วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

15 เทคนิคที่จะช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับคุณ (15 Tips on How to Retain Designer’s Creativity)


          สำหรับศิลปินแล้ว (ซึ่งจริงๆแล้วผมว่าไม่ใช่แค่ศิลปินหรอก ผมว่าทุกๆอาชีพมันก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หมดแหละนะ) ไม่ว่าใครๆก็คงจะต้องเจอกับสถานการณ์ "สมองตัน" แน่ๆล่ะ... คิดงานไม่ออก ไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำงาน แล้วก็อะไรต่างๆอีกมากมายที่ทำให้เรารู้สึกว่า "คิดไม่ออกว้อยยย!!!"... เฮ่อ! แต่จะทำไงดีล่ะ ทั้งเพื่อนร่วมงาน ทั้งลูกค้า ก็ยังอยากให้เราจะทำงานเจ๋งๆออกมา ณ ช่วงเวลานั้น จะทำไงดีล่ะที่จะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างงานเจ๋งๆออกมาได้...??
          ก็… จริงๆแล้วมันก็มีอยู่หลายวิธีน่ะนะ ที่จะช่วยให้หลอดไฟในหัวของคุณมัน "ปิ๊ง" ขึ้นมาได้ และในบทความนี้ก็จะขอนำเสนอเทคนิคเล็กๆน้อยๆ ที่จะช่วยให้คุณระเบิดความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวคุณออกมาได้ ย้ากกก!!! ตาม มา อ่าน กัน ได้ เลย!!!
1. หาสิ่งที่คุณอยากทำ
หาไปเลย หางาน(งานอดิเรกหรืออาชีพ)ที่คุณรัก หาสิ่งที่คุณทำได้ หรือสิ่งที่คุณคิดว่าคุณอยากจะทำ สิ่งที่คุณรู้สึกว่า "ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้" ซึ่งมันก็อาจจะเป็นได้ทั้ง การเขียน ถ่ายรูป การวาด การปั้น การออกแบบ และการทำสิ่งอื่นๆอีกมากมาย ที่คุณรู้สึกว่ามันจะช่วยให้คุณแสดงพรสวรรค์ของคุณออกมาได้ 
2. อ่านหนังสือ
เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการ "สมองตัน" การอ่านหนังสือดีๆสักเล่มช่วยคุณได้ครับ ไอเดียดีๆบางอย่างมันจะค่อยๆผุดขึ้นมา และมันจะดียิ่งขึ้นถ้าคุณหาข้อมูลที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณทำ
ก็แนะนำให้อ่านบทความดีๆนะครับ ทั้งหจากหนังสือ บล็อก หรือบทความในอินเตอร์เน็ต บทความที่ช่วยเสริมสร้างการคิด บทความที่ช่วยกระตุ้นตัวคุณ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ และสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับคุณ
3. ฝึกฝน
"ฝึกฝนเพื่อไปสู่ความเพอร์เฟ็กต์" จัดไปครับ การฝึกฝนเป็นสิ่งที่ดีมากๆที่จะช่วยลับฝีมือของคุณ อยากทำอะไรก็ทำมันไปเรื่อยๆ ทำไปทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียน ออกแบบ ถ่ายภาพ ฯลฯ ยิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งรักในสิ่งที่คุณทำมากขึ้น เพราะคุณจะรู้สึกสนุกกับกับฝึกฝน สนุกกับการหาแนวทางการทำงานใหม่ๆ และสนุกกับการที่เห็นงานของคุณดีขึ้นมาเรื่อยๆ
4. รับฟังข้อคิด แนวคิด ความคิดเห็นจากผู้อื่น
ง่ายๆครับในสมัยนี้ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ออนไลน์ไปครับ ลองแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆดู แต่ให้ดีก็ต้องหาเวลามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆก็จะดีกว่า เพราะการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนั้นช่วยให้คุณฝึกคิด รับอรรถรสของการสื่อสารได้อย่างเต็มที่ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ดีกว่า และ อาจช่วยให้คุณมีความคิดดีๆผุดขึ้นมาด้วยนะ
5. ฟังเพลง
ก่อนที่จะเริ่มทำงานใหม่ๆ ไม่ลองฟังเพลงดีๆที่คุณชอบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณได้ดูล่ะ! การฟังเพลงดีๆช่วยสร้างพลังให้กับคุณครับ พลังที่ทรงประสิทธิภาพที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณอยากทำงาน ศิลปินบางคนทำงานไปและฟังเพลงไป บางทีร้องตามไปด้วย สนุกสุดๆเลย!!
6. ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์
ออกไปหาธรรมชาติบ้างครับ ให้ธรรมชาติสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ แทนที่จะอุดอู้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ การเปลี่ยนบรรยากาศจะช่วยให้คุณดีขึ้นครับ การเดินเล่น ออกไปสัมผัสพลังของธรรมชาติก็ช่วยให้คุณสมองโล่งและช่วยให้คุณมีความคิดดีๆออกมาได้ รวมถึงการออกกำลังกายเล็กๆน้อยๆก็ยังช่วยกระตุ้นสมองคุณได้ด้วยนะ
7. อย่ากลัวที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ
