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

8. รับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ท่านจะได้รับความนับถือและไดรับความจริงใจมากขึ้น ท่านจะได้ทราบความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น

9. เลือกบุคคลที่สามารถทำงานกันเป็นทีม ไม่มีการฝึกอบรมชนิดใดที่จะเปลี่ยนแปลงบุคลากรที่แปลกแยกจากทีมของท่านได้มากนัก ให้พิถีพิถันในการเลือกคน อย่าต้องมาจ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งผิด ๆ ทิ้งไว้ให้คู่แข่งของท่านจะสวยกว่า

10. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายทัศนภาพ สร้างแรงจูงใจ และเหตุผลต่าง ๆ ไม่ต้องบอกว่าเขาต้องทำอะไรในสถานการณ์ต่าง ๆ และให้เขาช่วยตัดสินใจในวิธีการที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้บรรลุผลตามความต้องการต่าง ๆ เหล่านั้น

11. ยอมรับความผิดพลาด การยอมรับความผิดพลาดแสดงถึงความเข้มแข็งมากกว่าการแสดงความอ่อนแอ

12. อย่าให้คำมั่นสัญญาอะไรง่าย ๆ มีสองสิ่งที่จะเกิดขึ้น เวลาให้สัญญาไม่เป็นสิ่งที่ดีนัก นั่นก็คือ มีความคาดหวังให้เป็นไปตามสัญญา และถ้าไม่เป็นไปตามสัญญา มิตรภาพก็จะสลายไป

13. บริหารเวลาให้ดี ควรมีเวลาให้เพื่อนร่วมงานของท่านบ้าง

14. มอบหมายงานให้เหมาะสมกับคนสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร สิ่งนี้เป็นคำตอบที่ดีสำหรับคำถามที่ว่า "ข้าพเจ้าจะจู.ใจลูกน้องได้อย่างไร"

15. ท่านต้องยอมรับค่าของคนตามความแตกต่างของบุคลากร ท่านก็คงทราบว่าสิ่งใดที่จะทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น คนอื่น ก็เช่นเดียวกับท่าน ทุกคนต้องการมีความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ ถ้าท่านยกย่องเขา เขาก็ยกย่องท่าน

16. แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างซื่อตรง และยุติธรรม ให้ตระหนักถึงสไตล์การแก้ปัญหาความขัดแย้งของท่าน เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

17. ให้ข้อมูลในการทำงานก่อนที่เขาจะทำงาน เพื่อนร่วมงานต้องการข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน เมื่อท่านมอบหมายงานท่านต้องให้ข้อมูลเขา

18. ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นจากแรงกดดันของแต่ละวันบ้าง ท่านต้องมีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เป้าหมายบรรลุผล ควรจะวางแผนอย่างไร มิฉะนั้นท่านก็จะต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ โอกาสที่ท่านจะประสบความสำเร็จยากมากต้องปล่อยวางบ้าง

19. อย่าเป็นคนที่เคร่งเครียดจนเกินไป ร่าเริงและเป็นกันเองกับลูกน้องบ้าง

โดย : รศ.สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์
 UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

วิธีเติมความคิดสร้างสรรค์ในทุกๆ วันของการทำงาน



          ทุกคนล้วนทราบดีว่าการมีความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity นั้น เป็นสิ่งที่มีค่าและจำเป็น โดยเฉพาะในการทำธุรกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขัน ไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์นั้นคือสิ่งชี้ขาดระหว่างผู้นำและผู้ตามในตลาดเลยทีเดียว

เวลาที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายหรือเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา หนึ่งในคำถามที่ผมมักถามอยู่เสมอคือ “ความคิดสร้างสรรค์ สร้างได้หรือเป็นพรสวรรค์?” เพราะคนส่วนมากมักคิดเอาเองว่าการมีความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นพรสวรรค์ที่มีมาในเฉพาะบุคคลกลุ่มหนึ่ง และการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในธุรกิจนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือการตลาดเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่บ่มเพาะขึ้นมาได้ และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องฝึกฝนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถฝึกฝนตนเองและบุคลากรให้มีการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในธุรกิจได้ โดยมีข้อคิดดังนี้ครับ

