วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

8 สิ่ง ช่วยปรับฮวงจุ้ยโต๊ะทำงาน


          เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “ฮวงจุ้ย” เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีคนให้ความเชื่อถือกันอย่างแพร่หลาย มิใช่แต่เฉพาะคนไทย หรือคนไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนในหลายเชื้อชาติ และในขณะนี้ความนิยมการปรับฮวงจุ้ยโต๊ะทำงาน ยังได้แพร่หลายไปถึงประเทศแถบตะวันตกแล้วเป็นที่เรียบร้อย และเพื่อเป็นการเตรียมรับความมงคลและความโชคดีในการทำงานนี้ จัดโต๊ะกันใหม่สักนิดน่าจะเป็นการดี สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ จะทำให้คุณรู้สึกสดใส มั่นใจในการรับมือกับการงานที่หลากหลายมากขึ้น และอาจถึงขั้นเสริมให้คุณดวงดี เฮงเฮงขึ้นไป เรื่องนี้ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่นะคะ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในที่ทำงานของคุณอีกด้วย


1. Wallpaper หน้าจอคอมพิวเตอร์
แน่นอนว่าหลาย ๆ คนชอบเปลี่ยนรูปหน้า Wallpaper เป็นรูปต่าง ๆ เชื่อหรือไม่ว่า การเปลี่ยน Wallpaper ของคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คคุณให้เป็นรูปน้ำไหลเอื่อย ๆ หรือเป็นรูปปลา จะช่วยให้ชีวิตการทำงานของคุณสงบ ไม่วุ่นวาย ไหลนิ่ง ไหลเย็นเหมือนสายน้ำกันเลยทีเดียว

2. นาฬิกาตั้งโต๊ะ
นาฬิกาตั้งโต๊ะ นอกจากมีไว้เพื่อบอกเวลาเข้า ออกงานของคุณแล้ว ในแง่ของฮวงจุ้ย ยังมีผลต่อความคิดและไอเดียของคุณอีกด้วย ลองหานาฬิกาที่เดินด้วยเข็มมาตั้งที่โต๊ะสักนิด รับรองว่าสมอง และความคิดของคุณจะโลดแล่นปรื้ดปร้าด จะต่อยอดไอเดีย ความคิดใด ๆ ไม่มีติดขัด แต่ไม่แนะนำนาฬิกาแบบดิจิตัลนะคะ และที่สำคัญ เมื่อใดที่ถ่านหมดต้องรีบเปลี่ยน อย่าปล่อยให้เข็มตายเป็นเวลานานนะคะ มันดูไม่เป็นมงคล

3. เต่าคริสตัล
ตามความเชื่อของคนโบราณ เต่า คือสัตว์มงคล ดังนั้น เพื่อเป็นการซึมซับพลังงานด้านบวกที่ไหลเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวคุณ ลองหาเต่าที่ทำจากแก้วคริสตัลแวววาวตัวเล็ก ๆ มาวางบนโต๊ะทำงานสักนิด จะทำให้คุณมีพลังงานด้านบวกในการทำงานมากขึ้น

4. แก้วน้ำ และหิน
อีกวิธีการดูดซับพลังงานดี ๆ ไว้กับตัว เพื่อเสริมดวงในการทำงาน หาแก้วใบเล็กๆมาหนึ่งใบใส่น้ำสะอาดไว้แล้วตั้งบนโต๊ะ หรือถ้าจะให้ดี หาหินเก๋ ๆ หรือหินสีที่ถูกโฉลกกับคุณมาวางไว้ด้วยกันบนโต๊ะ ความโชคดีต่าง ๆ จะวิ่งมาหาคุณแบบไม่ขาดสาย หมั่นคอยเปลี่ยนน้ำในแก้วให้ใสอยู่ตลอด อย่าปล่อยให้ฝุ่นจับ หรือสกปรก แทนที่จะดูดพลังงานด้านดีมา อาจดึงดูดโชคร้ายมาแทนนะคะ

5. หลีกเลี่ยงการนั่งใต้คาน
คาน คือสิ่งต้องห้ามมาแต่ไหนแต่ไร เวลานอนก็อย่านอนใต้คาน เวลานั่งทำงานก็เช่นกัน การนั่งใต้คานจะทำให้คุณรู้สึกกดดัน มีความเครียดสูง และงานจะไม่ราบรื่น ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงนะคะ จะใต้ตาน จะบนคานก็อย่าไปอยู่เด็ดขาด อิอิ

6. นักษัตร 12 ราศี
สัตว์ต่าง ๆ ใน 12 นักษัตร ต่างมีพลังเป็นคนของตัวเอง มี “ชง” หรือถูกกันตามศาสตร์ทางด้านพยากรณ์ แต่อย่าเอามาตกแต่งบนโต๊ะทำงานเลยจะดีกว่า เพราะในการทำงานเราต้องติดต่อกับผู้คนมากหลาย และเราคงไม่รู้ว่าใครจะชงกับนักษัตรใดบ้าง บางทีนักษัตรที่เรามาตั้งไว้ อาจไม่ถูกกับผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า ฯลฯ ดังนั้นอย่าเสี่ยงเลยจะดีกว่าค่ะ

7. โทรศัพท์
ถ้าคุณมีโทรศัพท์บนโต๊ะทำงาน ควรวางไว้ด้านขวามือของคุณ เขาว่ากันว่าจะช่วยให้ได้รับแต่ข่าวสารดีๆ การประสานงานลื่นไหล ไม่ติดขัด ซึ่งถ้ามองตามการใช้งานจริงๆแล้ว เราก็มักจะถนัดการใช้งานโทรศัพท์ด้วยมือขวามากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นนอกจากจะถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยแล้ว ยังทำให้ใช้สอยได้สะดวกมากขึ้นอีกด้วย

8. เหลียวซ้าย แลขวา
มุมซ้าย มุมขวาของโต๊ะทำงานนั้นต่างก็มีความหมายกันคนละด้าน มุมซ้ายนั้นส่งเสริมในเรื่องของอำนาจ ดังนั้นหากมีสิ่งของใดที่สูง เช่น ลิ้นชักเก็บของ ควรเอามาวางที่มุมซ้าย เพื่อช่วยเสริมในเรื่องของอำนาจในแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่วนมุมขวานั้น เป็นมุมที่สนับสนุนในเรื่องของการติดต่อ ประสานงาน ควรวางสิ่งของที่มีความสูงไม่มาก เช่นโทรศัพท์ ก็จะช่วยให้การคุยงานต่างๆเป็นไปโดยง่ายดายมากขึ้น

รวมเกร็ดเคล็ดลับการปรับฮวงจุ้ยโต๊ะทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวออฟฟิศ ให้ทุกคนทั้งเก่ง ทั้งเฮง ทั้งรวย กันตลอดทั้งปีค่ะ

เครดิต : th.jobsdb.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หลักการทำงานโดยใช้ปรัชญาเป็นแนวทาง



        ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร หรือมีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างไร ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้น ๆ ได้ จำเป็นต้องมีหลักการและวิธีการ ที่ช่วยส่งเสริมให้การงานต่าง ๆ ออกมาดีที่สุด ปรัชญาแห่งการทำงานจึงมีผลต่อความสำเร็จในการทำงานของคุณ หลักการที่ใช้ปรัชญามาช่วยมีอะไรบ้าง ลองดูรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ

หลักการทำงานโดยใช้ปรัชญาเป็นแนวทาง
- คำกล่าวที่ว่า เข็มเล่มหนึ่ง ไม่มีปลายแหลมสองด้าน  หมายถึง คนเราทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง ก็เปรียบเสมือนกับเข็มที่มีปลายแหลมเพียงด้านเดียว ไว้ใช้เย็บ ปะ ชุน ดังนั้น คนเราควรเรียนรู้และทบทวนข้อดีและข้อเสียของเราอยู่เสมอ เพื่อให้ปรับแก้ไข และนำไปพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคตนั่นเอง

แค่หยุดอยู่กับที่ ก็กลายเป็นคนล้าหลัง นักธุรกิจจำต้องก้าวหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงานอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง

- การทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องมีการประสานงานกับคนอื่น หากคุณมีทีมงานดี งานก็ออกมาดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานคุณจำเป็นต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี กับทุกคน

คน คือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในโลก คนเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง ที่มีคุณค่าไม่ต่างกับเงินทอง หรือปัจจัยอื่น ๆ หากผู้นั้นรู้จักการประพฤติตนให้ดี มีน้ำใจ ช่วยเหลือสังคมแม้เล็กน้อยก็ถือว่า บุคคลนั้นมีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมแล้ว

การมอบหมายงาน คุณควรพิจารณาว่าบุคคลนั้น มีความรู้ ความสามารถทางด้ายใด เป็นการคัดเลือกบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน และจะส่งผลดีต่อธุรกิจของคุณด้วย

- หมั่นเล่าสร้างความจำ หมั่นซักถามสร้างความรู้ เมื่อใดที่คุณได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ให้คุณหมั่นถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้รับรู้ด้วย จะช่วยให้คุณจำได้ดีขึ้น และเมื่อคุณไม่รู้สิ่งใดก็สามารถถามจากผู้รู้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งปัญญา ให้คุณได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้

สร้างคน ต้องใช้เวลา การสร้างคนเปรียบเหมือนกับการปลูกต้นไม้ ต้องมีความอดทน และต้องใช้เวลานาน เพื่อให้คุณสามารถสั่งสอนและถ่ายทอดความรู้ที่มีให้ผู้อย่างถูกต้อง ไม่ควรรีบร้อน เพราะอาจจะทำให้คน ๆ นั้นไม่สามารถได้รับความรู้อย่างแท้จริงจากคุณเลยก็ได้

- เมื่อคุณจะแหงนมองฟ้า ก็อย่าลืมว่าเท้าของคุณสัมผัสดินอยู่ การที่คนเราต้องเตือนตนเองไม่ให้ลืมตัว ก็ถือเป็นการสร้างรากฐานแห่งความมั่นคงให้คุณสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และจงคิดอยู่เสมอว่าในโลกนี้ยังมีคนที่ดีกว่าคุณอยู่อีกมากมาย

- ปลูกต้นไม้ใหญ่ อย่าเก็บผลไว้กินคนเดียว หากคุณประสบความสำเร็จในการทำงานแล้ว คุณควรแบ่งผลประโยชน์ให้กับผู้ที่ร่วมงาน หรือทีมงานของคุณด้วย เพื่อให้การทำงานดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง

- ความรักเป็นความสุข เหนือทรัพย์สินเงินทอง เมื่อคนมีความรัก มีจิตใจดี และมองโลกในแง่ดี ก็จะมีความสุขแม้เจอกับปัญหา และสามารถหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นได้

- ตักน้ำเต็มได้แค่ภาชนะบรรจุเท่านั้น ในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ถ้าคุณรู้จักเสียสละและแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับผู้อื่น หรือสังคม รวมถึงการเสียภาษีให้กับรัฐได้พัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้ธุรกิจของคุณเจริญรุ่งเรืองและดำเนินการต่อไปยังต่อเนื่อง มั่นคง อุปมาเหมือนกับภาชนะที่มีน้ำเต็มแล้ว ตักน้ำออกไปทำประโยชน์ที่อื่นบ้าง ก็จะมีโอกาสตักน้ำเติมเข้ามาได้อีก และมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนภาชนะ หรือขยายขนาดของภาชนะให้ใหญ่ขึ้นได้

- ทำการค้าคุณต้องเดินสายกลาง ยึดหลักให้มั่นคงไว้ก่อน ในการทำงานทุกอย่างคุณไม่จำเป็นต้องลงทุนเกินตัว ต้องเก็บส่วนหนึ่งไว้ เป็นความมั่นคงของตนเองและครอบครัวของคุณด้วย

- ร่างกายต้องการอาหารฉันใด จิตใจของคุณก็ต้องการอาหารใจฉันนั้น ขณะที่ร่างกายของคนเรามีความต้องการอาหารเพื่อเป็นพลังในการมีชีวิต จิตใจของคนเราก็ย่อมต้องการกำลังใจ ความรู้ และหลักการคิดที่ดี เพื่อเป็นพลังในการเป็นคนดี และมีจิตใจที่ดีด้วยเช่นกัน

- ปลูกต้นไม้ใหญ่ใช้เวลา 100 ปี การสร้างคนใช้เวลา 10 ปี หมายถึง ไม่ว่าคุณจะสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แข็งแรง และมีคุณค่า จะต้องใช้ความอดทน ใช้เวลา โดยเฉพาะการสร้างคน ๆ หนึ่งให้มีความชำนาญและเก่ง ยิ่งต้องใช้ความอดทนและเวลามากเช่นกัน

คนที่ชอบโยนความผิดให้กับผู้อื่น เป็นคนที่ยากจะพัฒนาให้ดีได้ คนบางคนไม่ย่อมรับความผิดของตน ชอบโยนความผิดให้ผู้อื่นรับผิดชอบ แทนที่จะใช้เวลาในการพัฒนางานของตนให้ดี แต่กับไปเสียเวลาหาคนที่จะมารับผิดชอบกับงานตนเอง ซึ่งคนประเภทนี้ยากต่อการพัฒนาให้ดีขึ้นได้

- อยากเจริญก้าวหน้า ต้องทำตัวให้เหมือนกับคนกำลังขึ้นเขา คนเดินขึ้นภูเขาจะต้องโน้มตัวไปข้างหน้าเสมอ เปรียบเสมือนคนอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งจะมีแต่คนรัก แต่คนเดินลงผู้เขาจะเอนตัวไปข้างหลัง เปรียบเสมือนคนเย่อยิ่งจองหอง ซึ่งไม่มีใครชอบ ดังนั้น ถ้าคุณต้องการให้มีคนรัก และช่วยสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้า ควรประพฤติตนเหมือนกับคนกำลังเดินขึ้นเขา

- ผลักน้ำออกไป น้ำไหลเข้ามา วักน้ำเข้ามา น้ำไหลออกไป หมายถึง คนที่เป็นผู้ให้มีน้ำใจกับผู้อื่น ย่อมได้รับความรักและความชื่นชม จากผู้อื่น ก็เปรียบเสมือนกับการผลักน้ำออกไป น้ำไหลเข้ามา แต่หากผู้ที่โลภมากมีความต้องการอยากได้ของผู้อื่น ก็จะไม่ได้รับความรักและความศรัทธาจากผู้อื่น ก็เปรียบเสมือนกับการ วักน้ำเข้ามา น้ำไหลออกไปนั่นเอง

- กินข้าวอย่างมังกร ทำงานอย่างเสือ คนจีนมองว่ามังกรเป็นสัตว์ที่สง่างาม ฉะนั้นถ้าจะทำอะไรรวดเร็วก็ต้องเร็วแบบสง่างาม ส่วนเสือนั้นคนจีนมองว่าปราดเปรียวในการล่าเหยื่อ และไม่กินลูกตัวเอง หมายถึงให้ทำงานอย่างคล่องตัว ทำงานเป็นทีม และไม่รังแกพวกเดียวกัน

ทั้งนี้ หากคุณอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน คุณก็สามารถนำหลักการทางปรัชญาแห่งการทำงานไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของคุณ แต่ความสำเร็จจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวของคุณเอง ขอให้มั่นคงกับหลักปรัชญาเราเชื่อว่าคุณจะต้องพบกับความสำเร็จในการทำงานได้อย่างแน่นอนค่ะ


อ้างอิงจาก : moneyhub.in.th
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

7 ข้อผิดพลาด ของการ Presentation ที่ควรแก้ไขในทันที



          ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีหลักการ Presentation หรือแนวทางการนำเสนอมากมายหลายรูปแบบให้ได้เลือกใช้กัน นั่นคงเป็นเพราะการ Presentation นั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดๆ ก็ควรที่จะมีความรรู้ในด้านการทำ Presentation กันแทบทั้งนั้น แม้กระทั่งมีแต่ไอเดียแต่ยังไม่มีเงินทุน ก็ยังคงต้องอาศัย Presentation ในการขายไอเดียตัวเองเพื่อให้นายทุนสนใจและเลือกที่จะลงทุนในธุรกิจเราอีกด้วย แต่เนื่องจากทุกคนน่าจะมีแนวทางการทำ Presentation ของตัวเองกันหมดแล้ว จึงอยากจะขอชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดบางอย่างในการทำ Presentation ที่หลายคนอาจมองข้ามไป พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้นด้วย