เวลาทำงาน งานอะไรก็ได้ ลองทำอะไรใหม่ๆดูบ้าง การทำงานแนวทดลอง ลองใช้วัสดุใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ อุปกรณ์ใหม่ๆ อย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์มันไม่มีลิมิต แนวคิดนี้อาจะช่วยให้คุณทำงานเจ๋งๆแบบที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนออกมาก็ได้นะ
8. ลองทำตัวเป็น "คนไม่คิดอะไร" ดูบ้าง
การไม่คิดอะไร หรือ การทำให้สมองว่าง ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย อาจจะเริ่มง่ายๆด้วยการจ้องมองบนผนังที่ว่างเปล่า หรือลองไปสัมผัสสนามหญ้านุ่มๆ หายใจเข้าออกลึกๆ และปล่อยวางความคิดต่างๆที่ทำให้คุณเครียดหรือเป็นกังวล แต่การทำให้สมองว่างมากเกินไปก็ไม่ดีเท่าไหร่นะ อาจจะดูเป็นคนที่ไม่คิดอะไรจนเหมือนกับว่าเรากลายเป็นซอมบี้ไปเลยก็ได้ เหอๆ
9. ลองทำงานแบบผิดๆดูบ้าง ก็ไม่เห็นเป็นอะไร
ถ้าเกิดคุณทำงานออกมาแล้วคุณไม่ชอบงานนั้น อย่าเพิ่งไปหงุดหงิดครับ ใครจะไปรู้ อาจมีคนชอบงานที่คุณไม่ชอบก็ได้ อย่าลืมว่าแต่ละคนมีมุมมองที่ต่างกันไป และนั่นก็อาจจะทำให้คุณกลับมาชอบงานของตัวเอง ดังนั้นอย่ากลัวที่จะทำงานแบบผิดๆออกมาครับ อย่ากลัวที่จะผิดพลาด และถ้ารู้สึกว่ามีข้อผิดพลาด ให้ใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้คุณทำงานที่ดียิ่งๆขึ้นไป ไม่ว่างานนั้นมันจะยากแค่ไหนก็ตาม
10. เล่น เล่น เล่น และเล่นให้สนุก
ถ้ารู้สึกว่าทำงานออกมาแล้วตั้งไม่รู้กี่ชิ้นต่อกี่ชิ้น แต่ก็ยังไม่มีงานที่ชอบเลย!! พักก่อนครับ ออกไปเล่นอะไรกัน จะเล่นกีฬา เล่นเกม หรือลองทำอะไรที่คุณอยากจะทำแต่ยังไม่เคยมีโอกาส เช่น ทำเบเกอร์รี่ เขียนกลอน หรือทำอะไรอื่นๆก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กลับมาสดชื่นและมีพลังขึ้นมาอีกครั้ง
11. เปิดใจและรับฟังความคิดเห็น
เวลาที่คุณทำงาน คุณควรรับฟังความคิดเห็นและคำวิจารณ์ เพราะมันอาจช่วยให้คุณพัฒนางานขึ้นมาได้มาก อย่าเพิ่งไปหงุดหงิดเมื่อได้ยินคนบอกให้คุณทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปต่อต้าน ให้คุณรู้สึกดีที่ได้ยินคำวิจารณ์หรือข้อคิดเห็น เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า "พวกเขาสนใจในงานของคุณ" และนั่นก็เป็นอีกกำลังใจของศิลปินนะครับ เพราะฉะนั้น ขอให้เปิดใจไว้กว้างๆ...นะ
12. จงสนุกกับสิ่งที่กำลังทำอยู่
ความลับอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จก็คือ การใส่ใจและใส่ความสนุกลงไปในงาน แม้ว่าจะเจอสิ่งที่ผิดพลาดก็อย่าเพิ่งไปหงุดหงิด ยิ้มเข้าไว้ แล้วคุณจะรู้ว่ายิ่งคุณสนุกกับงานมากเท่าไหร่ งานของคุณก็จะยิ่งออกมาดีมากขึ้นเท่านั้น จงยิ้ม...แล้วงานของคุณจะสะท้อนความสุขที่มีอยู่ในตัวคุณออกมาได้ด้วยล่ะ
13. ต้องมีสมาธิ
เมื่อไหร่ที่คุณมีไอเดียดีๆและมีพลังที่จะทำงาน ขอให้มีสมาธิกับมันครับ ไอเดียดีๆที่คุณมีมันจะหายไปถ้าคุณมีอาการวอกแวก คนบางคนนั้นฝึกตัวเองให้ทำงานได้แม้จะมีสิ่งเร้าต่างๆรอบตัว พวกเขาฝึกตนเองให้มีสมาธิกับงานได้ แม้ว่ารอบๆตัวของพวกเขาจะมีอะไรบ้าบอคอแตกเกิดขึ้นก็ตาม
14. พยายามหาเวลาว่างๆไว้คิดอะไรเล่นๆ
การทำงานมากเกินไปจะทำให้คุณเครียดและทำให้สมองเหนื่อยล้าครับ ทำให้ตัวคุณเองมีเวลาว่างไว้คิดอะไรเล่นๆบ้าง แล้วคุณจะพบกับความสนุกและแนวความคิดใหม่ๆ และที่สำคัญที่สุด ลองคิดอะไรที่มันเกินโลกของคุณดูครับ คิดอะไรที่มันนอกเหนือจากกรอบความคิด คิดอะไรที่มันนอกเหนือจากที่ตาเห็น คิดอะไรที่มันนอกกรอบ แล้วคุณจะพบเจอกับคำตอบที่คุณคิดว่ามันไม่เคยมี
15. มองโลกในมุมมองอื่นดูบ้าง
เวลาที่เราพูดถึงการทำงานแบบยืดหยุ่น มันหมายถึงการที่คุณสามารถทำงานได้ในหลายๆมุมมอง ลองใส่หมวกใบอื่นๆดูบ้าง ลองแปลงร่างเป็นคนอื่นดูบ้าง ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นคุณครู ถ้าคุณเป็นเด็ก ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจ หรือใครๆก็ตามแต่ จะมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นงานของคุณ เมื่อคุณทำแบบนั้นได้ งานของคุณก็จะสร้างความพึงพอใจให้กับใครหลายๆคนได้ รวมถึง คุณลองเปลี่ยนอุปกรณ์ที่คุณใช้ในการทำงานดูก็ได้ ลองเปลี่ยนวัสดุ ลองเปลี่ยนวิธีการต่างๆที่สร้างงานของคุณออกมา
           กุญแจสำคัญที่จะทำให้คุณอยู่ในห้วงของความคิดสร้างสรรค์ได้ตลอดเวลาก็คือ คุณต้องทำให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณ ซึ่งคุณอาจมีไอเดียดีๆได้ตลอดเวลา เช่น ตอนที่กำลังขับรถ หรือตอนที่กำลังแปรงฟัน และถ้าคุณทำแบบนี้ได้ การเผชิญหน้ากับปัญหา "สมองตัน" ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป...

          ก็… ขอพลังและความคิดสร้างสรรค์จงอยู่คู่กับทุกคนตลอดไปครับ 
ขอบคุณครับ
ที่มา : พัทธพล บัวล้อมใบ (แปลจาก: 15 Tips on How to Retain Designer’s Creativity)
โดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

วิธีง่ายๆ เพื่อบริหารความขัดแย้งภายในทีม


          ความขัดแย้ง เป็นประเด็นอมตะ เพราะตั้งแต่เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาเราย่อมเจอความขัดแย้งเสมอ เพราะเมื่อมีคนที่มีความแตกต่างกัน มาอยู่ร่วมกันโดยเฉพาะมาทำงานร่วมกัน มักเกิดความขัดแย้งขึ้น หากเอ่ยถึงความขัดแย้ง จะมีมุมมองด้วยกัน 2 มุมมอง คือ
1. มองว่าตัวความคิดคือตัวเรา ถ้าใครคิดไม่เหมือนก็ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรูกับเราโดยตรง มุมมองลักษณะอย่างนี้จะทำให้การบริหารความขัดแย้งเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเป็นมุมมองของการต่อสู้ ฟาดฟันกัน
2. มองว่าจริงๆ แล้วมันมีความจริงอยู่ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกที่สุด คือทุกอย่างเป็นความจริงอันนี้ก็จริงอันนั้นก็จริง ไม่มีอะไรถูกทีสุด เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหากันก็แค่เอามาแสดงออก แล้วสามารถทะเลาะกันบนโต๊ะได้ พอจบจากโต๊ะไปก็สามารถนั่งกอดคอ กินข้าวกันได้

สาเหตุของความขัดแย้งมีด้วยกันหลากหลาย ตัวอย่างเช่น
1. ความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ ทั้งส่วนบุคคล ส่วนสถาบัน 
2. ความขัดแย้งในการยึดมั่นกับความคิดของตัวเองมากเกินไป 
3. ความขัดแย้งที่เกินจากการแยกไม่ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม 
4. ความขัดแย้งเรื่องไม่สามารถเข้าใจในวิธีคิด ระเบียบวิธีคิด และบุคลิกลักษณะนิสัยของแต่ละคนที่แตกต่างกัน 
5. ความขัดแย้งที่เกิดจากการขาดสติ เวลาเกิดความผิดก็พยายามปกป้องหน้าตาตัวเองด้วยการแสดงออก สร้างความถูกต้อง ยกเหตุผลต่างๆ นานามาอ้างมากมายเพื่อให้ตัวเองถูก


ความขัดแย้งภายในองค์กร 
ความขัดแย้งเกิดได้ทั้งกับทีมงานหรือหัวหน้างาน
ข้อแรก คือ เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกคนอยู่อีกคนต้องไป ไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้แสดงว่ามันเกินเหตุไปแล้ว ต้องยุติเปลี่ยนวิธีใหม่ แล้วสร้างทีมขึ้นมาใหม่
ข้อที่สอง คือ เริ่มเกิดภาวการณ์นินทาภายในองค์กร แสดงว่าความขัดแย้งเกิดการควบคุมแล้ว
ข้อที่สาม คือ เริ่มมีปัญหาคนในองค์กรหมดขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งแสดงว่าทีมไม่ดีแล้ว
ข้อที่สี่ คือ ภายในองค์กรเริ่มมีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าเกิดขึ้น
ข้อที่ห้า คนในองค์กรเริ่มมีปัญหาปัดความรับผิดชอบ เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเดินหนีเลย ไม่ยอมรับความผิด
ข้อที่หก ไม่มีการตัดสินใจอะไรที่เป็นรูปธรรม ขัดแย้งกันจนขาดพลังที่จะทำให้องค์กรเดินต่อไปได้ ไร้ซึ่งผลงานที่มีคุณภาพ

วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง
1. เป้าหมายต้องชัด ต้องมากำหนดเป้าหมายกันใหม่ว่าจริงๆ แล้วเราจะเอาอะไรกันแน่ ว่าที่เราทะเลาะกันไปมานี่จริงๆ แล้วกลายเป็นเราเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จนลืมเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กรไปเลย
2. กำหนดบทบาทของแต่ละคนให้ชัดเจนขึ้น จะได้รู้ว่าคนแต่ละคนในองค์กร ในทีมทำอะไร มีหน้าที่อะไรกันบ้าง แบ่งให้ทราบกันชัดๆ ไปเลย และผู้บริหารคาดหวังอะไร
3. กำหนดหลักปฏิบัติพื้นฐานร่วมกัน คือเป็นกฎขั้นต้น เช่น เวลามีความขัดแย้งเกิดขึ้น ห้ามโยนความขัดแย้งนี้ให้บุคคลที่ 3 ตัดสิน เพราะเขาจะตัดสินความคิดของเขาเพราะใครจะมารู้ดีเท่าตัวเรา และอาจทำให้กลายเป็นเรื่องทีร้ายแรงกว่าเดิม และต้องไม่หันไปหาพวกเพื่อหากำลังเสริม ถ้าเป็นอย่างนี้องค์กรจะเริ่มแตกเป็น 2 ส่วนแล้ว หากเกิดปัญหาแล้วต้องไปปล่อยทิ้งไว้นาน ต้องแก้ให้เสร็จใน 2-3 วัน อย่าทิ้งไว้นานจนเกินปัญหาเรื้อรัง จนแก้ไม่ทันแล้ว
4. ห้ามพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังขัดแย้งกับเรา ในที่ประชุมตอนเขาไม่อยู่ ถ้าจะพูดก็ต้องพูดกันต่อหน้า
5. ห้ามทำให้ความขัดแย้งทางความคิดกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล


การสร้างทีมงานที่มีศักยภาพ
1. ต้องหายอดฝีมือมาอยู่ในกลุ่ม 
2. ให้โชว์ศักยภาพแสดงฝีมือ
3.หัวหน้าทีมต้องมีความสามารถในการไกล่เกลี่ย สามารถที่จะนำคนที่แตกต่างกันมาร่วมหัวจมท้ายกันได้ 
4. สร้างความกระจ่างในบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน แบ่งให้ชัดเจนกันไปเลย
ถ้าเราเป็นผู้บริหารเราจะจัดการความขัดแย้งในทีมงานของเราอย่างไร มีข้อคิดหลักๆ อยู่ด้วยกัน 3 ประเด็น
1. การทำให้เห็นภาพงานตรงกัน แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรที่เห็นต่างกันเลย แต่คือให้เห็นเป้าหมายตรงกัน เห็นเงื่อนไขการทำงานตรงกัน แม้จะเห็นภาพตรงกัน ความคิดอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ ถ้าเห็นเป้าไม่ตรงกันเลยมันยากที่จะประสานความคิดให้เข้ากันได้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ ถ้าเป้าหมายตรงกันแล้ว ที่แตกต่างคือรายละเอียดวิธีการสู่เป้าหมายเดี๋ยวเราจะค่อยๆ รวมสติปัญญาความคิดทุกคนเข้ามา แล้วเกิดเป็นวิธีการที่สมบูรณ์เป็นมติของหมู่คณะได้ แต่ถ้าเกิดภาพรวมเห็นไม่ตรงกัน รวมยังไงก็รวมไม่ติดจะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน การทำให้เห็นภาพรวมตรงกันมีวิธีอีกแบบคือ การหมุนงาน จะทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายเห็นภาพงานชัดขึ้น เข้าใจคนที่ทำงานด้านอื่นๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นการหมุนงานเป็นระยะๆ มีความจำเป็น หรืออีกวิธีคือวิธีการในการจ่ายงาน แต่ละคนจะมีฝ่ายรุก ฝ่ายรับ องค์กรจะโตได้ต้องเน้นฝ่ายรุกเยอะหน่อย ถ้าให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนในองค์กรได้ทำหน้าที่ฝ่ายรุกบ้าง จะเริ่มทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันเพราะต้องรับภารกิจเหมือนกัน
2. การให้คุณ ให้โทษเป็นทีม เพราะคนเราจะเรียนรู้จากการให้คุณให้โทษ ทำแบบไหนแล้วเขาได้รับผลดี เขาก็จะทำแบบนั้นอีก ดังนั้นถ้าเราให้คุณให้โทษเป็นทีมจะมีผลเยอะต่อความสามัคคีของทีม เราลองสังเกตว่าบริษัทที่ทำเป็นทีมเก่งคือญี่ปุ่น เพราะเขาสามารถรวมบริษัทรถยนต์ต่างๆ มาทำค้นคว้าวิจัยแล้วก็แบ่งปันประโยชน์ที่ได้อย่างสมส่วน เวลาแข่งก็แข่ง เวลาร่วมมือก็คือร่วมมือ ในฝ่ายเดียวกันมีหลายแผนก เขาก็แข่งกัน แต่ขณะเดี๋ยวกันก็ร่วมมือกันเพื่อไปแข่งกับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นอย่างนี้ได้ เพราะเขามีการให้คุณให้โทษกันเป็นทีม ถ้าทุกคนรู้กันว่างานออกมาดีทุกคนได้ประโยชน์กันหมด การสมัครสมานสามัคคีก็จะเกิดขึ้น จะไม่เกิดสภาพสร้างอาณาจักรเฉพาะตัวเกิดขึ้น ยิ่งมีการหมุนเวียนงาน อาณาจักรต่างๆ ก็จะยิ่งหายไป
3. ผู้บริหารต้องรู้จักรับฟังความคิดเห็น คำคัดค้าน แม้เป็นคำคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะรับฟัง คนที่ไม่กล้าพอ เจอใครค้านก็จะไม่ชอบ ในประวัติศาสตร์จีนราชวงศ์ที่เจริญรุ่งเรืองมากๆ คือราชวงศ์ถัง ผู้ที่ตั้งราชวงศ์คือ พระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ หรือ หลีซิบิ๋น จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นครองราชย์ตอนอายุ 26 ปีเท่านั้นเอง ท่านบริหารประเทศแบบรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน ท่านตั้งขุนนางชื่อเว่ยเจิง ตั้งในตำแหน่งขุนนางคัดค้าน คอยคัดค้านฮ่องเต้โดยเฉพาะ ทำให้เกิดความรัดกุมในนโยบาย ผลคือราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์ที่รุ่งเรืองมากๆ จนคนจีนภูมิใจในความเป็นคนราชวงศ์ถัง นี่เป็นผลจากการที่ผู้นำรับฟังความคิดเห็น ถ้าผู้นำกล้าฟัง ลูกน้องก็กล้าพูด

สรุปโดยรวมได้ว่าการกำจัดปัญหาความขัดแย้งคือ
1. สร้างให้ทุกคนในทีมเห็นภาพรวมตรงกันมีเป้าหมายทิศทางตรงไปในทางเดียวกัน
2. คือให้คุณให้โทษเป็นทีม ย่อยเป็นฝ่าย เป็นแผนก เป็นทีมลงไปเลย
3. คือ ผู้นำกล้ารับฟังความคิดเห็นหลอมรวมทุกคนเข้าด้วยกัน แล้วเราก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