สร้างวัฒนธรรมของการ “ฟัง” ที่ดี
หนึ่งในเทรนด์ด้าน Personal Development ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ผมสังเกตเห็นคือ การที่ผู้บริหารเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองด้านทักษะ “การฟัง” พอๆ กับการพัฒนาทักษะ “การพูด” เพราะความคิดดีๆ ในการแก้ปัญหาและทำธุรกิจนั้นมักเกิดขึ้นเมื่อมีการระดมความคิด โดยเฉพาะในยามที่มีการพูดคุยกันระหว่างทีมงานต่างแผนก ซึ่งนอกเหนือจากการที่ทีมงานต่างหน้าที่จะได้เรียนรู้มุมมองของกันและกันแล้ว ยังสามารถนำแนวคิดที่ได้ไปประยุกต์แก้ปัญหาอื่นๆ ในหน้าที่การงานของตัวเองอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่การแข่งขันในเชิงธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กรนั้นทวีความรุนแรงขึ้น บ่อยครั้งที่การระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหากลับกลายเป็นการประชันขันแข่งกันเพื่อให้ไอเดียของตัวเองเป็นใหญ่ รวมถึงกลายเป็นพื้นที่แสดงผลงานหรืออีโก้ของแต่ละคนไปแทนที่จะรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน วัฒนธรรมการ “ฟัง” ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง โดยเริ่มจากผู้นำที่ต้องเป็นทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้ปฏิบัติที่ดีจึงจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จ

เปลี่ยนมุมของการมองปัญหา
ความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะในเวลาที่ธุรกิจติดอยู่ในวังวนของปัญหา ไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะสมได้ หนึ่งในวิธีที่ผู้ประกอบการใช้ได้ผลมากคือการเปลี่ยนมุมมองของคำถาม ตั้งโจทย์ใหม่ให้กับปัญหาเดิม ซึ่งบ่อยครั้งที่วิธีนี้สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และบ่อยครั้งเป็นการจุดชนวนสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆอีกด้วย
ผมขอยกตัวอย่างวิธีที่ผมใช้ประจำในการเพิ่มยอดขาย คือการเปลี่ยนมุมมองของพนักงานขายที่ต้องรับเป้ายอดขายที่ดูเหมือนจะสูงเกินเอื้อมจนทำให้รู้สึกท้อ ให้เป็นจำนวนลูกค้าที่ต้องซื้อต่อเดือน จำนวนลูกค้าที่ต้องเข้าไปเสนองานต่อเดือน จนถึงจำนวนลูกค้าที่ต้องเข้าไปนำเสนอต่อวันอันเป็นตัวเลขที่สามารถทำได้จริงและจับต้องได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างของวิธีการตั้งโจทย์ให้กับปัญหาเดิม โดยเปลี่ยนจาก “ยอดขาย” ให้มาเป็น “จำนวนลูกค้าที่ต้องเสนอ”

ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Cross-Industry
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ Henry Ford ผู้ก่อตั้งรถยนต์ Ford เริ่มต้นธุรกิจ รถยนต์รุ่น T-Model ของเขาเริ่มขายดีมากจนผลิตไม่ทัน Henry Ford ใช้ความคิดและความพยายามอย่างหนักในการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรในโรงงานให้สามารถประกอบรถเสร็จหนึ่งคันได้ในเวลาที่เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการผลิตก็ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร จนกระทั่งเขาได้ไปเห็นวิธีการของโรงงานชำแหละเนื้อที่ใช้ “สายพาน” ในการชำแหละ Henry Ford จึงสามารถคิดค้นระบบ “Assembly Line” ในการประกอบรถยนต์ที่ได้ประสิทธิภาพสูงในเวลาที่จำกัด จนกลายเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก
บางครั้งการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาก็มาจากการที่เราได้ประยุกต์หล่อหลอมประสบการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ยิ่งเรามีความรู้รอบตัวมากเท่าไร ทักษะในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ก็มีมากเท่านั้น บริษัทชั้นนำที่เข้าใจรับทราบถึงความจริงในข้อนี้มักจะส่งเสริมให้บุคลากรของเขามีการทำกิจกรรมหรือเรียนรู้สิ่งที่นอกเหนือจากการทำงานเสมอ

สร้างข้อจำกัดอย่างมีเหตุผล
“Creativity Loves Constraints” ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นเมื่อเราตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อเราสบาย ไม่เร่งรีบ ไม่มีความเดือดร้อน เราก็จะไม่พยายามหรือไม่อาจดึงศักยภาพของเราออกมาได้ทั้งหมด ความคิดสร้างสรรค์ก็เช่นกัน
ผู้ประกอบการ หรือหัวหน้างานที่ดีจึงต้องรู้ถึงความสำคัญของการสร้างข้อจำกัด รวมทั้ง “Sense of Urgency” ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เหมาะสม ข้อจำกัดเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทีมงานระดมสมองใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหามากกว่าหวังพึ่งการแก้ปัญหาด้วยเงินหรือทรัพยากรของบริษัท รวมทั้งความท้าทายที่อยู่ในขอบเขตจะทำให้ทีมงานรู้สึกสนุกตื่นเต้น และมีความกระหายในชัยชนะมากขึ้นอีกด้วย

          ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นวิธีที่สามารถช่วยให้องค์กรมีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งบ่อยครั้งนอกจากจะแก้ปัญหาแล้วยังเป็นที่มาของนวัตกรรมทางด้านธุรกิจและสินค้าใหม่อีกด้วย

ธีระ กนกกาญจนรัตน์
http://www.facebook.com/SMECompass
โดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก