วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กลยุทธ์การสร้างทีมงานสู่ความสำเร็จ (ตอน : ความหมายของทีมงาน)

          บูรณาการทีมสู่ความเป็นเลิศ หมายถึง การสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรในกรอบเวลาที่กำหนด ใช้ความรู้ด้านบริหาร ผนึกกำลังใจ กำลังกายและกำลังสติปัญญาของผู้ร่วมงานให้ทำงานเป็นทีมเดียวกันโดยไม่มีปัญหาบุคลากรขาดความร่วมมือการเรียนรู้ฝึกฝนให้เข้าใจความหมายความสำคัญและรู้วิธีการสร้างทีมงานในองค์กร จะทำให้บูรณาการทีมสู่ความเป็นเลิศขององค์กรได้



ความหมายของทีมงาน

          Peter Drucker ปรมาจารย์ด้าน Management กล่าวว่า ทีมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ความสามารถของผู้บริหารที่จะเลือกและชักนำผู้มีความชำนาญ ผู้รับผิดชอบงานที่แตกต่างกัน หลากหลายสาขารวมเป็นกลุ่มคนที่มีโลกทัศน์กว้างไกล เพื่อร่วมกันทำงานในโครงการพิเศษ (Special Project) ที่มีการเสนอความรู้ ความคิด แลกเปลี่ยนและเปรียบเทียบมุมมองในด้านต่างๆ พิจารณาทั้ง success และ failure factors เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพสูงสุดตรงกับที่องค์กรต้องการ

          การทำงานเป็นทีมเป็นการทำเพื่อองค์กรมิใช่เพื่องานที่คนคนหนึ่งรับผิดชอบอยู่ในสายงาน เป็นการลด “ego” คือ ความเป็นตัวตน ลด “jurisdiction boundary” คือสลายอำนาจในงานที่รับผิดชอบ และทำให้ผู้ร่วมทีมได้แสดงออกถึงความเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่ ได้งานที่ประณีต และการผลิตผลงานราบรื่น

          กรณีตัวอย่าง ได้แก่ Jack Welch ประธานกรรมการบริหารบริษัท G.E. จะนำหัวหน้าพนักงานของบริษัทเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการในศูนย์ฝึกอบรมของบริษัทปีละครั้ง แบ่งพนักงานเป็นกลุ่ม เช่น 10 กลุ่ม กลุ่มละ 8 – 10 คน ให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการพัฒนาบริษัท ซึ่งจะมีประมาณ 3 โครงการเท่านั้นที่ผ่านการพิจารณาของผู้บริหารและได้นำไปปฏิบัติจริง เมื่อจบโครงการแล้วทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็อาจจะถูกลดเงินเดือนหรือปลดออก เพราะฉะนั้นทีมจะทุ่มเทสุดกำลังให้ได้ผลโครงการที่ดีที่สุด ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้นำเหนือบริษัทอื่น

          จะเห็นว่าการทำงานเป็นทีมเน้นผลลัพธ์ หรือ end result ไม่เน้นวิธีการ แต่มีระเบียบวินัยเป็นกรอบของการทำงาน เช่น ไม่คดโกง เพราะแต่ละคนมีวิธีการทำงาน (working style) แตกต่างกัน Dr. Napoleon Hils กล่าวไว้ในหนังสือ The Law of Success ว่าต้องสร้าง “อภิจิต” โดยนำคนที่มีเจตนารมณ์เดียวกันในทางสร้างสรรค์ มาร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อผลักดันให้ “Mission Statement” ขององค์กรเป็นรูปธรรม

โดย ดร.บุญชัย โกศลธนากุล และ ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น