1. จุดอ่อนของการเกริ่นนำ
การเกริ่นนำหรือ Introduction นั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการทำ Presentation เลยก็ว่าได้ เพราะถ้าเราไม่สามารถดึงความสนใจจากบรรดาผู้ฟังมาได้ตั้งแต่ต้นแล้ว รับรองได้เลยว่าเนื้อหาที่เหลือในการนำเสนอนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการพูดคนเดียวในห้องว่างๆ อย่างแน่นอน
แนวทางแก้ไข: การเริ่มต้นเกริ่นนำให้น่าสนใจนั้น อาจเริ่มต้นจากการตั้งคำถามที่ชวนคิด จุดประเด็นให้เกิดการโต้แย้งขึ้นมาก่อน หรือเริ่มด้วยการเล่าเรื่องที่เราจะพูดคร่าวๆ ในส่วนที่สำคัญๆ ขึ้นมาก่อน โดยหัวใจสำคัญของการเกริ่นนำนั้นน่าจะอยู่ที่การอธิบายถึงจุดประสงค์ของหัวข้อที่เราต้องการจะพูดว่ามันมีความสำคัญต่อผู้ฟังอย่างไรบ้าง

2. พูดเร็วเกินไป
ที่ผ่านมามีหลายหัวข้อที่มีเนื้อหาที่ดีน่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่กลับตกม้าตายเนื่องจากการพูดเร็วเกินไป และโดยส่วนมากก็มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการพูดเร็วเกินไปนั้นเป็นการลดคุณค่าทางข้อมูลในสิ่งที่เราพูดออกมา เพราะผู้ฟังนั้นไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลและคิดตามได้ จนสุดท้ายพอฟังไม่เข้าใจก็เลิกสนใจฟังไปอย่างน่าเสียดาย
แนวทางแก้ไข: หากมีเวลาลองซ้อมแล้วอัดวิดีโอตัวเองไว้เพื่อดูว่าเราพูดเร็วเกินไหมหรือไม่ ก่อนที่จะหาจังหวะที่ลงตัวที่สุดสำหรับการ presentation แต่ทั้งนี้ความตื่นเต้นในการพูดของจริงอาจทำให้เราพูดเร็วได้อยู่ดี ดังนั้นเราอาจจะพกโน้ตที่คอยเตือนตัวเองไว้ในทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาดู หรือหาคนรู้จักในกลุ่มคนดูไว้คอยให้สัญญาณหากเราพูดเร็วเกินไป

3. เนื้อหามากเกินไป
บางทีการที่เนื้อหามาก อาจเป็นสาเหตุของการรีบพูดในหัวข้อข้างต้นก็ได้ เพราะด้วยเนื้อหาที่เยอะที่จะต้องการอธิบาย ไหนจะตัวอย่างประกอบ รวมไปถึงการตอบคำถามอีก ทำให้จากหัวข้อเดียวอาจทำให้แตกออกไปในอีกหลายประเด็นมากจนเกินไป
แนวทางแก้ไข: ทำได้โดยการรีวิวเนื้อหาก่อนพูดแล้วพิจารณาที่จะตัดเนื้อหาในส่วนที่ไม่สำคัญออกไปก่อน เพราะใน Presentation ที่เราประทับใจโดยส่วนมากนั้นสังเกตดูว่าเราจะจำเนื้อหาไม่ได้ทั้งหมด แต่จะจำคีย์สำคัญของเนื้อหาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากต้องการที่จะเพิ่มเนื้อหาที่น่าสนใจเข้าไปในการนำเสนอแล้วนั้น ก็ควรคิดให้ดีว่าเนื้อหาที่จะเพิ่มเข้าไปนั้นเกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ที่จะพูดมากน้อยเพียงใดก่อนตัดสินใจจะเพิ่ม

4. อ่านสไลด์
ผู้นำเสนอส่วนมากนั้นมักนำตัวหนังสือมากมายขึ้นไปไว้บนสไลด์และนำเสนอโดยการอ่านข้อความเหล่านั้นแบบคำต่อคำสู่ผู้ฟัง ซึ่งตามหลักแล้วผู้ฟังนั้นไม่ได้อยากให้เราอ่านให้ฟัง เพราะมันไม่ต่างอะไรกับการปริ๊นท์สไลด์แจกให้ผู้ฟังอ่านเองทุกคน ในขณะที่สิ่งที่ผู้ฟังต้องการนั้นก็คือรายละเอียดของหัวข้อที่ถูกนำเสนอด้วยกระบวนการที่น่าสนใจ
แนวทางการแก้ไข: สิ่งที่คนนำเสนอควรทำนั้นก็คือการใส่เฉพาะคีย์เวิร์ดหรือประโยคใจความสำคัญลงในสไลด์และอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อเหล่านั้นด้วยวิธีที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจและสนใจตามไปด้วย

5. ซับซ้อนเกินไป
หากหัวข้อที่เราต้องการจะนำเสนอมีความซับซ้อนที่อาจยากเกินความเข้าใจของผู้ฟัง จนทำให้ผู้ฟังเลิกสนใจฟังไปภายในช่วงเวลาไม่นาน
แนวทางการแก้ไข: ถ้าหัวข้อของเรามีความซับซ้อนแล้วสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการเตรียมตัวและเตรียมสไลด์ที่จะช่วยนำเสนอให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น แทนที่สไลด์จะเป็นแค่ตัวอักษรแล้วนั้น ก็อาจมีเป็นแผนภาพหรือ Infographic ประกอบการบรรยายเข้าไปด้วยก็จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้น รวมไปถึงการพูดแล้วมีช่วงจังหวะคอยถามถึงความเข้าใจของผู้ฟัง และเปิดโอกาสให้ถามอยู่ตลอดก็จะสามารถผู้ฟังสามารถติดตามฟังได้อย่างเข้าใจตลอดหัวข้อ

6. ไม่ฝึกซ้อมก่อน
การทำ Presentation นั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการแสดงดนตรีสด หรือแข่งขันกีฬาที่จะต้องมีการซ้อมเป็นอย่างดีก่อนที่จะถึงวันจริง ซึ่งในการนำเสนอแต่ละครั้งอาจใช้ระยะเวลาการซ้อมที่ไม่เท่ากันอาจขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ รวมไปถึงความยาวของเนื้อหาที่เราจะต้องบริหารจัดการตัวเองให้พร้อม
แนวทางแก้ไข: ฝึกซ้อมนำเสนองานแบบออกเสียง อาจใช้ทำการอัดวิดีโอไว้เพื่อมาดูผลและแก้ไขวิธีการนำเสนอให้ออกมาลงตัว

7. พยายามจะเลียนแบบคนอื่น
เราทุกคนมีลักษณะการนำเสนอเฉพาะของตัวเอง บางคนนำเสนอได้อย่างหน้าตื่นเต้น บางคนก็มาสายนิ่ง ในขณะที่บางคนก็สร้างเสียงหัวเราะ แต่ในทางกลับกันก็มีคนที่เสนอในแบบจริงจัง แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนนั่นก็คือรูปแบบในการนำเสนอของเรา เพราะหลายคนที่เลือกจะเลียนแบบการนำเสนอของคนมีชื่อเสียงต่างๆ ก็จะพบว่ามันยาก และไม่เป็นธรรมชาติเลย
แนวทางแก้ไข: อย่าไปเลียนแบบสไตล์การนำเสนอของใคร แต่สามารถหยิบเอาจุดเด่นของพวกเขามาปรับใช้กับเราเองได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหัวข้อและจุดประสงค์ของการพูดด้วยว่าเหมาะสมกันหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการเป็นตัวของตัวเองก็จะเป็นธรรมชาติในการนำเสนอมากที่สุด


          การ Presentation นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทั่งผู้ที่มีประสบการณ์ Presentation อย่างเสมอมาก็ยังคงต้องอาศัยการฝึกซ้อมอยู่ทุกครั้งที่พูดหัวข้อใหม่ๆ จึงหวังว่าผู้อ่านทุกคนจะสามารถนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้กับการ Presentation ของตัวเองเพื่อลดข้อผิดพลาดที่มีให้น้อยลงได้ไม่ยาก


อ้างอิงจาก : incquity.com
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“9 คำสอน” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)


          สถาบันฝึกอบรม อัพ เทรนนิ่ง (UP Training) ขอน้อมนำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งพระบรมราโชวาทที่คัดเลือกมานี้สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและแก้ไขปัญหาการทำงานได้ด้วย

1.คนดี
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512)

2.อนาคตทำนายได้
“ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่าน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปอีก ไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่า ให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคต ก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 กรกฎาคม 2519)

3.ความดี
“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
(พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525)

4.การทำงาน
“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)

5.คุณธรรมของคน
“ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมคุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็นและมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีบรวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5 เมษายน 2535)

6.ความเพียร
“ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”
(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539)

7.แก้ปัญหาด้วยปัญญา
“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล
เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์
การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น
ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539)

8. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ 
“คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521)

9.พูดจริง ทำจริง
“ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540)

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ MThai News, oknation
UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก