วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

SCARF model วิธีคิดเพื่อทำให้เรายอมรับฟังฟีดแบคได้ดีขึ้น


        การรับฟังฟีดแบคบางครั้งเป็นสิ่งที่ทำใจยอมรับได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นฟีดแบคในเชิงลบไม่ว่าจะเป็นคำตำหนิหรือคำวิจารณ์ ครั้นพอเราได้รับมาแล้ว อาจจะจิตตกนิดนึง แล้วต่อไปก็ต้องไปแก้ไขปรับปรุงในสิ่งที่เป็นข้อบกพร่อง ซึ่งบางครั้งเราอาจจะลำบากใจที่จะทำตาม ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการได้รับฟีดแบค โดยเฉพาะกับคนทำงานที่เป็นผู้อาวุโส

          แต่อย่างไรก็ตาม การให้ฟีดแบคเป็นเรื่องปกติขององค์กรที่ต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมการมีผลการปฏิบัติงานสูง (high performance culture) ดังนั้น นอกเหนือจากองค์กรจะสอนให้ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าพยายามให้ฟีดแบคแก่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาตามหลักการที่ดีแล้ว ในฐานะผู้รับฟีดแบคเองก็ควรจะมีหลักคิดที่ดีในการรับฟังฟีดแบคด้วยเช่นกัน

          วิธีคิดสำหรับผู้รับฟีดแบค เพื่อช่วยให้สามารถทำใจยอมรับการฟีดแบคได้ดีขึ้น มีหลักการที่เกี่ยวข้องก็คือ scarf model ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

Status หมายถึง ยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วคนให้ฟีดแบคแก่เราก็คือหัวหน้างานหรือเจ้านายที่มีสถานภาพสูงกว่าเรา การให้ฟีดแบคเป็นหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผลงานและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายของทีมงานในฐานะหัวหน้าทีมอยู่แล้ว

Certainty หมายถึง ยอมรับว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ผู้อื่นมีความเข้าใจต่อเราแบบนั้น ถ้าเราไม่ยินดีที่จะให้ผู้อื่นรับรู้เช่นนั้น ก็จงปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อให้ผู้อื่นมีความเข้าใจต่อเราเสียใหม่

Autonomy หมายถึง ยอมรับว่าถึงแม้เราไม่สามารถควบคุมฟีดแบคได้ แต่เรามีอิสระที่จะกระทำเพื่อตอบสนองต่อฟีดแบคนั้น โดยการปรับปรุงแก้ไขตัวเราให้ดีขึ้น เมื่อเราทำหน้าที่ของเราได้ดีแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะเปลี่ยนฟีดแบคเชิงลบเป็นฟีดแบคเชิงบวก

Relatedness หมายถึง ยอมรับว่าฟีดแบคเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับตัวเรา การได้รับฟีดแบคเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะถ้าไม่สนิทใจกันจริง ๆ หรือไม่หวังดีกับเรา ก็คงไม่มีใครมาสนใจท้วงติงให้เราได้รู้ตัวว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรได้รับการปรับปรุง

Fairness หมายถึง ยอมรับว่าการได้รับฟีดแบคเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่ง เปรียบเสมือน นักเรียนทำโจทย์แบบฝึกหัดแล้วครูไม่เฉลยก็จะทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ในฐานะทีมงานก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้ฟีดแบคจากหัวหน้าว่างานที่ทำไปนั้นดีเพียงพอหรือยัง หรือมีข้อแนะนำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

          คนที่มีความสามารถในการรับฟังฟีดแบคนั้น จะมีคนที่มีพัฒนาการสูง เพราะแสดงออกถึงการเป็นคนเปิดใจ ใฝ่เรียนรู้ การที่เรามีใจกว้างในการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นจะทำให้เราฉลาดขึ้น และเก่งขึ้น เพราะจะได้นำเอาสิ่งที่เป็นเสียงสะท้อนเหล่านี้มาปรับปรุงให้เราสามารถพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นได้อีก

          และเราที่ชอบฟังฟีดแบคก็จะได้รับโอกาสดี ๆ ก็จะเข้ามาในชีวิตมากขึ้น เนื่องจากคนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ได้ดี จึงอยากจะแชร์อะไรดี ๆ ให้อยู่เสมอ ตรงกันข้ามกับคนที่ปิดกั้นไม่ยอมรับฟังและปรับปรุงตนเอง จะทำให้ไม่มีใครอยากยุ่งด้วย และกลายเป็นคนที่ไม่พัฒนา จนไม่มีการเติบโตก้าวหน้าในที่สุด

ที่มา : humanrevod.wordpress.com
ปรับปรุงข้อมูลโดย UP Training  อ่านบทความอื่นๆ คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น