อ้างอิง www.dmc.tv
โดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

SCARF model วิธีคิดเพื่อทำให้เรายอมรับฟังฟีดแบคได้ดีขึ้น


        การรับฟังฟีดแบคบางครั้งเป็นสิ่งที่ทำใจยอมรับได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นฟีดแบคในเชิงลบไม่ว่าจะเป็นคำตำหนิหรือคำวิจารณ์ ครั้นพอเราได้รับมาแล้ว อาจจะจิตตกนิดนึง แล้วต่อไปก็ต้องไปแก้ไขปรับปรุงในสิ่งที่เป็นข้อบกพร่อง ซึ่งบางครั้งเราอาจจะลำบากใจที่จะทำตาม ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการได้รับฟีดแบค โดยเฉพาะกับคนทำงานที่เป็นผู้อาวุโส

          แต่อย่างไรก็ตาม การให้ฟีดแบคเป็นเรื่องปกติขององค์กรที่ต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมการมีผลการปฏิบัติงานสูง (high performance culture) ดังนั้น นอกเหนือจากองค์กรจะสอนให้ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าพยายามให้ฟีดแบคแก่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาตามหลักการที่ดีแล้ว ในฐานะผู้รับฟีดแบคเองก็ควรจะมีหลักคิดที่ดีในการรับฟังฟีดแบคด้วยเช่นกัน

          วิธีคิดสำหรับผู้รับฟีดแบค เพื่อช่วยให้สามารถทำใจยอมรับการฟีดแบคได้ดีขึ้น มีหลักการที่เกี่ยวข้องก็คือ scarf model ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

Status หมายถึง ยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วคนให้ฟีดแบคแก่เราก็คือหัวหน้างานหรือเจ้านายที่มีสถานภาพสูงกว่าเรา การให้ฟีดแบคเป็นหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผลงานและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายของทีมงานในฐานะหัวหน้าทีมอยู่แล้ว

Certainty หมายถึง ยอมรับว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ผู้อื่นมีความเข้าใจต่อเราแบบนั้น ถ้าเราไม่ยินดีที่จะให้ผู้อื่นรับรู้เช่นนั้น ก็จงปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อให้ผู้อื่นมีความเข้าใจต่อเราเสียใหม่

Autonomy หมายถึง ยอมรับว่าถึงแม้เราไม่สามารถควบคุมฟีดแบคได้ แต่เรามีอิสระที่จะกระทำเพื่อตอบสนองต่อฟีดแบคนั้น โดยการปรับปรุงแก้ไขตัวเราให้ดีขึ้น เมื่อเราทำหน้าที่ของเราได้ดีแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะเปลี่ยนฟีดแบคเชิงลบเป็นฟีดแบคเชิงบวก

Relatedness หมายถึง ยอมรับว่าฟีดแบคเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับตัวเรา การได้รับฟีดแบคเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะถ้าไม่สนิทใจกันจริง ๆ หรือไม่หวังดีกับเรา ก็คงไม่มีใครมาสนใจท้วงติงให้เราได้รู้ตัวว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรได้รับการปรับปรุง

Fairness หมายถึง ยอมรับว่าการได้รับฟีดแบคเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่ง เปรียบเสมือน นักเรียนทำโจทย์แบบฝึกหัดแล้วครูไม่เฉลยก็จะทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ในฐานะทีมงานก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้ฟีดแบคจากหัวหน้าว่างานที่ทำไปนั้นดีเพียงพอหรือยัง หรือมีข้อแนะนำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

          คนที่มีความสามารถในการรับฟังฟีดแบคนั้น จะมีคนที่มีพัฒนาการสูง เพราะแสดงออกถึงการเป็นคนเปิดใจ ใฝ่เรียนรู้ การที่เรามีใจกว้างในการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นจะทำให้เราฉลาดขึ้น และเก่งขึ้น เพราะจะได้นำเอาสิ่งที่เป็นเสียงสะท้อนเหล่านี้มาปรับปรุงให้เราสามารถพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นได้อีก

          และเราที่ชอบฟังฟีดแบคก็จะได้รับโอกาสดี ๆ ก็จะเข้ามาในชีวิตมากขึ้น เนื่องจากคนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ได้ดี จึงอยากจะแชร์อะไรดี ๆ ให้อยู่เสมอ ตรงกันข้ามกับคนที่ปิดกั้นไม่ยอมรับฟังและปรับปรุงตนเอง จะทำให้ไม่มีใครอยากยุ่งด้วย และกลายเป็นคนที่ไม่พัฒนา จนไม่มีการเติบโตก้าวหน้าในที่สุด

ที่มา : humanrevod.wordpress.com
ปรับปรุงข้อมูลโดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

7 หลักคิดเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์


          เมื่อเผชิญปัญหา สัญชาตญาณของเราคือพยายามแก้ไขหาทางออกทันที แต่นักกลยุทธ์ฉลาดคิดจะใช้วิธีที่ต่างออกไป พวกเขาจะถามว่า: ฉันควรแก้ปัญหานี้ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจ ความคิดและเวลาจริง ๆ หรือไม่? ถ้าปัญหานั้นไม่สำคัญ หรือไม่คุ้มที่จะเสียเรี่ยวแรงแก้ไข เหตุใดจึงใช้ความคิดกับมันตั้งแต่แรก? ส่วนดีที่สำคัญที่สุดจากการคิดแบบนี้ก็คือ ทำให้คุณสามารถขยายการใช้ความคิดให้ไปถึงขีดสุด ในหนังสือ Breakthrough Thinking: The Seven Principles of Creative Problem Solving แนดเลอร์กับฮิบิโน (Nadler & Hibino) ผู้เขียน ให้เหตุผลว่า คนที่มีประสิทธิภาพจะแก้ปัญหาด้วยการตั้งคำถามต่อเป้าหมายในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาต่าง โดยที่ผู้เขียนทั้งสองได้ให้หลักคิดเจ็ดประการเพื่อการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

1. ควรมองปัญหาแต่ละปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง แม้ปัญหาอย่างหนึ่งจะคล้ายคลึงกับอีกปัญหาหนึ่ง แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะจดจำไว้ เมื่อจะแก้ไขแต่ละปัญหาว่า ต้องพิจารณาเอกลักษณ์หรือความไม่เหมือนใครตามความจำเป็นของสถานการณ์ (สิ่งแวดล้อม) เราจะสามารถพัฒนาการแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเห็นความจำเป็นของสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและแตกต่างจากสิ่งอื่นเท่านั้น

2. พุ่งความสนใจไปยังเหตุผลเพื่อแก้ปัญหา นี่เป็นสิ่งสำคัญหากต้องการลดการสูญเสียทรัพยากร ทั้งทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ แรงงานคน แรงงานเครื่องจักรและวิธีการ คุณจะสามารถพุ่งความสนใจไปยังเป้าหมายได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่เห็นภาพสถานการณ์ใหญ่กว่าเดิมเท่านั้น แทนที่จะตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นและมีปัญหาอะไร ให้เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามว่า เรากำลังพยายามจะได้รับอะไรหรือต้องการบรรลุผลประการใดจากสถานการณ์นี้ ซึ่งจะทำให้สมองค้นหาทางแก้ที่พึงปรารถนามากยิ่งขึ้น และเพื่อจะมุ่งมั่นหาทางแก้มากกว่าเดิม เราควรเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามว่า: จะเป็นอย่างไรถ้า...? ซึ่งจะช่วยพัฒนาวิธีแก้ปัญหาให้เพิ่มมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

3. แสวงหาทางแก้ปัญหาด้วยการมองระยะยาว เมื่อใดก็ตามที่สามารถระบุวิธีแก้ปัญหาอันยอดเยี่ยมและสมควรนำไปปฏิบัติ คุณก็จะสามารถฝึกฝนการแก้ปัญหาระยะสั้นที่นำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาระยะยาว ผู้เขียนทั้งสองอธิบายการฝึกฝนเช่นนี้ว่าเป็น หลักการแก้ปัญหาหลังจากนั้น & (The Solution-After-Next Principle)

4. มองปัญหาจากวิธีที่เป็นระบบ เมื่อเรียนรู้ที่จะมองว่าปัญหาแต่ละอย่างเป็นส่วนของสิ่งอื่น เราก็จะเริ่มใช้วิธีที่เป็นระบบ จัดการปัญหา การตระหนักว่าปัญหาแต่ละอย่างที่เผชิญเป็นส่วนของปัญหาที่ใหญ่กว่า ทำให้สามารถคาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจจะต้องประสบเมื่อแก้ไขด้วยวิธีเหล่านั้น นี่จะทำให้เราปรับปรุงกลยุทธ์ที่เหมาะสมซึ่งอาจจะต้องเผชิญเมื่อนำวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นไปปฏิบัติ

5. เรียนรู้ที่จะทำงานด้วยข้อมูลน้อยที่สุด คนจำนวนไม่น้อยถูกฝึกฝนให้มองหาข้อมูลเต็มรูปแบบ ซึ่งสมบูรณ์ครบถ้วนและเข้าใจได้ เมื่อต้องจัดการปัญหาและทำงานข้องเกี่ยวกับการท้าทาย แท้ที่จริงการมีข้อมูลในมือมากเกินไปทำให้เราไม่พิจารณาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ และสร้างสรรค์ สัญชาตญาณหายไปเสมอเมื่อมีข้อมูลมากเกินเหตุ!

6. นึกถึงปัจจัยที่เป็นบุคคลเสมอขณะพัฒนาวิธีแก้ปัญหา จะข้องเกี่ยวกับคนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อพัฒนาวิธีแก้ปัญหา เพราะการมีส่วนและการร่วมมือของพวกเขาสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จทั้งหมดของวิธีแก้ปัญหาที่นำมาทดลองใช้ ให้วิธีแก้ปัญหาเป็นวิธีกว้าง ๆ และยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้เสมอ เพื่อที่ว่าผู้ซึ่งนำวิธีดังกล่าวไปใช้จะมีความยืดหยุ่นได้ในระดับหนึ่ง วิธีดำเนินการมาตรฐานของการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง

7. หลักการรวบรวมตามลำดับ - เป้าหมายแต่ละอย่างซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการปัญหาควรอยู่ในลำดับที่ถูกต้อง นั่นจะทำให้เราสามารถขยายผลของวิธีแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดออกไปได้มากที่สุด

          การทำให้พนักงานฉลาดคิดควรเริ่มด้วยการพุ่งความสนใจไปยังเป้าหมายของการแก้ไขปัญหา ขณะที่คนส่วนใหญ่นำหลักการเหล่านี้ไปใช้ บางครั้งในการจัดการปัญหาบางประการของเราเอง เป็นการดีที่จะตระหนักว่าจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีใช้หลักการตามที่กล่าวมาแล้วในการตัดสินใจทั้งหมดของเราเอง เราจะทำให้การคิดเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตัดสินใจได้ก็ต่อเมื่อ กระทำผ่านกระบวนการที่สม่ำเสมอและสอดประสานกันเท่านั้น การทำให้พนักงานฉลาดคิดเป็นเรื่องว่าด้วยการสนับสนุนให้พวกเขาใช้หลักเจ็ดประการข้างต้นอย่างสม่ำเสมอและสอดประสานกัน จำเป็นที่เราต้องให้พนักงานเข้าใจความสำคัญของการระบุเป้าหมายในการจัดการปัญหาใดปัญหาหนึ่ง สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือการหาสิ่งซึ่งเรากำลังพยายามจะได้มาหรือบรรลุผลด้วยสถานการณ์ที่เป็นปัญหานั้น ควรมองปัญหาว่าเป็นสถานการณ์ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง วิธีดีที่สุดในการได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็คือการตั้งคำถาม: เรากำลังพยายามจะทำสิ่งใดให้สำเร็จตรงนี้ ซึ่งนั่นเองเกี่ยวข้องกับการนำเอาการเปลี่ยนแปลงที่เปี่ยมประสิทธิภาพและมีความหมายยิ่งมาสู่ชีวิต

โดย : จอห์น อารัล (John Arul)
ปรับปรุงข้อมูลโดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุปนิสัย 7 ประการ ของผู้มีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีม




          คนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีม มักมีลักษณะนิสัยเฉพาะที่บางคนก็อาจมีครบทุกข้อ แต่บางคนมีเกือบครบ อีกนิดเดียวก็จะเข้าขั้นมาตรฐานของคนมีประสิทธิภาพแล้ว แต่อุปนิสัยเหล่านี้มีอะไรบ้าง ไปทำความเข้าใจกับนิสัยที่ดีทั้ง 7 ประการ จากหนังสือ “7 Habits for Highly Effective People” เขียนโดย สตีเฟน อาร์. โคว์วีย์ 

1. ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน (Be Proactive)
          คนที่อยู่ในประเภทที่เป็นผู้กระทำ จะเป็นผู้เลือกที่จะทำหรือจะไม่ทำสิ่งใด ๆ ด้วยเหตุด้วยผลของเขาเอง คือคิดว่าตัวเองเป็นผู้กำหนดชีวิตของตน ทั้งนี้ด้วยการพิจารณาไว้ก่อน ไม่ใช่ว่าถึงเวลาแล้วค่อยคิดจะทำ เพราะสุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นผู้ถูกกระทำและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมเหมือน เดิม

2.เริ่มต้นโดยมีเป้าหมายชัดเจน (Begin with the end in mind)
          คือการวางแผนการทำงาน หรือแม้แต่ชีวิตของคนเราไว้ตั้งแต่แรกเริ่มที่จะทำการอะไรใด ๆ เพราะหากเราได้ตั้งใจไว้แล้วว่าในที่สุดแล้ว การงานหนึ่ง ๆ หรือชีวิตของเราจะมีลักษณะสุดท้ายเป็นอย่างไร เราก็จะทำตัวให้สอดคล้องกับจุดหมายนั้นโดยไม่ไขว้เขวไป

3.ทำสิ่งสำคัญกว่าก่อน (Put first things first)
          ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะในชีวิตประจำวันเรานั้น อาจจะต้องมีกิจกรรมหลายอย่างที่จะต้องทำ บางอย่างนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ บางอย่างเป็นเรื่องไม่สำคัญ บางอย่างไม่เร่งด่วน บางอย่างเร่งด่วน ดังนั้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตอาจจะผสมกันออกมาเป็นได้หลายแบบคือ: ก) สำคัญและเร่งด่วน – ต้องทำโดยเร็วที่สุด และต้องทำให้ดีด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดหากวางแผนไว้ดี ข) สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน – เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ดีที่สุด รีบทำเสียเนิ่น ๆ จะได้ทำได้ดี และไม่กลายเป็นข้อ ก) ในที่สุด ค) ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน – อันนี้แปลก ต้องรีบทำนะ แต่จริง ๆ น่ะไม่ทำก็ได้ เช่นดูละครทีวีที่กำลังฉาย เป็นต้น ง) ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน – ไม่ทำก็ได้ แต่หลาย ๆ คนก็ให้เวลากับตรงนี้อยู่มาก

4.ชอบคิดแบบชนะ-ชนะ (Think Win-Win)
          การคิดและทำแบบ win-win นี้ จะต้องเกิดอยู่บนพื้นฐานของทัศนคติที่ดีและต้องการให้ได้ประโยชน์เท่าเทียม กันทั้งสองฝ่ายในระยะยาว ในบางครั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องเสียเปรียบก่อน แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อดำเนินการตามแผนทั้งหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องได้ประโยชน์ทั้งคู่เท่าเทียมกัน

5.การพยายามเข้าใจคนอื่นก่อน (Seek first to understand then to be understood)
          นิสัยนี้เป็นการที่เราพยายามเข้าใจคนอื่นก่อน เพราะการพยายามเข้าใจคนอื่นนั้น ง่ายกว่าการที่จะทำให้คนอื่นเขามาเข้าใจเรา หลักการที่จะทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้ง่ายนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการฟัง คือฟังอย่างพยายามทำความเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจเขา เราก็จะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร มีพื้นฐานอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ต่อมาเราจะพูดเพื่อให้เขาเข้าใจในส่วนของเราก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น

6.ชอบประสานงานเพื่อเพิ่มพลัง (Synergize)
          เมื่อใดก็ตามที่คนเราที่ร่วมงานกัน มีโอกาสได้ทำงานด้วยกัน ก็จะต้องยอมรับในความแตกต่างของคนอื่น และพยายามมองว่าความแตกต่างนั้นน่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ และนำข้อดีของความแตกต่างนั้นมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ด้วยกันเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาการทำงาน

7.ฝึกฝนตนเองให้พร้อมเสมอ (Sharpen the saw) ผู้มีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีม
          เมื่อคนเรามีความรู้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอ หากเมื่อใดที่หยุดคิดและพัฒนาตนเอง ก็เหมือนกับตายไปแล้วครึ่งหนึ่งนั่นเอง เรายังต้องพยายามฝึกฝนพัฒนาตัวเราเองเสมอ ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ ก) ดูแลสุขภาพทางกายให้ดี – เมื่อแข็งแรง จะคิดอะไร ทำอะไรก็ง่ายไปหมด ข) บำรุงความคิด – โดยการอ่านหนังสือ ฟังสัมมนา ดูรายการสารคดี เป็นต้น ค) พัฒนาจิตวิญญาณ – ทำจิตใจให้ผ่องใส อาจจะนั่งสมาธิ ฟังเพลงที่สงบ ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ง) พัฒนาอารมณ์ – ให้เป็นคนดี เข้ากับคนอื่นได้ง่าย เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น โดยเฉพาะกับคนในครอบครัวใกล้ ตัว

ที่มา : สยามอินโฟบิส 
ปรับปรุงข้อมูลโดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

การวัดผลตอบแทนการลงทุนพัฒนาคน

          โจทย์ปัญหาคลาสสิกที่ทุกองค์กรต้องเจอก็คือ ผู้บริหารมักจะตั้งคำถามถึงเรื่องผลตอบแทนการลงทุนพัฒนาคน ว่าแต่ละปีที่องค์กรทุ่มงบฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ นั้น มันคุ้มค่าหรือเปล่า ได้อะไรกลับมาที่คิดมูลค่าเป็นตัวเงินได้บ้าง มิหนำซ้ำพนักงานหลายคนที่ได้รับการพัฒนาแล้วก็ลาออก โดยที่บริษัทยังไม่ทันได้ใช้งานให้คุ้มกับที่ลงทุนให้เลย แล้วอย่างนี้บริษัทมีสิทธิ์เรียกให้นักพัฒนาบุคลากรมาเซ็นต์คำ้ประกันแล้วชดใช้ค่าเสียหายแทนพนักงานที่หนีทุนหรือเปล่า

          ใครก็ตามที่ทำงานเกี่ยวกับการฝึกอบรมและพัฒนาต่างก็ต้องเจอปัญหาโลกแตกเช่นนี้ และ hrd ส่วนใหญ่ หรือแม้แต่วิทยากร ที่ปรึกษา หลาย ๆ ท่านก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ว่า ROI ของการลงทุนพัฒนาคนเป็นเท่าไหร่


         ดังนั้น วันนี้เรามาวิเคราะห์และคลายข้อสงสัยในเรื่องของการวัดผลตอบแทนการลงทุนพัฒนาคนว่าทำอย่างไร จะรู้ได้ยังไงว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม

          ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า roi หรือผลตอบแทนของการพัฒนาคนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอัตราการนำไปใช้ในงาน กล่าวคือ เมื่อเราฝึกอบรมพัฒนาแล้ว ได้ความรู้ทักษะความสามารถที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในงาน เมื่อทำงานเสร็จแล้วก็จะได้ผลงานที่เปรียบเสมือนผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการทำงานดังกล่าว

          ส่วนใหญ่แล้ว นัก hrd มักจะทำได้แค่วัดผลการฝึกอบรมและพัฒนาเท่านั้น เช่น ใช้แบบสอบถาม หรือแบบทดสอบ ในการวัดว่าหลังจากฝึกอบรมเสร็จแล้ว คนเข้าอบรมเก่งขึ้นมากน้อยแค่ไหน นั่นคือ พัฒนาแล้วตอบคำถามได้อย่างมากแค่เรื่องของสมรรถนะ (competency) เท่านั้น

        แต่สิ่งที่เจ้านายถามหา ไม่ใช่เรื่องของความเก่งที่เพิ่มขึ้น เพราะเวลาที่คนเก่งแล้ว เขาจะมีเหตุผลในการขอปรับขึ้นเงินเดือน แต่สิ่งที่เจ้านายอยากรู้ก็คือ เรื่องผลงาน (performance) ต่างหาก

        แต่เรื่องผลการปฏิบัติงานนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องของฝีมือคนทำงาน ขวัญกำลังใจ การร่วมมือสนับสนุนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เครื่องไม้เครื่องมือ กระบวนการขั้นตอน และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าผลงานที่ได้นั้นเป็นเพราะความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้นจากการฝึกอบรมพัฒนาจริง ๆ

          ดังนั้น ตัวแปรสำคัญที่เป็น missing link ที่หายไปในสมการนี้ก็คือ การวัดผลการนำสมรรถนะที่ได้จากการพัฒนาไปประยุกต์ใช้ในงาน นั่นเอง

          ตัวแปรหลัก ๆ ในเรื่องที่ว่านี้ได้แก่ การวัดผลโดยใช้ตัวชี้วัดนำ (leading indicator) คือ อัตราการนำไปใช้ และ การวัดผลโดยใช้ตัวชี้วัดตาม (lagging indicator) คือ ผลตอบแทนที่ได้จากการปฏิบัติงานที่สามารถคิดคำนวณเป็นตัวเลขได้

          ทีนี้พอเราเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่ซีอีโอถามหา มันคือ ตัวชี้วัดตาม แต่ก่อนที่จะวัดผลตอบแทนสุดท้ายได้ ก็ต้องวัดผลการประยุกต์ใช้ที่เป็นตัวชี้วัดนำให้ได้ก่อน เราก็เลยได้เห็นทางสว่างในการหาคำตอบให้ผู้บริหารแล้วล่ะครับ

         สรุปก็คือ ต่อไปนี้ นักพัฒนาทรัพยากรบุคคลหรือ hrd ทั้งหลาย ต้องหาวิธีการวัดผล apply rate ให้ได้อย่างชัดเจน เพื่อสามารถนำมาตอบโจทย์ได้ว่าผลงานที่พนักงานทำได้นั้น มาจากการลงทุนฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างแท้จริง

ที่มา : humanrevod.wordpress.com
ปรับปรุงข้อมูลโดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก