วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

5 ทิศทางการทำ CSR ที่น่าจับตามอง



1. Materiality Matters หมายถึงธุรกิจจะเพิ่มน้ำหนักความสำคัญมาที่ “สาระ” ของการดำเนินงาน และการรายงาน CSR มากขึ้น ตามกรอบการรายงานสากล และประกาศเรื่องการเปิดเผยข้อมูล CSR ของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเน้นการให้ความสำคัญที่สาระของการดำเนินงาน อยู่เหนือการตรวจสอบรูปแบบของรายการที่ดำเนินงาน และให้น้ำหนักกับความสามารถในการเลือกเรื่องที่สำคัญเพื่อดำเนินการ มากกว่าความสามารถในการแจกแจงเรื่องทั้งหมดที่ได้ดำเนินการ ในปีนี้ องค์กรธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถในการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการ โดยเน้นที่สารัตถภาพ (Materiality) ของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น

2. De-Organization Imperative หมายถึงเส้นแบ่งของ CSR ระหว่างองค์กรกับองค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจจะเลือนรางลง ประเด็นการดำเนินงาน CSR จากนี้ไปจะไม่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะขององค์กรเพียงลำพัง แต่ยังยึดโยงกับสมรรถนะของคู่ค้าและครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นในห่วงโซ่ธุรกิจ เส้นแบ่งของ CSR ระหว่างองค์กรกับองค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจจะเลือนรางลง หรือทำให้เกิดการลดทอนตัวตนหรือสภาพขององค์กรลง (De-Organization) เนื่องจากองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการผลักภาระให้พ้นจากเขตความรับผิดชอบของตนได้ จึงคาดว่ากิจการขนาดใหญ่หลายแห่งในปีนี้จะลุกขึ้นเป็นผู้นำการขับเคลื่อน CSR ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3. Strategy-Based CSR หมายความว่า แผนงาน CSR จะถูกยกระดับสู่การพัฒนาเชิงกลยุทธ์ ที่เชื่อมร้อยกับยุทธศาสตร์องค์กร วิธีการจะผนวก CSR เข้าในทุกส่วนการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างบูรณาการ เป็นการวางแนวทางการขับเคลื่อน CSR ไว้ในระดับกลยุทธ์องค์กร มิใช่เพียงการดำเนินงานตามแผนงาน CSR ที่เป็นรายโครงการ หรือรายกิจกรรม ในปีนี้ กระบวนทัศน์ของกิจการที่เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา CSR ในเชิงกลยุทธ์ (Strategy-Based) ที่เชื่อมร้อยเข้ากับยุทธศาสตร์องค์กร โดยมุ่งให้เกิดผลลัพธ์ที่สนองตอบต่อเป้าประสงค์ในระดับองค์กร มากกว่าการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในระดับแผนงานที่เป็นรายโครงการ หรือรายกิจกรรม

4. Creating Shared Value (CSV) เป็นแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม จะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมที่เพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการนำวิธีการทางธุรกิจมาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการมาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน ในปีนี้ คาดว่าจะมีธุรกิจที่นำแนวคิด CSV มาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และการตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นทางสังคม ที่สร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมีผลตอบแทนทางธุรกิจเป็นสิ่งจูงใจ

5. Green Procurement Policy การจัดทำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของธุรกิจ เพื่อแสดงถึง CSR ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกระบวนการสำคัญของธุรกิจ ที่สามารถใช้แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจหันมาใส่ใจผลิตสินค้าและบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ในปีนี้ ภาคธุรกิจ จะมีความเคลื่อนไหวในการจัดทำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเพิ่มมากขึ้น โดยการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าโดยใช้หลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากเดิม รวมถึงการใช้ทะเบียนผู้ค้า (Approved Vendor List) เป็นเครื่องมือในการผลักดันเพิ่มยอดการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวขององค์กร

อ้างอิง : ASTVผู้จัดการออนไลน์
www.uptraining.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น